พระเจ้าสายน้ำผึ้ง
ตำนานพระเจ้าสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก เป็นเรืองราวนิทานพื้นบ้านของไทยที่ปรากฎอยู่ในพงศาวดารเหนือ และคำให้การขุนหลวงหาวัด กรมส่งเสริมวัฒนธรรมประกาศขึ้นทะเบียนตำนานพระนางสร้อยดอกหมากเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2567[1]

พระนามของพระเจ้าสายน้ำผึ้งปรากฏอยู่ในรายพระนามกษัตริย์เมืองอโยธยา หรือมีชื่อเต็มว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นเมืองที่ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกของกรุงสุโขทัย และปรากฏชื่อเป็นเมืองแฝดคู่กับกรุงละโว้มาตั้งแต่ราว พ.ศ. 1700 ระบุว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นกษัตริย์อโยธยาลำดับที่ 12 (กษัตริย์เมืองอโยธยามี 19 พระองค์ ซึ่งองค์สุดท้ายคือ พระเจ้าอู่ทอง)[2]
เนื้อหา
แก้พงศาวดารเหนือ
แก้เนื้อหาตำนานโดยย่อกล่าวถึงพระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงรับพระนางสร้อยดอกหมาก พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนมาเป็นพระอัครมเหสี โดยพระราชดำเนินไปที่เมืองจีนด้วยพระองค์เอง เมื่อพิสูจน์บุญญาบารมีให้เป็นที่ประจักษ์แก่พระเจ้ากรุงจีน เดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมด้วยพระนางสร้อยดอกหมากและสำเภา 4 ลำ พระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมากเดินทาง 15 วันจากเมืองจีนสู่อโยธยา พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จลงจากสำเภาตรงปากน้ำแม่เบี้ยมุ่งสู่พระราชวัง ทรงสั่งให้จัดตำหนักซ้ายขวา แต่ทรงไม่สะดวกมารับพระนางสร้อยดอกหมากด้วยพระองค์เอง โปรดให้เถ้าแก่ขึ้นเรือพระที่นั่งมารับพระนางเข้าพระราชวัง แต่พระนางสร้อยดอกหมากทรงมีพระประสงค์ให้พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จมารับพระนางด้วยพระองค์เอง เมื่อเถ้าแก่ไปกราบทูล พระองค์จึงตรัสหยอกเล่นว่า "มาถึงที่นี่แล้ว จะอยู่ที่นั่นก็ตามเถิด" พอตรัสเสร็จพระนางทรงกลั้นพระทัยจนสิ้นพระชนม์ มีการถวายพระเพลิงพระศพของพระนางที่แหลมบางกระจะ แล้วสร้างเป็นวัดขึ้นมีชื่อว่า "วัดพระเจ้าพระนางเชิง"
คำให้การขุนหลวงหาวัด
แก้พระนางสร้อยดอกหมากอภิเษกสมรสกับพระเจ้าประทุมสุริยวงศ์แห่งกรุงอินทรปัตถ์ (กัมพูชา) จากคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระนางมีพระชนม์ชีพสืบมาจนกระทั่งมีพระราชโอรสและพระราชธิดาถวายพระเจ้าประทุมสุริยวงศ์ เนื้อหาที่ตรงกันของเอกสารสองฉบับคือ พระนางสร้อยดอกหมากกำเนิดจากจั่นหมาก[3]
สถานที่อันเนื่องด้วยตำนาน
แก้เนื้อหาตำนานเกี่ยวข้องกับประวัติการสร้างวัดพนัญเชิงวรวิหาร ในวัดมีรูปปั้นพระนางสร้อยดอกหมากภายในศาลเจ้าของวัด ชาวจีนเรียกกันว่า ศาลเจ้าแม่อาเนี้ย[4] ผู้ที่มากราบไหว้ขอพรเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก บ้างก็มีความเชื่อในเรื่องของความรัก คู่ครอง และการขอบุตร โดยปกติวันงานสมโภชเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก จัดวันที่ 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง[5]
บริเวณตรงข้ามวัดพนัญเชิงคือ ตำบลสำเภาล่ม เล่ากันว่าในงานพระศพพระนาง ชาวจีนที่ติดตามพระนางมาจากเมืองจีนพร้อมใจกันเจาะสำเภาเพื่อตายตามพระนาง แต่ด้วยกระแสน้ำไหลเชี่ยวจึงพัดสำเภามาล่มอีกฝั่งแม่น้ำ เรียกบริเวณนั้นว่า "สำเภาล่ม"
อ้างอิง
แก้- ↑ "ตำนานพระนางสร้อยดอกหมาก". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
- ↑ โรม บุนนาค. "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง-พระนางสร้อยดอกหมาก เรื่องเหลือเชื่อที่บันทึกไว้ในพงศาวดาร! สืบได้ถึงราชวงศ์ที่ครองกรุงอโยธยา!!". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "เจาะตำนาน วัดพนัญเชิง-ตำบลสำเภาล่ม จุดบรรจบเจ้าพระยา-ป่าสัก น้ำเชี่ยวทำเรือล่ม". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
- ↑ ไตรเทพ ไกรงู. "ตำนานรักตำนานสร้างวัดของ..."เจ้าชายสายน้ำผึ้ง-แม่นางสร้อยดอกหมาก"". คมชัดลึก.