พระแก้วดอนเต้า เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของไทยเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ วัสดุหยกสีเขียวเข้มขนาดหน้าตัก 6.5 นิ้ว สูง 8 นิ้ว ฐานสูง 17.75 นิ้ว ฐานกว้างตอนบน 7.75 นิ้ว ฐานกว้างตอนล่าง 10.75 นิ้ว ศิลปะแบบเชียงแสนตอนปลาย นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง ประดิษฐานอยู่ในกุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง พระแก้วดอนเต้า วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นพระแก้วที่สวยงามมากองค์หนึ่ง เป็นพระศิลปะเชียงแสนสิงห์สาม ปลายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี (สะดือ) พระพักตร์เป็นรูปทรงรีหรือรูปไข่ พระเกศเป็นต่อม พระกรรณยาวสยายปลายโค้งบานออก องค์พระประทับนั่งสมาธิราบมือประสานบนตัก

พระแก้วดอนเต้า
ชื่อเต็มพระเจ้าแก้วมรกต
ชื่อสามัญพระแก้วดอนเต้า
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางสมาธิ
ความกว้าง๖.๕ นิ้ว
ความสูง๘ นิ้ว
วัสดุหยกเขียวเข้ม
สถานที่ประดิษฐานกุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง
ความสำคัญพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลำปาง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

เล่าเป็นตำนานว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ไว้ เมื่อทรงดับขันธ์ปรินิพพานล่วงมาแล้ว ๑,๐๐๐ ปี จะมีผู้มีบุญจากดาวดึงส์ลงมาจุติและได้บวชเป็นพระเถระ การณ์เป็นดังคำพยากรณ์ พระมหาเถระนั้นดำริสร้างพระพุทธรูป แต่ยังไม่ปลงใจเลือกวัสดุใด พญานาคในลำน้ำวังจึงนำแก้วมรกต (หรือ "แก้วกายสิทธิ์") ใส่ในหมากเต้า คือ แตงโมในไร่ของนางสุชาดาผู้อุปัฏฐาก นางสุชาดาเก็บแตงโมไปถวายพระมหาเถระเมื่อผ่าออกพบก้อนมรกตจึงนำมาจะแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ก็พยายามแกะพระพุทธรูปขึ้น แต่ก็แกะไม่สำเร็จเพราะเนื้อแข็งมาก จนกระทั่งมีตาปะขาวซึ่งเป็นพระอินทร์ปลอมตัวมาอาสาแกะพระให้ เมื่อแกะเสร็จตาปะขาวก็หายไป ครั้นเมื่อพระมหาเถรและนางสุชาดาทำการสมโภชแล้วก็ถวายพระนามพระพุทธรูปแก้วมรกตองค์นั้นว่า "พระแก้วดอนเต้า" ต่อมาพระมหาเถระและนางสุชาดาถูกเจ้าผู้ครองนครลำปางสั่งประหาร โดยมีผู้ใส่ความว่าเป็นชู้กับพระมหาเถระ ก่อนตายนางได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าตนไม่มีความผิดขอให้เลือดพุ่งขึ้นสู่อากาศ เป็นการประกาศความบริสุทธิ์เพื่อให้พระมหาเถระพ้นข้อครหา เหตุการณ์เป็นดังคำอธิษฐานของนาง เมื่อพระมหาเถระพ้นจากความผิดจึงอัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐานยังวัดพระธาตุลำปางหลวงตราบถึงปัจจุบัน[1]

ปัจจุบัน แก้

ปัจจุบันพระแก้วดอนเต้าประดิษฐานอยู่ ณ กุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

อ้างอิง แก้

  1. http://www.danpranipparn.com/web/praput/praput119.html ๒๑. พระแก้วดอนเต้า วัดพระธาตุลำปางหลวง