พระไกรสรราช (สิงห์ ไตรยวงค์)

พระไกรสรราชนามเดิมว่าท้าวสิงห์เป็นเจ้าเมืองหนองสูงองค์แรก (พ.ศ. 2387-2420) ปัจจุบันคือ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร อดีตนามยศที่พระสีหนามหรือท้าวสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อใน สปป.ลาว สืบเชื้อสายเจ้านายราชตระกูลเผ่าภูไท (ผู้ไท) เมืองคำอ้อและคำเขียวซึ่งอพยพมาจากแคว้นสิบสองจุไทหรือสิบสองเจ้าไตทางตอนเหนือของเวียดนาม เป็นต้นตระกูล ไตรยวงค์ กลางประพันธ์ อาจวิชัย โกมารพัฒน์ ฯลฯ ใน อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร[1]

พระไกรสรราช (สิงห์ ไตรยวงค์)
เจ้าเมืองหนองสูง, เจ้าเมืองคำอ้อ
ถัดไปพระไกรสรราช (ลุน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดเมืองคำอ้อ
เสียชีวิตเมืองหนองสูง
ศาสนาศาสนาพุทธ

พระประวัติ แก้

เชื้อสาย แก้

พระไกรสรราช (สิงห์) บ้างว่าเจ้าไกรสรราชหรือท้าวไกรยราชนามเดิมว่าท้าวสิงห์เป็นเจ้าเมืองคำอ้อเมืองแฝดคู่กับเมืองคำเขียว (คนลาวเรียกนามเมืองรวมกันว่าเมืองคำอ้อคำเขียว) ในนามยศที่พระสีหนามหรือท้าวสีหนามซึ่งมาจากนามเดิมว่าสิงห์ เมืองคำอ้อเดิมเป็นหัวเมืองภูไทขึ้นนครหลวงเวียงจันทน์ พระไกรสรราช (สิงห์) มีเชื้อสายเป็นเผ่าภูไทดำ พงศาวดารเมืองแถนระบุว่าชนเผ่านี้ตั้งรกรากเดิมทางตอนเหนือเวียดนามคือนาน้อยอ้อยหนูเขตเมืองแถน (แถง) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเดียนเบียนฟู ในภาษาเวียดนามแปลว่าเมืองชายแดน จากนั้นอพยพหนีภัยแห้งแล้งกันดารมาตั้งเมืองใหม่หลายแห่งในแขวงสุวรรณเขต เช่น เมืองวัง เมืองวังอั่งคำ (วังอ่างคำ) เมืองวังมน เมืองสุพรรณอ่างทอง เมืองคำอ้อ เมืองคำเขียว เมืองเซียงฮ่ม (เชียงร่ม) เมืองผาบัง เมืองภูวานากระแด้ง เมืองพาน เมืองบก เมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพะลาน (พ้าลั่น) เมืองจำพอน (ชุมพรแก้งกอก) เป็นต้น สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษของพระไกรสรราช (สิงห์) คงเป็นเจ้าเมืองคำอ้อสืบต่อมาหลายคน

อพยพจากเมืองคำอ้อตั้งบ้านคำชะอีและบ้านหนองสูง แก้

สมัยรัชกาลที่ 3 ท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อนำไพร่พลภูไทจากเมืองคำอ้อ 806 คน เมืองวัง 952 คน รวม 1,658 คน อพยพหนีภัยสงครามสยามครั้งทำลายกรุงเวียงจันทน์จากศึกพระเจ้าอนุวงศ์ข้ามโขงมาขึ้นฝั่งที่ท่าสีดาเมืองมุกดาหาร ต่อมาพระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม จันทรสาขา) เจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ 3 อนุญาตให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบดงบังอี่ (บักอี่) ในพื้นที่ อ.หนองสูง ปัจจุบัน ได้ระยะหนึ่งแล้วจึงขออพยพหาแหล่งทำกินและลงหลักปักฐานใหม่ไปทางตะวันตก กลุ่มภูไทเมืองวังได้ตั้งหลักแหล่งบริเวณบ้านคำชะอี (คำสระอี) ปัจจุบัน ฝ่ายภูไทคำอ้ออพยพลงทางทิศใต้ไกลราว 5 กม. ตั้งหลักแหล่งหากินที่ริมหนองน้ำกลางดงทึบซึ่งมีหญ้าแวงอันเป็นหญ้าชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายต้นผือขึ้นอยู่ในหนองน้ำนั้นจำนวนมากจึงพากันเรียกว่าหนองแวง ต่อมาชาวบ้านพบหนองน้ำใหญ่อีกแห่งมีน้ำขังตลอดปีตั้งอยู่บนยอดภูผากูดสูงขึ้นไปจากหนองแวงจึงเรียกว่าหนองสูง ต่อมาชาวบ้านใช้นามนี้เป็นนิมิตจึงเรียกนามชุมชนของตนว่าบ้านหนองสูง เป็นเหตุให้หนองแวงซึ่งอยู่ติดหมู่บ้านถูกเรียกว่าหนองสูงเช่นเดียวกับหนองสูงบนยอดภูผากูดสืบมา[2]

เป็นเจ้าเมืองหนองสูง แก้

พ.ศ. 2369 สมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ยกทัพมาทางอีสาน ฝ่ายรัชกาลที่ 3 ให้กองทัพสยามไปสู้รบและจับพระองค์ได้ใน พ.ศ. 2371 สยามเกลี้ยกล่อมชาวภูไทจากหัวเมืองต่าง ๆ ให้ข้ามมาฝั่งขวาของแม่น้ำโขงจำนวนมากเพื่อตัดกำลังเวียงจันทน์ ส่วนใหญ่ตั้งบ้านเมืองกระจายทั่วภาคอีสาน เช่น กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี เป็นต้น[3] พ.ศ. 2387 พระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม) เจ้าเมืองมุกดาหาร (บังมุก) พาท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ ท้าวราชอาดกรมการเมืองคำอ้อ เพี้ยเมืองแสน ท้าวสุวรรณโคตร และท้าวอุปคุตกรมการชั้นผู้ใหญ่จากเมืองวังซึ่งเป็นเจ้านายภูไททั้งหมด เข้าพบเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ที่ออกมาจัดราชการเมืองเขมรอยู่พนมเป็ญ ครั้นความทราบถึงรัชกาลที่ 3 จึงจัดให้เจ้านายเหล่านี้ประกอบพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จากนั้นพระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม) ได้นำตัวท้าวสีหนาม (สิงห์) และกรมการเมืองวังเข้าเฝ้า ณ กรุงเทพมหานคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อเป็นที่ พระไกรสรราช ยกบ้านหนองสูงเป็น เมืองหนองสูง หัวเมืองชั้นจัตวา ให้พระไกรสรราช (สิงห์) เป็นเจ้าเมือง ปรากฏในเอกสาร ร.3 จ.ศ.1276 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ สารตราตั้งมาเมื่อวันศุกร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ฉศก จ.ศ. 1206 ตรงกับ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2387[4] ให้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณขึ้นต่อเมืองมุกดาหาร ให้มุกดาหารแบ่งเขตแดนแก่เมืองหนองสูงคือ ทิศตะวันออกตั้งแต่ห้วยทราย ทิศเหนือถึงเขานางมอญ ทิศตะวันตกถึงห้วยบังอี่ ทิศใต้จรดห้วยทราย[5] มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ อ.หนองสูง อ.คำชะอี และ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร อ.นาแก จ.นครพนม พื้นที่บางส่วนเข้าไปถึง บ.ขุมขี้ยาง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านทั่วไปนิยมออกนามพระไกรสรราช (สิงห์) ว่าอาญาโหลง (อาญาหลวง) ตามสำเนียงภูไท ส่วนที่ตั้งโฮงหลวงเรียกว่าคุ้มเหนือ

สารตราเจ้าพระยาจักรีเรื่องตั้งเมืองหนองสูง แก้

จดหมายเหตุ ร.3 จ.ศ. 1206 (พ.ศ. 2387) เลขที่ 33 หอสมุดแห่งชาติ สารตราเจ้าพระยาจักรีเรื่องตั้งเมืองหนองสูง ระบุเนื้อความโดยละเอียดดังนี้

หนังสือเจ้าพระยาจักรีฯ มาถึงเมืองแสน เมืองจันทน์ ท้าวเพี้ยเมืองมุกดาหาร ด้วยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา บอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระอุปฮาตผู้ว่าราชการ ท้าวเพี้ย เมืองมุกดาหาร พาตัวท้าวราชอาตเมืองคำอ้อ เพี้ยสุวรรณโคตรเมืองวัง ลงไป ณ เมืองพนมเปญพระอุปฮาตแจ้งข่าว เจ้าพระยาบดินทร์เดชาว่า พระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ ท้าวอุปคุต ท้าวสุวรรณเมืองวัง เพี้ยเมืองแสนเมืองวัง พาครอบครัวสามิภักดิ์ ได้ให้ครอบครัวตั้งอยู่ที่หนองสูง ดงบังอี่ แขวงมุกดาหาร เป็นคนเมืองคำอ้อ ท้าวสีหนาม 1 ท้าวเพี้ย 32 รวม 33 ฉกรรจ์ 146 ครัว 627 รวม 806 เป็นคนเมืองวัง ท้าวเพี้ย 31 ฉกรรจ์ 174 ครัว 647 รวม 852 รวม 1,658 คน ครัว 2 เมืองนี้สมัครทำราชการกับเมืองมุกดาหาร ท้าวอุปฮาต ท้าวเพี้ย จะขอรับราชทานที่หนองสูง ดงบังอี่ ตั้งเป็นเมืองขึ้น ให้ท้าวสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ ท้าวเพี้ยเมืองวัง รวบรวมครอบครัว บ่าวไพร่ ตั้งบ้านเรือน ทำราชการขึ้นกับเมืองมุกดาหาร และพระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อนั้น พระมหาสงคราม เจ้าอุปราชเวียงจันทน์ พาลงไปเฝ้าทูลละอองฯ แจ้งราชการ ณ กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานได้ตั้งน้ำพระพิพัฒน์สัตยาให้พระสีหนาม ท้าวเพี้ยเมืองคำอ้อ ท้าวเพี้ยเมืองวัง กระทำสัตยานุสัตย์รับพระราชทาน น้ำพระพิพัฒน์สัจจาตามอย่างธรรมเนียมแล้ว ได้นำเอาหนังสือ บอกเจ้าพระยาบดินทร์เดชา กราบบังคมทูลพระกรุณา พาพระอุปฮาต ผู้ว่าราชการเมืองมุกดาหาร พระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ ท้าวเพี้ยเมืองวัง เข้าเฝ้าทูลละอองฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองฯ แล้ว จึงทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า เมืองคำอ้อ เมืองวัง พลเมืองฟากของตะวันออก เหล่านี้ก็เป็นข้าขัณฑเสมา กรุงเทพมหานครแต่เดิม พากันไปพึ่งอ้ายญวน เมื่อครั้งเจ้าอนุเวียงจันทน์ เป็นกบฏขัดแข็งบ้านเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพยกทัพไปทำลายบ้านเมืองให้ยับเยิน หัวเมืองลาวฟากตะวันออกที่รู้ผิดโทษตัวหมายจะเอาอ้ายญวนเป็นที่พึ่งมิได้ พาครอบครัวสามิภักดิ์ข้ามมาขออยู่กับหัวเมืองฟากของข้างนี้ ก็ได้มีสารตราโปรดเกล้าฯ ขึ้นไปเถิง เจ้าเมือง อุปฮาต ท้าวเพี้ยแต่ก่อนว่าถ้านายไพร่ ครอบครัวหัวเมืองลาว ฟากของตะวันออกสามิภักดิ์ พาครอบครัวข้ามโดยดี จะสมัครอยู่กับเมืองใด ก็โปรดเกล้าฯ ให้อยู่ทำราชการด้วย เจ้าเมือง ท้าวเพี้ย ตามใจสมัคร หากมีครอบครัวบ่าวไพร่ข้ามมา สมควรจะตั้งเป็นเมืองได้ จะโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นเมือง ทำราชการขึ้นกับเมืองใหม่จะได้เป็นภูมิฐานบ้านเมือง ทำมาหากินอยู่เป็นสุข โดยทรงพระมหากรุณาเมตตา จะทรงสงเคราะห์ กับนายไพร่ ครอบครัวหัวเมืองลาวเหล่านี้ ไม่ให้มีความเดือดร้อนต่อไป ซึ่งพระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ เมืองแสน ท้าวอุปคุต ท้าวเพี้ยเมืองวังพาครอบครัวมาเป็นคนเมืองคำอ้อ 806 เมืองวัง 852 รวม 1,658 คน พระอุปฮาตบุตรหลานท้าวเพี้ยเมืองมุกดาหาร ได้จัดแจงให้ท้าวเพี้ยนายไพร่ ครอบครัว ตั้งอยู่หนองสูง ดงบังอี่ ครอบครัว 2 เมืองนี้ สมัครอยู่กับเมืองมุกดาหาร ครอบครัวก็สมควรพอจะตั้งเป็นเมืองได้ แลบ้านหนองสูง ดงบังอี่ พระอุปฮาตได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ที่ทางเป็นภูมิฐานไร่นาดีอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านหนองสูงขึ้นเป็นเมือง พระราชทานชื่อเป็นเมืองหนองสูง ให้พระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ เป็นเจ้าเมือง เพี้ยเมืองแสน เมืองวังเป็นที่อุปฮาต ท้าวราชอาต น้องพระสีหนาม เป็นที่ราชวงศ์ ท้าวอุปคุต เมืองวัง เป็นที่ราชบุตร ทำราชการขึ้นกับเมืองมุกดาหาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทาน พระสีหนาม เจ้าเมืองคำอ้อ (เจ้าเมืองหนองสูง) สัปทนแพร คัน 1 ผ้าโพกขลิบ ผืน 1 ถาดหมากเงิน คณโฑเงิน สำรับ 1 เงินตรา +1 เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง 1 ผ้าดำปักทองมีซับใน 1 แพรขาวห่ม ผืน 1 ผ้าปูม ผืน 1 เพี้ยเมืองแสน เมืองวัง (อุปฮาต) ผ้าโพกขลิบ 1 เงินตรา 15+ เสื้อเข้มขาบดอกถี่ 1 ผ้าดำปักไหม 1 แพรขาวห่ม ผืน 1 ผ้าปูม ผืน 1 ผ้าโพกขลิบ ผืน 1 ท้าวราชอาต (น้องพระสีหนาม) (ราชวงศ์) ผ้าโพกขลิบ ผืน 1 เงินตรา 10+ เสื้อเข้มดอกเสทิน 1 แพรขาวห่ม ผืน 1 ผ้าปูม ผืน 1 ท้าวอุปคุต (เมืองวัง) (ราชบุตร) เสื้ออัตคัตดอกลาย 1 แพรขาวห่ม ผืน 1 ผ้าลายวิลาศ 1 เงินตรา 7+ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้ง ท้าวสีหนาม เป็นพระไกรสรราช เจ้าเมืองเมืองหนองสูง เพี้ยเมืองแสนเมืองวังเป็นที่อุปฮาตเมืองหนองสูง ท้าวราชอาตเป็นที่ท้าวราชวงศ์เมืองหนองสูง ท้าวอุปคุตเป็นที่ท้าวราชบุตรเมืองหนองสูง ขึ้นมารักษาบ้านเมือง คุ้มครองบ่าวไพร่ครอบครัว ทำราชการ ฉลองพระเดช ฉลองคุณ ขึ้นกับเมืองมุกดาหาร ตามธรรมเนียมหัวเมืองน้อย ขึ้นกับเมืองใหญ่ และให้พระอุปฮาตผู้เป็นที่พระจันทร์สุริยวงษ์บังคับให้ พระไกรสรราช ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ จัดแจง ตั้งแต่ท้าวเพี้ยขึ้นให้ครบตำแหน่งตามธรรมเนียมหัวเมืองลาว จะได้ช่วยกันทำราชการ รักษาบ้านเมือง ทำนุ บำรุง ครอบครัวบ่าวไพร่ให้อยู่เย็นเป็นสุข และพระไกรสรราช เจ้าเมือง ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ ท้าวราชบุตร บุตรหลานท้าวเพี้ยเมืองหนองสูง ฟัง บังคับ บังชา พระจันทรสุริยวงษ์ อุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองมุกดาหาร ซึ่ง เป็นเมืองใหญ่ ให้ อุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตร บุตรหลานท้าวเพี้ยเมืองหนองสูง ฟัง บังคับ บังชา พระไกรสรราช เจ้าเมือง แต่โดยชอบด้วยราชการ ให้พระไกรสรราช ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ ท้าวราชบุตร์ บุตรหลานท้าวเพี้ยเมืองหนองสูง มีน้ำใจจงรักภักดี ต่อใต้ฝ่าละอองฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ทำราชการฉลองพระเดช พระคุณ โดยใจสุจริต

พระไกรสรราช ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ ท้าวราชบุตร และบุตรหลานท้าวเพี้ย มีน้ำใจ เลื่อมใสในกองการกุศล สร้างวัดวาอาราม ขึ้นไว้สำหรับในบ้านเมือง ทำนุ บำรุง พระสงฆ์ สามเณร ให้ปรนนิบัติ เล่าเรียนฝ่ายคันถะธุระ วิปัสสนาธุระ พระพุทธศาสนาจะได้ถาวรรุ่งเรือง จะได้เป็นที่ไหว้ ที่กราบบูชา และทำบุญให้ทานเป็นกองการกุศล และเป็นที่พึ่งไปภายหน้า

ประการหนึ่ง ให้พระไกรสรราช ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ ท้าวราชบุตร กำชับ กำชา ไพร่บ้าน พลเมืองอย่าให้คบหาพากันกระทำโจรกรรม ฉกชิง คุมเหงราษฎร ลูกค้าพาณิชย์ ให้ได้ความยากแค้นเดือนร้อน แลให้ดูแลเอาใจใส่ไพร่พลเมืองให้ทำมาหากินให้อยู่เย็นเป็นสุข

ประการหนึ่ง เป็นอย่างธรรมเนียมสืบมาแต่ก่อน ถ้าเถิงเทศกาล พระราชพิธีตรุษ พระราชพิธีสารท จะได้รับพระราชทานถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แลบ้านเมืองหนองสูง เป็นเมืองขึ้นเมืองมุกดาหาร เถิงเทศกาลถือน้ำก็ให้พระไกรสรราช ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ ท้าวราชบุตร บุตรหลานท้าวเพี้ย กรรมการเมืองหนองสูง ไปพร้อมด้วย พระจันทร์สุริยวงษ์ พระอุปฮาต ราชวงษ์ ท้าวเพี้ยเมืองมุกดาหาร ที่วัดวาอารามจำเพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้าบ่ายหน้าต่อกรุงเทพมหานคร กราบถวายบังคมกระทำสัตยานุสัตย์ ถวายต่อใต้ฝ่าละอองฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัจจาปีละสองครั้ง ตามอย่างธรรมเนียม เสมอจงทุกปีสืบไป

เพี้ยเมืองแสน ผู้เป็นที่ท้าวอุปฮาต ท้าวอุปคุตผู้เป็นที่ท้าวราชบุตร หาได้ลงไปเผ้าทูล ละอองฯ ณ กรุงเทพมหานครไม่ โปรดเกล้าฯ ให้มอบเงินตรากับเสื้อผ้าเครื่องยศสำหรับที่ท้าวอุปฮาต ท้าวราชบุตร ให้พระจันทร์สุริยวงษ์ เจ้าเมืองมุกดาหาร คุมขึ้นมาพระราชทานให้กับเพี้ยเมืองแสน ผู้เป็นที่อุปฮาต ท้าวอุปคุต ผู้เป็นที่ท้าวราชบุตร รับพระราชทานทำราชการ ฉลองพระเดช พระคุณ ขึ้นกับเมืองมุกดาหารตามท้องตราโปรดเกล้าฯ ขึ้นมานั้น อย่าให้เสียราชการไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นอันขาด

หนังสือมา ณ วัน 6 11 ฯ 8 8 ค่ำ ปีมะโรง ฉศก.[6]

เครื่องยศและสิ่งของพระราชทาน แก้

  • สัปทนแพร คัน 1
  • ผ้าโพกขลิบ ผืน 1
  • ถาดหมากเงิน คณโฑเงิน สำรับ 1
  • เงินตรา +1
  • เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง 1
  • ผ้าดำปักทองมีซับใน 1
  • แพรขาวห่ม ผืน 1
  • ผ้าปูม ผืน 1[7]

พี่น้อง แก้

พระไกรสรราช (สิงห์) มีพี่น้องที่ปรากฏพระนาม คือ

  • พระไกรสรราช (สิงห์) หรือพระสีหนาม
  • พระไกรสรราช (ราชอาต) หรืออาชญาโหลง (อาชญาหลวง)

บุตรธิดา แก้

การพระศาสนา แก้

สร้างวัดไตรภูมิ แก้

วัดไตรภูมิ เมื่อแรกตั้งชื่อว่า วัดเตยยะภูมิ ตั้งอยู่เลขที่ 86 หมู่ที่ 7 บ้านหนองสูง ตำบลหนองสูงเหนือ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย คณะสงฆ์ภาค 10 วัดไตรภูมิสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2387 ในยุคเดียวกันกับการตั้งเมืองหนองสูง พระไกรสรราช (สิงห์) ผู้เป็นเจ้าเมืององค์แรกพร้อมด้วยเจ้านายกรมการเมืองและชาวบ้านได้พร้อมใจกันสร้างขึ้น โดยมีอัญญาคูไตย (พระไตร) เป็นผู้นำชาวบ้านหักร้างถางพงบริเวณใกล้กันกับหนองแวง (ปัจจุบันเรียกว่า หนองสูง) เพื่อสร้างขึ้นเป็นวัด ครั้นอัญญาครูไตรถึงแก่มรณภาพ ได้ตั้งให้อัญญาคูหลักคำ (มี) (พ.ศ. 239-พ.ศ. 2472) เป็นเจ้าอธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2446 (ร.ศ.123) พระยาสุนทรนุรักษ์ ข้าหลวงประจำบริเวณธาตุพนมได้เดินทางมาตรวจราชการที่เมืองหนองสูง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2446 ได้บันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับวัดไตรภูมิว่า ...มีวัด 1 วัดชื่อวัดไตรภูมิ มีพระสงฆ์ 15 รูป สามเณร 22 รูป ท่านเจ้าอธิการชื่อ มี ได้ 30 พรรษาที่วัดนี้ ดูการสวดมนต์แข็งแรงพร้อมเพียงกัน... หลังจากอัญญาครูหลักคำ (มี) ถึงแก่มรณภาพแล้ว ชาวบ้านได้สร้างพระเจดีย์บรรจุอัฐิขึ้น เรียกว่า ธาตุญาท่านหลักคำ ต่อมาจึงตั้งพระอธิการบัวคำหรืออัญญาคูบัวคำเป็นเจ้าอาวาส อัญญาคูบัวคำได้เป็นผู้นำในการสร้างกำแพงวัดของวัดไตรภูมิยุคแรก เมื่อมรณภาพแล้ว พระอธิการพรหมหรืออัญญาคูพรหม ชาวเมืองหนองสูง ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อมา[8]

ถึงแก่กรรม แก้

พระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์แรก เถิงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2420 สิริรวมเวลาปกครองเมืองหนองสูง 35 ปี ต่อมาเจ้าอุปฮาด (ลุน) หรือท้าวสีสุวอ เจ้านายในคณะอาญาสี่เมืองหนองสูงผู้เป็นพระอนุชาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ พระไกรสรราช เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ 2 แทน ตระกูลเจ้านายเมืองหนองสูงได้ปกครองบ้านเมืองในตำแหน่งเจ้าเมืองสืบต่อมารวมทั้งหมด 3 องค์ องค์สุดท้ายคือ พระไกรสรราช (ราชอาต)[9] และปกครองเมืองหนองสูงในฐานะผู้รักษาราชการแทนเจ้าเมืองได้อีก 3 ท่าน ได้แก่ หลวงอำนาจณรงค์ (บุศย์) หลวงทรงฤทธิรอน (เสือ) และหลวงชะนาจอาจวิชัย (ตาอุปฮาต) รวมมีผู้ปกครองเมืองหนองสูงทั้งหมด 6 คน[10]

สกุลที่สืบเชื้อสายและสายสกุลที่เกี่ยวเนื่อง แก้

  • ไตรยวงค์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ 1[11]
  • ไตรยวงศ์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ 1
  • ไกรยวงศ์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ 1
  • กลางประพันธ์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สีสุวอ) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ 2
  • อาจวิชัย สืบสกุลจากพระไกรสรราช (ราชอาต) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ 3[12]
  • โกมารพัฒน์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (ราชอาต) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ 3 มาจากราชทินนามบรรดาศักดิ์เดิมของพระไกรสรราช (ราชอาต) ว่า พระศรีโกปานมารพัฒน์[13]
  • แสนโคตร สืบเชื้อสายจากเพี้ยเมืองแสน กรมการชั้นผู้ใหญ่ (ชั้นขื่อเมือง) เมืองคำอ้อ (เดิมเป็นสายสกุลเดียวกันกับสกุลแสนโฆส)
  • แสนโฆส สืบเชื้อสายจากเพี้ยเมืองแสน กรมการชั้นผู้ใหญ่ (ชั้นขื่อเมือง) เมืองคำอ้อ[14]
  • แสนสุข
  • สุวรรณไตรย์ สืบเชื้อสายจากท้าวสุวรรณโคตร (เสือ) เจ้าเมืองวัง หรือพระสุวรรณะ ต่อมาเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวงทรงฤทธิรอน ผู้รักษาราชการเมืองหนองสูง [15]
  • สุวรรณไตรย สืบเชื้อสายจากท้าวสุวรรณโคตร (เสือ) เจ้าเมืองวัง[16]
  • วังคะฮาต สืบเชื้อสายจากพระศรีวังคฮาตเจ้านายกรมการเมืองสายเมืองวัง
  • วังคะฮาด สืบเชื้อสายจากพระศรีวังคะฮาตเจ้านายกรมการเมืองสายเมืองวัง[17]
  • วิเศษศรี สืบเชื้อสายจากพระวิเศษแสน (โคตรหลักคำ) กรมการเมืองคำอ้อ[18]
  • สลางสิงห์ สืบเชื้อสายจากกรมการเมืองคำอ้อเดิมซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดของพระไกรสรราช (สิงห์) ปัจจุบันทายาทบางส่วนอาศัยตั้งรกรากที่บ้านคำสะอี ประเทศลาว[19]
  • สลางค์สิงห์
  • ภูวง
  • พรานภูวง
  • ไชยอุป
  • มหาอุป
  • หนองสูง สกุลสายนี้เดิมเป็นผู้ดูแลรักษาผีหอคุณ ผีหอไตร ผีหอเชื้อของเมืองหนองสูง
  • เพียกแก้ว
  • แก้วศรีนวม
  • สีหานาม[20]

พระอนุสาวรีย์ แก้

พระอนุสาวรีย์แห่งที่ 1 แก้

พระอนุสาวรีย์พระไกรสรราช (สิงห์) แห่งที่ 1 ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองสูง หมู่ที่ 3 บริเวณริมน้ำหนองสูงใกล้กับวัดไตรภูมิ ตำบลหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2537 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยความร่วมมือของอาจารย์บุญสงค์ แสนโคตร อาจารย์เข็ม จันปุ่ม อาจารย์จันหมี กลางประพันธ์ อาจารย์ทองไม จันทร์เต็ม อาจารย์เสมอ รอบรู้ อาจารย์ประยงค์ แสนสุข อาจารย์พูลสวัสดิ์ อาจวิชัยและชาวภูไทเมืองหนองสูงหลายท่าน[21] องค์พระอนุสาวรีย์แกะสลักจากหิน พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์หรือดาบยศ พระหัตถ์ขวายกขึ้นทรงบั้งจุ้มบรรจุดวงจุ้มหรือตราตั้งเจ้าเมือง ท่วงท่าประทับยืนเหนือแท่นแอวขัน นายโกเวช กลางประพันธ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอหนองสูงกล่าวว่า คณะผู้ก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ได้สืบค้นข้อมูลรูปร่างและบุคลิกลักษณะของพระองค์จากทายาทบุตรหลานของพระองค์ จากนั้นจึงให้หมอพราหมณ์จากกรุงเทพมหานครจัดพิธีเสี่ยงทายภาพเพื่อนำมาสร้างพระอนุสาวรีย์ พร้อมประกอบพิธีพราหมณ์สมโภช 3 วัน 3 คืน[22]

พระอนุสาวรีย์แห่งที่ 2 แก้

พระอนุสาวรีย์พระไกรสรราช (สิงห์) แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอหนองสูง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2550 ซึ่งถือเป็นปีครบรอบ 163 ปี ของการก่อตั้งเมืองหนองสูง[23] ตัวพระอนุสาวรีย์พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์หรือดาบยศ พระหัตถ์ขวายกขึ้นทรงบั้งจุ้มบรรจุดวงจุ้มหรือตราตั้งเจ้าเมือง ท่วงท่าประทับยืนเหนือแท่นแอวขัน [24]

อนุสรณ์ แก้

งานโฮมเหง้าเผ่าผู้ไทย ไหว้พระไกรสรราชเมืองหนองสูง แก้

งานโฮมเหง้าเผ่าผู้ไทย ไหว้พระไกรสรราชเมืองหนองสูง เป็นงานประจำปีของอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2554 [25] ซึ่งส่วนราชการอำเภอหนองสูง เทศบาลตำบลหนองสูงเหนือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมุกดาหาร[26] และสภาวัฒนธรรมอำเภอหนองสูงได้กำหนดจัดงานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูพระเกียรติยศของพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์แรก และเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งเมืองหนองสูงเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2387 ตลอดจนเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีและศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชนเผ่าภูไท ส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอหนองสูง เสริมสร้างความรักความสามัคคีของพี่น้องชาวภูไทอำเภอหนองสูง และชาวภูไทจากต่างถิ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น กิจกรรมภายในงานมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ตามจารีต มีพิธีบวงสรวงพระอนุสาวรีย์พระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์แรก มีการแห่แหนศิลปวัฒนธรรมภูไทจากตำบลต่างๆ การแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวภูไทจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ หรือการแสดงศิลปวัฒนธรรมภูไท 3 แผ่นดิน ได้แก่ ชาวภูไทจากประเทศเวียดนาม ชาวภูไทจากประเทศลาว และชาวภูไททั่วประเทศไทย[27] รวมทั้งมีการประกวดอาหารพื้นบ้าน การประกวดส้มตำลีลา การประกวดฟ้อนกลองตุ้ม การประกวดธิดาผู้ไทยพระไกรสรราช การประกวดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวภูไทในด้านต่างๆ อาทิ การประกวดพานบายศรี การประกวดขันหมากเบ็ง การประกวดเสื้อเย็บมือ เป็นต้น[28]

คำขวัญประจำอำเภอหนองสูง แก้

พระนามของพระไกรสรราช (สิงห์) ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำอำเภอหนองสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเผ่าภูไทเป็นเผ่าที่มีความรักเคารพในบรรพบุรุษผู้สร้างบ้านแปงของตนเองเมืองอย่างยิ่ง ดังปรากฏความว่า "หนองสูงถิ่นผู้ไทย เมืองพระไกรสรราช ตาดโตนน้ำตกสวย ห้วยบังอี่น้ำใส ผ้าไหมเลิศหรู ภูจ้อก้อแหล่งวัฒนธรรม ลึกล้ำพิธีเหยา ทิวเขางามตา"[29]

การประกวดธิดาผู้ไทยพระไกรสรราช แก้

การประกวดธิดาผู้ไทยพระไกรสรราช เป็นการประกวดสาวงามซึ่งมีสถานภาพโสด นัยว่าทายาทบุตรหลานเมืองหนองสูงทุกคนนั้นล้วนเป็นบุตรธิดาของพระไกรสรราช (สิงห์) การประกวดธิดาผู้ไทยพระไกรสรราชเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญประจำปีที่จัดขึ้นในงานโฮมเหง้าเผ่าผู้ไทย ไหว้พระไกรสรราชเมืองหนองสูงของอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร โดยผู้ได้รับตำแหน่งธิดาผู้ไทยพระไกรสรราชจะได้รับรางวัลเป็นเงินสด 10,000 บาท สายสะพาย ช่อดอกไม้และของชำร่วย รองอันดับ 1 จะได้รับเงินสด 7,000 บาท พร้อมช่อดอกไม้และของชำร่วย รองอันดับ 2 จะได้รับเงินสด 5,000บาท พร้อมช่อดอกไม้และของชำร่วย ส่วนตำแหน่งขวัญใจประชาชนจะได้รับเงินสด 5,000 บาท สายสะพาย พร้อมช่อดอกไม้และของชำร่วย ตำแหน่งแต่งผู้ไทงามจะได้รับเงินสด 5,000 บาท สายสะพาย พร้อมช่อดอกไม้และของชำร่วย และตำแหน่ง Miss Sudyek จะได้รับเงินสด 5,000 บาท สายสะพาย พร้อมช่อดอกไม้และของชำร่วย [30]

อ้างอิง แก้

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-20. สืบค้นเมื่อ 2016-07-18.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-12. สืบค้นเมื่อ 2016-07-18.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-12. สืบค้นเมื่อ 2016-07-18.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-20. สืบค้นเมื่อ 2016-07-18.
  5. www.mukdahanguide.com
  6. จดหมายเหตุ ร. 3 จ.ศ. 1206 (พ.ศ. 2387) เลขที่ 33 หอสมุดแห่งชาติ สารตราเจ้าพระยาจักรี เรื่อง ตั้งเมืองหนองสูง
  7. จดหมายเหตุ ร. 3 จ.ศ. 1206 (พ.ศ. 2387) เลขที่ 33 หอสมุดแห่งชาติ สารตราเจ้าพระยาจักรี เรื่อง ตั้งเมืองหนองสูง
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-25. สืบค้นเมื่อ 2016-07-21.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-29. สืบค้นเมื่อ 2016-07-18.
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-14. สืบค้นเมื่อ 2016-07-19.
  11. https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1592326574366647&set=a.1592325674366737.1073741846.100007679581679&type=3&theater
  12. สัมภาษณ์นายอภิชิต แสนโคตร เรื่อง ประวัติตระกูลเจ้าเมืองหนองสูง สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559.
  13. https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1592328371033134&set=a.1592325674366737.1073741846.100007679581679&type=3&theater
  14. สัมภาษณ์นายอภิชิต แสนโคตร เรื่อง ประวัติต้นสกุลแสนโคตร สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559.
  15. http://www.slideshare.net/chk4905/ss-4533345
  16. http://suwannatrai.igetweb.com/webboards/963986/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80
  17. http://swangkahart.blogspot.com/2007/08/blog-post.html
  18. สัมภาษณ์นายอภิชิต แสนโคตร เรื่อง ประวัติต้นสกุลวิเศษศรี สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559.
  19. สัมภาษณ์นายอภิชิต แสนโคตร เรื่อง ประวัติต้นสกุลสลางสิงห์ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559.
  20. https://www.facebook.com/aphicit.sankhot?fref=ufi
  21. https://www.facebook.com/444500732312616/photos/pcb.634534789975875/634534183309269/?type=3&theater
  22. http://www.m-culture.in.th/album/52068/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%[ลิงก์เสีย]
  23. http://nongsoong.mukdahancity.com/nongsoong/index.php?action=recent;start=10[ลิงก์เสีย]
  24. http://www.oknation.net/blog/numsunjon/2009/05/13/entry-1
  25. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-21.
  26. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-18. สืบค้นเมื่อ 2016-07-19.
  27. http://thainews.prd.go.th/website_th/news/news_detail/TNART5805280010011[ลิงก์เสีย]
  28. http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9570000091287[ลิงก์เสีย]
  29. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2016-07-19.
  30. http://www.thaiwit.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539856953&Ntype=1