พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เดิมชื่อ ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งตั้งอยู่ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีการแบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็นสามอาคารซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางและพระราชฐานชั้นใน ได้แก่ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระที่นั่งจันทรพิศาล และหมู่ตึกพระประเทียบ[3] ในอาคารเหล่านี้ได้จัดแสดงโบราณวัตถุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุครัตนโกสินทร์ที่พบภายในจังหวัดลพบุรีและใกล้เคียง รวมทั้งมีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ อันแสดงถึงวิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำภาคกลาง[4][5] ส่วนอาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารทรงปั้นหยาสีเขียว ตั้งแยกออกมาต่างหากในเขตพระราชฐานชั้นนอกใกล้กับประตูพระนารายณ์ราชนิเวศน์ด้านถนนสรศักดิ์ เดิมเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี[6]
พิพิธภัณฑ์ในส่วนพระที่นั่งพิมานมงกุฎ | |
ชื่อเดิม | ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน |
---|---|
ก่อตั้ง | 11 ตุลาคม พ.ศ. 2467 |
ที่ตั้ง | ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ถนนสรศักดิ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 14°47′59.950″N 100°36′35.039″E / 14.79998611°N 100.60973306°E |
ประเภท | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ |
ผลงาน | โบราณวัตถุในจังหวัดลพบุรี[1] |
ผู้ดูแล | กรมศิลปากร |
ผู้อำนวยการ | นิภา สังคนาคินทร์[2] |
เว็บไซต์ | www |
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เปิดวันพุธ–วันอาทิตย์ เวลา 09.00–16.00 น. เสียค่าเข้าชมในอัตราชาวไทย 30 บาท และชาวต่างประเทศ 150 บาท กรณีนักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้สูงอายุ และนักบวชไม่เสียค่าธรรมเนียม[5][7]
ประวัติ
แก้เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไปตรวจราชการที่เมืองลพบุรี ทรงพบว่ามีโบราณวัตถุกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ทรงมอบหมายให้ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุขึ้น โดยใช้พื้นที่ของพระที่นั่งจันทรพิศาลภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์สำหรับจัดแสดง[3] ใช้ชื่อว่า ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน เปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2467 ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ พ.ศ. 2504[8]
ทั้งนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ไม่สามารถสร้างอาคารเพิ่มอีกได้เพราะตั้งอยู่ภายในโบราณสถาน จึงต้องทำการบูรณะอาคารเก่าเพื่อยังประโยชน์ใช้สอยของพิพิธภัณฑ์ เช่นการซ่อมแซมหมู่ตึกพระประเทียบ และการซ่อมแซมทิมดาบซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง[2]
วัตถุที่จัดแสดง
แก้- เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ จัดแสดงภายในพระที่นั่งจันทรพิศาล ว่าด้วยพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ สังคม เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีภาพเหตุการณ์สำคัญในรัชกาล และโบราณวัตถุจากสมัยดังกล่าว[5][8]
- โบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ (3,500–4,000 ปี) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 1 ประกอบด้วยหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ เช่น โครงกระดูกมนุษย์ ขวานหินขัด ภาชนะดินเผา สัมฤทธิ์ และโลหะ เป็นต้น[9]
- วัฒนธรรมสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12–16) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 1 ประกอบด้วยโบราณวัตถุและศาสนวัตถุของทวารวดีและจากรัฐที่ทำการค้าด้วย เช่น ภาชนะดินเผา ตะคันดินเผา เครื่องประดับ กำไล ต่างหู จารึกภาษามอญโบราณ จารึกภาษาสันสกฤต จารึกภาษาบาลี และจารึกอักษรปัลลวะ รวมไปถึงสิ่งของตามความเชื่อดั้งเดิมก่อนรับศาสนาจากอินเดีย เช่น ตุ๊กตาดินเผา[10]
- ศิลปะเขมรและสมัยลพบุรี (1,400–1,800 ปี) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 2 ประกอบด้วยโบราณวัตถุอิทธิพลขอมจากปราสาทขอมในลพบุรี เช่น ศิลาจารึก เศียรพระโพธิสัตว์ และทับหลังที่ได้ปรางค์สามยอด ปรางค์แขก และพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ[10]
- ศิลปะสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา) จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 2 ประกอบด้วยพระพุทธรูป แผงพระพิมพ์ เครื่องถ้วยต่าง ๆ และอาวุธโบราณ[10]
- พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงภายในพระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 3 ประกอบด้วยพระแท่นบรรทมจากพระราชวังจันทรเกษม เงินพดด้วงประทับตรามงกุฎ เหรียญกษาปณ์ทองคำตรามงกุฎ บรรณาการ และเครื่องใช้ต่าง ๆ[5][11]
- วิถี ผู้คน ตัวตน คนลพบุรี[5] จัดแสดงภายในโรงครัวของหมู่ตีกพระประเทียบ จัดเรื่องวิถีชีวิตของคนไทยภาคกลางและคนลพบุรีในอดีต มีเครื่องใช้จัดแสดงไว้ เช่น เตา หม้อ ครก กระจ่า กระต่ายขูดมะพร้าว การทอผ้า การปั้นหม้อดินเผา และการทำดินสอพอง เป็นต้น[11][3]
การจัดแสดง
แก้พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
แก้พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน สำหรับเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ปัจจุบันได้จัดแสดงนิทรรศการถาวร 7 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการถาวร 2 เรื่อง คือเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์แถบภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อประมาณ 3,500–4,000 ปีมาแล้ว จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดี ในจังหวัดลพบุรี ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค แหล่งโบราณคดีบ้านโคกหม้อ แหล่งโบราณคดีบ้านดงมะรุม แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ และ แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว เช่น โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ และเครื่องประดับที่ทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงโบราณคดีบ้านท่าแค จ. ลพบุรี ที่มีอายุประมาณ 3,500–1,000 ปี
พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 1
แก้อารยธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 700–1400 จำแนกเป็นเรื่องเมืองและการตั้งถิ่นฐาน และการดำรงชีวิต อักษร-ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อ จากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุแบบทวารวดีที่พบในจังหวัดลพบุรี โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ รูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เหรียญ ตราประทับ จารึก ฯลฯ
พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 2
แก้จัดแสดงนิทรรศการถาวร 4 เรื่อง คือ เรื่องประวัติศาสตร์และศิลปกรรมภาคกลางของประเทศไทย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16–18 หรือสมัยอิทธิพลศิลปะเขมร โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ ทับหลัง พระพุทธรูปนาคปรก และเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย จัดแสดงศิลปกรรมแบบต่างๆ ที่พบในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา คือ ศิลปะแบบลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ประเทศไทย (ศิลปะศรีวิชัย) ศิลปะทางภาคเหนือศิลปะล้านนาและศิลปะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นต้น การแสดงเครื่องถ้วยที่พบในประเทศไทย จัดแสดงเครื่องถ้วยแบบต่าง ๆ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทย และศิลปโบราณวัตถุ พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา (ศิลปกรรมอยุธยา–รัตนโกสินทร์) โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูป บานประตูไม้แกะสลัก ชิ้นส่วนปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม เหรียญตรา ผ้า เครื่องเงิน-ทอง เครื่องถ้วย ฯลฯ
พระที่นั่งพิมานมงกุฎชั้นที่ 3
แก้แต่เดิมเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 4 คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องดังกล่าวจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ ฉลองพระองค์ ภาพพระสาทิสลักษณ์ แท่นบรรทม เหรียญ เครื่องแก้ว และจานชามมีสัญลักษณ์รูปมงกุฎ
พระที่นั่งจันทรพิศาล
แก้พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นท้องพระโรงสำหรับประชุมเสนาบดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีห้องจัดแสดง 2 ห้อง คือ
- เรื่องประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ ที่ชาวต่างประเทศได้วาดไว้ และโบราณวัตถุที่มีอายุในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมไปถึงการติดต่อกับชาติตะวันตก เช่น ฮอลันดา โปรตุเกส ในสมัยนั้นเป็นต้น
- เรื่องศาสนวัตถุต่าง ๆ ในพุทธศตวรรษที่ 19–24 (สมัยอยุธยา–รัตนโกสินทร์) จัดแสดงตู้พระธรรม ธรรมาสน์ ตาลปัตร สมุดไทย
หมู่ตึกพระประเทียบ
แก้หมู่ตึกพระประเทียบ เป็นนเขตพระราชฐานชั้นใน สมัยรัชกาลที่ 4 มี 8 หลัง ได้จัดแสดงนิทรรศการถาวร 2 เรื่อง ได้แก่
- เรื่องชีวิตไทยภาคกลาง (พิพิธภัณฑ์ชาวนา) จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง
- เรื่องหนังใหญ่ จัดแสดงหนังใหญ่ของจังหวัดลพบุรีที่ได้จากวัดตะเคียน และวัดสำราญ
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้เชิงอรรถ
แก้- ↑ "Somdet Phra Narai National Museum". Thailand Tourism Directory. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 สิงหาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2019.
- ↑ 2.0 2.1 "กระเสออเจ้าแรงไม่ตก! พิพิธภัณฑ์วังนารายณ์คนล้น เล็งขยายเวลาเปิดถึง 19.30 น." มติชนออนไลน์. 11 เมษายน 2561. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2562.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์". สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 สิงหาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2019.
- ↑ หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี. หน้า 100–102.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์". มิวเซียมไทยแลนด์. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2562.
- ↑ พงศกร แก้วกระจ่าง (7 กันยายน 2559). "อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์". สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2562.
- ↑ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2562.
- ↑ 8.0 8.1 หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี. หน้า 96.
- ↑ หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี. หน้า 98.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี. หน้า 99.
- ↑ 11.0 11.1 หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี. หน้า 102.
บรรณานุกรม
แก้- นิภา สังคนาคินทร์, บ.ก. (2560). หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี (3 ed.). กรุงเทพฯ: นะรุจ.