พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือที่โบราณเรียกว่า พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีและซื่อตรงต่อพระมหากษัตริย์ กำหนดให้ประกอบขึ้นปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ วันขึ้น 3 ค่ำ เดือนห้า และแรม 13 ค่ำ เดือนสิบ เหตุเพราะวันขึ้น 3 ค่ำ เดือนห้า เป็นพิธีอันเนื่องมาแต่พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พระราชพิธีตรุษสิ้นปี) ส่วนในวันแรม 13 ค่ำ เดือนสิบ เนื่องมาแต่พระราชพิธีสารท

พระราชครูวามเทพมุนี เชิญ พระแสงศร อ่านโองการ ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา 25 มีนาคม พ.ศ. 2512
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาต่อหน้าพระอจนะ วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย

พิธีการ แก้

พิธีการนั้น พราหมณ์จะนำคมศาสตราวุธต่าง ๆ มาทำพิธีสวดหรืออ่านโองการแช่งน้ำแล้วแทงศาสตราวุธลงในน้ำที่จะให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งหลายดื่ม เมื่อถือน้ำเสร็จแล้วกำหนดให้นำข้าวตอก ดอกไม้ และเทียน ไปกราบถวาย บังคมพระบรมรูปของสมเด็จพระเชษฐบิดร สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แล้วจึงจะไปกราบบูชาพระรัตนตรัย

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต้องไปกราบนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสารีริกธาตุเจดีย์ และพระรัตนตรัย ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อน จากนั้นจึงพากันไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระบรมมหาราชวังต่อไป ในสมัยอยุธยาเป็นพิธีของพราหมณ์ล้วน ๆ ครั้นมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เพิ่มพิธีพุทธเข้าไปควบคู่กับพิธีพราหมณ์ และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ เช่น งดการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ที่มาเจริญพระพุทธมนต์[1]

ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ได้ร่วมเสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย โดยทรงถือว่าน้ำชำระพระแสงศรนั้นเป็นสวัสดิมงคลและเพื่อแสดงพระราชหฤทัยเมตตากรุณาโดยเที่ยงธรรมให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้ทราบ[2] การประกอบพระราชพิธีจะกำหนดไว้ 2 วัน วันแรกเป็นการเสกน้ำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่ 2 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ที่มา แก้

จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่าต้นกำเนิดพระราชพิธีมาจากมีต้นเค้ามาจากราชสำนักเขมร โดยอ้างถึงข้อความในจารึกบนกรอบประตูปราสาทพิมานอากาศว่าด้วยพิธีกรรม กัดไดถวายอายุ เป็นการเชือดแขนให้เลือดไหลลงผสมกับน้ำแล้วดื่มเพื่อเป็นการกระทำสัตย์สาบาน

ในประเทศไทยสันนิษฐานว่ากระทำกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานใน พงศาวดารเหนือ เรื่อง พญาโคตรตะบอง กล่าวถึงพระเจ้าสินธพอำมรินทร์มีรับสั่งให้ข้าราชการทั้งส่วนกลางและหัวเมืองต่าง ๆ มารับพระราชทาน น้ำพระพิพัฒนสัจจา หลังจากพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 3 ปี

ในสมัยอยุธยาพิธีประกอบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์จากนั้นย้ายมาเป็นวิหารพระมงคลบพิตร ในสมัยรัตนโกสินทร์ประกอบขึ้นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีการเปลี่ยนชื่อเรียก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัทธ์สัตยา เป็น พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา[3]

จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2475 พิธีนี้จึงยกเลิกไป รื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[4] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีนี้ในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี[5] โดยมอบให้ทหารและตำรวจที่ได้ประกอบวีรกรรมด้วยความกล้าหาญ เสียสละ และมีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2512 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

อ้างอิง แก้

  1. เผ่าทอง ทองเจือ. "น้ำพระพิพัฒน์สัตยา (ตอนที่ 1)". ไทยรัฐ.
  2. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชพิธีเดือนสิบสอง (กรุงเทพฯ: ศิลปบรรณาคาร, 2552), 175.
  3. "ที่มาของ "การกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน" ของไทย". ศิลปวัฒนธรรม.
  4. สายป่าน ปุริวรรณชนะ. "บ่ซื่อน้ำตัดคอ : โทษทัณฑ์ผู้ผิดน้ำพระพิพัฒน์สัตยาใน โองการแช่งน้ำ". ผู้จัดการออนไลน์.
  5. ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมศิลปากร, พระราชพิธีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชฯ สยามมินทราธิราช บรมนารถบพิตร. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2543), หน้า 246