พิพากอธรรม
พิพากอธรรม (อังกฤษ: To Kill a Mockingbird) เป็นภาพยนตร์อเมริกัน ปี ค.ศ. 1962 กำกับการแสดงโดย โรเบิร์ต มัลลิแกน เขียนบทภาพยนตร์โดย ฮอร์ตัน ฟูเต เนื้อเรื่องสร้างจากนวนิยายที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์เรื่อง ผู้บริสุทธิ์ (ค.ศ. 1960) โดย ฮาร์เปอร์ ลี นำแสดงโดย เกรกอรี เพก ในบท "อัตติกัส ฟินช์" ร่วมด้วยนักแสดงเด็กอย่าง แมรี แบดแฮม, ฟิลลิป อัลฟอร์ด และ จอห์น เมกนา ในบทบาทนักแสดงสมทบ โดยตัวละคร อัตติกัส ฟินช์ ได้รับการพูดถึงว่าเป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดของ เกรกอรี เพก นอกจากนี้ แมรี แบดแฮม ซึ่งเป็นนักแสดงเด็กหญิงวัยเพียง 10 ขวบ ก็ได้รับคำชื่นชมอย่างสูงกับบท "จีน หลุยส์ ฟินช์" หรือ "สเกาต์" อีกทั้งยังถือเป็นการปรากฏตัวในภาพยนตร์เป็นครั้งแรกของ โรเบิร์ต ดูวัล ที่ก่อนหน้านี้เขามีผลงานการแสดงแค่ในละครโทรทัศน์
พิพากอธรรม | |
---|---|
โปสเตอร์ สำหรับเผยแพร่ภาพยนตร์ | |
กำกับ | โรเบิร์ต มัลลิแกน |
บทภาพยนตร์ | ฮอร์ตัน ฟูเต |
สร้างจาก | ผู้บริสุทธิ์ โดย ฮาร์เปอร์ ลี |
อำนวยการสร้าง | อลัน เจ. พาคูลา |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | รัสเซลล์ ฮาร์ลัน, A.S.C. |
ตัดต่อ | แอรอน สเตลล์, A.C.E. |
ดนตรีประกอบ | เอลเมอร์ เบิร์นสตีน |
บริษัทผู้สร้าง |
|
ผู้จัดจำหน่าย | ยูนิเวอร์แซลพิกเจอส์ |
วันฉาย |
|
ความยาว | 129 นาที[1] |
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
ภาษา | อังกฤษ |
ทุนสร้าง | 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
ทำเงิน | 13.1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ[2] |
ในปี ค.ศ. 1995 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเลือกจากหอสมุดรัฐสภาให้เป็นภาพยนตร์อนุรักษ์ของหอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติสหรัฐ ในฐานะภาพยนตร์ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือสุนทรียศาสตร์ ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 สถาบันภาพยนตร์อเมริกัน ได้ยกให้บท "อัตติกัส ฟินช์" เป็นวีรบุรุษในภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคศตวรรษที่ 20 ในปี ค.ศ. 2007 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 25 ของภาพยนตร์อเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน
ในปี ค.ศ. 2012 ทางยูนิเวอร์แซลพิกเจอส์ ได้นำฟิล์มของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่ให้มีความคมชัดของภาพอยู่ในระดับสูง (1920×1080 พิกเซล) รวมทั้งมีการรีมิกซ์เสียงใหม่ในรูปแบบเสียงดีทีเอส เอชดี มาสเตอร์ 5.1 โดยจัดจำหน่ายทั่วโลกในรูปแบบบลูเรย์ และปี ค.ศ. 2020 สถาบันภาพยนตร์บริติช ได้นำภาพยนต์เรื่องนี้บรรจุไว้ในรายชื่อภาพยนตร์ 50 เรื่อง ที่ควรดูเมื่ออายุครบ 15 ปี[3]
เนื้อหา
แก้ภาพยนตร์ดำเนินเนื้อเรื่องในช่วงต้นยุคคริสต์ทศวรรษ 1930 ผ่านการบรรยายเนื้อเรื่องจากตัวละคร "จีน หลุยส์ ฟินช์" หรือ "สเกาต์" ในวัยที่โตเป็นผู้ใหญ่ โดย สเกาต์ เล่าเรื่องราวในวัยเด็กของเธอและพี่ชายที่ชื่อ "เจเรมี ฟินช์" หรือ "เจ็ม" พี่น้องทั้งสองอาศัยอยู่อย่างมีความสุขที่เมืองเมย์คอมบ์ รัฐแอละแบมา โดยได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อของเธอ "อัตติกัส ฟินช์" ทนายความซึ่งเป็นพ่อหม้ายเนื่องจากภรรยาเสียชีวิต และแม่บ้านผิวสีชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ชื่อ "แคลเปอร์เนีย"
ในช่วงฤดูร้อนปีหนึ่ง เจ็ม, สเกาต์ และเพื่อนของพวกเขาที่ชื่อ "ชาร์ลส์ เบเกอร์ แฮร์ริส" หรือ "ดิลล์" มักจะออกไปเล่นด้วยกันจนกระทั่งพวกเขาได้เกิดความสนใจปนหวาดกลัวในตัวของเพื่อนบ้านลึกลับที่ชื่อ "อาเธอร์ แรดลีย์" หรือ "บู" ที่ไม่ยอมออกจากบ้านของตัวเอง โดยชาวบ้านในเมืองเมย์คอมบ์มักจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงบู และไม่มีใครเห็นเขาออกนอกบ้านมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เด็กทั้ง 3 ต่างพากันจินตนาการถึงบูจากการที่ได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับลักษณะท่าทางของเขาและเหตุผลที่ทำให้บูต้องหลบซ่อนตัว วันหนึ่งสเกาต์และเจ็มพบว่ามีใครบางคนวางของขวัญชิ้นเล็กๆ ไว้ให้พวกเขาในโพรงต้นไม้หน้าบ้านแรดลีย์ ความจริงแล้วบูผู้ลึกลับแอบแสดงท่าทีเป็นมิตรและมอบสิ่งของแก่เด็กๆ หลายครั้ง แต่เขาไม่กล้าปรากฏตัวให้ใครเห็น
อัตติกัส ฟินช์ ซึ่งเป็นพ่อของเจ็มและสเกาต์ เป็นทนายความท้องถิ่น ผู้มีความเชื่อว่าทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม ลูกความของเขาส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะยากจน ในบางครั้งอัตติกัส ฟินช์ จึงเลือกรับค่าว่าความเป็นผลิตผลทางการเกษตร ฟืน หรือสิ่งของอื่นๆ แทนเงิน กระทั่งเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความให้กับ "ทอม โรบินสัน" ชายผิวดำซึ่งถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงสาวผิวขาวชื่อ "เมย์เอลลา ยูเอลล์" อัตติกัสตกลงว่าความให้ทอมอย่างสุดความสามารถ แม้ว่าชาวเมืองเมย์คอมบ์หลายคนจะไม่ยอมรับ เด็กที่โรงเรียนกล่าวล้อเลียนเจ็มและสเกาต์ว่าเป็น "พวกรักไอ้มืด" เพราะการกระทำของอัตติกัส สเกาต์เกือบจะสู้กับเด็กคนอื่น ๆ เพื่อปกป้องชื่อเสียงของพ่อแม้ว่าเขาจะสั่งห้ามเธอไว้ อัตติกัสเองก็ต้องเผชิญกับกลุ่มคนที่พยายามจะฆ่าทอม แต่สถานการณ์อันตรายก็ผ่านพ้นไป เมื่อเจ็ม, สเกาต์ และดิลล์ สร้างความอับอายแก่กลุ่มคน จนเขาต้องแยกย้ายกันไป โดยทำให้พวกเขามองสถานการณ์ในมุมมองของอัตติกัสและทอม
อัตติกัสไม่ต้องการให้พวกเด็กๆ เห็นกระบวนการพิจารณาตัดสินคดีของทอม โรบินสัน ในศาล พวกเจ็ม, สเกาต์ และ ดิลล์ จึงต้องพากันแอบดูจากที่นั่งของคนดำ ในการพิจารณาคดี เมย์เอลลา กล่าวหาว่าทอม โรบินสัน ได้ทำร้ายร่างกายเธอก่อนจะลงมือข่มขืน โดยเธอแสดงให้เห็นบาดแผลที่ปรากฎบนร่างกาย ฝ่ายอัตติกัสซึ่งเป็นทนายจำเลยได้นำสืบว่าฝ่ายโจทก์ เมย์เอลลาและบ็อบ ยูเอลล์ พ่อขี้เมาของเธอ กำลังให้การเท็จ เมื่อบาดแผลส่วนใหญ่บนร่างกายของเมย์เอลลาจะต้องเกิดจากผู้กระทำที่ต้องถนัดมือซ้าย แต่ทอม โรบินสัน ไม่สามารถใช้มือซ้ายได้เทียบเท่าคนปกติเพราะเคยประสบอุบัติเหตุขณะทำการเกษตร อัตติกัส ยังนำสืบไปอีกว่า เมย์เอลลา ไม่เคยไปพบแพทย์หลังจากเกิดเรื่องและบุคคลที่เธออยู่ด้วยในวันเกิดเหตุและถนัดมือซ้ายในระดับใช้งานได้อย่างปกติก็คือ บ็อบ ยูเอลล์ พ่อของเธอเอง และเขายังแสดงให้เห็นว่าเมย์เอลลาผู้ไม่มีเพื่อนเป็นฝ่ายพยายามสร้างสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับ ทอม โรบินสัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมอเมริกันสมัยนั้นที่หญิงผิวขาวจะมีความสัมพันธุ์ชู้สาวกับชายผิวสี และพ่อของเธอจับได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า คนที่ทำร้ายร่างกายของเมย์เอลลา ก็คือพ่อของเธอที่ทราบเรื่องนั่นเอง
แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักสามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของจำเลย รวมถึงมีเหตุอันควรสงสัยในพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ แต่ท้ายที่สุดคณะลูกขุนกลับตัดสินให้ ทอม โรบินสัน มีความผิด แม้ฝ่ายอัตติกัส จะเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นศาล แต่ผลจากการที่เขาขึ้นว่าความอย่างสุดความสามารถเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้กับลูกความของเขาโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นคนผิวสี ทำให้กลุ่มคนผิวสีที่มาฟังการพิจารณาคดีนี้พร้อมใจกันลุกขึ้นยืนอย่างพร้อมเพรียงเพื่อแสดงความเคารพในตัวเขาขณะเขาเดินออกจากศาลเมื่อการพิจารณาคดีจบลง อย่างไรก็ตามผลจากคำพิพากษาในคดีดังกล่าวก็ทำให้ความเชื่อมั่นในระบบความยุติธรรมของเจ็มถูกสั่นคลอนอย่างมาก เช่นเดียวกับตัวของอัตติกัส โดยในขณะที่เขากำลังจะอุทธรณ์คำพิพากษาให้กับลูกความของเขา กลับต้องมาทราบข่าวร้ายว่า ทอม โรบินสัน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมขณะพยายามวิ่งหลบหนีการจับกุม
อ้างอิง
แก้- ↑ "TO KILL A MOCKINGBIRD (A)". British Board of Film Classification. December 20, 1960. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 26, 2015. สืบค้นเมื่อ December 25, 2015.
- ↑ 2.0 2.1 "To Kill A Mockingbird – Box Office Data, DVD and Blu-ray Sales, Movie News, Cast and Crew Information". The Numbers. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 2, 2021. สืบค้นเมื่อ December 13, 2014.
- ↑ BFI Education (7 May 2020). "50 films to see by age 15". bfi.org.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 March 2022. สืบค้นเมื่อ 25 April 2022.