พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร (พระนามเดิม พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์; 8 สิงหาคม พ.ศ. 2396 — 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาขลิบ

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นโท
ประสูติ8 สิงหาคม พ.ศ. 2396
สิ้นพระชนม์13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 (60 ปี)
พระชายาหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาขลิบ

พระประวัติ แก้

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาขลิบ ธิดาหลวงราชนรารักษ์ (คุณชายอิ่ม ศิลานนท์; บุตรของพระยาประชาชีพ (ศิลา)) มีพระโสทรกนิษฐภคินีพระองค์เดียวคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลัยทรงกัลยา

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร เสกสมรสกับหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์ดวงใจ ปราโมช ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร ประชวรพระวาโย สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 สิริพระชันษา 61 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จสรงน้ำพระศพของหลวงแทนพระองค์ มีประโคมแตรสังข์กลองชนะตามพระเกียรติยศ พระบรมวงศานุวงศ์สรงน้ำพระศพแล้ว เจ้าพนักงานทรงเครื่องพระศพเสร็จเชิญลงลองใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงสวมพระชฎาแล้ว เจ้าพนักงานเชิญขึ้นตั้งบนพานแว่นฟ้าที่พระตำหนัก ประกอบพระโกศไม้สิบสอง แวดล้อมด้วยเครื่องสูงตามพระเกียรติยศ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2457[1]

การทรงงาน แก้

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร เป็นนายช่างประดิษฐ์หัวโขนในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีพระปรีชาในด้านจิตรกรรม ทรงร่วมปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเตรียมการฉลองพระนครครบ 100 ปี นอกจากนี้ยังเป็นผู้ช่วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในการบูรณะวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

ในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็น พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร[2] เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 โดยทรงประกาศยกย่องในราชกิจจานุเบกษาความตอนหนึ่งว่า[3]

"...ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณาวงศ์ ทรงเจริญวัยวุฒิประสูติร่วมปีพระชนมายุ ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมกันกับเวลาที่ทรงผนวช จึงทรงเป็นที่คุ้นเคยแต่นั้นมา ทรงปรีชาชำนาญในการจิตรกรรม แม่นยำในแบบอย่างหลักฐานของการช่างเขียนแบบโบราณ ทรงอุตสาหทำการอันวิจิตรด้วยฝีพระหัตถ์เป็นอันมาก ยากที่จะหาผู้เสมอได้ในเวลานี้ สมควรที่จะเลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ในอุดมมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาพิเศษนี้ได้..."

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2019-03-20.
  2. กรมศิลปากร. เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (เล่ม 2) . โรงพิมพ์กรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 3 (กองทัพเรือจัดพิมพ์ถวาย). 2538.
  3. กรมศิลปากร. จดหมายเหตุทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์เล่ม 1. กรุงเทพฯ .รุ่งศิลป์การพิมพ์ ปีพ.ศ. 2545. 508 หน้า
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 23, ตอน 27, 30 กันยายน พ.ศ. 2449, หน้า 679
  5. 5.0 5.1 5.2 โรงเรียนมหาดเล็ก. บาญชีพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายน่าฝ่ายใน ศก 128. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สามมิตร, พ.ศ. 2452. 70 หน้า. หน้า หน้าที่ 6.
  6. ถวายบังคมพระบรมรูป แลพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 10 หน้า 368