นกเปลือกไม้

นกเปลือกไม้
นกเปลือกไม้ ที่เชียงใหม่
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Certhiidae
สกุล: Certhia
สปีชีส์: manipurensis
ชื่อทวินาม
Certhia manipurensis
Hume, 1881
หางยาวของนกเปลือกไม้ ขณะค้ำยันเปลือกไม้

นกเปลือกไม้ (อังกฤษ: Manipur treecreeper หรือ Hume's treecreeper; ชื่อวิทยาศาสตร์: Certhia manipurensis) เป็นนกขนาดเล็กที่ไต่หากินตามแนวดิ่งของเปลือกลำต้นของต้นไม้ใหญ่ ในป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ มีปากเรียวแหลมยาวและโค้ง ลำตัวสีน้ำตาลลาย หางยาวช่วยในการค้ำยันต้นไม้ขณะไต่ นกเปลือกไม้ (C. manipurensis) แยกเป็นชนิดใหม่ออกจากนกเปลือกไม้สิกขิม (C. discolor) จากสีโทนส้มที่โดดเด่นที่คางและก้น รวมทั้งเสียงร้องที่ลากยาวกว่า และยังเป็นชนิดเดียวในวงศ์นกเปลือกไม้ (Certhioidea) ที่ถูกจัดให้เป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย[2] มีถิ่นอาศัยทางตอนเหนือของไทยที่ติดกับลาวและพม่า ได้แก่ที่ตาก แม่ฮ่องสอน และน่าน

อนุกรมวิธาน

นกเปลือกไม้ ได้รับการอธิบายแยกชนิดพันธุ์ใหม่ออกจากนกเปลือกไม้สิกขิม (C. discolor) เมื่อปีึค.ศ. 1881 โดยอัลลัน ออคตาเวียน ฮูม (Allan Octavian Hume) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษที่ทำงานในอินเดีย[3] จากความแตกต่างของสี เสียงร้อง[4] ระดับความสูงของถิ่นอาศัย และได้รับการยืนยันจากการตรวจทางพันธุกรรม

ชื่อสามัญ "Hume's" ได้รับการตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ อัลลัน ออคตาเวียน ฮูม อีกด้วย แต่โดยทั่วไปในหลายภาษาเรียก "นกเปลือกไม้มณีปุระ" (Manipur treecreeper)[3][4] จากถิ่นกำเนิด (type locality) ในมณีปุระ[4] หรือเรียกนกเปลือกไม้พม่าในบางครั้ง

วงศ์นกเปลือกไม้มี 2 สกุลคือ สกุล Salpornis มี 2 ชนิดแต่ไม่พบในประเทศไทย และ สกุล Certhia มี 9 ชนิดซึ่งกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟโฟร-ยูเรเชีย (โลกเก่า) โดยเฉพาะในแถบเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาใกล้เคียง (มีเพียงชนิดเดียวที่พบในอเมริกาคือ Certhia americana) โดยในวงศ์นกเปลือกไม้มีชนิดเดียวที่พบในประเทศไทย คือ Certhia manipurensis

ชนิดย่อย

  • Certhia manipurensis manipurensis – พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยเฉพาะในแถบตอนใต้ของแม่น้ำพรหมบุตร ในช่วงรัฐอัสสัมต่อกับพรมแดนทางตะวันตกของพม่า[5]
  • Certhia manipurensis shanensis – กระจายพันธุ์ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า (รัฐฉาน) ไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน ประเทศไทยและพรมแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามที่ติดกับจีน[6]
  • Certhia manipurensis meridionalis – พบได้ที่ภาคใต้ของเวียดนาม ในที่ราบสูงดาลัด[7]
  • Certhia manipurensis laotiana – อาศัยเฉพาะในลาวตอนเหนือ บริเวณที่ราบสูงเชียงของ[8]

ลักษณะทางชีววิทยาและพฤติกรรม

ลำตัวป้อม ยาวประมาณ 14 ซม. น้ำหนัก 9-11 กรัม[9] ปากเรียวแหลม ค่อนข้างยาวและโค้งเล็กน้อย แถบหน้าน้ำตาลดำ มีคิ้วน้ำตาลเทาอ่อน ขนลำตัวด้านบนน้ำตาลมีลายดำและน้ำตาลอ่อน หางน้ำตาลแดงค่อนข้างยาว ใช้ในการค้ำยันต้นไม้ ลำตัวด้านล่างเทาอ่อน คอและก้นมีสีน้ำตาลแกมส้ม ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพเด่นที่ทำให้แยกออกจาก นกเปลือกไม้สิกขิม (Sikkim Treecreeper) ที่มีสีมอ ๆ[10]

เป็นนกที่ไต่หาตัวอ่อนแมลงกินตามแนวดิ่งของเปลือกลำต้นของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "นกเปลือกไม้" ในภาษาไทย และ "Treecreeper" หรือนักไต่ต้นไม้ในภาษาอังกฤษ อาจพบเป็นฝูงเป็นครั้งคราวในช่วงฤดูผสมพันธุ์ มักร้องเสียง "ชิว - จิ๊ด" (เสียงกลาง - สูง) ซ้ำ ๆ เป็นจังหวะลากยาว และช้ากว่าของนกเปลือกไม้สิกขิม[10]

การแพร่กระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา

นกเปลือกไม้อาศัยในบริเวณตีนเขาไปจนถึงภูมิภาคภูเขาสูงและกึ่งหุบเขา ในป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณที่ความสูง 1,300 เมตรขึ้นไป ซึ่งค่าเฉลี่ยช่วงความสูงต่ำกว่านกเปลือกไม้สิกขิม[10] เขตการแพร่กระจายพันธุ์ตั้งแต่ทางตะวันตกสุดคือ ตอนใต้ของแม่น้ำพรหมบุตร ในช่วงรัฐอัสสัม ไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน ลาว ไทย และสุดทางตะวันออกในตอนใต้ของเวียดนาม[10]

นกเปลือกไม้มีขนาดช่วงกระจายพันธุ์ที่กว้าง ทำให้ไม่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable species - VU) แม้ว่าแนวโน้มจำนวนประชากรจะลดลง นกเปลือกไม้จึงได้รับการประเมินว่ามีความกังวลน้อยที่สุด[11]

ในประเทศไทย

พบไต่หากินในแนวตั้งตามลำต้นของต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ที่ความสูง 1,300 เมตรขึ้นไป มีรายงานการพบบนเทือกเขาสูงในป่าตะวันตก จังหวัดตาก และอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน[12][13] ดอยลางและดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่[14][15]

อ้างอิง

  1. BirdLife International (2012). "Cinclus pallasii". IUCN Red List of Threatened Species. 2012. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  2. นกเปลือกไม้ Hume’s Treecreeper ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย. 12 กันยายน 2556.
  3. 3.0 3.1 Hume's treecreeper Species of Thailand. Thai National Parks, สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2564.
  4. 4.0 4.1 4.2 Burmese Tree-Creeper Certhia manipurensis Hume, 1881 Avibase. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2564.
  5. Burmese Tree-Creeper (nominate) Avibase. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564.
  6. Burmese Tree-Creeper (shanensis) Avibase. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564.
  7. Burmese Tree-Creeper (meridionalis) Avibase. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564.
  8. Burmese Tree-Creeper (Lao) Avibase. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564.
  9. Simon Harrap. Hume's Treecreeper Certhia manipurensis The Cornell Lab of Ornithology - Birds of the World, 4 มีนาคม 2563.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 นกเปลือกไม้ eBird. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2564.
  11. Manipur Treecreeper Certhia manipurensis BirdLife International. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2564.
  12. นกเปลือกไม้ Scientific Name Certhia manipurensis (Hume, 1881) ด่านตรวจสัตว์ป่าปาดังเบซาร์. 12 ธันวาคม 2562.
  13. Hume's Treecreeper ( Certhia manipurensis (Hume, 1881) ) Bird of Lower Northern Thailand. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2564.
  14. นกเปลือกไม้ Hume's Treecreeper Birds of Thailand: Siam Avifauna. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564.
  15. Hume's Treecreeper · Certhia manipurensis · Hume, 1881 Xeno - Canto. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2564.