พลับพลึงธาร

สปีชีส์ของพืช
พลับพลึงธาร
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
อันดับ: Asparagales
วงศ์: Amaryllidaceae
วงศ์ย่อย: Amaryllideae
สกุล: Crinum
สปีชีส์: C.  thaianum
ชื่อทวินาม
Crinum thaianum
Schulze[2] (1971)

พลับพลึงธาร หรือ หอมน้ำ (อังกฤษ: Onion plant, Thai onion plant, Water onion) พืชน้ำชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์: Crinum thaianum อยู่ในวงศ์พลับพลึง (Amaryllidaceae) ถือได้ว่าเป็นพืชน้ำที่สวยงามและหายากมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยพบได้เฉพาะที่จังหวัดระนองตอนล่างและพังงาตอนบน[2][3] ในจังหวัดระนองพบที่คลองนาคา ตำลนาคา อำเภอสุขสำราญ และที่คลองบางปรุ ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ ส่วนที่จังหวัดพังงา พบที่คลองตาผุด บ้านห้วยทรัพย์ คลองสวนลุงเลื่อน ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี คลองนายทุย คลองบ้านทับช้าง คลองบ้านโชคอำนวย ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี และตามคลองย่อยต่าง ๆ ในเขตรอยต่ออำเภอคุระบุรีและอำเภอตะกั่วป่า เป็นพืชเฉพาะถิ่น ไม่พบที่ใหนในโลก ปัจจุบันพบเหลือแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น และพบขึ้นอยู่อย่างกระจัดกระจาย จึงได้ขึ้นเป็นบัญชีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี ค.ศ. 2011 สาเหตุของการลดลงเนื่องจาก การเก็บหัวจำหน่ายเป็นพืชน้ำประดับ[4][5] และจากสาเหตุการขุดลอกคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

ลักษณะ แก้

เป็นพืชอวบน้ำ ดอกมีสีขาว มี 6 กลีบ ในก้านชูดอกหนึ่ง ๆ จะมีหลายก้านดอก จะทะยอยบานติดต่อกันไป ดอกหนึ่ง ๆ จะมีก้านเกสร 6 อัน มีเกสรสีเหลืองที่ปลายก้านเกสร ตรงกลางดอกจะมีก้านเกสรตัวเมียโผล่มาจากแกนกลางของดอก หลังจากผสมเกสร กะเปาะเมล็ดจะเจริญเติบโตที่โคนก้านดอก กะเปาะหนึ่งจะมีจำนวนเมล็ดที่ไม่เท่ากัน มีลักษณะบูดเบี้ยวเป็นทรงที่ไม่แน่นอน พอเมล็ดแก่จะหลุดออกจากกะเปาะ พัฒนาสายรกออกด้านใดด้านหนึ่งของเมล็ด ตรงปลายสายรกจะพัฒนาเป็นต้นใหม่และมีรากยึดติดกับพื้นคลอง ในระหว่างที่รากยังไม่สามารถเกาะยึดพื้นคลองได้ เมล็ดจะเป็นแหล่งอาหารให้กับต้นอ่อนได้นาน 3–4 เดือน หัวมีลักษณะคล้ายหัวหอม จึงมีชื่อเรียกว่า "หอมน้ำ" หัวจะโผล่ขึ้นเหนือผิวดินประมาณ 1 ใน 3 เพื่อป้องกันการเน่า ใบจะเป็นสีเขียวเรียวยาวเหมือนริบบิ้น[2] ความยาวขึ้นอยู่กับระดับน้ำ บางพื้นที่ที่น้ำลึกใบอาจจะยาวได้ถึง 4 เมตร

พลับพลึงธารเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ดินทราย และดินร่วนเหนียวปนทราย ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดินประมาณ 5.17–5.42 ปริมาณอินทรียวัตถุร้อยละ 1.03–2.33 ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 9.23–13.23 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ 28.35–51.47 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยพลับพลึงธารเติบโตในบริเวณลำธารหรือลำคลองสายสั้น ๆ สภาพน้ำใสสะอาด ความลึกของน้ำประมาณ 36–75 เซนติเมตร อุณหภูมิของน้ำ 26–28 องศาเซลเซียส ความโปร่งแสง 36–75 เซนติเมตร ค่าการนำไฟฟ้า (EC) 21.75–50.66 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร ค่า pH ของน้ำ 6.21–6.44 ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำได้ 6.34–7.73 มิลลิกรัมต่อลิตรและค่าความกระด้างของน้ำ 13.65–19.88 มิลลิกรัมต่อลิตร[6] ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เป็นลำคลองที่มีการไหลเวียนของน้ำดีแต่กระแสน้ำไม่แรงมากเกินไป พลับพลึงธาร ถือว่าเป็นดรรชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและลำคลองได้ จะออกดอกและบานสะพรั่งในช่วงหน้าแล้งของพื้นที่อันดามันตอนบน ประมาณปลายเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ดอกมีความสวยงามประกอบกับความหายาก จึงทำให้ได้รับฉายาว่า "ราชินีแห่งสายน้ำ"

สถานภาพและการอนุรักษ์ แก้

พลับพลึงธารมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า "หัวหญ้าช้อง" ปัจจุบันนิยมเรียกว่าพลับพลึงธาร มากกว่าหอมน้ำ เพราะมีดอกคล้ายดอกพลับพลึง แต่ขึ้นอยู่ในน้ำ ซึ่งสถานะของพลับพลึงธารยังมิได้ถูกบรรจุในบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES และไม่ได้รับการการคุ้มครองภายใต้กฎหมายใดใดในประเทศไทย และแม่น้ำลำคลองที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพลับพลึงธาร ก็ยังไม่มีกฎหมายใดใด ให้การคุ้มครอง อย่างไรก็แล้วแต่ ในระดับพื้นที่ ชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆ ในหมู่บ้านที่พบพลับพลึงธาร ได้มีกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟู และมีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ห้ามการขุดหาหัวพลับพลึงธารเพื่อการค้า เช่น ชมรมเพลินไพรศรีนาคา กลุ่มอนุรักษ์คลองบางปรุ กลุ่มอนุรักษ์บ้านห้วยทรัพย์ กลุ่มอนุรักษ์บ้านนายทุย และกลุ่มอนุรักษ์บ้านบางซอย พลับพลึงธารบ้านบางวัน เป็นต้น ภายใต้การสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำอันดามันตอนบน

อ้างอิง แก้

  1. Soonthornnawaphat, S.; Bambaradeniya, C.; Sukpong, P. (2011). "Crinum thaianum". IUCN Red List of Threatened Species. 2011: e.T201627A9154955. doi:10.2305/IUCN.UK.2011-2.RLTS.T201627A9154955.en. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2021.
  2. 2.0 2.1 2.2 Joachim Schulze. 1971. Plant Life (Stanford) 27: 127, Crinum thaianum
  3. Crinum thaianum J.Schulze, Pl. Life 27: 127 (1971). Kew World Checklist of Selected Plant Families.
  4. "Tropica Aquarium Plants, plant details, Crinum thaianum". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 เมษายน 2014.
  5. Onion Plant Animal-World.com.
  6. วรรณดา พิพัฒน์เจริญชัย; รัฐภัทร์ ประดิษฐ์สรรพ์ (2008). การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหอมน้ำ. เอกสารวิชาการฉบับที่ 58/2551. สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง.

บรรณานุกรม แก้

  • ปกขวัญ หุตางกูร; สมศักดิ์ สุนทรนวภัทร (2015). พลับพลึงธาร: Crinum Thaianum: พืชน้ำหนึ่งเดียวในโลกของไทยที่ใกล้สูญพันธุ์. รวมสาส์น (1977). ISBN 978-616-7540-32-0.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Crinum thaianum ที่วิกิสปีชีส์