สมรักษ์ คำสิงห์

อดีตนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นโอลิมปิก​ทีมชาติ​ไทย​

นาวาตรี สมรักษ์ คำสิงห์ ร.น. เป็นอดีตนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นและนักการเมืองชาวไทย ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น เขต 11 พรรคพลังประชารัฐ ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เขาเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1996 ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2539

สมรักษ์ คำสิงห์
ต.ภ., จ.ช., จ.ม.
สมรักษ์ในปี 2543
ชื่อจริงสมรักษ์ คำสิงห์
รุ่นเฟเธอร์เวท
เกิด16 มกราคม พ.ศ. 2516 (51 ปี)
อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย
สถิติเหรียญโอลิมปิก
มวยสากลสมัครเล่น
โอลิมปิกฤดูร้อน
เหรียญทอง - ชนะเลิศ แอตแลนตา 1996 เฟเธอร์เวท
เอเชียนเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ เอเชียนเกมส์ 1994 เฟเธอร์เวท
เหรียญทอง - ชนะเลิศ เอเชียนเกมส์ 1998 เฟเธอร์เวท
ซีเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ซีเกมส์ 1995 เฟเธอร์เวท

ประวัติ

วัยเด็ก

สมรักษ์ เป็นชาวหมู่บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบันคือ อำเภอบ้านแฮด) เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2516 ในครอบครัวยากจน เป็นบุตรคนกลาง ในจำนวนลูกทั้ง 3 คน ของ นายแดงและนางประยูร คำสิงห์ เหตุที่มีชื่อเล่นว่า "บาส" ก็เพราะต้องการให้คล้องกับชื่อเล่นของพี่ชายซึ่งเป็นนักมวยด้วยเหมือนกัน คือ สมรถ คำสิงห์ ที่มีชื่อว่า "รถ" เนื่องจากคลอดบนรถโดยสาร ระหว่างเดินทางไปสถานีอนามัยอำเภอ

เส้นทางมวยไทย

สมรักษ์เข้าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาโนนสมบูรณ์ ด้วยเหตุที่สมรักษ์มีพ่อเป็นนักมวยเก่า จึงได้รับการฝึกการชกมวยไทยมาตั้งแต่เด็ก ขึ้นชกมวยครั้งแรกขณะอายุได้ 7 ปี และได้ตระเวนชกตามเวทีงานวัดต่าง ๆ จนทั่ว และได้รับการทาบทามจาก ณรงค์ กองณรงค์ หัวหน้าคณะณรงค์ยิมให้มาร่วมค่าย สมรักษ์จึงขอขึ้นชกมวยไทยในชื่อ สมรักษ์ ณรงค์ยิม และกลายเป็นนักมวยมีชื่อในแถบจังหวัดขอนแก่น

ต่อมา ณรงค์กับนายแดงพ่อของสมรักษ์เกิดแตกคอกัน สมรักษ์จึงย้ายไปอยู่ค่ายศิษย์อรัญ เข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ ได้ไปเรียนที่ โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา โดยชกทั้งมวยไทย และมวยสากลสมัครเล่น สมรักษ์ขึ้นชกมวยไทยในชื่อ "พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ" แต่พอสมรักษ์ขึ้น ม.2 พ่อก็ถึงแก่กรรม

ในเส้นทางมวยไทย สมรักษ์ตระเวนชกตามเวทีต่างทั้ง ชลบุรี สำโรง อ้อมน้อยจนกระดูกแข็ง เจนสังเวียนมากขึ้นจึงขึ้นชกมวยที่เวทีมาตรฐานทั้งเวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินี มีโอกาสขึ้นชกกับนักมวยชื่อดังยุคนั้นหลายคน เช่น ชาติชายน้อย ชาวไร่อ้อย, ช้างน้อย ศรีมงคล, บัวขาว ป.พิสิษฐ์เชษฐ์, ฉมวกเพชร ช่อชะมวง แต่ไม่เคยได้แชมป์มวยไทยของเวทีใด จน พ.ศ. 2538 จึงขึ้นชกมวยไทยครั้งสุดท้าย ชนะน็อค สุวิทย์เล็ก ส.สกาวรัตน์ ยก 4 แล้วจึงหันมาเอาดีด้านมวยสากลสมัครเล่นอย่างเดียว ค่าตัวสูงสุดที่ได้รับจากการชกมวยไทยอยู่ที่ราว 180,000 บาท จัดเป็นนักมวยเงินแสนคนหนึ่ง

เส้นทางมวยสากลสมัครเล่น

สมรักษ์เริ่มเข้าแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในนามของโรงเรียน เมื่อ พ.ศ. 2528 เมื่ออายุ 12 ปี โดยมีพิกัดน้ำหนัก 52 กิโลกรัมเมื่อสมรักษ์จบ ม.6 จากโรงเรียนผดุงศิษย์ฯ ได้รับการทาบทามจากสโมสรราชนาวีให้ชกมวยสากลสมัครเล่นในนามของสโมสรและจะบรรจุให้เข้ารับราชการในกองทัพเรือด้วย สมรักษ์จึงตอบตกลง สมรักษ์ประสบความสำเร็จได้ทั้งแชมป์ประเทศไทยและเหรียญทองกีฬาแห่งชาติ

ติดทีมชาติ

สมรักษ์ เข้าสู่ทีมชาติครั้งแรก ในการแข่งขันโอลิมปิก ที่บาร์เซโลนา ใน พ.ศ. 2535 ในรุ่นเฟเธอร์เวท รอบแรก ชนะ ไมค์ สแตรงก์ จากแคนาดา เมื่อ 29 กรกฎาคม รอบสอง แพ้ ฟาอุสติโน เรเยส จากสเปน เมื่อ 2 สิงหาคม ตกรอบ พ.ศ. 2536 ได้เหรียญทองมวยทหารโลกที่ประเทศอิตาลี แต่ไม่ได้ติดทีมชาติไปแข่งกีฬาซีเกมส์ในปีนั้นเพราะไม่พร้อม สมรักษ์เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาเป็นครั้งแรก จากการเป็นนักกีฬาไทย ที่ได้เหรียญทองเพียงคนเดียว ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ในปี พ.ศ. 2537 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเกือบจะถูกตัดสิทธิ์เพราะตรวจสมรรถภาพร่างกายไม่ผ่านในครั้งแรก (ภายหลังสภาโอลิมปิคเอเชีย ได้กลับคำตัดสิน โดยให้ รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำ ได้ 2 เหรียญทอง)

นักมวยประวัติศาสตร์

 
ภาพแสตมป์ของสมรักษ์ในรอบชิงชนะเลิศ

พ.ศ. 2538 สมรักษ์ได้เหรียญทองจากกีฬาซีเกมส์ที่เชียงใหม่ และผ่านการคัดเลือกไปแข่งกีฬาโอลิมปิกรอบสุดท้ายได้สมรักษ์โด่งดังถึงที่สุดใน พ.ศ. 2539 เมื่อสมรักษ์สามารถคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกมาได้ โดยชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรีย ด้วยคะแนน 8-5 เส้นทางสู่ทองประวัติศาสตร์เริ่มจากรอบแรกเอาชนะแดเนี่ยล เซต้า นักชกเปอร์โตริโก 13-2, รอบสอง ชนะฟิลิป เอ็นดู จากแอฟริกาใต้ 12-7, รอบสามหรือรอบก่อนรองชนะ รามาส พาเลียนี่ จากรัสเซีย 13-4 นั่นหมายถึงว่าได้เหรียญทองแดงคล้องคอไว้แล้ว และสมรักษ์ชนะ พาโบล ชาคอน จากอาร์เจนตินาไปได้ 20-8 และท้ายที่สุดเอาชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรียไปได้ ซึ่งก่อนการชกในรอบชิงชนะเลิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้พระราชทานกระเช้าผลไม้มายังสมรักษ์และทีมงานพร้อมทั้งทรงอวยพรให้สมรักษ์ได้รับชัยชนะด้วย โดยการแข่งขันโอลิมปิคในครั้งนี้ สมรักษ์ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Kamsing Somluck" โดยเจตนาให้มีนัยทางโชคด้วย (แต่ผู้บรรยายภาษาอังกฤษอ่านออกเสียงว่า คำซิง สมลุก)

ซึ่งการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในครั้งนี้ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ได้ออกแสตมป์ที่มีรูปการชกรอบชิงชนะเลิศของสมรักษ์ ราคาดวงละ 6 บาท มาด้วย เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์นี้ และทางกองทัพเรือ (ทร.) ต้นสังกัดก็ได้เลื่อนยศให้สมรักษ์เป็นเรือตรี (ร.ต.) ซึ่งเดิมสมรักษ์มียศเป็นจ่าเอก (จ.อ.)

วีรบุรุษโอลิมปิก

ภายหลังจากได้เหรียญทองแล้ว สมรักษ์กลายเป็นบุคคลชื่อดังไปในทันที กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ในเวลาไม่นาน ด้วยความเป็นคนมีบุคคลิกเฮฮา มีสีสัน น่าสนใจ ภายหลังจากกลับมาจากโอลิมปิคที่แอตแลนต้าแล้ว สมรักษ์ก็มีงานในวงการบันเทิงเข้ามา เริ่มจาก ละครเรื่อง "นายขนมต้ม" ทางช่อง 7 ที่รับบทเป็นนายขนมต้มพระเอกเอง โดยประกบคู่กับ กุลณัฐ ปรียะวัฒน์ นางเอก และเพื่อน ๆ นักมวยรุ่นพี่อีกหลายคน

และนับแต่นั้นมา สมรักษ์ก็มีสถานะเหมือนเป็นดาราคนหนึ่ง มีงานต่าง ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ ทำให้สมรักษ์เอาใจใส่ในการชกมวยน้อยลง จนมีข่าวว่าซ้อมน้อยลงบ้าง หนีซ้อมบ้าง แต่กระนั้นเจ้าตัวก็ยังยืนยันว่าฝีมือของตัวเองยังคงเหมือนเดิม ถึงขนาดกล้าทำนายผลการชกล่วงหน้า ซึ่งก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง จนได้ฉายาว่า "โม้อมตะ" แต่หลังจากได้รับเหรียญทองกีฬาเอเชียนเกมส์ใน พ.ศ. 2541 แล้ว การชกครั้งหลังจากนี้ สมรักษ์ไม่ประสบความสำเร็จเลย ในการแข่งขันโอลิมปิกที่ซิดนีย์ ปี พ.ศ. 2543 สมรักษ์เข้าแข่งขันในรุ่นเฟเธอร์เวท รอบแรก ชนะอาร์เอสซี อันเดรส โลเดสมา จากโคลัมเบีย ยก 4 เมื่อ 18 กันยายน รอบสอง ชนะ ตุลกุนบาย ตูร์กูนอฟ จากอุซเบกิสถาน เมื่อ 23 กันยายน รอบ 8 คนสุดท้าย แพ้ ร็อกกี้ ฮัวเรซ จากสหรัฐเมื่อ 27 กันยายน และในโอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์ พ.ศ. 2547 สมรักษ์เข้าแข่งขันรุ่นเฟเธอร์เวท รอบแรก แพ้คะแนน เบโนต กูเดต จากแคนาดา ตกรอบเมื่อ 16 สิงหาคม[1] ทำให้เลิกชกมวยสากลสมัครเล่นอย่างเด็ดขาด

กลับมาชกอีกครั้ง

ในปี พ.ศ. 2552 มีข่าวว่า ฌอง-โกล็ด วอง ดัม นักแสดงชื่อดังระดับโลกอยากจะชกมวยนัดพิเศษกับสมรักษ์ดูสักครั้ง แต่แล้วการชกในครั้งนี้ก็ได้มีการเลื่อนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงมีแผนการว่าจะย้ายสถานที่ชกจากสหรัฐอเมริกาจากกำหนดเดิมเนื่องจากมีกฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวย โดยจะย้ายสถานที่แข่งมายังประเทศไทยแทน ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 [2] แต่แล้วก็เลื่อนไปแข่งขันในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 แทน[3]

ปี พ.ศ. 2555 ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร สมรักษ์ได้รับหน้าที่เป็นผู้บรรยายการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นของสถานีโทรทัศน์ NBT ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดีอีกทั้งเป็นที่กล่าวถึงในเรื่องความตลกของการบรรยายมวยของสมรักษ์ และในปีเดียวกันนี้ ในวันที่ 4 ตุลาคม สมรักษ์ได้สร้างความฮือฮาอีกครั้ง เมื่อกลับขึ้นมาชกมวยไทยอีกครั้ง โดยพบกับ ยอดวันเผด็จ สุวรรณวิจิตร (ใช้ชื่อท้ายในครั้งนั้นว่า "ไก่ย่างห้าดาว") อดีตยอดนักมวยไทยอีกคน ในการชกนัดพิเศษที่เวทีราชดำเนิน ที่มีเงินเดิมพันถึง 5,770,000 บาท ผลการชกปรากฏว่าสมรักษ์เป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ในยกที่ 3 ด้วยการฟันศอกใส่ จนกรรมการต้องยุติการชก ซึ่งการชกนัดนี้ยังสามารถเก็บเงินค่าผ่านประตูได้สูงถึง 2,950,000 บาท ยอดผู้ชมกว่า 20,000 คน ปลุกกระแสมวยไทยที่ซบเซาให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ สมรักษ์ยังเปิดเผยอีกว่าต้องการที่จะชกกับ บัวขาว ป.ประมุข อีกด้วย

วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555 สมรักษ์ขึ้นชกในรายการศึกลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกร ที่เวทีมวยลุมพินี โดยใช้ชื่อว่า "สมรักษ์ ส.เทพสุทิน" ในสังกัดของสมศักดิ์ เทพสุทิน[4] โดยมีฌอง-โกล็ด วอง ดัม รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และสมรักษ์เป็นฝ่ายแพ้คะแนน จอมโหด หมอเบสกมลา หรือ จอมโหด เกียรติอดิศักดิ์ ไปด้วยคะแนน 47-49, 47-49 และ 47-49 และต่อมาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ทั้งคู่ได้กลับมาชกล้างตากันอีกครั้ง ผลปรากฏว่าสมรักษ์เป็นฝ่ายชนะคะแนนไป 49-47 ไปทั้ง 3 เสียง ที่เวทีราชดำเนิน และเป็นฝ่ายคว้าเงินรางวัลเดินพันจำนวน 6,000,000 บาทไป[5] และทางสมรักษ์ยังคงยืนยันที่จะสู้กับบัวขาว ป.ประมุข โดยให้จัดนอกเวทีมวยราชดำเนิน หรือนอกเวทีมวยลุมพินีแทน ส่วนทางจอมโหดได้เปิดเผยว่ามีความต้องการที่จะสู้กับสมรักษ์อีกเป็นครั้งที่ 3 [6] และสมรักษ์ยังได้ขึ้นชกอีกหลายต่อหลายครั้ง

ในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557 สมรักษ์มีกำหนดขึ้นชกกับ ฟิลิปเป บัวส์ นักมวยไทยชาวฝรั่งเศส ในรุ่นมิดเดิลเวท ที่เวทีมวยชั่วคราว โกดัง 4 ภายในศูนย์การค้าเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ มีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 แต่เมื่อถึงเวลาชกแล้ว ตัวของสมรักษ์กลับไม่ได้อยู่เวทีหรือห้องพักแต่อย่างใด ทำให้ บริษัท เพชรยินดี บ็อกซิ่ง โปรโมชั่น ไม่พอใจเป็นอย่างมากในฐานะผู้จัดการแข่งขัน ซึ่งได้จ่ายเงินมัดจำเป็นค่าตัวให้สมรักษ์ไปหนึ่งแสนบาทแล้ว และเมื่อติดต่อไปทางไลน์ ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ วันต่อมาสมรักษ์ได้ออกมาเปิดเผยเป็นเพราะตนติดถ่ายละครโทรทัศน์มาก ไม่มีเวลาซ้อม เกรงว่าจะชกสู้ไม่ได้ ยินดีจะคืนเงินมัดจำทั้งหมด และเปรยว่าจะแขวนนวมแล้ว เนื่องจากอายุมากถึง 41 ปีแล้ว หากจะชกจะเป็นการชกโชว์เท่านั้น

ปัจจุบัน สมรักษ์ยังคงมีผลงานในวงการบันเทิง มีผลงานออกมาเป็นระยะ ๆ ล่าสุด ได้แสดงภาพยนตร์ระดับโลกเรื่อง จอมคนผงาดโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยบทบาทในเรื่องต้องปะทะกับ หลี่เหลียนเจี๋ย ด้วย มีกิจการของตัวเอง เช่น ร้านหมูกระทะ ชื่อ "สมรักษ์ย่างเกาหลี" ย่านเกษตร-นวมินทร์ และมีค่ายมวยของตนเอง ชื่อค่าย "ส.คำสิงห์"

ชีวิตส่วนตัว และ ชีวิตครอบครัว

สมรักษ์สมรสกับนางเสาวนีย์ คำสิงห์ ที่รู้จักกันมาตั้งแต่ทั้งคู่ยังเรียนหนังสืออยู่ที่ขอนแก่น มีบุตรด้วยกัน 2 คน

ในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2566 สมรักษ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้จดทะเบียนหย่าร้างกับอดีตภรรยามาได้ 2 เดือนกว่าแล้ว

ในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 สมรักษ์ได้เปิดตัวเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมกับเพื่อนนักมวยอีก 3 คน ได้แก่ เขาทราย แกแล็คซี่, มนัส บุญจำนงค์ และเจริญทอง เกียรติบ้านช่อง โดยที่สมรักษ์ลงรับสมัครเลือกตั้งในเขต 10 อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง[7]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 สมรักษ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 11 จังหวัดขอนแก่น สังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ล้มละลาย

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศเรื่อง ให้พิทักษ์ทรัพย์ของ นางเสาวนีย์ คำสิงห์ และนายสมรักษ์ คำสิงห์ เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ มหานคร จำกัด ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลย[8] เนื่องจากมีหนี้สินจากการเปิดปั๊มน้ำมันกว่า 4 ล้านบาท[9]

สมรักษ์ชี้แจงว่า กรณีนี้เป็นคดีเก่าที่ค้างคามาหลายทศวรรษปีแล้ว ตั้งแต่สมัยยังคงชกมวยสมัครเล่น มีสาเหตุอันเนื่องมาจากความไม่รู้ไม่เชี่ยวชาญในเรื่องเอกสารต่างๆ ประกอบกับธุรกิจขาดทุน จนสุดท้ายก็เลยกลายเป็นคดียืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้ว่า หากศาลสั่งให้ล้มละลาย สามารถเป็นเหตุให้สมรักษ์ต้องออกจากราชการด้วย[10]

ผลงาน

การแข่งขัน

ละครโทรทัศน์

ปี พ.ศ. เรื่อง บทบาท ออกอากาศ
2539 นายขนมต้ม นายขนมต้ม ช่อง 7
2544 เพชรตัดเพชร ไตร ช่อง 7
2548 ทางหลวงทางรัก ช่อง 3
2550 ผู้กองเจ้าเสน่ห์ ช่อง 3
2553 ศิราพัชร ดวงใจนักรบ จ่าแสง ช่อง 3
นักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว ลิงลม ลูกพญาไฟ ช่อง 7
2554 เสือสั่งฟ้า กระทิง ช่อง 7
2557 หมัดเด็ดเสียงทอง โมเดิร์นไนน์ทีวี
2558 สิงห์สี่แคว คม ช่อง 3
ลิเกหมัดสั่ง เมฆดำ ช่อง 8
มือปราบกุ๊กกุ๊กกู๋ ผีแชมป์นักมวย ช่องวัน 31
2560 แหวนปราบมาร ภูติวายุ ช่อง 7
นายฮ้อยทมิฬ สุบิน ช่อง 7
2561 แม่สื่อจอมป่วน โจ๊ก ช่อง 7
นักสู้สะท้านฟ้า ครูแดง ช่อง 7
รักสุดปลายนวม สมศักดิ์ ช่อง 7
2562 มธุรสโลกันตร์ รุ่ง ช่อง 7
สู้ตายนายกระจับ เฮียซ้ง ไลน์ทีวี
2564 กู้ภัยอาสารัก เฮียตุ๊ ช่อง 7
แด่คุณพ่อด้วยแข้งขวา น้าหมาน ไทยรัฐทีวี
เวราอาฆาต ถึก (รับเชิญ) ช่อง 8
เสี่ยวซำน้อย พ่อยิ่งยวด (รับเชิญ) Ais Play
2566 ข้าวเหนียวทองคำ อาจารย์เข้ม ช่องวัน 31
มวยสะดิ้ง หมัดซิ่งสายฟ้า สมรักษ์ คำสิงห์ (บาส) (รับเชิญตอนจบ) ช่อง 8

ภาพยนตร์

  • หลอน (2546) รับบท ทิดเคน
  • คนสั่งผี (2546) รับบท ผีหัวขาด
  • หมอลำไฮเทค (2546)
  • พยัคฆ์ร้าย 3 สลึง (2546)
  • เกิดมาลุย (2547) รับบท ทับ
  • จอมคนผงาดโลก (2549) รับบท เป่ยชา
  • หญิงแกร่งเมื่องถลาง (2549)
  • ซอยคาวบอย (2551)
  • ท้าชนคนเดือด (2552)
  • Fighting Fish ดุ ดวล ดิบ (2555) รับบท ตำรวจนักสืบ
  • อีปึก อัศจรรย์วันแห่งศรัทธา (2560) รับบท หัวหน้าโต
  • ปาฏิหาริย์แก้วนาคราช (2561)
  • ขุนบันลือ (2561)
  • คืนรัง (2562)
  • สงกรานต์ แสบสะท้านโลกันต์ (2562)
  • เดอะ สเน็ค (2563)
  • คุณชายใหญ่ (2563) รับบท คำสิงห์
  • ลิฟยู โคกอีเกิ้ง (2563) รับบท น้าเป้า
  • มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ (2563) รับบท ครูบาส
  • รักเลยร้อยเอ็ด (2563) รับบท พ่อของแพ็ต

ซิทคอม

เพลง

  • คนขอนแก่น - รวมศิลปินชาวจังหวัดขอนแก่น
  • อัลบั้ม 3 หมัด สะบัดไมค์ ร่วมกับ สามารถ พยัคฆ์อรุณ และ เขาทราย แกแล็คซี่ (2546)
  • อัลบั้ม ขอร้องด้วยคน (2549)
  • อัลบั้ม สงกรานต์มหาสนุก (2549)
  • อัลบั้ม เพื่อชีวิต เพลงหวาน (2549)
  • อัลบั้ม ลูกทุ่งเพลงหวาน (2550)
  • อัลบั้ม สร้างสรรค์กำลังใจ (2551)
  • เมียพี่ไม่รู้ ร่วมกับ สามารถ พยัคฆ์อรุณ และ เขาทราย แกแล็คซี่ (2559)
  • เดิมพันที่ยิ่งใหญ่ (2559) - จัดทำขึ้นเพื่อถวายความอาลัยและร่วมสืบสานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  • อัลบั้ม อีสานอินดี้ (2562)

รายการ

  • เข้าเล่นเกมส์ในรายการ หัวท้ายตายก่อน (2564)
  • เข้าแข่งขันร้องเพลงในรายการ โจ๊กตัดโจ๊ก ฟรีสไตล์ เพลง พี่สาวครับ (2564)
  • เข้าแข่งขันร้องเพลงในรายการ โจ๊กตัดโจ๊ก ต้นฉบับมาเอง เพลง สาวกระโปรงเหี่ยน (2565)
  • เข้าแข่งขันร้องเพลงในรายการ โจ๊กตัดโจ๊ก ตันฉบับสลับเพลง เพลง ห้องนอนคนจน (2565)

คอนเสิร์ต

  • คอนเสิร์ต Pattaya International Music Festival 2006 (19 มีนาคม 2549)
  • คอนเสิร์ต สวัสดีลูกทุ่งทั่วไทย (6 กันยายน 2551)
  • คอนเสิร์ต Thailand International Sport Expo 2014 (24 ตุลาคม 2557)
  • คอนเสิร์ต เพื่อไม่ทิ้งกัน เพือหารายได้ช่วยเหลือ พี่โดม มาร์ติน ป่วยด้วยโรคมะเร็งเนื้องอกในสมอง (31 กรกฎาคม 2562)

มิวสิควีดีโอ

โฆษณา

ปี โฆษณา ร่วมกับ
2563 นมตราหมี UHT เสาวนีย์ คำสิงห์, รักษ์วนีย์ คำสิงห์, ภูวรักษ์ คำสิงห์
2564 น้ำปลาร้าตำนัว

ชื่ออื่น

  • พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ (มวยไทยหนแรก)
  • สมรักษ์ ส.เทพสุทิน (มวยไทยหนหลัง)

ดูเพิ่ม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. "วีรบุรุษโอลิมปิกของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-08. สืบค้นเมื่อ 2010-07-26.
  2. น็อกเอาต์ฉบับมวยสยาม. ปีที่ 23 ฉบับที่ 1950. ISSN 15135438. หน้า 15, 23
  3. ศร กฤษณะ. มวยสยามรายวัน. ปีที่ 19 ฉบับที่ 6622. วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554. หน้า 5
  4. คืนสังเวียน สมรักษ์จรดปากกาเซ็นสัญญาค่าย ส.เทพสุทิน ปีหน้าชก 5 ไฟต์
  5. ไม่ได้โม้!'สมรักษ์'ชนะ'จอมโหด' จากคมชัดลึก
  6. 'จอมโหด' ท้า 'สมรักษ์' ไฟท์ 3
  7. ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการขอนแก่นพรรคเพื่อไทยชนะ ยกทีม 10 เขต จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดขอนแก่น[ลิงก์เสีย]
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด, เล่ม ๑๓๕, ตอนพิเศษ ๒๓๒ ง, ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑, หน้า ๒๕
  9. เปิดใจ ‘สมรักษ์’ ฮีโร่โอลิมปิกถูกฟ้องล้มละลาย! ยืนยันยังมีความสุขดี-ไม่มีปัญหา. ข่าวสด. 21 กันยายน พ.ศ. 2561.
  10. เปิดใจ "สมรักษ์ คำสิงห์" หลังล้มละลาย เผยมีหนี้กว่า 4 ล้าน ชีวิตยังสุขดี. สนุกอดตคอม. 22 กันยายน พ.ศ. 2561.
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๒๑ ข หน้า ๑๙, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๑๕๖, ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๒๑๒, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๙
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๕๑ เก็บถาวร 2022-06-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๔๓, ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๒

แหล่งข้อมูลอื่น