พระเจ้าอาฟงซูที่ 1 แห่งโปรตุเกส

พระเจ้าอาฟงซูที่ 1 (โปรตุเกส: Afonso I), อาฟงซู เอ็งรีกึช (Afonso Henriques) หรือ อาฟงซูผู้พิชิต (Afonso o Conquistador) เสด็จพระราชสมภพ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1106/1109 หรือไม่ก็เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1109/1111 สิ้นพระชนม์ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1185 ปฐมกษัตริย์แห่งโปรตุเกส ผู้พิชิตซังตาไรและลิสบอนมาจากชาวมุสลิม และประกาศเอกราชให้ราชอาณาจักรโปรตุเกสที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรเลออน พระองค์สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กาเปเซียง

พระเจ้าอาฟงซูที่ 1 แห่งโปรตุเกส

พระเจ้าอาฟงซูที่ 1 แห่งโปรตุเกส
พระมหากษัตริย์โปรตุเกส
ครองราชย์26 กรกฎาคม ค.ศ. 1139 – 6 ธันวาคม ค.ศ. 1185
ราชาภิเษก26 กรกฎาคม ค.ศ. 1139
รัชกาลก่อนหน้าอ็องรี เคานต์แห่งโปรตุเกส (ทางนิตินัย)
เตเรซา เคาน์เตสแห่งโปรตุเกส (ทางพฤตินัย)
รัชกาลถัดไปพระเจ้าซังชูที่ 1
ประสูติค.ศ. 1106, 1109 หรือ 1111
กูอิงบรา, กีมาไรช์ หรือวีเซว ราชอาณาจักรโปรตุเกส
สวรรคต6 ธันวาคม ค.ศ. 1185 (73–79 พรรษา)
ฝังพระศพอารามซังตากรุชในกูอิงบรา
พระมเหสีมาฟัลดาแห่งซาวอย
พระราชบุตร
among others ...
อูร์รากาแห่งโปรตุเกส พระราชินีแห่งเลออน
ตึเรซาแห่งโปรตุเกส เคาน์เตสแห่งฟลานเดอส์
มาฟัลดา
พระเจ้าซังชูที่ 1 แห่งโปรตุเกส
ราชวงศ์ราชวงศ์บูร์กอญของโปรตุเกส
พระราชบิดาอ็องรี เคานต์แห่งโปรตุเกส
พระราชมารดาเตเรซาแห่งเลออน เคาน์เตสแห่งโปรตุเกส

วัยเยาว์ แก้

พระเจ้าอาฟงซูที่ 1 พระราชสมภพเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1109 บุตรชายของอ็องรีแห่งบูร์กอญกับเตเรซา บุตรสาวนอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออนและกัสติยา และเป็นหลานชายของรอแบร์ ดยุกแห่งบูร์กอญ เสด็จพระราชสมภพเมื่อบิดาได้เป็นเคานต์แห่งโปรตุเกส หลังจากช่วยเหลือกษัตริย์แห่งกัสติยาขับไล่ชาวมุสลิม บิดามารดาของพระองค์เป็นเคานต์และเคาน์เตสแห่งโปรตุเกสร่วมกันจนกระทั่งอ็องรีเสียชีวิตในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1112 ในช่วงระหว่างปิดล้อมอัสตอร์กา[1] เตเรซาจึงปกครองต่อตามลำพัง[2] เนื่องจากอาฟงซูมีพระชนมายุเพียง 3 พรรษา

เตเรซา มารดาของพระองค์ต้องการได้ส่วนแบ่งในราชอาณาจักรเลออนอันเป็นมรดกเพิ่ม จึงตั้งกองทัพร่วมกับเฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบา เคานต์ผู้ทรงอำนาจที่สุดในราชอาณาจักรกาลิเซีย[3] ขุนนางโปรตุเกสไม่ชอบใจที่โปรตุเกสผูกมิตรกับกาลิเซียจึงหันมาสนับสนุนอาฟงซู ในปี ค.ศ. 1122 อาฟงซูมีพระชนมายุครบ 14 พรรษา ซึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว ในปี ค.ศ. 1127 พระองค์ร่วมมือกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 ต่อกรกับเตเรซา ทรงก่อปฏิวัติและยึดการปกครองมาจากมารดา

เคานต์แห่งโปรตุเกส แก้

ในปี ค.ศ. 1128 ที่สมรภูมิเซามาแมดือ ใกล้กับกีมาไรช์ อาฟงซูและผู้สนับสนุนสามารถคว้าชัยเหนือเตเรซากับคนรัก เคานต์เฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบาแห่งกาลิเซีย อาฟงซูขับไล่มารดาไปอยู่ที่กาลิเซียและยึดอำนาจปกครองเคาน์ตีโปรตุเกส[4] เคาน์ตีได้แยกตัวออกมาจากราชอาณาจักรกาลิเซีย โดยมีอาฟงซูเป็นผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียวและเรียกร้องเอกราชในเวลาต่อมา มีการปฏิวัติเกิดขึ้นหลายครั้งในกัสติยาซึ่งในเวลานั้นเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรเลอน อาฟงซูน่าจะคอยดูสถานการณ์อยู่ และเมื่อเตเรซาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1131 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออนและกัสติยาเรียกร้องให้อาฟงซูซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องถวายคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะเป็นข้าราชบริวารของพระองค์ ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1129 อาฟงซู เอ็งรีกึชประกาศตนเป็นเจ้าชายแห่งโปรตุเกสหรือเจ้าชายของชาวโปรตุเกส อาจจะด้วยพระองค์มีสิทธิ์ตามสายเลือด จากการเป็นหนึ่งในสองพระนัดดาของจักรพรรดิแห่งฮิสปาเนีย

หลังจากนั้นอาฟงซูสะบัดธงรบเพื่อจบปัญหายืดเยื้อกับชาวมัวร์ที่อยู่ทางตอนใต้ พระองค์ประสบความสำเร็จในการสู้รบ ในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1139 พระองค์ได้รับชัยชนะท่วมท้นในสมรภูมิโอรีกือและประกาศตนเป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกส

กษัตริย์แห่งโปรตุเกส แก้

 
พระเจ้าอาฟงซูที่[ลิงก์เสีย] 1 ที่การปิดล้อมลิสบอน (ภาพวาดสีน้ำมันบนผืนผ้าใบโดยฌูอากิง รูดรีกึช บรากา)

แม้จะเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์จากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออนแล้ว แต่โปรตุเกสยังต้องการการยอมรับจากดินแดนข้างเคียง, จากคริสตจักรคาทอลิก และจากสมเด็จพระสันตะปาปา ว่ามีสถานะเป็นราชอาณาจักร พระเจ้าอาฟงซูอภิเษกสมรสกับมาฟัลดาแห่งซาวอย บุตรสาวของอามาเดอุสที่ 3 เคานต์แห่งซาวอย และส่งราชทูตไปโรมเพื่อเจรจากับสมเด็จพระสันตะปาปา ทรงหลุดพ้นจากการเป็นประเทศราชของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แหงเลออนผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง และกลายเป็นข้าราชบริวารของสมเด็จพระสันตะปาปาแทน เหมือนเช่นกษัตริย์แห่งซิซิลีและกษัตริย์แห่งอารากอนที่เป็นก่อนพระองค์

พระองค์สร้างอารามและคอนแวนต์หลายแห่งในโปรตุเกส ที่โดดเด่นคืออารามอัลกูบาซา ในปี ค.ศ. 1143 มีพระราชสาสน์ถึงสมเด็จพระสันตะปาปาอินโซเซนต์ที่ 3 ประกาศว่าพระองค์และราชอาณาจักรเป็นข้าของศาสนจักร ทรงสาบานว่าเดินหน้าขับไล่ชาวมัวร์ออกจากคาบสมุทรไอบีเรียต่อไป ในปี ค.ศ. 1147 ทรงพิชิตซังตาไรและลิสบอน[5] ทั้งยังพิชิตพื้นที่สำคัญทางตอนใต้ของแม่น้ำเทกัส แม้ชาวมัวร์จะยึดคืนไปได้ในปีต่อมา

ขณะเดียวกันพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออน ลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าอาฟงซูมองการประกาศอิสรภาพของโปรตุเกสเป็นเพียงการก่อกบฏ ความขัดแย้งระหว่างสองอาณาจักรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหนึ่งปีต่อมา พระเจ้าอาฟงซูเข้าร่วมทำสงครามอยู่ฝั่งเดียวกับราชอาณาจักรอารากอน เป็นศัตรูกับราชอาณาจักรกัสติยา เพื่อเป็นการผนึกสัมพันธไมตรี ซังชู พระโอรสของพระองค์ถูกจับหมั้นหมายกับด็อลเซ น้องสาวของเคานต์แห่งบาร์เซโลนาและเป็นอินฟันตาแห่งอารากอน สุดท้ายหลังคว้าชัยที่สมรภูมิวัลดือเวช สนธิสัญญาซาโมรา (ค.ศ. 1143) ทำให้ลูกพี่ลูกน้องทั้งสองคืนดีกัน และราชอาณาจักรเลออนยอมรับว่าโปรตุเกสคือราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์ปกครอง

 
พระเจ้าอาฟงซูที่สมรภูมิโอรีกือ[ลิงก์เสีย] ขณะเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ปาฏิหาริย์แห่งกางเขน (ค.ศ. 1793 โดยดูมีกุช ซือไกรา)

ในปี ค.ศ. 1169 พระเจ้าอาฟงซูในวัยชราไม่สามารถสู้รบใกล้กับบาดาโฆซได้เนื่องจากตกจากหลังม้า และถูกทหารของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งเลออน ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระชามาดาจับตัวเป็นนักโทษ โปรตุเกสเสียค่าไถ่ตัวพระองค์เป็นดินแดนเกือบทั้งหมดที่พระเจ้าอาฟงซูพิชิตมาจากราชอาณาจักรกาลิเซีย (ทางตอนเหนือของแม่น้ำมิญญู) เมื่อปีก่อน[5] ในปี ค.ศ. 1184 อะบู ยะอ์กูบ ยูซุฟ กาหลิบของกลุ่มอัลโมฮัด ยกทัพใหญ่มาตอบโต้การรุกรานของโปรตุเกส เนื่องจากสนธิสัญญาพักรบห้าปีได้สิ้นสุดไปเมื่อปี ค.ศ. 1178 กลุ่มอัลโมฮัดปิดล้อมโจมตีซังตาไรที่มีซังชู ทายาทของพระเจ้าอาฟงซูปกป้องเมืองอยู่ การปิดล้อมของกลุ่มอัลโมฮัดล้มเหลวเมื่อได้ทราบข่าวว่าอัครมุขนายกแห่งกอมโปสเตลาเดินทางมาคุ้มครองเมืองและพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งเลออนได้ยกทัพมาด้วยพระองค์เอง กลุ่มอัลโมฮัดล้มเลิกการปิดล้อมและถอยทัพกลับไปเนื่องจากเกิดความแตกตื่นในค่ายทหาร กาหลิบของกลุ่มอัลโมฮัดได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับเซบิยา หลังจากนั้นไม่นานพระเจ้าอาฟงซูสิ้นพระชนม์ในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1185 ด้วยพระชนมายุ 76 พรรษา ครองราชย์ได้ 46 ปี ชาวโปรตุเกสยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษ ทั้งจากอุปนิสัยส่วนตัวและจากการเป็นผู้ก่อตั้งชาติ[5]

พระโอรสธิดา แก้

ในปี ค.ศ. 1146 พระเจ้าอาฟงซูอภิเษกสมรสกับมาฟัลดา บุตรสาวของอามาเดอุสที่ 2 เคานต์แห่งซาวอยกับมาโอแห่งอาลบง มีพระโอรสธิดาด้วยกัน คือ[6]

อ้างอิง แก้

  1. Mattoso 2014, p. 34.
  2. Gerli, E. Michael. Medieval Iberia, Routledge, 2013ISBN 9781136771613
  3. Gerli, E. Michael. Medieval Iberia, Routledge, 2013ISBN 9781136771613
  4. Gerli, E. Michael. Medieval Iberia, Routledge, 2013ISBN 9781136771613
  5. 5.0 5.1 5.2 One or more of the preceding sentences incorporates text from a publication now in the public domain: Hannay, David (1911). "Alphonso s.v. Alphonso I.". In Chisholm, Hugh. Encyclopædia Britannica. 1 (11th ed.). Cambridge University Press. p. 733.
  6. Mattoso 2014, pp. 226–227.
  7. 7.0 7.1 Caetano de Souza 1735, p. 60.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Rodrigues Oliveira 2010, p. 71.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Mattoso 2014, p. 226.
  10. 10.0 10.1 Rodrigues Oliveira 2010, p. 79.
  11. Arco y Garay 1954, p. 168.
  12. Rodrigues Oliveira 2010, p. 80.
  13. Mattoso 2014, pp. 372–373.
  14. Rodrigues Oliveira 2010, p. 78.
  15. Mattoso 2014, pp. 287–288, 290.
  16. Mattoso 2014, p. 227.
  17. Mattoso 2014, pp. 227, 383.