นกโป่งวิด

นกโป่งวิด
นกโป่งวิดตัวผู้ ในหนองน้ำ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Charadriiformes
วงศ์: Rostratulidae
สกุล: Rostratula
สปีชีส์: R.  avosetta
ชื่อทวินาม
Recurvirostra avosetta
(Linnaeus, 1758)
แหล่งกระจายพันธุ์ของนกโป่งวิด (R. avosetta)
ชื่อพ้อง
  • Rallus benghalensis Linnaeus, 1758
  • Scolopax capensis Linnaeus, 1766
ภาพวาดประกอบ (ซ้าย) นกโป่งวิดตัวเมียวสีสดกว่า (ขวา) นกโป่งวิดตัวผู้


นกโป่งวิด (อังกฤษ: greater painted-snipe; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rostratula benghalensis) เป็นนกน้ำในอันดับนกชายเลนที่มีลักษณะแตกต่างไปจากนกส่วนมาก คือตัวเมียมีสีสันสวยงามกว่าตัวผู้ และไม่ช่วยตัวผู้ในการกกไข่และเลี้ยงดูลูก นกโป่งวิดจับคู่ทำรังในช่วงฤดูฝน มักพบนกโป่งวิดในหนองน้ำในแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อนุกรมวิธาน

นกโป่งวิด (Rostratula benghalensis) ได้รับการขึ้นทะเบียนชนิดโดย คาร์ล ลินเนียสในปี ค.ศ. 1758

ชื่อสามัญในภาษาอื่น

ภาษาเบงกอล: বাংলা রাঙাচ্যাগা –บันลา รานาชยากา

ภาษามลยาฬัม: കാളിക്കാട –คาลิกคาตา

ภาษาทมิฬ: Mayil Ullan –มายิลอุราน

ภาษามลายู: Burung Meragi –บุหรงเมลากี

ภาษาสวาฮีลี Swahili: Sululu Uzuri – ซุูลุลุอูซูรี

ภาษามาลากาซี Malagasy: Tatoka – ทาโตกา

ภาษาเวียดนาม Vietnamese: Chim Nhát hoa, Nhát hoa –ฉิ่มงาดฮฺวา

ภาษาจีน 彩鹬 –ฉ่ายยู่

ลักษณะทางสรีรวิทยา

เป็นนกลุยน้ำขนาดกลาง ตัวอวบ จะงอยปากยาวสีน้ำตาล คล้ายนกปากซ่อมแต่ปากสั้นกว่าปลายแหลมงุ้มเล็กน้อยสีแดง ลักษณะเด่นของนกโป่งวิดคือมีแถบตาโดดเด่นสีขาวและอาจแกมสีชมพู[2][3] ปีกโค้งมนสีน้ำตาลอมเหลืองและหางสั้น อกสีขาวและแถบยาวรอบโคนปีก (ไหล่) ไปถึงหลังสองแถบ สีเหลืองในนกตัวเมียและสีขาวในนกตัวผู้ เห็นชัดเมื่อหุบปีก นกโป่งวิดมีลักษณะคล้ายกับนกปากซ่อม แต่แตกต่างกันจากพฤติกรรม การบิน และลักษณะที่มีสีสดกว่าและขาที่ยาวกว่านกปากซ่อม[3]

นกโป่งวิดต่างจากนกทั่วไปคือ ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีสีสดกว่าตัวผู้ มีแถบกลางหัวน้ำตาลเหลือง หัวตอนบนดำตัดกับแถบตาและวงรอบขาว หัว คอ อก และหลังตอนบนน้ำตาลแดงแกมเลือดหมู อกด้านล่างมีแถบดำต่อเนื่องกับลำตัวด้านล่างสีขาว ปีกน้ำตาลเข้มออกเขียว[3][4] โดยด้านข้างของหัว และคอเป็นสีน้ำตาลแดง มีแถบสีดำเด่นชัดทั่วอก

ตัวผู้มีสีซีดกว่า ออกเทา ๆ และเป็นลายพราง กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมตามท้องทุ่งหนองน้ำมากกว่า[2] มีแถบกลางหัวสีขาว แถบตาขาวแกมสีชมพูหรือส้ม และหนังรอบตาสีน้ำตาลเหลือง หัว อก และหลังน้ำตาลเข้มแกมเทา ปีกและลำตัวด้านบนมีลายสีน้ำตาลสลับน้ำตาลเข้ม ลำตัวด้านล่างขาว[3]

พฤติกรรม

อุปนิสัยขี้อาย ในเวลากลางวัน ชอบยืนหรือนั่งหมอบอยู่นิ่งๆ กลมกลืนกับพื้นดิน จึงไม่ค่อยได้มีโอกาสเห็นตัวกันบ่อยนักมักหลบซ่อนตามทุ่งหญ้า ชอบอาศัยบริเวณชายแหล่งน้ำ เช่น หนองบึง ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ ทุ่งนา ที่ราบ[3] ปกติร้องเสียง "อุก ๆ " หรือ "จุก ๆ "[3]

มักอาศัยโดด ๆ หรือตัวผู้พาลูกนกออกมาเดินหากิน บางครั้งที่พบเป็นคู่หรือพบอยู่รวมกันเป็นฝูงได้ถึง 12 ตัว เมื่อถูกรบกวนจะเลือกหลบหนีไปในบริเวณที่มีพืชรกทึบ หรืออาจบินหนีไปใกล้ ๆ โดยยังห้อยขาอยู่[5] นกตัวผู้ที่บินหนีมักเลือกบินกลับรังโดยลงพื้นในจุดที่ห่างจากรัง 5–7 เมตร วิ่งกลับและหมอบลงห่างจากรังไม่มากประมาณ 2 เมตร ซุ่มดูก่อนเข้ารัง[5] นกตัวเมียมักตื่นตกใจจากสิ่งรบกวนมากกว่าตัวผู้[5]

อาหาร

กินแมลง กุ้ง หอย และเมล็ดพืช

การผสมพันธุ์และการทำรัง

นกโป่งวิดและนกบางชนิดในอันดับนกชายเลน เช่น วงศ์นกลอยทะเล (Phalarope) และวงศ์นกคุ่มอืด (Buttonquail) นกเหล่านี้ตัวเมียมีสีสันสวยงามกว่า[2] ในช่วงฤดูการผสมพันธุ์นกโป่งวิดตัวผู้ส่งเสียงดังเรียกคู่ ตัวเมียเป็นฝ่ายเริ่มต้นการเกี้ยวพาราสี ตัวเมียหนึ่งตัวจะจับคู่ผสมพันธุ์กับเพศผู้หลายตัว (เรียกว่า polyandry)[2] และวางไข่หลายครั้งในหนึ่งฤดูกาล ตัวผู้ทำหน้าที่กกไข่และเลี้ยงลูกในรัง การสร้างรังมักจะขูดดินตื้น ๆ ในบริเวณที่มีดินอ่อนและภายในกลุ่มพืช หญ้ารกหรือกกริมน้ำ หรือพื้นที่น้ำตื้นที่มีหย่อมกอหญ้าเป็นเนิน มากกว่าการสุ่มพื้นที่ทำรัง[6] ในประเทศอินเดียนกโป่งวิดมักเลือกกอพืชที่ขึ้นแน่นและสูงเป็นพิเศษในบริเวณที่มีอินทรีย์วัตถุสูงจากมูลปศุสัตว์[5] วัสดุทำรังจากหญ้าและวัชพืช ถักหรือพับโดบการย่ำลงให้แน่นกับพื้น ตรงกลางต่ำกว่าขอบรังเล็กน้อยสำหรับวางไข่[5]

ฤดูผสมพันธุ์ในฤดูฝน ระหว่างเดือนเมษายน–กรกฎาคม หรือ ปลายมิถุนายน–สิงหาคมในอินเดีย มักเลือกช่วงที่ฝนทิ้งช่วงกลางฤดู

ไข่สีเหลือง และแต้มจุดน้ำตาลดำโดยรอบ วางไข่ รังละประมาณ 4 ฟอง ระยะกกไข่ประมาณ 20 วัน[5] ลูกนกมีสีเทาอมน้ำตาลและมีแถบดำหลาบแถบคาดตลอดแนวยาว[7] มีแถบดำยาวคาดตาสองข้าง[5] ตัวผู้มักใช้ปีกหอบลูกนกในขณะเดินหรือใช้ปีกคลุมพรางลูกนก[8] มักพบตัวผู้พาลูกนกออกหาอาหารในเวลาพลบค่ำซึ่งมีแหล่งอาหารชุกชุมกว่าช่วงอื่น[5]

นกรุ่นทั้งตัวผู้และตัวเมีย มีสีและลายคล้ายนกตัวผู้ที่โตเต็มที่แต่ไม่แถบดำที่อก

ถิ่นอาศัยและนิเวศวิทยา

ถิ่นอาศัยและแหล่งกระจายพันธุ์ของนกโป่งวิด (R. avosetta) คือ ในหนองน้ำและที่ชุ่มน้ำในทวีปแอฟริกาเช่นไนจีเรีย กานา แอฟริกาใต้ มาดากัสการ์ เอเชียใต้ได้แก่อินเดียและบังกลาเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีนตอนใต้รวมทั้งเกาะไต้หวัน[9] อาจมีพื้นที่ผสมพันธุ์ในบางส่วนของประเทศจีนตอนเหนือเช่น ชานตง เหอเป่ย์ เหอหนาน[10]

มีสถานภาพเป็นนกทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ กระจายอยู่ตามทุ่งนาทั่วประเทศไทย[2]

การอาศัยร่วมกับมนุษย์

ในการศีกษาในอินเดีย นกโป่งวิดมักเลือกทำรังในนาอนุบาลกล้า (แปลงเพาะกล้า) เนื่องจากมีความทึบแน่นของพืชสูงและดินอ่อน ทั้งช่วงนาปีและนาปรัง[5] ทั้งนี้ยังได้รับการคุ้มครองโดยชาวนาด้วยการทำเครื่องในแปลงตรงจุดที่นกทำรัง หรืออาศัยมัดกล้าเป็นที่หลบซ่อนตัว[5]

ในปัจจุบัน การทำนามักใช้สารฆ่าแมลงอย่างเข้มข้น รวมทั้งการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าวแทน ส่งผลต่อประชากรของนกโป่งวิดให้ลดลง[5]

อ้างอิง

  1. BirdLife International (2012). "Rostratula benghalensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2012. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "นกโป่งวิด (Greater Painted-snipe; Rostratula benghalensis) จากบล็อก โอเคเนชั่น oknation.net". oknation.nationtv.tv.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "นกโป่งวิด Greater Painted-snipe ( Rostratula benghalensis (Linnaeus, 1758) )". www.lowernorthernbird.com.
  4. "นกโป่งวิด - eBird". ebird.org.
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 C. K. Vishnudas, N. V. Krishnan (2013). Observations of breeding of Greater Painted-snipe Rostratula benghalensis in the rice paddies ofWayanad, Kerala)
  6. Yu-Hsun Hsu, Lucia Severinghaus (2011). Nest-site Selection of the Greater Painted Snipe (Rostratula benghalensis benghalensis) in Fallow Fields of I-Lan, Taiwan DOI:10.6165/tai.2011.56(3).195
  7. Wesley, H Daniel. "A male painted snipe and his chick". Newsletter for Birdwatchers. 30 (7&8): 3.
  8. Brinder Kumar (2019). Spotting of Rostratula benghalensis, Greater Painted Snipe at Village Sail Saloon, Tehsil Udhampur Jammu & Kashmir, India.
  9. Common Greater Painted-snipe Rostratula benghalensis (Linnaeus, 1758). Avibase, สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2564.
  10. "นกโป่งวิด (Rostratula benghalensis) :: xeno-canto". www.xeno-canto.org.