พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (เกิด 23 ธันวาคม พ.ศ. 2501) บางแห่งออกนามว่า พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร[1] ชื่อเมื่อเกิดว่า พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา ชื่อเล่นว่า แหวว[2] เป็นข้าราชการชาวไทย เป็นอาจารย์วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน

ต้นชีวิตและการศึกษา แก้

พันธุ์ทิพย์เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว[2] สำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์[2] แล้วจึงสำเร็จเป็นนิติศาสตรบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เกียรตินิยมอันดับสอง เมื่อ พ.ศ. 2522[3][4]

ต่อมา พันธุ์ทิพย์ได้เดินทางไปศึกษากฎหมายระหว่างประเทศต่อยังมหาวิทยาลัยโรแบร์ทชูมัน (Robert Schuman University) ประเทศฝรั่งเศส ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การจัดองค์กรของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 จนถึงปัจจุบัน (L'organisation de la Conférence de La Haye de droit international privé des 1955 jusqu'a nos jours) จนสำเร็จเป็นนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ (diplôme d'études approfondies de droit international) เมื่อ พ.ศ. 2528[3][4]

ครั้นแล้ว ได้ศึกษากฎหมายสาขาเดียวกันต่อ ณ มหาวิทยาลัยเดิม ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การทำกฎหมายว่าด้วยซื้อขายระหว่างประเทศให้เป็นเอกรูปโดยสนธิสัญญา (Unification conventionnelle du droit de la vente internationale) และสำเร็จเป็นนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (doctorat en droit international) เมื่อ พ.ศ. 2532[3][4]

ชีวิตสมรส แก้

ขณะศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พันธุ์ทิพย์ได้เป็นเพื่อนกับจุมพต สายสุนทร หรือต่อมาคือ ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์จุมพต สายสุนทร อาจารย์วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อทั้งคู่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ได้ศึกษาต่อที่ต่างประเทศด้วยกัน และภายหลังก็ได้สมรสกัน[2] พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า เนื่องจากเป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว เมื่อสมรสแล้วจึงอยากมีบุตรให้มากสักห้าคน แต่ไม่สมประสงค์ เพราะเป็นเนื้องอกในมดลูกจนต้องผ่าตัดมดลูกทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2540 และไม่สามารถมีบุตรได้เลย[2]

การงาน แก้

ระหว่างเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น พันธุ์ทิพย์ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และได้เห็นความบาดเจ็บล้มตายของเพื่อน จึงรู้สึกขยาดแขยงการเมือง ไม่ชอบกฎหมายมหาชน และหันไปมุ่งศึกษากฎหมายธุรกิจแทน[2] แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว ได้รับราชการสอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 และได้พบเห็นรัฐไทยปฏิบัติต่อบุคคลบางกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะด้านสัญชาติและสถานะบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่เธอสอน เป็นต้นว่า ในช่วง พ.ศ. 2534–2536 ชาวเขาจำนวนมากที่ไม่ทราบสัญชาติต้องถูกจับกุม ถูกฟ้องร้อง ทั้งยังถูกปฏิเสธการปฏิบัติและบริการอย่างที่มนุษย์พึงได้รับ เธอจึงเบนความสนใจมาด้านสิทธิมนุษยชนและเคลื่อนไหวด้านนี้เรื่อยมา[2]

ระหว่างที่ดำเนินกิจกรรมด้านสถานะบุคคลนั้น พันธุ์ทิพย์สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการกฎหมายไทยหลายประการ โดยพันธุ์ทิพย์ได้ผลักดันให้เกิดระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543[5] ทั้งยังทำให้รัฐบาลไทยกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลเมื่อ พ.ศ. 2548 เพื่อแก้ไขความไร้สัญชาติของชาวเขา และเปลี่ยนมุมมองมาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 เพื่อให้นำหลักสืบสายโลหิต (jus sanguinis) มาใช้ในการให้สัญชาติแก่บุคคลนอกเหนือไปจากหลักดินแดน (jus soli)[5]

ผลประการแรกของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ เปิดให้มีกระบวนการคืนสัญชาติไทยให้แก่บรรดาชาวกะเหรี่ยงอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และชาวบ้านอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ รวมหนึ่งพันสองร้อยสี่สิบสามคน ซึ่งถูกกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพิกถอนชื่อจากทะเบียนราษฎรโดยอ้างว่า เป็นพม่าพลัดถิ่น แต่การเพิกถอนชื่อเป็นไปโดยขัดต่อกฎหมายและส่อทุจริต[5][6] อย่างไรก็ดี เนื่องจากกรมการปกครองไม่นำพา จึงมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 ให้กรมการปกครองแพ้คดี กรมการปกครองอุทธรณ์ และศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2548 ส่งผลให้กรมการปกครองต้องตั้งคณะกรรมการเจ็ดชุดเพื่อคืนความเป็นชาวไทยและให้การเยียวยาแก่ผู้เสียหาย[7]

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2555 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น และวันที่ 3 เมษายน 2555 กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งนักวิชาการหลายคน รวมถึงพันธุ์ทิพย์ เป็นกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น[8] แต่นักวิชาการเหล่านั้นได้พร้อมใจกันโต้แย้งคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555 เพราะเห็นว่า กระทรวงมหาดไทยขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และคำสั่งเป็นไปโดยมิชอบด้วยตัวบทและความมุ่งหมายแห่งกฎหมาย[8] ในโอกาสเดียวกัน พันธุ์ทิพย์ยังได้ลาออกจากความเป็นกรรมการดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งเธอในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านชาติพันธุ์ ทั้งที่เธอสอนกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีความรู้เรื่องชาติพันธุ์ เธอจึงเห็นว่า เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ[8] ในหนังสือลาออก เธอกล่าวว่า[8]

"คำสั่งดังกล่าวได้แต่งตั้งให้ดิฉันทำหน้าที่กรรมการผู้ทรงวุฒิในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาการด้านชาติพันธุ์ อันเป็นหัวข้อศึกษาในวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ซึ่งดิฉันเองไม่เคยเรียนหรือทำวิจัยในสาขาวิชาดังกล่าว ดิฉันจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการผู้ทรงวุฒิที่อาจรับผิดชอบงานวิชาการด้านชาติพันธุ์...ดิฉันเป็นผู้สอนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมากว่าสามสิบปี และการศึกษากฎหมายสัญชาติไทยเป็นหัวข้อที่สำคัญในสาขาวิชานี้ จริยธรรมของผู้สอนกฎหมายก็คือ การเคารพเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากผู้สอนกฎหมายเองเป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่เคารพเจตนารมณ์ของกฎหมาย ลูกศิษย์ของผู้สอนก็คงไม่มีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิของกฎหมายเช่นกัน จึงเป็นจริยธรรมของผู้สอนวิชาชีพกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่มนุษย์ในสังคม"

ปัจจุบัน พันธุ์ทิพย์ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ระดับ 9 ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[4] ทั้งยังดำรงและเคยดำรงตำแหน่งทางด้านสิทธิมนุษยชนในองค์การของรัฐและเอกชน เป็นต้นว่า

  • อนุกรรมการด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[9]
  • กรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ[9]
  • กรรมการที่ปรึกษาโครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ[10]
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558[11]
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน)[12] ในคณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ตั้งแต่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566[13]

รางวัล แก้

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบรางวัลเกียรติยศ "ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน" แก่พันธุ์ทิพย์เป็นกรณีพิเศษเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนประจำปี[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม 123 ตอนที่ 14 ข หน้า 152, 27 มิถุนายน 2549
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล และจเร รัตนราตรี (2550-10-28). "กะเทาะชีวิต 'อาจารย์แหวว' 'รศ. ดร.พันธุ์ทิพย์' นักกฎหมาย 'เด็กไร้สัญชาติ'". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 2556-09-27. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 "คณาจารย์". คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-12. สืบค้นเมื่อ 2556-09-27. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "กรณีศึกษา "ห้องเรียนกฎหมายสิทธิมนุษยชน"" (pdf). โครงการระบบออนไลน์เพื่อการจัดการความรู้สุขภาวะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 2556-09-27. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "กรรมการสิทธิฯ ประกาศผลบุคคล-องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ปี 52". ประชาไท. 2552-12-03. สืบค้นเมื่อ 2556-09-27. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ธีรยุทธ บุญแผ่ผล (2546-06-06). "บทสัมภาษณ์ รศ. ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ถึงการแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติที่แม่อาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-18. สืบค้นเมื่อ 2556-09-27. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "คนทำงาน...เบื้องหลังชัยชนะ วันที่ "ชาวแม่อาย" ไม่สะอื้น". ผู้จัดการ. 2548-09-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2556-09-27. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "เครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมต. มท. ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น". ประชาธรรม. 2555-04-19. สืบค้นเมื่อ 2556-09-27. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  9. 9.0 9.1 "ครม.คลอดแนวทางแก้ปัญหาสถานะชาวมอแกน". โครงการนำร่องอันดามัน. 2551-09-18. สืบค้นเมื่อ 2556-09-27. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "คณะกรรมการ". โครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-11. สืบค้นเมื่อ 2556-09-27. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  11. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ลงวันที่ 13 มกราคม 2558" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. 132 (ตอนพิเศษ 21 ง). 2558-01-26. สืบค้นเมื่อ 2559-03-15. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
  13. มติคณะรัฐมนตรี 4 เมษายน 2566
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี 2552 เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 126 ตอนที่ 16 ข หน้า 24, 4 ธันวาคม 2552
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 121 ตอนที่ 23 ข หน้า 70, 26 พฤศจิกายน 2547
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี 2558 เก็บถาวร 2015-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 132 ตอนที่ 32 ข หน้า 27, 4 ธันวาคม 2558

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

เว็บไซต์
ผลงานทางวิชาการ
บทความและความเห็น