พิธีเหยา เป็นความเชื่อและพิธีกรรมในการรักษาสุขภาพของคนในชุมชนผู้ไทยที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพกาลอันสืบเนื่องมาจาก ความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือผี เป็นการทำพิธีเพื่อติดต่อระหว่างผีกับคน ให้ผีช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนโดยเฉพาะการเจ็บไข้ได้ป่วย[1]

พบในพื้นที่แถบภาคอีสานของประเทศไทย โดยจะนิยมทำในแถบภูไทหรือผู้ไทย, ผู้ไท (จังหวัดกาฬสินธุ์, นครพนม, มุกดาหาร, สกลนคร) พิธีกรรมนี้เป็นการเสี่ยงทาย เมื่อมีการเจ็บป่วยในครอบครัว โดยการเจ็บป่วยนี้จะเชื่อว่าเป็นการกระทำของผี จึงต้องทำการเหยาเพื่อแก้ผี และเพื่อจะได้ทราบว่าผีต้องการอะไร หรือผู้เจ็บป่วยทำผิดผีอะไร จะได้ทำตาม เชื่อว่า หากแก้ผีแล้ว อาการเจ็บป่วยจะหายเป็นปกติ

มูลเหตุที่ต้องมีการเหยามาจากสภาพสังคมดั้งเดิมของชาวไทยที่ไม่มีสถานพยาบาลรับรองความเจ็บป่วย ก่อให้เกิดความจำเป็นที่ชาวไทยต้องดิ้นรนหาที่พึ่งยามเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนใหญ่นั้นใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่มีในท้องถิ่นในการรักษาและดูแลสุขภาพ ในอดีตการรักษาโรคภัยไข้เจ็บจำเป็นต้องอาศัยผีเป็นผู้วินิจฉัยโรคบอกวิธีรักษา

ในปัจจุบันแม้มีการแพทย์แผนใหม่ที่สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แต่โรคบางโรคหรืออาการบางอย่างรักษาไม่หาย ผู้ป่วยที่ไม่มีที่พึ่งจึงจำเป็นต้องพึ่งพิธีกรรม อย่างน้อยจะทำให้จิตใจผู้ป่วยดีขึ้น จึงจัดเป็นพิธีกรรมที่สร้างขวัญและกำลังใจกับผู้ป่วยเป็นหลัก เมื่อผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือผู้ป่วยหายจากโรคและอาการเจ็บป่วยก็จะทำพิธีการเหยา ผู้ที่ทำพิธีการเหยาเรียกว่า หมอเหยาเป็นผู้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษโดยปู่ย่า ตายาย แม่ เป็นหมอเหยามาก่อนลูกก็จะสืบทอดการเป็นหมอเหยา แต่ในปัจจุบันนี้การสืบทอดการเป็นหมอเหยานั้นได้เลือนหายไปจากสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทยไปแล้ว ยังเหลือแต่หมอเหยาที่เป็นผู้อาวุโสของชุมชนเท่านั้น และการประกอบพิธีกรรมเหยายังคงเหลือให้เห็นเพียงแต่บางชุมชนเท่านั้น เนื่องจากสังคมสมัยใหม่ได้เขามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างของชาวผู้ไทย ทั้งนี้ การเหยาเป็นการติดต่อสื่อสารของมนุษย์และวิญญาณ ซึ่งการติดต่อสื่อสารจะใช้ท่วงทำนองของดนตรีหรือที่ชาวผู้ไทยเรียกว่า กลอนลำ (หมอลำ) มีเครื่องดนตรีประเภทแคนประกอบการให้จังหวะ วิธีการติดต่อสื่อสาร กลอนลำและทำนอง เรียกว่า การเหยา

ประเภทของการประกอบพิธีกรรมเหยา แก้

  • การเหยาเพื่อคุมผีออก เนื่องจากผู้ป่วยมีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการกระทำของผีหรือวิญญาณทำให้เกิดการเจ็บป่วย ซึ่งจะต้องมีการเสี่ยงทายจากหมอเหยาทำพิธีคุมผีออกจากการร่ายรำของหมอเหยาประกอบกับดนตรีที่ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรี
  • เหยาเพื่อให้ขวัญและกำลังใจ เหยาต่ออายุ เหยาเพื่อชีวิต เหยาแก้บน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ครอบครัวญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล ในช่วงเทศกาลงานสำคัญ ๆ ของหมู่บ้านชุมชน หรือฤดูกาลทำการเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตมีความอุดมสมบูรณ์ตามที่คาดหวัง
  • เหยาเพื่อเลี้ยงผี เพื่อเลี้ยงขอบคุณผีบรรพบุรุษในรอบปี ซึ่งพิธีการเหยาแบบนี้จะกระทำเพียงปีละครั้งเท่านั้นในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนเท่านั้น เพื่อขอขมาและสักการะผีที่ช่วยปกป้องคุ้มครองชุมชนให้ปกติสุขไม่มีเรื่องอันใดที่ทำให้เกิดภัยพิบัติหรืออันตรายแก่ผู้คนในชุมชนผู้ไทย
  • การเหยาในงานบุญประจำปี ส่วนมากกระทำพิธีกรรมในงานบุญผะเหวตเท่านั้น โดยมีการเหยาปีละครั้งเท่านั้นกระทำติดต่อกันทุก ๆ ปี ครบ 3 ปี แล้วจะเว้นช่วงของการประกอบพิธีเหยาในงานบุญประจำปีนี้ 1 ปี แล้วจึงกลับมาทำพิธีกรรมอีกครั้งเวียนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

อ้างอิง แก้

  1. เกรียงไกร ผาสุตะ. "บทกลอนขับลำ: สื่อในการจัดการความขัดแย้งในชุมชน ผ่านพิธีกรรมการเหยาของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย".