ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ประวัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Deweyxx (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าใหม่: '''ประวัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ''' โดย มหาวิทยาลัยศรีนคร...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:57, 8 กรกฎาคม 2557

ประวัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นับเป็นสถาบันการศึกษาที่จัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เดิมทีพัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ก่อนที่จะจัดตั้งเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา พร้อมกับการประสาทปริญญาทางด้านศึกษาศาสตร์ ทั้งในระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต และเป็นสถาบันการศึกษาที่เคยมีวิทยาเขตถึง 8 แห่งทั้งภูมิภาคของประเทศไทย

ยุคโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในกระแสสังคมที่เริ่มคลี่คลายจากการตื่นตระหนกภัยสงคราม ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อมุ่งเน้นความสมานฉันท์และผลักดันความร่วมมือทางด้านต่าง ๆ รวมทั้ง การผลักดันทางด้านการศึกษา เพื่อให้โลกใบนี้เจริญก้าวหน้าและมีสติปัญญามากขึ้น “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง” ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2492 ณ ถนนประสานมิตร กรุงเทพมหานคร เพื่อผลักดันการศึกษาทางด้านวิชาชีพครู ในช่วงเวลาที่วิชาชีพครูขาดแคลน และไม่สมดุลกับการขยายตัวของสังคม และศาสตร์ทางด้านการศึกษายังใหม่ต่อสังคมในขณะนั้น เป็นการเริ่มต้นการศึกษาในระดับวุฒิประกาศนียบัตรครูประถมศึกษา และประกาศนียบัตรครูมัธยมศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถือกำเนิดขึ้นจากการผลักดันของ ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในขณะนั้น และท่านก็ได้มีบทบาททางด้านการศึกษาทั้งที่โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง วิทยาลัยวิชาการ และสังคมไทย

เมื่อโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ(สวัสดิ์ สุมิตร) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง เป็นผู้วางรากฐานระเบียบแบบแผนของการฝึกหัดครู เป็นผู้บุกเบิกงานวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบแผนของปูชนียบุคคลในวิชาชีพครูอย่างสูงยิ่ง

ยุควิทยาลัยวิชาการศึกษา

วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร

ในปี พ.ศ. 2496 ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ได้เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการให้ก่อตั้ง "วิทยาลัยวิชาการศึกษา[1] " (College of Education) ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านการศึกษาให้เป็นวิชาชีพที่มีระบบแบบแผนมากขึ้น พร้อมทั้งได้เปิดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งในระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต โดยมี ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะวิชาการศึกษา หลังจากนั้น จึงได้ดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในระยะนี้ได้มีการตั้งโรงเรียนสาธิต เพื่อให้เป็นแปลงทดลองค้นคว้า ในระบบการศึกษาพื้นฐานสมัยใหม่

วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน

วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน นับเป็นวิทยาเขตที่สอง ซึ่งถือกำเนิดมาจากเดิมเป็นแผนกฝึกหัดครูมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกาลต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ให้โอนแผนกฝึกหัดครูมัธยมของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และหน่วยสาธิตโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนกเตรียมอุดมศึกษาของโรงเรียนรัฐบาล กรมวิสามัญศึกษา ไปสังกัดสำนักงานเลขานุการกรมการฝึกหัดครู จากประกาศดังกล่าว เป็นผลให้แผนกฝึกหัดครูมัธยมเปลี่ยนทั้งสังกัดและฐานะ คือจากแผนกในสังกัดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มาเป็นหน่วยงานอิสระอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. 2497 ซึ่งเพิ่งบังคับมาได้ 9 เดือน เป็นสาขาของวิทยาลัยวิชาการศึกษา เรียกว่า วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน ขึ้นตรงต่ออธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา โดยมีรองอธิการ วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน คนแรกคือ ศาสตราจารย์ คุณหญิงอุบล หุวะนันทน์

วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน

วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน นับเป็นวิทยาเขตที่สาม ก่อตั้งโดย พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น โดยก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 โดยมี ศาสตราจารย์ ธำรง บัวศรี เป็นรองอธิการ วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสนคนแรก เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศ ที่ตั้งอยู่ส่วนภูมิภาคกำหนดหลักสูตร 4 ปี ผู้เรียนสำเร็จตามหลักสูตรได้รับปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) และได้รับโอนโรงเรียนพิบูลบำเพ็ญ ตำบลแสนสุข ชลบุรี เพื่อปรับปรุงให้เป็นโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อโรงเรียนใหม่ว่า โรงเรียนสาธิต"พิบูลบำเพ็ญ" วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน

วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก นับเป็นวิทยาเขตที่สี่ โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2510 เพื่อขยายสถาบันการผลิตครูในระดับอุดมศึกษาไปยังเขตภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีรองอธิการ วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกคนแรก คือ ศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์

วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม

วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม นับเป็นวิทยาเขตที่ห้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2511 ตามแนวคิดของ อาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อธิบดีกรมการฝึกหัดครูในขณะนั้น โดยการจัดตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามนั้น เพื่อขยายสถาบันผลิตครูในระดับอุดมศึกษาไปยังเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยมี ดร.สายหยุด จำปาทอง เป็นรองอธิการ วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม คนแรก

วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา

วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา นับเป็นวิทยาเขตที่หก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาและขยายสถาบันผลิตครูในระดับอุดมศึกษาไปยังเขตภาคใต้ของประเทศไทย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทอง เป็นรองอธิการ วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา คนแรก

วิทยาลัยวิชาการศึกษาพระนคร

วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา

วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา นับเป็นวิทยาเขตที่แปด จัดตั้งเป็นวิทยาเขตในปี พ.ศ. 2513 เดิมทีเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย สังกัดกรมพลศึกษา ตั้งอยู่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ หลังจากประกาศจัดตั้งเป็นวิทยาเขต กรมพลศึกษานั้นยังเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบวิทยาเขตนี้

ยุคมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ" เมื่อ พ.ศ. 2517 [2] โดยได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คนแรก ภายหลังจากการยกฐานะ วิทยาลัยวิชาการศึกษาทั้ง 8 วิทยาเขต ได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยแม่ และบริหารในระบบวิทยาเขตมาทั้งหมด 16 ปี หลังจากนั้น วิทยาเขต 5 แห่งได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ และอีก 4 แห่งได้ยุบรวมกันเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา

แหล่งอ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. 2497,เล่มที่ ๗๗, ตอนที่๖๑, ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗ [1]
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗, เล่ม ๙๑, ตอน ๑๑๒ ก ฉบับพิเศษ, ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗, หน้า ๑