สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[4] หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5 เป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยารัชกาลที่ 24 และทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง ราชวงศ์ที่ 4 แห่งอาณาจักรอยุธยา
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง | |
---|---|
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2172–2199[1] (27 ปี) |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ |
ถัดไป | สมเด็จเจ้าฟ้าไชย |
สมุหนายก | เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) |
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2143[2] |
สวรรคต | พ.ศ. 2199[3] (56 พรรษา) |
พระราชบุตร | สมเด็จเจ้าฟ้าไชย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรมหลวงโยธาทิพ เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าน้อย |
ราชวงศ์ | ปราสาททอง |
ศาสนา | พุทธ |
พระราชประวัติ
แก้สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2143 เป็นบุตรของ ออกญาศรีธรรมาธิราช[2] เดิมเป็นขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีบรรดาศักดิ์เป็นพระมหาอำมาตย์ และออกญาศรีวรวงศ์ ภายหลังมีความชอบจากการปราบกบฏญี่ปุ่น จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ และได้รับพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมาก[5]
เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชสืบราชสมบัติต่อมาได้ 4 เดือน มารดาเจ้าพระยากลาโหมถึงแก่กรรม มีข้าราชการใหญ่น้อยไปช่วยงานมาก สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงเชื่อว่าเจ้าพระยากลาโหมเตรียมการจะก่อกบฏ จึงโปรดให้ตั้งกองทหารไว้ แล้วให้ขุนมหามนตรีไปเรียกเจ้าพระยากลาโหมมาดูมวย แต่เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีส่งข่าวไปแจ้งแผนการก่อน เจ้าพระยากลาโหมจึงบอกขุนนางว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้วเราจะทำตามรับสั่ง" แล้วยกกองกำลังเข้ายึดพระราชวังได้ ส่วนสมเด็จพระเชษฐาธิราชกับข้าหลวงเดิมลงเรือหนีไป[6] เจ้าพระยากลาโหมให้พระยาเดโชและพระยาท้ายน้ำออกติดตามในคืนนั้นจนตามจับได้ที่ป่าโมกน้อย แล้วให้นำไปสำเร็จโทษ[7]
จากนั้นจึงอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ขึ้นสืบราชสมบัติต่อ แต่ผ่านไปได้ประมาณ 6 เดือน เหล่ามุขมนตรีก็เห็นว่าสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ยังทรงพระเยาว์เกินไป ไม่รู้จักว่าราชการจนเสียการแผ่นดิน[8] จึงถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระยากลาโหมให้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง[9] ส่วนในกฎหมายพระธรรมนูญ กรมศักดิ์ ลักษณะอาญาหลวง ออกพระนามว่าสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร[10] แล้วทรงปูนบำเหน็จมากมายแก่ขุนนางที่สวามิภักดิ์ และทรงตั้งพระอนุชาเป็นพระศรีสุธรรมราชา[11]
ถึงปี พ.ศ. 2199[3] สมเด็จพระเจ้าปราสาททองประชวรหนัก ทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งเบญจรัตน์ ได้ตรัสมอบราชสมบัติและพระแสงขรรค์ชัยศรีแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าไชย หลังจากนั้น 3 วัน ก็เสด็จสวรรคต ครองราชย์ได้ 25 ปี[12]
พระราชกรณียกิจ
แก้- ด้านศาสนา
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างวัดไชยวัฒนาราม วัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร สร้างพระปรางค์วัดมหาธาตุ ในช่วงพระราชพิธีลบศักราชได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามกว่าร้อยแห่ง เช่น วัดหน้าพระเมรุ เป็นต้น และโปรดเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลในโอกาสต่าง ๆ เช่น สมโภชพระพุทธบาท เป็นต้น
- ด้านเศรษฐกิจ
รัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่การค้าทางเรือระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังรุ่งเรือง โดยเฉพาะบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ที่เข้ามารับซื้อของป่า หนังกระเบน ดีบุกและข้าวสาร ต่อมายังได้รับพระราชทานสิทธิ์ขาดในการส่งออกหนังสัตว์ด้วย นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าสเปน โปรตุเกส อินเดีย เปอร์เซีย และอาร์มีเนีย เข้ามาค้าขาย ทำให้การเงินของประเทศมั่งคั่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดรัชกาล[13]
- ด้านสถาปัตยกรรม
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างปราสาทนครหลวง พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระตำหนักธารเกษม และพระที่นั่งวิหารสมเด็จ นอกจากนี้ยังโปรดให้ตกแต่งพระตำหนักท่าเจ้าสนุกและสร้างศาลาตามรายทางที่ไปนมัสการพระพุทธบาทเพื่อให้ประชาชนได้พักผ่อนและอาศัย
- ด้านการปกครอง
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงปรับการบริหารให้รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยให้เจ้าเมืองต่าง ๆ มาปฏิบัติหน้าที่เข้าเฝ้าที่ศาลาลูกขุนในพระราชวังทุกวัน แล้วส่งผู้รั้งเมืองไปปกครองหัวเมืองแทน นอกจากนี้ยังโปรดให้ตรากฎหมายขึ้นหลายฉบับ เช่น พระไอยการทาส พระไอยการลักษณะมรดก พระไอยการลักษณะกู้หนี้ พระไอยการลักษณะอุทธรณ์ และกฎหมายพระธรรมนูญ อันเป็นรากฐานแห่งกฎหมายตราสามดวง
พระราชบุตร
แก้สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระราชโอรสธิดาเท่าที่ปรากฏพระนามในพงศาวดาร ดังนี้
- พระอัครมเหสี
- พระราชเทวี (เชื่อว่าเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม)[14]
- พระมเหสี (ไม่ทราบพระนาม)
- พระสนม (ไม่ทราบนาม)[15]
- พระสนมเลื่อน ธิดาของเจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น)[16]
ส่วน คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงรับพระราชธิดาทั้งแปดพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมาเป็นพระมเหสี โดยแบ่งเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาอย่างละสี่พระองค์ และมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระปทุมาเทวีและพระสุริยารวมกันเจ็ดพระองค์ ดังนี้[17]
|
|
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อหน้า142
- ↑ 2.0 2.1 เรื่องพระชาติกำเนิดสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หนังสือเล่ม พระเจ้าปราสาททอง เลขส่วนเนื้อหา 4 หน้าที่ ๑๘ เรียบเรียงโดย เกริกฤทธิ์ ภพสุริยะ
- ↑ 3.0 3.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 144
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามแลพระนาม ผู้ที่ทำลับแลไฟ ทรงพระราชอุทิศในพระเจ้าแผ่นดิน ในพระราชกุศลบรรจบรอบเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๒๕ ปี, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๓๑๙, ๒๒ ตุลาคม ๑๑๒
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 262
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) หน้า 267
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 268
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 269
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 271
- ↑ อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี, หน้า 22
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 272
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 283
- ↑ นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 143
- ↑ นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 152
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 274
- ↑ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ) "เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค จากเอกสารพิมพ์ดีด ๒๔๘๒ กรุงเทพฯ:บันทึกสยาม พ.ศ. 2553 หน้า 48
- ↑ ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 92
- บรรณานุกรม
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ. อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2468. 29 หน้า.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
ดูเพิ่ม
แก้ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ (ราชวงศ์สุโขทัย) (พ.ศ. 2173) |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์ปราสาททอง) (พ.ศ. 2172–2199) |
สมเด็จเจ้าฟ้าไชย (ราชวงศ์ปราสาททอง) (พ.ศ. 2199) |