ผลต่างระหว่างรุ่นของ "คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551"

เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Pi@k (คุย | ส่วนร่วม)
เริ่มบทความ
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 18:06, 22 เมษายน 2551

คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 เป็นคดีที่พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน อาจถูกตัดสินยุบพรรคอันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และข้อกล่าวหาที่พรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทยซึ่งได้ถูกตัดสินให้ยุบพรรคไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2550

พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย

หลังการเลือกตั้ง 2550 คณะกรรมการการเลือกตั้งพบการทุจริต มีการให้ใบแดงและพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองเลขาธิการพรรคชาติไทย กับนายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย[1]

วันที่ 16 เมษายน 2551 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 (มติเสียงข้างน้อย 1 เสียงในทั้งสองกรณี คือ นายสมชัย จึงประเสริฐ)[1] เห็นชอบตามที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอความเห็นให้ส่งสำนวนเรื่องการยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยให้อัยการสูงสุดพิจารณา

แม้ว่าคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้สรุปก่อนหน้านั้นว่าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนอื่นในทั้งสองพรรค ไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการกระทำผิดของนายมณเฑียร สงฆ์ประชา และนายสุนทร วิลาวัลย์ แต่การที่ทั้งสองคนต่างก็เป็นกรรมการบริหารพรรคเสียเอง กกต.จึงพิจารณาตามมาตรา 237 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และมาตรา 103 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติไว้ตรงกันว่า ถ้าการกระทำดังกล่าวปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบแล้วไม่ได้ยับยั้งหรือแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการซึ่งให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้นายทะเบียนพรรคการเมือง (ประธาน กกต.) ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ไม่อาจใช้ดุลยพินิจในการเลือกที่จะแจ้งหรือไม่แจ้งต่ออัยการสูงสุด

ส่วนกรณีที่พรรคมัชฌิมาธิปไตยแย้งว่านายสุนทร วิลาวัลย์ ได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคแล้ว เนื่องจากการลาออกของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2550 ซึ่งทำให้กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะสิ้นสุดลงพร้อมกันด้วยนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไม่เห็นด้วย เนื่องจากพบว่าข้อบังคับพรรคข้อ 30 วรรคห้า ได้ระบุให้กรรมการบริหารพรรคอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ากรรมการชุดใหม่จะเข้ามารับหน้าที่

ตามขั้นตอนทางกฎหมาย หากอัยการสูงสุดมีความเห็นสมควร อัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค แต่หากอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องตั้งคณะทำงานโดยมีผู้แทนจากทั้งนายทะเบียนพรรคและอัยการสูงสุด รวบรวมพยานหลักฐาน และส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แต่หากในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติได้ภายใน 30 วัน นับแต่ที่ได้แต่งตั้งคณะทำงาน นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจยื่นคำร้องเองได้

พรรคพลังประชาชน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติด้วยเสียงข้างมาก 3 ใน 5 (งดออกเสียงหนึ่งเสียง) ให้ใบแดงและส่งความเห็นไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ส.ส.แบบสัดส่วน ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา[2] เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย โดยมีนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนัน ต.จันจว้า อ.แม่จัน เป็นพยานคนสำคัญ

คดีทุจริตเลือกตั้งนี้เกิดจากนายวิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติไทย นำหลักฐานเป็นวีซีดี กล่าวหาว่านายยงยุทธเรียกกำนัน 10 คน ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นำโดยนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ เดินทางไปพบที่กรุงเทพฯ ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และเข้าพักที่โรงแรมเอสซีปาร์ค นายยงยุทธขอให้กำนันช่วยเหลือตนและน้องสาว ตลอดจนนายอิทธิเดช ผู้สมัคร เขต 3 จากนั้นคนสนิทของนายยงยุทธได้มอบเงินให้กำนันคนละ 20,000 บาท นายยงยุทธได้ออกมาตอบโต้ตลอดเวลาว่าเป็นการจัดฉาก ถูกสร้างพยานหลักฐานเท็จ ด้าน กกต. กล่าวว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับซีดีเพราะมีพยานบุคคลที่ยืนยันชัดเจน หลัง กกต.มีมติ นายยงยุทธได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาโดยไม่ลาออก

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่าหากนายยงยุทธถูกศาลตัดสินให้มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ก็ต้องตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อยุบพรรคพลังประชาชนต่อไป

การพิจารณาคดีนี้คาดว่าอาจใช้เวลานานหลายเดือน เช่นเดียวกับคดียุบพรรคไทยรักไทย นอกจากนี้ ยังถูกเชื่อมโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตและต่อต้าน[3] เนื่องจากมองว่ามีเจตนาทำเพื่อตัวเอง ไม่ให้พรรคพลังประชาชนถูกยุบ

กรณีพรรคพลังประชาชนเป็นตัวแทนพรรคไทยรักไทย

คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนกรณีพรรคพลังประชาชนเป็นตัวแทนหรือนอมินีของพรรคไทยรักไทยขึ้น โดยมีนายไพฑูรย์ เนติโพธิ์ เป็นประธาน ปัจจุบันกรณีนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวน ผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต. คือ นายวีระ สมความคิด ประธานอำนวยการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ต่อมา นพ.ศุภผล เอี่ยมเมธากุล ได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมในภายหลัง[4]

คณะอนุกรรมการได้ให้เจ้าหน้าที่ กกต.ประสานงานกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อเปิดโอกาสให้ไปชี้แจงกรณีที่ถูกพาดพิง[5] ล่าสุด กกต.เห็นชอบให้อนุกรรมการฯ ขยายเวลาสอบสวนไปอีก 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2551[4]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 ไทยโพสต์, มติ กกต. 4:1 เชือด'ชท.-มฌ.', 12 เมษายน 2551, หน้า 2
  2. ไทยโพสต์, ระส่ำ! 'ยุบพรรค', 27 กุมภาพันธ์ 2551, หน้า 1,12
  3. มติชน, ส.ส.'พปช.'ปัดแก้รธน.ฟอก'แม้ว'นิรโทษฯ 111 ทรท. ยันไม่สนถูกถอดจากตำแหน่ง, 1 เมษายน 2551
  4. 4.0 4.1 มติชน, ชุด"ไพฑูรย์"เล็งยกกม.ทาบ ส่อสรุป"พปช."นอมินี"ทรท.", 16 เมษายน 2551
  5. ข่าวสด, อนุฯ กกต.เรียกชี้แจงคดีนอมินี, 1 เมษายน 2551, หน้า 10