พิกุลทอง
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เรื่องนางพิกุลทอง นี้เป็น ละครนอก หนึ่งใน 14 เรื่อง ที่นิยมนำมาเล่นกันมากเรื่องหนึ่งตั้งแต่ครั้ง สมัยอยุธยา ปัจจุบันยังพบว่ามีต้นฉบับหนังสือตัวเขียนที่เหลือรอดจากการถูกพม่าทำลายคราวเสียกรุง เก็บรักษาไว้อยู่ที่ หอสมุดแห่งชาติ เป็นสมุดข่อยสีขาว ตัวหมึกดำ ลายมือกึ่งบรรจงแกมหวัด ตัวอักษรไม่สม่ำเสมอและมีบันทึกว่า หมู่กลอนบทละคร ชื่อ พิกุลทอง เล่ม 1 (สำนวนเก่า) เลขที่ 20 ตู้ที่ 114 ชั้น 2/1 มัด 39 ประวัติ สมบัติเดิมของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งมีเนื้อความเริ่มตั้งแต่นางพิกุลทองสรงน้ำ จนจบตอนท้ายคือปราบนางยักษ์กาขาวและยังไม่ได้รับตรวจสอบชำระฉบับที่เหลืออื่น ๆ หรือตีพิมพ์จากกรมศิลปากร ส่วนเรื่องนางพิกุลทองต่อจากสำนวนเดิมที่เป็นการผจญภัยยืดยาวถึงรุ่นลูกนั้น มาจากกลอนอ่านสำนวนของ นายบุศย์ รจนา จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์วัดเกาะราวปี พ.ศ. 2433 ตรงกับสมัย รัชกาลที่ 5 ซึ่งนายบุศย์ผู้นี้ได้นำนิทานไทยครั้งกรุงเก่ามาแต่งสำนวนใหม่เป็น "กลอนอ่าน" หรือ กลอนสวด อยู่หลายเรื่อง เช่น แก้วหน้าม้า, จันทโครพ, สุวรรณหงส์ เป็นต้น
พิกุลทอง | |
---|---|
ชื่ออื่น | ไม่ปรากฏ |
กวี | ไม่ปรากฏ |
ประเภท | บทละครนอก |
คำประพันธ์ | กลอนบทละคร |
ยุค | อยุธยา |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์ |
อย่างไรก็ตามเมื่อสังเกตตามเนื้อเรื่อง สำนวนกลอนค่อนข้างจะรวบรัดและไม่สละสลวยเท่าใดนัก เพราะผู้แต่งคงมีจุดประสงค์เพียงไว้สำหรับเล่นละครเท่านั้น แม้การบอกเพลงหน้าพาทย์ก็ไม่ชัดเจนแน่นอน มีตอนที่กล่าวถึง พระสังข์ศิลป์ชัยและนางศรีสุพรรณ ซึ่งเป็นตัวละครจากบทละครนอกเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย พร้อมทั้งมีของวิเศษที่เหมือนกันทุกประการ อันได้แก่ สังข์ ศร และพระขรรค์ จึงสันนิษฐานว่า ผู้แต่งคงมีจุดประสงค์ดำเนินเรื่องให้เป็นภาคต่อจากเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย เพราะเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย ก็ไม่ได้กล่าวถึงการผจญภัยในรุ่นลูกไว้เลย
บทละครในสมุดไทย
แก้นิทานเรื่องนางพิกุลทอง บทละครนอกที่ปรากฏในสมุดไทยแต่ครั้งสมัย กรุงศรีอยุธยา นั้นจับเรื่องตั้งแต่นางพิกุลทองสรงน้ำ จนถึงตอนนางพิกุลทองลุยไฟ ส่วนนิทานกลอนของนายบุศย์ โรงพิมพ์วัดเกาะจะแต่งเพิ่มต่อจนจบเรื่อง
"นางพิกุลทอง" เป็นธิดาของ "ท้าวสัณนุราช" กับพระมเหสี คือ "นางพิกุลจันทรา" ผู้ครองเมืองสรรพบุรี (ในสมุดไทยเขียนว่าเมือง สันทบุรี) เมื่อย่างเข้าวัยรุ่นสาว ความงามของนางเป็นที่เลื่องลือว่ายากที่จะหาผู้หญิงคนใดเสมอเหมือนได้ ซึ่งนอกจากเวลาพูดกับใครจะมีดอกพิกุลทองร่วงจากปาก แล้วยังมีเส้นผมที่หอมอีกด้วย วันหนึ่งนางพิกุลทองเกิดร้อนรุ่มกลุ้มอุรา จึงได้ลาท้าวสัณนุราชไปเล่นน้ำกับพระพี่เลี้ยงในลำธาร ท้าวสัณนุราชจึงให้วางตาข่ายและทุ่นไว้รอบท่าน้ำ เพราะโหรทำนายว่านางจะต้องพลัดพรากจากเมือง
จะกล่าวถึงพญาแร้งชื่อว่า "ท้าวสุบรรณปักษา" บินมาเห็นซากสุนัขเน่าจึงโฉบนำกลับไปจิกกินลอยมาใกล้บริเวณที่นางพิกุลทองกับพี่เลี้ยงเล่นน้ำอยู่ นางพิกุลทองได้กลิ่นเหม็นเน่าจึงใช้ให้พี่เลี้ยงไปดูก็พบพญาแร้งกำลังกินซากนั้นอยู่จึงได้พากันด่าว่าแล้วขับไล่ด้วยคำหยาบช้าต่าง ๆ นานา ฝ่ายท้าวปักษาก็โกรธจัดกล่าวว่า สุนัขเน่านี้ คือ อาหารของตนอยู่แล้ว นางพิกุลทองเป็นลูกเจ้าท้าวพระยาไม่น่ามากล่าวเจรจาด่าว่าขับไล่ตนเช่นนี้ว่าแล้วก็บินหนีไป แต่ท้าวปักษีก็ยังคิดจะแก้แค้นนางพิกุลทองให้ได้จึงออกอุบายแปลงกายเป็นหนุ่มรูปงามไปขออาศัยอยู่ที่กระท่อมท้ายสวนขวัญของเมืองสรรพบุรี แล้วคอยเนรมิตทองคำให้ 2 ตายายใช้จนร่ำรวย โดยบอกว่าตนไปพบตอนขุดเผือกมัน อยู่มาวันหนึ่งจึงรบเร้าขอให้ 2 ตายายเข้าไปสู่ขอนางพิกุลทองมาเป็นภรรยา 2 ตายายฟังแล้วหัวใจแทบวายกล่าวว่าคิดเกินตัวอย่างนี้จะถูกประหารเจ็ดชั่วโคตร ท้าวปักษาแปลงจึงแสร้งทำเป็นตรอมใจใกล้ตาย 2 ตายายจึงจำใจเข้าไปทูลสู่ขอนางพิกุลทองจากท้าวสัณนุราชได้ทราบความดังกล่าวก็กริ้วจัด กล่าวว่าถ้าคิดว่าหลานชายมีบุญวาสนาจะได้คู่กับนางจริงใกล้สร้างสะพานเงินสะพานทองจากท้ายสวนมาถึงพระราชวังภายใน 3 วันมิเช่นนั้นจะประหารทั้งโคตร 2 ตายายหลังจากกลับมาถึงบ้านแล้วก็นั่งซึม เอาแต่ร้องไห้แล้วต่อว่าท้าวปักษาที่หาเรื่องเดือดร้อนมาให้ตน ครั้นท้าวปักษาได้ทราบเรื่องต้องสร้างสะพานทองแล้วจึงกล่าวปลอบใจว่าถ้าตนทำไม่เสร็จจะยอมตายแทน 2 ตายายจึงค่อยโล่งใจบ้าง พอตกค่ำท้าวปักษาก็บอกว่าจะขอออกไปทำธุระข้างนอกจากนั้นก็แปลงเป็นพญาแร้งขนาดมหึมาบินกลับไปยังเขานินทะกาลา แล้วเกณฑ์ไพร่พลทั้งหลายให้มาช่วยสร้างสะพานจนแล้วเสร็จ
ครั้นรุ่งเช้า ท้าวสัณนุราชกับพระมเหสีมองออกไปเห็นสะพานเงินสะพานทองเป็นอัศจรรย์ เสร็จตามข้อตกลงดังกล่าวจึงคิดว่ามาณพผู้นี้คงจะมีบุญ แล้วจัดอภิเษกสมรสนางพิกุลทองให้กับท้าวปักษาและนางพิกุลทอง ซึ่งตลอดเวลาเมื่ออยู่ใกล้กันนางพิกุลทองก็ได้กลิ่นสาบแร้งจนเวียนหัวบ่นว่าต่าง ๆ นานา ส่วนท้าวปักษาก็มิอาจจะเข้าใกล้สมัครสังวาสได้ เพราะไม่ได้นึกรัก ประกอบกับเทวดาดลใจ คงมีแต่ความแค้นที่นางเคยด่าว่า
ครั้นอยู่มาได้ 3 วัน ท้าวปักษาจึงออกอุบายว่าจะชวนนางกลับไปกราบบิดามารดาของตน จากนั้นก็พากันลงเรือสำเภา 500 ลำล่องไปได้ 3 เดือน ก็มาถึงหาดแก้วพยัคฆีหน้าเมือง ท้าวปักษาจึงให้นางรออยู่ในเรือเพื่อจะขึ้นไปแจ้งให้บิดามารดาตนทราบก่อน แท้ที่จริงท้าวปักษากลับไปเกณฑ์บริเวณนกแร้งทั้งหลายให้มากินคนบนเรือเสียให้หายแค้น ส่วนนางพิกุลทองนั้นตนจะจัดการกินเองห้ามนกตัวไหนแตะต้องมีโทษถึงตาย ฝูงนกก็ดีใจพากันบินมาจับไพร่พลบนเรือกินเสียหมดทั้ง 500 ลำ ส่วนนางพิกุลทองนั้นได้รับความช่วยเหลือจาก แม่ย่านาง วิญญาณประจำเรือ รู้ว่าพญาแร้งคิดไม่ซื่อ จึงเนรมิตห้องคูหาแล้วนำนางพิกุลทองไปซ่อนไว้ในปลายเสากระโดงเรือ พญาแร้งโกรธมากด่าว่าลูกน้องไม่เชื่อฟังหาว่ากินไม่ดูตามาตาเรือดันไปกินเอานางพิกุลทองไปด้วยแล้วก็พากันบินกลับไป แต่กระนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่านางตายจริง ก็จึงให้บริวารบางส่วนคอยเฝ้าดูเรือไว้ ฝ่ายแม่ย่านางครั้นเห็นพญาแร้งกับบริวารบินกลับไปหมดแล้ว จึงได้พานางพิกุลทองออกมาจากที่ซ่อนเพื่อสรงน้ำ เส้นผมของนางที่ไม่เคยหลุดร่วงเลย ก็ร่วงลงมา นางสงสัยว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น นางจึงเสี่ยงทายเสยเอาเส้นผม และดอกพิกุลทองใส่ผอบพร้อมจารึกชื่อ และเรื่องราวลงไปด้วยเพื่อหาผู้มีบุญมาช่วยเหลือ ผอบทองลอยไปจนถึง "เมืองพรหมกุฏปัญจาละ" ซึ่งมี "พระสังข์ศิลป์ชัย" และ "นางสุพรรณ" ปกครอง มีพระโอรสเก่งกล้าองค์หนึ่งชื่อ "พระพิชัยมงกุฏ" (ในฉบับตัวเขียนว่าชื่อ "พระพิไชยวงศ์กุฏ") ขณะนั้นทั้ง 3 กษัตริย์ได้มาสรงน้ำที่ท่าน้ำนอกเมือง เห็นผอบทองลอยทวนน้ำมา พระพิชัยมงกุฏจึงเสี่ยงพระสังข์วิเศษไปกล่าวว่าถ้ามาดีให้ช้อนขึ้นมา ถ้ามาร้ายให้สังข์วิเศษทำลายเสีย ปรากฏว่าสังข์ก็ไปช้อนผอบขึ้นมา เมื่อเปิดข้อความดูเห็นเส้นผม, ดอกพิกุล และจารึกเรื่องราวก็ถึงกับหลงไหลกินไม่ได้นอนไม่หลับ พระสังข์ศิลป์ชัยได้ทราบอาการก็ตกพระทัย พระพิชัยมงกุฏจึงขอลาไปตามหานางพิกุลทอง จึงโปรดให้สังข์ ศร และพระขรรค์วิเศษไปป้องกันตัวและให้จัดแต่งเรือสำเภาพร้อมไพร่พลไปตามประสงค์ กองเรือแล่นมาหลายวันจนกระทั่งถึงเกาะใหญ่กลางทะเล ซึ่งเป็นเขตของ "นางยักษ์กาขาว" ซึ่งลอบเข้ามาในเรือด้วยความสงสัย ครั้นเห็นพระพิชัยมงกุฏรูปร่างสง่างามก็หลงรัก จึงแอบอุ้มพาไปขณะหลับ แล้วเนรมิตเมืองขึ้นบนเกาะแล้วแปลงเป็นหญิงสาวอยู่ในเมืองนั้น ครั้นพระพิชัยมงกุฏตื่นมาเห็นบ้านเมืองกับหญิงงามก็เข้าใจว่าเป็นนางพิกุลทอง จึงเกี้ยวนางจนได้เป็นภรรยา แต่ยังสงสัยว่าได้กลิ่นสาปสาง, ผมไม่หอมของนางยักษ์กาขาว ตกดึกเทพารักษ์จึงได้มาบอกให้รีบหนีไปเพราะนางเป็นยักษ์แปลงมาแล้วบอกทางให้แล่นเรือไปทางตะวันออก 3 วันก็จะถึงหาดแก้วพยัคฆี ครั้นพระพิชัยมงกุฏเดินทางมาถึงเห็นกองเรือร้างจอดอยู่ จึงให้ไปค้นเรือทุกลำก็พบแต่กระดูก ฝ่ายนางพิกุลทองได้ยินเสียงจึงลาแม่ย่านางออกมาจากเสากระโดงเรือและเข้าพบกับพระพิชัยมงกุฏด้วยความยินดี
(โอด) เมื่อนั้น | พระไชยวงศ์กุฏเห็นนางเร่งหรรษา |
เห็นนางทรงโศกโศกา | หอมเส้นเกศาตระลบไป |
พิกุลทองตกลงจากโอษฐ์ | ให้โปรดพิศวงหลงใหล |
ยอกรฟักฟูมเข้าอุ้มไว้ | ฟังพี่อย่าได้โศกา |
พี่ได้ผอบมาติดตาม | ประสบสมดังความปรารถนา |
ขอเชิญนงเยาเล่ากิจจา | แรกเริ่มเดิมมาประการใด |
ขณะนั้นบริวารของพญาแร้งเห็นผู้คนมาเอะอะวุ่นวายจึงรีบบินไปบอกแก่ท้าวปักษา กล่าวว่าชะรอยนางพิกุลทองจะยังไม่ตาย ท้าวปักษาจึงรีบพาบริวารมาทันที ครั้นเห็นนางพิกุลทองหลบอยู่กับพระพิชัยมงกุฏก็เจรจาตอบโต้อยู่พักหนึ่งแล้วทำการรบกัน พระพิชัยมงกุฏจึงแผลงศรวิเศษไปถูกอกท้าวปักษาตายกลางอากาศพร้อมกับบริวารทั้งหลาย ครั้นเสร็จศึกแล้ว จึงพานางพิกุลทองกลับไปยังบ้านเมืองของตนต่อไป ฝ่ายนางยักษ์กาขาว ครั้นตื่นขึ้นมาไม่เห็นพระพิชัยมงกุฏ จึงคว้ากระบองออกไล่ติดตามไปถึงเมืองพรหมกุฏปัญจาละ แต่เกรงอำนาจจึงเข้าเมืองไม่ได้ ก็ซ่อนตัวอยู่ที่ต้นไทรในสวน
หลังจากพิธีอภิเษกสมรสแล้ว ต่อมานางพิกุลทองก็ประสูติพระโอรส 2 พระองค์ คนพี่มีนามว่า "พระลักษณา" ส่วนโอรสองค์รองนามว่า "พระยมยศ" อยู่มาวันหนึ่งทั้ง 4 กษัตริย์ก็เสด็จประพาสที่บึงบัวเพื่อเก็บบัวมาบูชาพระปฏิมา ฝ่ายนางยักษ์กาขาว ครั้นรู้ว่าพระพิชัยมงกุฏได้อภิเษกกับนางพิกุลทองแล้ว ก็ให้เคียดแค้นเป็นยิ่งนักหมายจะทำร้ายนางพิกุลทองเสียให้หายแค้น จึงแปลงร่างเป็นดอกบัวทองอยู่ใต้น้ำ ครั้นเรือผ่านมานางพิกุลทองเห็นเข้าก็ประหลาดใจในความงามจึงเอื้อมมือลงไปเด็ด นางยักษ์กาขาวได้ทีจึงฉุดนางพิกุลทองลงไปใต้น้ำแล้วสาปให้กลายร่างเป็นนางชะนีพิกุลทอง จะพ้นสาปได้ก็ต่อเมื่อนำเลือดของนางยักษ์กาขาวมาชโลมตัว ส่วนนางยักษ์กาขาวก็จดจำและแปลงร่างเป็นนางพิกุลทองแทน ครั้นพระพิชัยมงกุฏช่วยฉุดขึ้นมาครั้งแรกเป็นนางยักษ์กาขาวแปลง นางยักษ์กาขาวก็รีบเป่ามนต์สะกดใส่พระพิชัยมงกุฏให้หลงไหลและอยู่ภายใต้อำนาจ พระรักและพระยมก็ร้องไห้บอกว่าไม่ใช่คุณแม่ของตน แต่เมื่อเห็นนางชะนีพิกุลทองผุดขึ้นมาจากน้ำกลับร้องว่าเป็นคุณแม่และไม่ยอมกลับวัง พระพิชัยมงกุฏด้วยมนต์สะกดของนางยักษ์กาขาวจึงกริ้วขับไล่ให้ไปอยู่กับนางชะนีพิกุลทองในป่า แล้วพระองค์ก็พานางยักษ์กาขาวแปลงกลับเข้าวัง 2 พี่น้องร้องไห้หาคุณแม่จนหิว แต่นางชะนีพิกุลทองก็กำลังคลุ้มคลั่งด้วยมนต์ของนางยักษ์กาขาว คอยแต่จะหนีเข้าป่าท่าเดียว
(เพลง) เมื่อนั้น | พระกุมารอุ้มน้องแล้วร้องไห้ |
ค่อยลอดลัดตัดเดินดำเนินไป | ถึงที่ต้นไทรพระมารดา |
จึงร้องเรียกอยู่แจ้วแจ้ว | ลูกมาถึงแล้วพระแม่ขา |
ลงมาส่งนมพระลูกยา | น้องข้าอยากนมเป็นเหลือใจ |
แม่เจ้าประคุณของลูกเอ๋ย | กรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้ |
ทูลหัวนั่งนิ่งบนกิ่งไม้ | ไขหูเสียใยไม่นำพา |
ร้องเรียกมารดาขึ้นไปเล่า | แม่เจ้าประคุณลูกมาหา |
น้องยมอยากนมพ้นปัญญา | ส่งนมลูกเถิดราแม่ดวงใจ |
พอมีสติขึ้นบ้างก็เล่าเรื่องให้ลูกฟังแล้วให้เก็บดอกพิกุลทองที่หล่นออกมาเอาไปขายเพื่อซื้อข้าวกิน ครั้นนางวิเสทชาววังออกมาเห็นก็พา 2 พระโอรสเข้าไปในเมืองแล้วกราบทูลให้พระสังข์ศิลป์ชัยทราบ 2 พี่น้องจึงเล่าเหตุการณ์นางยักษ์กาขาวแปลงให้พระอัยกาฟัง พระสังข์ศิลป์ชัยและพระมเหสีถึงกับกริ้วจัด ตรัสให้เรียกพระพิชัยมงกุฏเข้าเฝ้าแล้วสอบสวนเรื่องนางพิกุลทอง นางยักษ์กาขาวแปลงก็พูดตลบแตลงวกวนไปมา พระนางสุพรรณจึงกระซิบให้พระพิชัยมงกุฏดูอาการของนางยักษ์กาขาวที่ไม่มีแววตาและไม่มีดอกพิกุลทองร่วงจากปาก แล้วออกอุบายให้พระโอรสบอกกับนางยักษ์กาขาวแปลงว่าจะออกไปคล้องช้างเผือก ครั้นพระพิชัยมงกุฏ พระลักษณา และพระยมยศเข้าไปทำจั่นจนดักได้ตัวนางชะนีพิกุลทอง เมื่อเห็นพระพิชัยมงกุฏก็ร้องเรียก "ผัวๆ" จนถามนางชะนีได้ความว่าต้องฆ่านางยักษ์กาขาวแล้วเอาเลือดมารดก็จะหายเป็นปกติ ฝ่ายนางยักษ์กาขาว ซึ่งลอบเห็นเหตุการณ์รู้ว่าความแตกจึงกลับคืนร่างเดิมออกอาละวาด แต่ถูกพระพิชัยมงกุฏสังหารนางยักษ์ แล้วรองเอาเลือดมารดนางพิกุลทองจนกลับร่างเป็นมนุษย์ตามเดิม
ต่อมานางพิกุลทองก็จะกลับไปเยี่ยมท้าวสัณนุราชที่เมืองสรรพบุรี จึงล่องเรือสำเภาไปในทะเลได้ 7 ราตรี "นางยักษ์กาสุวรรณ" ซึ่งเป็นน้องสาวของนางยักษ์กาขาว ทราบข่าวว่า พี่สาวตนถูกพระพิชัยมงกุฏฆ่าตายก็แค้นใจตามมาอาละวาดจนเรือแตกผู้คนตายหมด จน 4 กษัตริย์พลัดพรากจากกัน โดยที่เทวดาบังตาไว้ไม่ให้นางยักษ์กาสุวรรณเห็นกษัตริย์ทั้ง 4 องค์นางพิกุลทองถูกน้ำซัดไปอีกทางหนึ่ง "พระสมุทรเทวา" เกิดความสงสารจึงเนรมิตขอนไม้ใหญ่ให้นางเกาะมาจนกระทั่งชายหาด "เมืองเวฬุจักร" นางจึงถอดแหวนเสี่ยงทายว่าหากโอรสและภัสดาตายแล้วก็ให้แหวนจม ปรากฏว่าแหวนลอยขึ้นนางจึงค่อยโล่งใจขึ้นบ้าง จึงฉีกชายผ้าสไบเขียนบอกเรื่องราวผูกไว้ที่พระไทรแล้วฝากกราบพระไทรให้ช่วยบอกทางหากสามีมาพบ นางพิกุลทองเดินซัดเซพเนจรไปในป่าจนเข้ามาในเขตเมืองเวรุจักร ซึ่งมี "พญายักษ์วิรุณจักร" ปกครองอยู่นางก็หลับอยู่ในศาลาหน้าเมือง ท้าววิรุณจักรมาพบเข้าก็เกี้ยวพาราสี นางพิกุลทองก็ว่าตนมีสามีและลูกแล้ว แต่พญายักษ์กลับไม่ฟังเสียงบังคับนางขึ้นรถพาเข้าไปในวัง ท้าววิรุณจักรก็เพียรพยายามเกี้ยวพาราสีนางพิกุลทอง แต่นางไม่ยอมซ้ำกลับต่อว่าเปรียบเปรยต่าง ๆ นานา ท้าววิรุณจักรโกรธมากจึงใช้พระขรรค์ฟันนาง แต่ด้วยสัจจบารมีที่นางซื่อสัตย์ต่อสามี ทำให้พระขรรค์หักเป็น 2 เสี่ยง เมื่อท้าววิรุณจักรไม่สามารถทำอันตรายแก่นางได้ จึงขับไล่ให้เป็นทาสรับใช้อยู่ในครัว
ฝ่าย 3 พ่อลูกครั้นเรือแตกแล้ว พระพิชัยมงกุฏจึงขว้างสังข์วิเศษไปสังหารนางยักษ์กาสุวรรณจนสิ้นชีพ แล้วเนรมิตขึ้นขี่สังข์ออกตามหานางพิกุลทอง จนพบชายผ้าสไบที่นางผูกไว้ พระไทรจึงปรากฏกายแล้วชี้ทางให้ไปทางทิศตะวันออก จึงพากันเดินไปตามทางพบอาศรมพระฤๅษี ก็ตรวจดวงชะตาว่าพระพิชัยมงกุฏนั้นจะได้ชายาอีก 1 คน ส่วนนางพิกุลทองนั้นพอครบ 1 เดือนจึงพ้นเคราะห์กรรม แล้วพระดาบสจึงสั่งสอนวิชาเหาะเหินเดินอากาศให้ พร้อมทั้งมอบแหวนเนาวรัตน์กายสิทธิ์และพระขรรค์แก้ว ให้กับพระพิชัยมงกุฏเพื่อนำไปต่อสู้กับยักษ์ ทั้ง 3 ก็กราบลาพระฤๅษี แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองวิรุณจักร จึงพากันแปลงกายเป็นนกขุนทองบินเข้าไปในสวนขวัญเพื่อสืบเรื่องราว
จะกล่าวถึงท้าววิรุณจักรมีธิดาโสภาอันเกิดแต่นางมนุษย์อยู่องค์หนึ่งชื่อว่า "นางอรุณวดี" อยู่มาคืนหนึ่งกลับฝันเห็นพญานาค 7 เศียรเลื้อยเวียนรอบปราสาทแล้วเข้ารัดนาง ครั้นตื่นขึ้นจึงปรึกษานางยักษ์พี่เลี้ยง ก็ทำนายว่าสงสัยจะได้คู่ ทำเอานางร้อนรุ่มกล้มอุราจึงพากันไปลงเที่ยวชมสวนพบกับนกสาริกา 3 พ่อลูกคุยกันอยู่ จึงใช้ให้พวกยักษ์จับเข้าไปเลี้ยงในวัง ครั้นตกดึก พระพิชัยมงกุฏจึงแปลงกลับเป็นคนดังเดิม แล้วลอบเข้าหานางอรุณวดีจนได้นางเป็นชายา
ความแตกเมื่อนางกำนัลมาพบเข้าในตอนรุ่งเช้า จึงรีบไปทูลบอกแก่ท้าววิรุณจักร กริ้วโกรธดั่งไฟบรรลัยกัลป์ ตรัสสั่งให้โอรสองค์รองชื่อ "กุมภัณฑสูร" ไปจับ แต่ก็ถูก 2 กุมารฆ่าตาย ท้าววิรุณจักรก็ยิ่งแค้นว่าต้องมาแพ้เด็กเมื่อวานซืน ครั้นจะสู้เองพระมเหสีก็ห้ามว่าท่าทางศัตรูจะมีฤทธิ์มากควรมีหนังสือไปบอกให้สหายคือ "ท้าวกัมพลนาค" ที่เมืองบาดาลกับ "ท้าวหัศจักร" มาช่วยรบดีกว่า ครั้นทั้ง 2 มาถึง ท้าววิรุณจักรก็ให้แต่งทัพออกสู้รบกับพระพิชัยมงกุฏ แต่ก็ถูกพระขรรค์ฟันเสียเป็นแผลหลายแห่งก็แค้นใจ จึงกลับร่างพญานาค 7 เศียรใหญ่พ่นพิษหมายจะให้ตาย พระพิชัยมงกุฏจึงถอดแหวนเนาวรัตน์ที่พระดาบสให้มาขว้างออกไปเป็นพญาครุฑไล่จิกตีท้าวกัมพลนาคจนต้องซมซานหนีลงไปบาดาล ต่อมาท้าวหัสจักรออกรบก็ถูก 2 กุมารฆ่าตายด้วยพระขรรค์แก้ว ฝ่ายท้าววิรุณจักรก็ถูกพระพิชัยมงกุฏยิงด้วยศรวิเศษเสียบอกตายกลางสนามรบ พวกยักษ์ที่เหลือก็พากันครั่นคร้ามไม่กล้าต่อกรด้วย แล้วทูลเชิญให้ขึ้นครองเมือง พระพิชัยมงกุฏจึงให้จัดการถวายพระเพลิงท้าววิรุณจักรตามราชประเพณี
ฝ่ายนางพิกุลทองครั้นทราบว่าผู้ปราบท้าววิรุณจักรได้คือสวามีและพระโอรสก็ยินดี ครั้นเวลานำอาหารถวายนางก็รับอาสาเพราะยักษ์ทำอาหารมนุษย์ไม่เป็น แล้วใส่พิกุลทองลงไปในเครื่องเสวยด้วย 3 พ่อลูกเห็นดอกพิกุลทองก็จำได้จึงให้ไปเรียกคนครัวขึ้นมา เมื่อพบหน้ากันแล้วทั้ง 4 ก็ร้องไห้กันจนสลบ ครั้นฟื้นขึ้นแล้วจึงให้นางพิกุลทองไปทรงเครื่องอย่างนางกษัตริย์ แล้วเรียกนางอรุณวดีมาทำความรู้จัก ฝ่ายนางอรุณวดีนั้นถือตนว่าเป็นลูกเจ้าท้าวกษัตริย์บวกกับความหึงหวงจึงค่อนแคะนางพิกุลทองในทำนองว่า เป็นเมียน้อยบิดาตนมาแล้วกลายเป็นคนครัว คิดจะเป็นนางกษัตริย์เสมอตนมิรู้จักเจียมตัวบ้าง
ฝ่ายนางพิกุลทองครั้นได้ยินดังนี้ก็ให้เจ็บใจ จึงเล่าเรื่องราวให้ฟังแล้วขอพิสูจน์ด้วยการลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์ พระอินทร์จึงเอาน้ำอมฤตมาพรมดับไฟ ส่วนนางอรุณวดีลุยไฟแล้วทนร้อนไม่ได้ จึงถูกพระพิชัยมงกุฏลงโทษและให้ขอโทษนางพิกุลทอง นางอรุณวดีเสียใจมากจะผูกคอตาย แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือ ในที่สุดก็ยอมยกมือไหว้นางพิกุลทองในฐานะเมียหลวง และทั้งหมดก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขที่เมืองเวฬุจักรนับตั้งแต่บัดนั้น
ละครโทรทัศน์
แก้- ↑ "ประวัติ ต้น ทิชานนท์ นิลตระการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2022-10-03.