มูกทะเล

มูกทะเล, ขี้มูกทะเล หรือเมือกทะเล (อังกฤษ: sea snot, sea saliva หรือ marine mucilage) คือ กลุ่มของอินทรียวัตถุคล้ายเมือกที่พบในทะเล สารที่เป็นเมือกหรือวุ้นเหนียวโดยทั่วไปไม่เป็นอันตราย แต่สามารถดึงดูดไวรัสและแบคทีเรีย ได้แก่ อี. โคไล (E. coli) และอาจห่อหุ้มสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลทำให้หายใจไม่ออก โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้ช้าหรือแทบไม่เคลื่อนไหวเช่น ปะการัง ดาวทะเล[2] พบได้บ่อยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน[3] และเมื่อไม่นานนี้มีการแพร่กระจายในทะเลมาร์มะราในต้นปี 2564

ภาพถ่ายแสดงอย่างคร่าว ๆ ถึงคุณสมบัติความหนืดของมูกทะเล (sea snot's viscosity) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติเชิงรีโอโลยี (rheological properties)[1]

ปัจจัย

เมือกทะเล หรือมูกทะเล "โดยพื้นฐานเป็นกลุ่มจุลินทรีย์จำนวนมหาศาลที่เพิ่มจำนวนอย่างมากจากสารอาหารที่มากเกิน โดยเฉพาะจากของเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดแล้วปล่อยลงสู่ทะเล" ศาสตราจารย์ฮือเซยึน แอร์ดูกัน (Hüseyin Erduğan) จากภาควิชาชีววิทยาของมหาวิทยาลัยออนเซคึซมาร์ท (Onsekiz Mart) และ "แท้จริงแล้ว เมือกเป็นสารประกอบเอ็กโซพอลิแซคคาไรด์ที่เกิดจากจุลินทรีย์ (exopolysaccharide −พอลิเมอร์ชีวภาพที่ประกอบด้วยพอลิแซคคาไรด์เป็นส่วนใหญ่ สร้างโดยจุลินทรีย์และถูกหลั่งออกมานอกเซลล์ในลักษณะเมือก) และมลพิษทางน้ำเป็นตัวซ้ำเติมให้ปัญหามูกทะเลที่เกิดจากจุลินทรีย์เหล่านั้นทวีความรุนแรงขึ้น"[4] การเพิ่มขึ้นของมูกทะเลมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มปริมาณอย่างมากของระดับฟอสฟอรัส (ที่ประมาณมากกว่าสามถึงสี่เท่าของค่าเฉลี่ยต่อปี) และกับปริมาณสารอาหารอื่น ๆ ของจุลินทรีย์ที่มากเกินไป[5] รวมทั้งสภาวะแห้งแล้ง อุณหภูมิของน้ำทะเลที่อบอุ่นยาวนานกว่าปกติ และภูมิอากาศที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลานาน[2] อนุภาคของหนืดที่ล่องลอยในทะเล (เช่น หิมะทะเล) จับตัวกันเป็นกลุ่มก้อนมูกทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งอาจขยายได้กว้างถึง 200 กิโลเมตร[6]

เมือกมีองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่จุลินทรีย์หลายชนิด เช่นไวรัสและโพรแคริโอต และสารประกอบเอกโซพอลีเมอร์ที่มีคุณสมบัติเป็นคอลลอยด์[7] มูกทะเลยังถูกผลิตขึ้นโดยแพลงก์ตอนพืชเมื่อเกิดความเครียด[8]

ผลกระทบ

ปริมาณมูกทะเลที่เพิ่มขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลอื่น ๆ ได้รับการศึกษาเป็นทางการครั้งแรกอย่างช้าที่สุดในช่วงต้นปี 2009 ส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[9] น้ำทะเลที่อุ่นขึ้นเคลื่อนไหวช้าและน้อยลง มีผลสัมพันธ์กับการเพิ่มปริมาณผลิตมูกทะเลโดยเฉพาะการปล่อยให้สะสมตัวเป็นก้อนขนาดใหญ่[6] มูกทะเลได้รับบันทึกเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1729 และถูกมองว่าเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมการประมงและประชากรชายฝั่ง ผลกระทบเมื่อเร็ว ๆ นี้มูกทะเลไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญ ยังก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงอีกด้วย อนุภาคของหนืดของมูกทะเลสามารถเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียเช่น อี. โคไล ที่คุกคามพืชและสัตว์ในทะเล ตลอดจนมนุษย์ที่สัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อน นอกจากนี้มูกทะเลยังสามารถเคลือบเหงือกของสัตว์ทะเล ทำให้ขาดออกซิเจนและตาย

การรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นดีพวอเทอร์ฮอไรซัน ในอ่าวเม็กซิโกทำให้เกิดมูกทะเลจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในกระบวนการเกิดทะเลที่มีสาเหตุจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบในทะเล ทฤษฎีหนึ่งสันนิษฐานว่ามูกทะเลอาจเป็นผลของการฆ่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและจุลินทรีย์ในทะเลจำนวนมหาศาลทำให้เกิดหิมะทะเลปริมาณมาก นักวิทยาศาสตร์กังวลว่ามูกทะเลจำนวนมากเหล่านี้ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายทางชีวภาพต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่เหลือในพื้นที่[10] เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ามูกทะเลที่เกิดจากการรั่วไหลโดยตรง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตของสัตว์และพืชทะเลในอ่าวเม็กซิโก แสดงจากหลักฐานการตายของทุ่งปะการังน้ำลึกโดยรอบ 11 กิโลเมตรจากแท่นขุดเจาะดีพวอเทอร์ฮอไรซัน[11]

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 มูกทะเลได้แพร่กระจายในทะเลมาร์มะรา เนื่องจากมลพิษจากน้ำเสียที่ทิ้งลงสู่ทะเล[12] นำไปสู่การแพร่ขยายของแพลงก์ตอนพืชและเป็นภัยร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล[13][14] ท่าเรือเออร์เดค ในทะเลมาร์มะราถูกปกคลุมด้วยมูกทะเล[15] ซึ่งคนงานชาวตุรกีได้พยายามอย่างมากในการเริ่มดูดกำจัดมูกทะเลในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564[16] ขณะเดียวกันท่าเรือยาลิเคย (Yalıköy port) ในจังหวัดออร์ดู ก็พบการสะสมของเมือกในทะเลดำเช่นกัน[17]

มาตรการรับมือ

มาตรการรับมือระยะสั้น ได้แก่ การวางแนวกั้นบนผิวน้ำทะเลและดูดรวบรวมมูกจากผิวทะเล[18] มาตรการรับมือระยะยาว ได้แก่การปรับปรุงการบำบัดน้ำเสีย[19] การสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเล[18] และการจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[18] ความพยายามอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาจัดการแหล่งน้ำให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนิ่งเป็นเวลานานซึ่งก่อให้เกิดการสะสมของมูกทะเล อีกวิธีหนึ่งคืออาจปล่อยสัตว์ทะเลบางชนิดซึ่งสามารถบริโภคสารอาหารส่วนเกินในแบบชั่วคราวเพื่อจุดประสงค์ในช่วงการทำความสะอาดเท่านั้น ซึ่งเลี้ยงแยกต่างหากในแหล่งเพาะเลี้ยงนอกธรรมชาติ

ดูเพิ่มเติม

อ้างอิง

  1. Jenkinson, Ian R.; Sun, Xiao Xia; Seuront, Laurent (2015-08-27). "Thalassorheology, organic matter and plankton: towards a more viscous approach in plankton ecology". Journal of Plankton Research (ภาษาอังกฤษ): fbv071. doi:10.1093/plankt/fbv071. ISSN 0142-7873.
  2. 2.0 2.1 Uğurtaş, Selin (2021-05-25). "Turkey struck by 'sea snot' because of global heating". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2021-05-26.
  3. Danovaro, Roberto; Fonda Umani, Serena; Pusceddu, Antonio (2009-09-16). "Climate Change and the Potential Spreading of Marine Mucilage and Microbial Pathogens in the Mediterranean Sea". PLOS ONE. 4 (9): e7006. Bibcode:2009PLoSO...4.7006D. doi:10.1371/journal.pone.0007006. ISSN 1932-6203. PMC 2739426. PMID 19759910.
  4. Altay, Ibrahim (10 June 2021). "Sea snot plaguing Turkey's Marmara Sea may be converted into gas". Daily Sabah. Istanbul, Turkey: Daily Sabah. สืบค้นเมื่อ 11 June 2021.
  5. Aytulu, Gökçe (11 June 2021). "Factory discharging untreated wastewater into Marmara Sea sparks debate". Ankara, Turkey: Hurriyet Daily News. สืบค้นเมื่อ 11 June 2021.
  6. 6.0 6.1 Christine Dell'Amore (October 8, 2009). "Giant, Mucus-Like Sea Blobs on the Rise, Pose Danger". National Geographic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 July 2012. สืบค้นเมื่อ 2010-09-24.
  7. Roberto Danovaro; Serena Fonda Umani; Antonio Pusceddu (September 16, 2009). "Climate Change and the Potential Spreading of Marine Mucilage and Microbial Pathogens in the Mediterranean Sea". PLOS ONE. 4 (9): e7006. Bibcode:2009PLoSO...4.7006D. doi:10.1371/journal.pone.0007006. PMC 2739426. PMID 19759910.
  8. Xeni Jardin (September 24, 2010). "Sea snot explodes near BP spill disaster site, threatening marine ecosystem". สืบค้นเมื่อ 2013-05-20.
  9. Uğurtaş, Selin (2021-05-25). "Turkey struck by 'sea snot' because of global heating". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. Christine Dell'Amore (September 23, 2010). "Sea Snot" Explosion Caused by Gulf Oil Spill?". National Geographic. สืบค้นเมื่อ 2010-09-24.
  11. Schrope, Mark (April 1, 2011). "Oil spill: Deep wounds". Nature. 472 (7342): 152–154. Bibcode:2011Natur.472..152S. doi:10.1038/472152a. PMID 21490648 – โดยทาง www.nature.com.
  12. "Photo of the week : ภาพเด็ดประจำสัปดาห์". แนวหน้า.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์) 13 มิถุนายน 2564.
  13. "Ministry starts monitoring sea saliva in Marmara Sea - Turkey News". Hürriyet Daily News. June 2, 2021.
  14. "'Sea snot' outbreak off Turkish coast poses threat to marine life". Reuters. June 1, 2021.
  15. "Sea snot continues to expand in Marmara Sea". Daily Sabah. 30 May 2021.
  16. Antonia Noori Farzan (June 9, 2021). "Turkey launches massive effort to vacuum up thick layer of 'sea snot' choking its coast". The Washington Post.
  17. "Mucilage starts to spread into Black Sea". Hürriyet Daily News. 9 June 2021.
  18. 18.0 18.1 18.2 "Turkey launches 'sea snot' clean-up to save Sea of Marmara". Reuters. 2021-06-08. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.
  19. "Turkey president Erdogan vows to solve 'sea snot' outbreak". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-06-06. สืบค้นเมื่อ 2021-06-09.