พระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกส

พระเจ้ามานูแวล หรือ มานูแวลผู้มีโชค (โปรตุเกส: Manuel O Afortunado) (31 พฤษภาคม ค.ศ. 1469 – ธันวาคม ค.ศ. 1521) เป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกสที่ครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1495 จนถึง ค.ศ. 1521 รัชสมัยของพระองค์มีเหตุการณ์สำคัญ คือ การขับไล่ชาวมุสลิมและชาวยิวที่ไม่ยอมเข้ารับการทำพิธีศีลล้างบาปออกจากประเทศ, นโยบายอันชาญฉลาดเพื่อวางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน และการสานต่อการขยายอาณาเขตทางทะเล โดยเฉพาะในอินเดียและบราซิล

พระเจ้ามานูแวลที่ 1
พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกส
ครองราชย์25 ตุลาคม ค.ศ. 1495 – 13 ธันวาคม ค.ศ. 1521
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าฌูเอาที่ 2 แห่งโปรตุเกส
รัชกาลถัดไปพระเจ้าฌูเอาที่ 3 แห่งโปรตุเกส
ประสูติ31 พฤษภาคม ค.ศ. 1469
เมืองอาลกูเชตือ ประเทศโปรตุเกส
ฝังพระศพอารามปราสาทเจโรนิมูส
พระมเหสีอิซาเบลแห่งอารากอน สมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส
มาริอาแห่งอารากอน สมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส
เอเลนอร์แห่งออสเตรีย
พระบุตรพระเจ้าฌูเวาที่ 3 แห่งโปรตุเกส
อีซาแบลแห่งโปรตุเกส
และคนอื่นๆ
ราชวงศ์อาวิช
พระบิดาเฟร์นังดู ดยุคแห่งวิเซว
พระมารดาเบียตริซแห่งโปรตุเกส
ลายพระอภิไธย

วัยเยาว์ แก้

มานูแวลเสด็จพระราชสมภพที่อาลกูเชตือในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1469 โดยทรงเป็นบุตรคนที่แปดหรือเก้าของเจ้าชายเฟร์นังดู ดยุคแห่งวีเซว พระราชโอรสของพระเจ้าดูวาร์ตือที่ 1 และพระอนุชาของพระเจ้าอาฟงซูที่ 5 พระมารดาของพระองค์ คือ เจ้าหญิงเบียตริซ ดิ อาเวโร ธิดาของเจ้าชายฌูเวา ทั้งพระบิดาและพระมารดาของพระองค์ต่างเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าฌูเวาที่ 1 โดยมานูแวลเป็นบุตรคนสุดท้องของทั้งคู่ พระเชษฐภคินีคนหนึ่งของพระองค์ คือ เลโอนอร์ ได้สมรสกับพระเจ้าฌูเวาที่ 2 ทายาทผู้สืบทอดบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าอาฟงซูที่ 5 พระเชษฐภคินีอีกคน คือ อิซาเบล ได้สมรสกับเฟร์นังดู ดยุคแห่งบรากังซาผู้ทรงอำนาจ ในปี ค.ศ. 1470 ขณะมานูแวลมีพระชนมายุได้ 1 พรรษา พระบิดาของพระองค์ได้ถึงแก่กรรม ดิเอโก พระเชษฐาของมานูแวลได้ขึ้นเป็นดยุคแห่งวีเซวต่อจากบิดา

เมื่อมานูแวลโตขึ้น ขุนนางโปรตุเกสได้สมคบคิดกันล้มล้างอำนาจของพระเจ้าฌูเวาที่ 2 ซึ่งเป็นทั้งลูกพี่ลูกน้องและพี่เขยของมานูแวล สุดท้ายในปี ค.ศ. 1481 ดิเอโก ดยุคแห่งวีเซว พระเชษฐาของมานูแวลถูกสังหารตามคำสั่งของพระเจ้าฌูเวาที่ 2 มานูแวลในวัย 15 พรรษาได้สืบทอดทั้งทรัพย์สินที่ดินและตำแหน่งของพระเชษฐา ในปี ค.ศ. 1483 เฟร์นังดู ดยุคแห่งบรากังซา พี่เขยของมานูแวลถูกตัดหัวที่แอวูราด้วยข้อหาทรยศขายชาติ บุตรของดยุคถูกขับไล่ออกจากประเทศไปลี้ภัยอยู่ในกัสติยา

ในเวลานั้นโปรตุเกสกับกัสติยากำลังขับเคี่ยวแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจทางทะเลกันมาอย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางทะเลของทั้งสองอาณาจักรนำไปสู่การทำสนธิสัญญาตอร์เดซียัสซึ่งลงนามในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1494 สนธิสัญญาดังกล่าวได้แบ่งสิทธิ์ในการสำรวจทางทะเลโดยให้โลกซีกตะวันออกเป็นของโปรตุเกส ส่วนโลกซีกตะวันตกเป็นของสเปน (คือกัสติยาและอารากอน)

กษัตริย์ของทั้งสองอาณาจักรต่างมุ่งหวังที่จะรวมดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียให้อยู่ภายใต้การปกครองของราชบัลลังก์เดียว เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นและไม่เป็นศัตรูต่อกัน ทั้งสองราชอาณาจักรจึงตกลงร่วมกันในสนธิสัญญาอัลกาโซวัสให้เจ้าชายอาฟงซู พระราชโอรสเพียงคนเดียวของพระเจ้าฌูเวาที่ 2 แห่งโปรตุเกสสมรสกับเจ้าหญิงอิซาเบล พระราชธิดาคนโตของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอนและพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา เจ้าหญิงอิซาเบลกับเจ้าชายอาฟงซูสมรสกันในปี ค.ศ. 1491 ทว่าหลังการสมรสไม่กี่เดือนเจ้าชายอาฟงซูกลับประสบอุบัติเหตุสิ้นพระชนม์ระหว่างแข่งม้า เจ้าหญิงอิซาเบลซึ่งตกเป็นม่ายจึงได้เดินทางกลับไปอยู่ที่ราชสำนักของพระบิดามารดา

หลังสูญเสียพระราชบุตรตามกฎหมายคนสุดท้ายไป พระเจ้าฌูเวาที่ 2 พยายามผลักดันให้ฌอร์ชี ดิ เล็งกาสตรือ บุตรชายนอกสมรสของพระองค์ได้รับการรับรองเป็นพระโอรสตามกฎหมาย แต่ถูกคัดค้านจากขุนนางจึงทำไม่สำเร็จ

การขึ้นครองราชย์ แก้

ในปี ค.ศ. 1493 มานูแวลถูกเรียกตัวมาเข้าร่วมการประชุมสภาที่พระเจ้าฌูเวาได้เสนอชื่อพระองค์เป็นทายาทในบัลลังก์ พระเจ้าฌูเวาที่ 2 สวรรคตในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1495 มานูแวล ลูกพี่ลูกน้องและพระอนุชาของพระมเหสีของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ามานูแวลที่ 1 โดยหลังขึ้นเป็นกษัตริย์สิ่งแรกๆ ที่พระองค์ทำคือการเรียกตัวบุตรที่ถูกขับไล่ออกจากประเทศของดยุคแห่งบรากังซา (ซึ่งเป็นพระภาคิไนยของพระองค์) กลับมาโปรตุเกสและคืนทั้งทรัพย์สินที่ดินและตำแหน่งเดิมให้

 
ภาพวาดพระนางอิซาเบลแห่งอารากอน พระมเหสีคนแรกของพระเจ้ามานูแวล

ขณะขึ้นครองราชย์พระเจ้ามานูแวลมีพระชนมายุ 26 พรรษาและยังไม่สมรส ในฐานะกษัตริย์พระองค์จำเป็นต้องมีทายาทตามกฎหมายโดยเร่งด่วน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะรวมราชบัลลังก์ในคาบสมุทรไอบีเรียเป็นหนึ่งเดียว พระเจ้ามานูแวลจึงหมายตาเจ้าหญิงอิซาเบล พระชายาม่ายของเจ้าชายอาฟงซู โดยพระเจ้ามานูแวลมีพระชนมายุมากกว่าเจ้าหญิงหนึ่งพรรษาและว่ากันว่าพระองค์เคยตามอารักขาเจ้าหญิงเมื่อครั้งที่พระนางเดินทางจากกัสติยามาโปรตุเกสเพื่อสมรสกับเจ้าชายอาฟงซู

เนื่องด้วยสองพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองกัสติยาและอารากอนมีพระราชโอรสด้วยกันเพียงคนเดียว คือ เจ้าชายฆวนซึ่งมีสุขภาพอ่อนแอ จึงทำให้คาดหมายกันว่าหากเจ้าชายสิ้นพระชนม์โดยไม่มีผู้สืบทอดตำแหน่งเพศชาย เจ้าหญิงอิซาเบลซึ่งเป็นพระราชธิดาคนโตของพระมหากษัตริย์ทั้งสองจะได้ขึ้นเป็นรัชทายาท พระมานูแวลจึงประสงค์จะสมรสกับพระนางเพื่อจะได้เป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกส กัสติยา และอารากอน แม้ตัวเจ้าหญิงอิซาเบลจะไม่เต็มใจอย่างมากที่จะสมรสกับกษัตริย์แห่งโปรตุเกส แต่พระนางถูกพระราชบิดามารดากดดันอย่างหนักจนต้องยอมสมรส ทั้งคู่อภิเษกสมรสกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1497

ในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1497 เจ้าชายฆวนสิ้นพระชนม์จริงดังคาด อิซาเบลถูกการประกาศเป็นรัชทายาทในบัลลังก์กัสติยา ในปี ค.ศ. 1498 พระนางและพระสวามีมาได้เดินทางไปโตเลโดและซาราโกซาเพื่อเข้ารับการถวายคำสัตย์ปฏิญาณแห่งความจงรักภักดี โดยขณะเดินทางกลับสเปนอิซาเบลกำลังตั้งครรภ์ได้ห้าเดือน พระนางได้ให้กำเนิดพระราชบุตรในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1498 ที่ปราสาทซาราโกซา ทารกน้อยถูกตั้งชื่อว่ามิเกล ดิ ลา ปาซ หลังให้กำเนิดพระราชโอรสได้เพียงชั่วโมงเดียวพระนางอิซาเบลก็สวรรคต

มิเกล ดิ ลา ปาซกลายเป็นทายาทโดยชอบธรรมในบัลลังก์ของทุกราชอาณาจักรในคาบสมุทรไอบีเรีย แต่เด็กน้อยสิ้นพระชนม์ไปพร้อมกับความหวังที่จะรวมราชอาณาจักรในคาบสมุทรให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งในปี ค.ศ. 1500 ด้วยพระชนมายุ 3 พรรษา

การอภิเษกสมรสใหม่ แก้

พระเจ้ามานูแวลไม่ยอมล้มเลิกความพยายามและได้อภิเษกสมรสใหม่กับพระราชธิดาอีกคนของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอนกับพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา คือ เจ้าหญิงมารีอา พระขนิษฐาของพระมเหสีคนแรก แต่การสมรสครั้งนี้ต่างจากการสมรสครั้งก่อน คือ พระราชโอรสที่จะเกิดมาจะไม่ได้เป็นทายาทโดยชอบธรรมของราชอาณาจักรกัสติยาและอารากอน เนื่องจากเจ้าหญิงฆัวนา พระเชษฐภคินีของเจ้าหญิงมารีอาได้ขึ้นเป็นทายาทสายตรงในบัลลังก์แทนที่อิซาเบล (เจ้าหญิงฆัวนาสมรสแล้วกับดยุคฟิลิปแห่งฮาพส์บวร์ค พระเจ้ามานูแวลจึงสมรสกับเจ้าหญิงมารีอา พระขนิษฐาของพระนางแทน)

 
ภาพครอบครัวของพระเจ้ามานูแวลที่ 1 โดยโกแลง เดอ โกเตร์ ปี ค.ศ. 1518; ตรงกลางฝั่งขวาคือพระนางมารีอาแห่งอารากอน ถัดไปคือเจ้าหญิงอิซาเบล และเจ้าหญิงเบียตริซ ตรงกลางฝั่งซ้ายคือพระเจ้ามานูแวล ข้างๆ คือพระราชโอรสของพระองค์

พิธีอภิเษกสมรสครั้งที่สองของกษัตริย์แห่งโปรตุเกสและเจ้าหญิงแห่งกัสติยาและอารากอนถูกจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1500 ต่อมาทั้งคู่มีพระราชบุตรด้วยกัน 10 คน คือ

ในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1517 ที่กรุงลิสบอนพระนางมารีอาสวรรคตด้วยผลข้างเคียงจากการคลอดเองโตนิโอ พระราชบุตรคนสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1516 ซึ่งทารกน้อยมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน

ราชบัลลังก์ทั้งสามในคาบสมุทรไอบีเรีย แก้

หลังพระนางมารีอาสวรรคต พระเจ้ามานูแวลที่ 1 ประสงค์จะสมรสกับเจ้าหญิงเลโอนอร์ พระราชธิดาของพระราชินีนาถฆัวนาแห่งกัสติยา (หรือเจ้าหญิงฆัวนาที่ขึ้นสืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชมารดา) กับพระเจ้าเฟลิเปที่ 1 แห่งกัสติยา (หรือฟิลิปแห่งฮาพส์บวร์ค) เพื่อสานต่อนโยบายการสมรสเพื่อสร้างราชวงศ์ใหม่ที่จะรวมราชอาณาจักรทั้งหมดในคาบสมุทรไอบีเรียเป็นหนึ่งเดียว ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คจึงตกลงทำสัญญาสมรสระหว่างเจ้าหญิงเลโอนอร์กับพระเจ้ามานูแวล

พิธีอภิเษกสมรสถูกจัดขึ้นในกรุงลิสบอนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1519 โดยกษัตริย์แห่งโปรตุเกสมีพระชนมายุอยู่ในช่วงห้าสิบพรรษา ส่วนเจ้าหญิงแห่งกัสติยามีพระชนมายุ 21 พรรษา ทั้งคู่มีพระราชบุตรด้วยกันสองคน คือ

  • การ์โลส (ประสูติ ค.ศ. 1520) สิ้นพระชนม์หลังประสูติได้ไม่นาน
  • มารีอา (ประสูติ ค.ศ. 1521)

สองปีหลังการสมรสพระเจ้ามานูแวลที่ 1 สวรรคตด้วยกาฬโรคในกรุงลิสบอนเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1521

นโยบายด้านศาสนา แก้

 
ภาพ การขับไล่ชาวยิว โดยอัลเฟรดู รอกึ กาเมโร ปี ค.ศ. 1917

การกระทำอันเป็นที่ถกเถียงที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้ามานูแวลคือการบังคับให้ชาวยิวทุกคนที่อาศัยอยู่ในโปรตุเกสเปลี่ยนศาสนา เนื่องจากเมื่อครั้งที่ทำการตกลงสัญญาสมรสครั้งแรกกับเจ้าหญิงอิซาเบล เจ้าหญิงแห่งกัสติยาและอารากอนได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะยอมเดินทางมาสมรสกับพระเจ้ามานูแวลก็ต่อเมื่อโปรตุเกสกำจัดชาวมุสลิมและชาวยิวทุกคนออกจากประเทศ (ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 1492 พระเจ้าฌูเวาที่ 2 ได้เปิดรับชาวยิวหลายพันคนที่ถูกขับไล่ออกมาจากสเปน) ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1496 พระเจ้ามานูแวลได้ออกกฤษฎีกาให้ชาวยิวและชาวมุสลิมทุกคนออกไปจากประเทศ โดยให้เวลา 10 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนตุลาคมของ ค.ศ. 1497 ไม่เช่นนั้นจะมีโทษประหารชีวิต พระองค์ยังประกาศให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสของชาวยิวและมุสลิมเป็นทรัพย์สินที่ดินของชาวยิวและชาวมุสลิมคนนั้นๆ ทั้งนี้ชาวยิวและชาวมุสลิมที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในโปรตุเกสต่อไป ทว่ามีชาวยิวเพียงไม่กี่คนที่ได้เดินทางออกไปจากประเทศ เนื่องจากพระเจ้ามานูแวลได้ใช้อำนาจทั้งหมดที่มีขัดขวางไม่ให้ชาวยิวเดินทางออกไป ชาวยิวกว่า 20,000 คนที่พยายามเดินทางออกจากประเทศที่ท่าเรือลิสบอนถูกบังคับให้เข้ารับการทำพิธีศีลล้างบาป ขณะที่ชาวมุสลิมได้โอกาสในการเดินทางออกจากประเทศมากกว่า เนื่องจากกษัตริย์ไม่อยากมีปัญหากับผู้ปกครองของประเทศปลายทางที่อาจส่งกำลังทหารมาแก้แค้นหากพระองค์กระทำกับชาวมุสลิมเช่นเดียวกับชาวยิว

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1497 พระองค์มีคำสั่งให้นำตัวเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีที่เกิดจากพ่อแม่ชาวยิวที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนามาจากพ่อแม่เพื่อส่งไปให้ชาวคริสต์เลี้ยงดูและสอนศาสนาคริสต์ ต่อมาทรงขยายช่วงอายุเพิ่มเป็น 20 ปี กระบวนการบังคับให้เปลี่ยนศาสนาเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี ค.ศ. 1497 และก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมเมื่อพ่อแม่หลายคนยินดีที่จะสังหารบุตรชายของตนดีกว่ายอมให้ถูกส่งไปศึกษาคำสอนของศาสนาคริสต์

การบังคับเปลี่ยนศาสนาทำให้เกิดกลุ่ม "ชาวคริสต์ใหม่" ขึ้นในโปรตุเกส โดยคนกลุ่มนี้มีสถานะทางสังคมที่ไม่มั่นคงเนื่องจากถูกมองว่ามีสายเลือดยิว ทำให้ถูกกีดกันไม่ให้เข้ารับราชการและไม่ได้รับอนุญาตให้สมรสกับขุนนางหรือชาวคริสต์เดิม ทั้งยังถูกรังความและถูกลักขโมยทรัพย์สิน ในปี ค.ศ. 1506 ชาวคริสต์ใหม่ถูกไล่ล่าอย่างหนัก เพราะประชาชนกล่าวหาว่าสาเหตุที่กาฬโรคระบาดในกรุงลิสบอนเนื่องจากมีคนกลุ่มนี้ซึ่งไม่ได้ศรัทธาในพระเจ้าอย่างแท้จริงอาศัยอยู่ในเมือง บ้านและวัดของชาวคริสต์ใหม่ถูกเผา ชาวคริสต์ใหม่ถูกสังหารไปกว่า 3,500 คน ผู้มีอำนาจสามารถควบคุมสถานการณ์ได้สามวันต่อมา ผู้กระทำผิดฐานสังหารหมู่ถูกตัดสินประหารชีวิต

การขยายอาณาเขตทางทะเล แก้

รัชสมัยของพระเจ้ามานูแวลที่ 1 โดดเด่นในด้านการสำรวจทางทะเลครั้งสำคัญซึ่งพระองค์ได้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน ในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1497 พระองค์ได้ส่งวัชกู ดา กามาพร้อมเรือสี่ลำออกสำรวจเส้นทางทะเลสู่อินเดีย การเดินทางบรรลุเป้าหมายเมื่อดา กามาไปถึงเมืองโคชิโคดในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1498 ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1499 เรือของดา กามาสองลำเดินทางกลับมาถึงโปรตุเกส

 
ภาพเส้นทางเดินเรือไปอินเดียของกาบรัลในปี ค.ศ. 1500 (สีแดง) และเส้นทางเดินเรือกลับโปรตุเกส (สีน้ำเงิน)

ในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1500 เปดรู อัลวารึช กาบรัล ผู้นำในการสำรวจครั้งใหม่ได้นำเรือสิบสามลำเดินทางออกจากกรุงลิสบอนไปสร้างสายสัมพันธ์ทางการค้ากับเจ้าชายอินเดีย กาบรัลล่องเรือในมหาสมุทรแอตแลนติกตะวันตกและในวันที่ 22 เมษายนคณะสำรวจได้สังเกตเห็นเทือกเขามองชือปาสกูอาลซึ่งอยู่ในบราซิล ในวันที่ 2 พฤษภาคมกาบรัลเดินทางไปอินเดียต่อผ่านทางแหลมกู๊ดโฮป แต่ได้ส่งเรือเสบียงกลับมาโปรตุเกสเพื่อแจ้งข่าวการค้นพบบราซิล กาบรัลเดินทางไปถึงอินเดียและได้ตั้งสถานีการค้าขึ้นในเมืองโคชิโคด เมืองโกชิ และเมืองกันนูร์ ซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งมะละบาร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย แม้จะเสียเรือไปหลายลำ แต่การลงทุนครั้งนี้สร้างผลกำไรให้แก่โปรตุเกส

ในปี ค.ศ. 1501 พระเจ้ามานูแวลได้ส่งเรือสามลำภายใต้การบัญชาการของกองซาโล กูเอลโญไปสำรวจชายฝั่งตะวันออกของบราซิล กูเอลโญเดินทางกลับมาในอีกหนึ่งปีต่อมา พระเจ้ามานูแวลได้ปล่อยเช่าบราซิลให้แก่ห้างหุ้นส่วนภายใต้การนำของเฟนูเอา ดิ โลโรนญาเป็นระยะเวลา 3 ปี ทว่าพระองค์สนพระทัยแอฟริกาเหนือ แอฟริกาตะวันออก และเอเชียมากกว่าอเมริกา โดยในปี ค.ศ. 1502 ดา กามาได้นำเรือ 20 ลำไปขนทองคำมาจากลุ่มชนเผ่าในแอฟริกาตะวันออก สร้างความร่ำรวยให้แก่พระเจ้ามานูเอล ทั้งนี้กษัตริยแห่งโปรตุเกสได้อ้างสิทธิ์ในดินแดนที่เพิ่งค้นพบ โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาให้การรับรองและได้รับการยอมรับจากสเปนซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดในทางฝั่งพระมเหสี

อิทธิพลในโลกซีกตะวันออกของโปรตุเกสมั่นคงขึ้นหลังการสร้างป้อมปราการที่เมืองโกชิในปี ค.ศ. 1503 และความสำเร็จในการป้องกันเมืองในปี ค.ศ. 1504 ของดูวาร์ตือ ปาเชโก เปเรรา ในปี ค.ศ. 1505 เฟิงซิกู ดิ อัลเมดาคว้าชัยชนะครั้งแรกให้แก่โปรตุกีสอินเดีย อาฟงซู ดึ อัลบูแกร์กึสืบทอดตำแหน่งเป็นข้าหลวงต่อจากอัลเมดาและพิชิตรัฐกัวได้ในปี ค.ศ. 1510 ต่อด้วยการพิชิตรัฐมะละกาซึ่งตั้งอยู่ในคาบสมุทรมลายูในปี ค.ศ. 1511 ทำให้การจัดจำหน่ายเครื่องเทศของฝั่งตะวันออกอยู่ในมือของโปรตุเกส ในปี ค.ศ. 1513 ชาวโปรตุเกสได้เดินทางไปถึงจีน

แนวความคิดเรื่องสงครามครูเสดเพิ่มสูงขึ้นเมื่ออัลบูแกร์กึวางแผนที่จะปิดทะเลแดงและเข้ายึดกรุงเมกกะ ดูวาร์ตือ กัลเวาพยายามชักจูงราชสำนักอื่นๆ ในยุโรปให้เข้าร่วมการทำสงครามครูเสดแต่ไม่ค่อยได้รับการตอบรับ ในปี ค.ศ. 1514 ทูตของจักรวรรดิเอธิโอเปียได้เดินทางมาที่ราชสำนักของพระเจ้ามานูแวลเพื่อสานสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ชาวคริสต์ของโปรตุเกส พระเจ้ามานูแวลได้แต่งตั้งกัลเวาเป็นราชทูตในจักรวรรดิเอธิโอเปีย แต่กัลเวาถึงแก่กรรมเสียก่อน แนวความคิดเรื่องสงครามครูเสดค่อยๆ หายไปหลังอัลบูแกร์กึถึงแก่กรรมในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1515 แม้ตัวพระเจ้ามานูแวลจะไม่ใช่นักรบ แต่ดยุคแห่งบรากังซาได้ช่วยพิชิตกรุงอัซเซมมอร์ของโมร็อกโกมาให้พระองค์ในปี ค.ศ. 1513

การบริหารจัดการภายใน แก้

 
เตร์เฮโร ดู ปาซูในกรุงลิสบอนในปัจจุบัน

การค้าขายสินค้าจากอินเดียทำให้ราชสำนักของพระเจ้ามานูแวลใหญ่โตและโอ่โถงขึ้น พระองค์เป็นคนขยัน ควบคุมอารมณ์ได้ดี หลงใหลในดนตรีและการแสดง และสุรุ่ยสุร่าย ทรงพำนักอยู่ที่กรุงลิสบอนเป็นหลัก โดยได้ทรงสร้างปราสาทริมน้ำขึ้นมาในกรุงลิสบอน (บริเวณใกล้กับเตร์เฮรูดูปาซูในปัจจุบัน) และในเมืองซิงตรา พระเจ้ามานูแวลยังได้ก่อตั้งอารามปราสาทเจโรนิมูสในเขตแพริชเบเล็งและได้สร้างหอคอยเบเล็ง

เนื่องจากทรงขึ้นครองบัลลังก์ในช่วงที่ขุนนางกำลังเสื่อมอำนาจ ภายใต้การปกครองของพระองค์การบริหารราชการแผ่นดินจึงมีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมาขึ้น ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการปฏิรูปการคลัง, ปฏิรูปกฎหมาย และปฏิรูปการบริหารบ้านเมืองหลายครั้ง คณะกรรมาธิการของกษัตริย์ได้ปรับกฎบัตรในแต่ละเมืองให้เป็นประโยชน์แก่คนในท้องถิ่นมากขึ้น รวมไปถึงการเรียกเก็บภาษีที่สมเหตุสมผลขึ้น กฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1512 และฉบับแก้ไขความถูกต้องถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1521 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์สวรรคต

อ้างอิง แก้