พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านงคราญอุดมดี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านงคราญอุดมดี (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 – 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเพ็ง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้านงคราญอุดมดี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ12 กรกฎาคม พ.ศ. 2405
สิ้นพระชนม์20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 (69 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาเพ็ง ในรัชกาลที่ 4

พระประวัติ แก้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านงคราญอุดมดี ประสูติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 58 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่แต่เจ้าจอมมารดาเพ็ง (นามเดิม หุ่น) พระชนนีเป็นนางละครเชื้อสายจีน ธิดาหลวงราชภัตการ (จีนเอ็ง) เจ้ากรมเกาเหลาจีน โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า "เมขลา" หรือ "เพ็งเมขลา" ส่วนชาววังเรียกว่า "หุ่นเมขลา"[1][2]

ขณะที่พระองค์ประทับในพระบรมมหาราชวัง ทรงเปิดร้านขายขนมแป้งเปียกปั้นเป็นตุ๊กตาน้ำตาลรูปสัตว์ต่าง ๆ ออกจำหน่ายในพระตำหนัก[3][4]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านงคราญอุดมดี ได้ถวายปัจจัยเพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ เป็นเงินจำนวน 2 ชั่ง ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2439 (ร.ศ. 114)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านงคราญอุดมดีสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชราที่ตำหนักในพระบรมมหาราชวังเมื่อเวลา 5 นาฬิกา 20 นาที วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริพระชันษา 69 ปี ต่อมาในเวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพ[5] และได้มีการพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2475 พร้อมกับพระศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากาญจนากร ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงพระศพด้วย[6][7]

พระเกียรติยศ แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้านงคราญอุดมดี
 
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ แก้

  • 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้านงคราญอุดมดี
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านงคราญอุดมดี
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านงคราญอุดมดี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 71. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2016-03-26.
  2. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 314
  3. สาระ มีผลกิจ. ราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2551, หน้า 180-181
  4. วีระยุทธ ปีสาลี. ""แม่ค้าศักดินา" : การปรับตัวสู่การประกอบอาชีพของเจ้านายสตรีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475". ศิลปวัฒนธรรม. 36:10 สิงหาคม 2558, หน้า 75
  5. ข่าวสิ้นพระชนม์
  6. หมายกำหนดการ พระราชทานเพลิงพระศพและศพ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส พุทธศักราช ๒๔๗๕ (หน้า ๔๒๖๗)
  7. ปัญหาพระยามิลินท์ เล่ม 2 ตอนมณฑลปัญหา. พระนคร : ราชบัณฑิตยสภา, 2475, หน้าปก