พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (20 มกราคม พ.ศ. 2355 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2378) เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 8 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง และเป็นพระชนกในสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสีพระองค์แรกในรัชกาลที่ 4

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 3
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ20 มกราคม พ.ศ. 2356
สิ้นพระชนม์17 พฤษภาคม พ.ศ. 2378 (22 ปี)
หม่อมเจ้าจอมมารดางิ้ว
พระธิดาสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาบาง ในรัชกาลที่ 3

พระประวัติ

แก้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าสังข์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 8 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง เมื่อวันพุธ เดือนยี่ แรม 4 ค่ำ ปีวอกจัตวาศก จุลศักราช 1174 ตรงกับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2355 (ปฏิทินสากลคือ พ.ศ. 2356) มีพระโสทรเชษฐภคินีพระองค์เดียว คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

เดิมมีพระนามว่า หม่อมเจ้าสังข์ เมื่อพระราชชนกขึ้นครองราชย์ จึงได้มีพระยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า เหตุที่มีพระนามว่าสังข์ เพราะพระรูปโฉมงามตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เปรียบเหมือนพระสังข์ทอง จึงเรียกกันว่า พระองค์สังข์ หรือสังข์ทอง แต่ต่อมาพระราชทานพระนามใหม่ว่า "พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ" ซึ่งก็มีความหมายว่า รูปงาม[1] เหล่ามิชชันนารีชาวตะวันตกที่เคยมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในกรุงสยาม มองว่าพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจะขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชกรุงสยามหากแต่สิ้นพระชนม์ไปก่อน[2]

พระองค์มีพระธิดาพระองค์เดียว ซึ่งประสูติแต่หม่อมงิ้ว คือ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (พระยศเดิม หม่อมเจ้าโสมนัส; ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ส่วนหม่อมงิ้วได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าจอมมารดางิ้ว ด้วยเป็นยายของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาลที่ 4

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ สิ้นพระชนม์ในขณะที่พระธิดามีชันษาเพียงหกเดือน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2378 ด้วยพระโรคไข้ป่วง[3] สิริพระชันษา 22 ปี ในสายสกุลของพระองค์ ไม่มีราชสกุล เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระโอรส

พระเกียรติยศ

แก้
ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

แก้
  • หม่อมเจ้าสังข์ (20 มกราคม พ.ศ. 2356 - สมัยรัชกาลที่ 3)
  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสังข์ (สมัยรัชกาลที่ 3 - พ.ศ. 2374)
  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (พ.ศ. 2374 - พ.ศ. 2378)
  • พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (ในสมัยรัชกาลที่ 4)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ (ในสมัยรัชกาลที่ 6)

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-01-01. สืบค้นเมื่อ 2009-01-02.
  2. ดี บี บรัดเล (เขียน) ป่วน อินทุวงศ (แปล) (2468). ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิซชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม (PDF). พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. p. 50-51.
  3. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:บำรุงสาสน์. 2530, หน้า 41