พระเจ้าคนุตมหาราช

(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าคานูทมหาราช)

พระเจ้าคนุตมหาราช[4] (อังกฤษ: Canute the Great หรือ Cnut the Great; นอร์สเก่า: Knútr inn ríki; นอร์เวย์: Knut den mektige; สวีเดน: Knut den Store; เดนมาร์ก: Knud den Store) หรือ คานุต ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษตั้งแต่ปี 1016 เดนมาร์กตั้งแต่ปี 1018 และนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 1028 พระองค์เริ่มต้นชีวิตวัยหนุ่มด้วยการเป็นนักรบชาวไวกิงและกลายเป็นผู้ปกครองของจักรวรรดิในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดประกอบด้วยอังกฤษ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และบางส่วนของสวีเดน

พระเจ้าคนุตมหาราช
พระสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าคนุตมหาราช จากหนังสือ "ลิเบอร์ วิเต" ค.ศ. 1031
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
ครองราชย์ค.ศ. 1016 – 1035
ราชาภิเษกค.ศ. 1017 ในนครลอนดอน
ก่อนหน้าพระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2
ถัดไปพระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุต
พระมหากษัตริย์เดนมาร์ก
ครองราชย์ค.ศ. 1018 – 1035
ก่อนหน้าพระเจ้าฮารัลด์ที่ 2
ถัดไปพระเจ้าฮาร์ธาคนุต
พระมหากษัตริย์นอร์เวย์
ครองราชย์ค.ศ. 1028 – 1035
ก่อนหน้าพระเจ้าโอลาฟที่ 2
ถัดไปพระเจ้ามักนุสผู้ทรงธรรม
พระราชสมภพประมาณ ค.ศ. 990[1]
สวรรคต12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1035 (45 ปี)
ชาฟท์สบรี ดอร์เซต ราชอาณาจักรอังกฤษ
ฝังพระศพมินส์เตอร์เก่า วินเชสเตอร์ ปัจจุบันพระอัฐิอยู่ที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ วินเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ
คู่อภิเษก
พระราชบุตร
ราชวงศ์นีทลินกา
พระราชบิดาพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ด
พระราชมารดาไม่ทราบ อาจจะเป็น สเวโตสลาวาแห่งโปแลนด์, ซิกริด หรือ กันฮิลด์[a]
ศาสนาคริสต์ศาสนา[2][3]

พระเจ้าคนุตรุกรานอังกฤษในปี 1013 ร่วมกับพระราชบิดาพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ด หลังการสวรรคตของพระเจ้าสเวนในปี 1014 พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นกษัตริย์โดยกองกำลังไวกิง คนุตปราบพระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2 ผู้ทนทานที่แอชชิงดัน ในเขตมณทลเอสเซกซ์ ในปี 1016 พระองค์กับพระเจ้าเอ็ดมันด์ตกลงแบ่งอังกฤษกัน พระเจ้าคนุตได้ปกครองเมอร์เซียและนอร์ทัมเบรียจนกระทั่งพระองค์ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ของอังกฤษทั้งหมดหลังการสวรรคตของพระเจ้าเอ็ดมันด์ พระองค์สืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์เดนมาร์กต่อจากพระเชษฐา ฮารัลด์ ในปี 1018 ทรงบังคับให้พระเจ้าแมลคอล์มถวายความจงรักภักดีด้วยการรุกรานสก็อตแลนด์ในช่วงราวปี 1027 และพิชิตนอร์เวย์ในปี 1028 พระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุต โดยพระราชโอรสพระองค์โตทรงปกครองอังกฤษต่อจากพระองค์

ภายใต้การปกครองของพระเจ้าคนุต การค้าของอังกฤษเจริญรุ่งเรืองขึ้น และพระองค์ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวอังกฤษจากการส่งทหารกลับเดนมาร์ก ทว่าจักรวรรดิทะเลเหนือของพระองค์อันประกอบด้วยเดนมาร์ก อังกฤษ และนอร์เวย์ก็ล่มสลายลงไม่นานหลังจากการสวรรคตของพระองค์ พระอัฐิของพระองค์อยู่ที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์

การพระราชสมภพและสิทธิ์ในราชบัลลังก์ แก้

พระเจ้าคนุตทรงเป็นพระราชโอรสในเจ้าชายสเวน ฟอร์กเบียร์ด และเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าฮารัลด์ บลูทูท ราชวงศ์ของพระองค์เป็นผู้รวมแผ่นดินเดนมาร์กให้เป็นปึกแผ่น[5] ไม่มีข้อมูลใดบ่งบอกสถานที่หรือวันที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพ พระเจ้าฮาร์ทาคนุตที่ 1 แห่งเดนมาร์ก เทียดของพระองค์ทรงเป็นต้นราชวงศ์ ส่วนพระเจ้ากอร์มดิโอลด์ พระปัยกา (ปู่ทวด) ของพระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่มีหลักฐานยืนยันทางประวัติศาสตร์ พระเจ้าฮารัลด์ บลูทูท พระอัยกาของพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ชาวสแกนดิเวียพระองค์แรกที่เข้ารีตเป็นคริสตชน

ในพงศวดารของเทตมาร์แห่งมาเซิลเบิร์ก (Thietmar of Merseburg) และ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา (Encomium Emmae Reginae) กล่าวว่าพระราชมารดาของพระเจ้าคนุตเป็นพระราชธิดาในดยุกมิเอสโกที่ 1 แห่งโปแลนด์ แหล่งข้อมูลภาษานอร์สจากสมัยกลางตอนกลาง เช่น เฮล์มสกริงยา (Heimskringla) ของสนอร์ริ สตรูสัน (Snorri Sturluson) ก็บันทึกไว้ว่าพระราชมารดาของพระองค์เป็นเจ้าหญิงโปแลนด์เช่นกัน โดยออกพระนามว่ากันฮิลด์ และเป็นพระราชธิดาใน บรูสลาฟ (Burislav) กษัตริย์แห่งวินแลนด์ [6] เนื่องจากในซากาของชาวนอร์สล้วนบันทึกตรงกันว่า กษัตริย์แห่งวินแลนด์ มีพระนามว่า บรูสลาฟ อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้บันทึกสับสนระหว่างพระนามของพระราชบิดากับพระเชษฐาของพระนางโบเลสวัฟ อดัมแห่งเบรเมิน (Adam of Bremen) เขียนไว้ใน เกสตา ฮัมมาเจนเนซิส เอคาเลซิส พอนทิฟิคุม (Gesta Hammaburgensis ecclesiae pontificum) ว่าพระราชมารดาของพระเจ้าคนุตคืออดีตราชินีแห่งสวีเดน ผู้เป็นพระมเหสีในพระเจ้าอีริค ผู้ชนะและพระราชมารดาในพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุง[7]เฮล์มสกริงยา และซากาฉบับอื่นก็มีการบันทึกว่าพระเจ้าสเวนอภิเษกกับราชินีม่ายแห่งสวีเดนจริง แต่พระนางไม่ได้เป็นพระราชมารดาของพระเจ้าคนุต และทรงมีพระนามว่า ซิกริดผู้ทรนง ซึ่งพระเจ้าสเวนทรงอภิเษกสมรสด้วยหลังจาก กันฮิลด์ เจ้าหญิงชาวสลาฟที่ได้ให้กำเนิดพระเจ้าคนุตสิ้นพระชนม์ลง[8] ทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับชาติกำเนิดและจำนวนพระมเหสีของพระเจ้าสเวนได้รับการเสนอ (ดูเพิ่มที่บทความซิกริดผู้ทรนงและกันฮิลด์) แต่พงศวดารของอดัมเป็นเพียงแหล่งเดียวที่บันทึกว่าพระเจ้าคนุตและพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุงทรงมีพระราชมารดาพระองค์เดียวกัน สันนิษฐานกันว่านี้อาจจะเป็นข้อผิดพลาดของอดัมเอง และพระเจ้าสเวนทรงมีพระมเหสีสองพระองค์ คือเจ้าหญิงชาวสลาฟและราชินีม่ายแห่งสวีเดน พระเจ้าคนุตทรงมีพระเชษฐาหนึ่งพระองค์ คือ พระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

หลักฐานเล็กน้อยเกี่ยวกับพระเจ้าคนุตขณะทรงพระเยาว์สามารถพบได้ใน แฟลร์ทิยาร์ลบก (Flateyjarbók) แหล่งข้อมูลจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งกล่าวถึงช่วงเวลาที่พระองค์ได้รับการอบรมวิชาการทหารจากธอร์เคล[9] น้องชายของซิเกิร์ด ยาร์ลแห่งดินแดนปรัมปราจอมสบอร์ก (Jomsborg) และผู้นำของชาวจอมส ที่ฐานที่มั่นไวกิงบนเกาะวอลลิน (Wolin) นอกชายฝั่งพอเมอเรเนีย ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวันพระราชสมภพของพระองค์ แม้แต่งานเขียนร่วมสมัยอย่างเช่น พงศาวดารเทตมาร์ และ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา ก็ไม่ได้กล่าวถึง ในกลอนคนุตดราพา (Knútsdrápa) โดยสเคล (skald) โอตรา สตาฟตี (Óttarr svarti) ซึ่งมีวรรคหนึ่งกล่าวว่าพระเจ้าคนุต "มีพรรษาไม่มากนัก" (of no great age) เมื่อพระองค์ออกศึกครั้งแรก[10] กลอนยังกล่าวถึงการศึกที่อาจจะเป็นการเปรียบเปรยถึงการรุกรานอังกฤษของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดและการจู่โจมเมืองนอริช ในปี ค.ศ. 1003/04 หลังเหตุการณ์การสังหารหมู่วันเซนต์ไบรซ์ (St. Brice's Day massacre) ซึ่งชาวเดนส์ถูกสังหารโดยชาวอังกฤษใน ค.ศ. 1002 หากพระเจ้าคนุตได้ทรงติดตามพระราชบิดาไปในศึกครั้งนี้ด้วย พระองค์จึงอาจจะทรงเสด็จพระราชสมภพใน ค.ศ. 990 หรืออย่างเร็วที่สุดคือ ค.ศ. 980 หากไม่ได้ทรงติดตามพระราชบิดาไปด้วย และวรรคของกลอนดังกล่าวหมายถึงการศึกครั้งอื่น เช่น การพิชิตอังกฤษของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดใน ค.ศ. 1013/14 พระองค์อาจจะทรงเสด็จพระราชสมภพประมาณ ค.ศ. 1000[11] มีประโยคหนึ่งจากผู้สรรเสริญ (Encomiast) (ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา) กล่าวว่าชาวไวกิงทั้งหมด "ถึงวัยผู้ใหญ่" (of mature age) ภายใต้ "กษัตริย์" คนุต

คำบรรยายพระลักษณ์ของพระเจ้าคนุตตามที่ปรากฏใน คนุตลินกาซากา (Knýtlinga saga) จากคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีดังนี้:

พระเจ้าคนุตทรงมีพระวรกายที่สูงและกำยำ ทรงมีพระลักษณ์ที่หล่อเหลา ยกเว้นเสียแต่ตรงพระนาสิก (จมูก) ซึ่งมีลักษณะแคบ อยู่สูง (จากพระพักตร์) และค่อนข้างงุ้ม ทรงมีพระฉวี (ผิว) งาม และทรงมีพระเกศา (ผม) หนา พระเนตรของพระองค์ดีกว่าคนทั่วไป สายพระเนตรของพระองค์นั้นทั้งหล่อเหลาและเฉียบคม

— คนุตลินกาซากา[12][13]

ข้อมูลเกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระเจ้าคนุตมีไม่มาก จนกระทั่งทรงได้เป็นส่วนหนึ่งในกองทัพของพระราชบิดาในการพิชิตอังกฤษในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1013 อันเป็นช่วงสำคัญที่สุดในการปลันสะดมของชาวไวกิง ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ หลังจากการขึ้นฝั่งที่ฮัมเบอร์ (Humber)[14]อังกฤษตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวไวกิงอย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงปลายปีนั้นพระเจ้าแอเธลเรดผู้ไม่พร้อม ก็ทรงเสด็จหนีไปยังดัชชีนอร์ม็องดี ทิ้งให้พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดได้อังกฤษไปครอง ในช่วงฤดูหนาวพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดก็ทรงเริ่มสร้างฐานพระราชอำนาจในอังกฤษ ขณะที่พระเจ้าคนุตทรงได้รับหน้าที่ดูแลกองเรือและฐานทัพที่เกนส์เบอโร

พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดทรงเสด็จสวรรคตหลังจากครองราชย์ได้ไม่นานในวันระลึกพระแม่มารีและพระเยซู (Candlemas) (ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1014)[15] เจ้าชายฮารัลด์ พระราชโอรสองค์โตจึงขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์กต่อจากพระองค์ ในขณะที่ชาวไวกิงและราษฏรในบริเวณเดนลอว์ลงมติเลือกพระเจ้าคนุตเป็นกษัตริย์อังกฤษโดยทันที[16] แต่ขุนนางชาวอังกฤษไม่เห็นด้วย สภาวิททันจึงได้ทูลเชิญพระเจ้าแอเธลเรดกลับมาจากนอร์ม็องดี ไม่นานนักพระเจ้าแอเธลเรดก็ทรงนำทัพขับไล่พระเจ้าคนุต ซึ่งทรงหลบหนีไปพร้อมกับกองทัพของพระองค์และตัวประกันจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมาถูกทรมานระหว่างเดินทางและสุดท้ายก็ถูกทิ้งไว้ที่ชายฝั่งของเมืองแซนด์วิช[17] หลังจากนั้นพระเจ้าคนุตจึงได้เสด็จไปพบกับพระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 พระเชษฐา และทรงเสนอให้ทรงปกครองร่วมกัน แต่พระเจ้าฮารัลด์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย[16] พระเจ้าฮารัลด์ทรงยื่นข้อเสนอใหม่ให้แก่พระเจ้าคนุตเป็นผู้บังคับปัญชากองกำลังรุกรานอังกฤษระลอกใหม่ โดยมีข้อแม้ว่าพระเจ้าคนุตจะต้องสละสิทธิ์ในราชบัลลังก์เดนมาร์ก[16] อย่างไรก็ดี พระเจ้าคนุตก็สามารถรวบรวมเรือเพื่อใช้ในการรุกรานได้สำเร็จ[17]

การพิชิตอังกฤษ แก้

 
หินรูน (runestone) หมายเลขยู 194 เป็นจารึกเกี่ยวกับไวกิงนามว่าเอลลี (Alli) ซึ่งบันทึกไว้ว่าเขา "ได้รับพระราชทานบำเหน็ดจากพระเจ้าคนุตในอังกฤษ" (He won Knútr's payment in England)

โบเลสวัฟที่ 1 ผู้กล้าหาญ ดยุกแห่งโปแลนด์ (ภายหลังทรงได้รับการราชาภิเษกเป็นกษัตริย์) พระราชมาตุลา (ลุงฝ่ายแม่) ของพระเจ้าคนุตได้ให้พระองค์ยืมทหารชาวโปลจำนวนหนึ่ง[18] ซึ่งอาจจะเป็นข้อตกลงที่ทรงให้ไว้กับพระเจ้าคนุตและพระเชษฐาเมื่อคราวที่ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จไปรับพระราชมารดากลับเดนมาร์กในฤดูหนาว พระนางทรงถูกขับไล่จากราชสำนักหลังจากพระเจ้าสเวนทรงอภิเษกสมรสใหม่กับซิกริดผู้ทรนงพระมเหสีม่ายของพระเจ้าอีริค ผู้ชนะแห่งสวีเดนในปี ค.ศ. 995 การอภิเษกสมรสดังกล่าวได้สร้างพันธมิตรระหว่างพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุง กษัตริย์แห่งสวีเดนพระองค์ใหม่กับราชวงศ์เดนมาร์กในขณะนั้น[18] เดนมาร์กจึงได้สวีเดนมาเป็นพันธมิตรในการรุกรานอังกฤษ อีกหนึ่งพันธมิตรของพระเจ้าคนุตคือ อีริค โฮกุนนาร์สัน (Eiríkr Hákonarson) เอิร์ลแห่งเลด ผู้ปกครองร่วมแห่งนอร์เวย์กับพี่ชายต่างมารดา สเวน โฮกุนสัน (Sweyn Haakonsson) และมีความเกี่ยวดองกับราชวงศ์เดนมาร์กด้วย นอร์เวย์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์กมาตั้งแต่หลังยุทธการโซลเวเดอร์ (Battle of Svolder) ในปี ค.ศ. 999 ในระหว่างที่อีริคไปร่วมทัพของพระเจ้าคนุต โฮกุน ผู้เป็นบุตรชายของเขาเป็นผู้แทนในการปกครองนอร์เวย์ร่วมกับสเวน

ในหน้าร้อนของปี ค.ศ. 1015 กองเรือของพระเจ้าคนุตก็เริ่มออกเดินทางไปยังอังกฤษพร้อมกับไพร่พลประมาณ 10,000 นาย ด้วยกองเรือจำนวน 200 ลำ[19] กองทัพของพระองค์ถือเป็นการรวมตัวของชาวไวกิงจากทั่วสแกนดิเนเวีย กองกำลังของพระองค์จะเผชิญหน้ากับฝ่ายอังกฤษภายใต้การนำของพระเจ้าเอ็ดมันด์ผู้ทนทานในสมรภูมิรบอันดุเดือดไปอีกกว่าสิบสี่เดือน

การขึ้นฝั่งในเวสเซกซ์ แก้

พงศวดารปีเตอร์บะระ อันเป็นหนึ่งในพงศาวดารชุด บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน บันทึกไว้ว่าในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1015 "[พระเจ้าคนุต] ทรงมาถึงแซนด์วิช และทรงแล่นเรือผ่านเคนต์และเวสเซกซ์ จนกระทั่งพระองค์ทรงมาถึงปากแม่นํ้าฟรูม และขึ้นฝั่งที่ดอร์เซต วิลต์เชอร์และซัมเมอร์เซต"[20] เป็นจุดเริ่มต้นของการทัพขนาดมหึมาที่สุดนับตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช[17] บทสรรเสริญราชินีเอ็มมาได้บรรยายเกี่ยวกับกองเรือของพระองค์ไว้ดังนี้:

ณ ที่นั้นมีโล่หลากชนิด ซึ่งทำให้ท่านเชื่อได้ว่าไพร่พลจากนานาชนชาติได้มาถึงยัง ณ ที่แห่งนี้...หัวเรือเป็นประกายด้วยทองคำ แร่เงินสะท้อนแสงไปตามเรือหลายรูปทรง....ใครเล่าจะกล้าเชิดหน้าขึ้นมามองเหล่าราชสีห์ของศัตรู ต่างสั่นกระทาด้วยกลัวความระยับของทองคำและเหล่านักรบผู้น่าครันครามด้วยใบหน้าอันเรียบนิ่ง....เรือของพวกเขานำพามาซึ่งความตาย แลแตรของพวกเขาระยิบไปด้วยทอง ใครเล่าจะไม่รู้สึกหวั่นเกรงกษัตริย์ผู้มีกองทัพเช่นนี้? มิหนำซ้ำ กองกำลังนี้มิมีไพร่พลใดที่เป็นทาสหรือผู้ที่เคยเป็นทาส ไม่มีคนซาติกำเนิดตํ่าต้อย ไม่มีไพร่พลที่อ่อนแอด้วความชราของอายุ ด้วยพวกเขาทั้งหมดต่างเป็นผู้มีชาติตระกูล แลแข็งแรงด้วยกำลังวังชาของคนวัยหนุ่ม ชำนาญการต่อสู้ทุกแขนงแลการเรือ พวกเขาเคลื่อนที่ด้วยความเร็วยิ่งกว่าพลทหารม้า

— อิโครนัม เอ็มมา เรจีนา[21]

เวสเซกซ์ซึ่งถูกปกครองโดยราชวงศ์ของพระเจ้าแอเธลเรดมาเป็นเวลานานยอมจำนนกับกองกำลังของพระเจ้าคนุตในปลายปี ค.ศ. 1015 ดั่งเช่นที่ยอมจำนนกับกองกำลังของพระราชบิดาของพระองค์เมื่อสองปีก่อนหน้า[17] ณ จุดนี้ เอ็ดริก สโตรนา (Eadric Streona) เอลโดแมนแห่งเมอร์เซีย ได้แปรพักตร์จากฝ่ายของพระเจ้าแอเธลเรดไปพร้อมกับเรือ 40 ลำ รวมถึงลูกเรือจำนวนหนึ่ง และเข้าไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าคนุต[22] ผู้แปรพักตร์อีกคนได้แก่ธอร์เคล ผู้นำของชาวจอมสซึ่งเคยต่อสู้กับกองกำลังของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดให้กับฝ่ายอังกฤษ[17]—สาเหตุของการแปรพักตร์สามารถพบได้ใน จอมสไวกิงซากา (Jómsvíkinga saga) ซึ่งกล่าวถึงการถูกโจมตีของทหารรับจ้างชาวจอมสบอร์กในอังกฤษ โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้นมีเฮนนิงค (Henninge) น้องชายของธอร์เคลรวมอยู่ด้วย[23] หากเรื่องที่บันทึกไว้ใน แฟลร์ทิยาร์ลบก นั้นเป็นความจริงที่ว่าพระเจ้าคนุตทรงได้รับการอบรมจากธอร์เคล มันจะสามารถอธิบายสาเหตุที่พระเจ้าคนุตทรงรับเขาเข้ามาในกองทัพของพระองค์ได้ กองเรือจำนวน 40 ที่เอ็ดริกนำมาด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกองเรือของเขตเดนลอว์[23] แท้จริงแล้วอาจจะเป็นของธอร์เคล[24]

การรุกขึ้นเหนือ แก้

เมื่อถึง ค.ศ. 1016 กองกำลังไวกิงได้ข้ามแม่น้ำเทมส์และเร่งรุดหน้าไปยังวาร์วิคเชอร์ ในขณะที่ความพยายามต้านทานการรุกรานของเจ้าชายเอ็ดมันด์ไม่สัมฤทธิ์ผล—นักบันทึกพงศาวดาร (Chronicler) กล่าวว่ากองทัพอังกฤษพากันแยกย้ายเพราะไม่ได้พบกษัตริย์หรือประชาชนชาวลอนดอน[17] การโจมตีในช่วงกลางฤดูหนาวโดยพระเจ้าคนุตสร้างความเสียหายไปทั่วตอนเหนือของเมอร์เซียตะวันออก การระดมพลอีกครั้งหนึ่งทำให้ชาวอังกฤษรวมตัวกันได้ และคราวนี้พระเจ้าเอเธล์เรดก็ทรงเสด็จมาตรวจกองทัพด้วยตัวพระองค์เอง กระนั้น "มันก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก" พระเจ้าเอเธล์เรดทรงเสด็จกลับลอนดอนด้วยความกลัวว่าพระองค์กำลังจะถูกทรยศ[17]ในขณะที่เจ้าชายเอ็ดมันด์เสด็จไปทางเหนือเพื่อไปร่วมทัพกับอูห์เรด เอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบรีย แล้วจึงมุ่งหน้าไปยังสแตฟฟอร์ดเชอร์ ชาร์ปเชอร์และเชชเชอร์ ในเมอร์เซียตะวันตก[25] ทั้งสองอาจจะต้องการไปยังคฤหาสน์ของเอ็ดริก สโตรนา การที่พระเจ้าคนุตทรงเข้ายึดครองนอร์ทัมเบรีย บีบให้อูห์เรดต้องกลับไปยอมแพ้ต่อพระเจ้าคนุต[26] พระองค์อาจจะเป็นผู้ส่งเธอร์บรันชาวโฮล (Thurbrand the Hold) อริชาวนอร์ทัมเบรียของอูห์เรดไปสังหารเขากับผู้ติดตาม อีริค โฮกุนนาร์สัน เป็นไปได้ว่าเมื่อถึงจุดนี้ กองกำลังชาวสแกนดิเวียจึงเริ่มเข้ามาสบทบกับกับพระเจ้าคนุต[27] และบรรดายาร์ล (เอิร์ล) ผู้กรำศึกได้ถูกส่งไปปกครองนอร์ทัมเบรีย

เจ้าชายเอ็ดมันด์ยังคงประทับอยู่ในลอนดอน โดยทรงตั้งทัพอยู่ที่หลังกำแพงเมืองลอนดอน และทรงได้รับการเลือกเป็นกษัตริย์หลังจากพระเจ้าเอเธล์เรดสวรรคตในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1016

การล้อมกรุงลอนดอน แก้

 
ภาพเขียนสีวิจิตร แสดงการปะทะระหว่างพระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2 (ซ้าย) และพระเจ้าคนุต (ขวา) จาก โครนิคา มาจอร์รา (Chronica Majora) ประพันธ์และวาดภาพประกอบโดยแม็ทธิว แพริส

พระเจ้าคนุตเสด็จกลับไปทางทิศใต้ และกองทัพเดนมาร์กก็เริ่มทำการแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยกองแรกทำหน้าที่ไล่ตามพระเจ้าเอ็ดมันด์ ซึ่งสามารถตีฝ่าไพร่พลออกไปได้ก่อนที่พระเจ้าคนุตจะเข้าปิดล้อมกรุงลอนดอน พระเจ้าเอ็ดมันด์ทรงหลบหนีไปยังมณฑลเวสเซกซ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษมาแต่ครั้งโบราณ ในขณะที่อีกกองหนึ่งทำหน้าที่ล้อมรอบกรุงลอนดอนไว้ พร้อมกันนั้นก็มีมีการสร้างกำแพงกั้นนํ้า (dikes) ขึ้นที่ทางเหนือและทางใต้ของตัวเมือง อีกทั้งยังมีการขุดคูนํ้าเลาะผ่านทางชายฝั่งแม่นํ้าเทมส์ไปจนจรดทิศใต้ เพื่อสะดวกต่อการล่องเรือยาว (longships) ขึ้นไปขัดขวางการสื่อสารของฝ่ายอังกฤษ

มีการปะทะเกิดขึ้นที่เพนเซลวูด (Penselwood) ในมณทลซัมเมอร์เซต โดยสันนิฐานว่าเนินในป่าเซลวูด (Selwood Forest) เป็นสมรภูมิของทั้งสองฝ่าย[28] การรบพุ่งเกิดตามมาที่เชอร์สตัน ในมณทลวิลต์เชอร์ การต่อสู้กินเวลาสองวันแต่ไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด[29]

พระเจ้าเอ็ดมันด์สามารถกู้กรุงลอนดอนกลับคืนมาได้อยู่ระยะหนึ่ง ทรงผลักดันและตีกองทัพเดนมาร์กจนแตกพ่ายไปหลังทรงข้ามแม่นํ้าเทมส์ที่เบรนท์ฟอร์ด [28] แต่ก็ทรงเสียไพร่พลเป็นจำนวนมากเช่นกัน พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยล่าถอยไปยังเวสเซกซ์เพื่อเกณฑ์ไพร่พลใหม่ ชาวเดนส์เข้าปิดล้อมกรุงลอนดอนอีกครั้ง แต่หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการรุกคืบ พวกเขาจึงล่าถอยไปยังเคนต์ โดยมีการต่อสู้เกิดขึ้นบ้างประปราย ซึ่งลงเอยด้วยการรบที่ออตฟอร์ด (Otford) ต่อมา เอ็ดริก สโตรนาแปรพักตร์กลับไปเข้ากับพระเจ้าเอ็ดมันด์อีกครั้ง[30] พระเจ้าคนุตจึงตัดสินพระทัยล่องเรือไปทางเหนือของแม่นํ้าเทมส์ ทรงเสด็จขึ้นฝั่งที่เอสเซกซ์ และทรงเดินทางไปจนถึงแม่นํ้าออร์เวลล์ (River Orwell) เพื่อเข้าปลันสะดมมณทลเมอร์เซีย[28]

การยึดกรุงลอนดอนด้วยสนธิสัญญา แก้

ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1016 กองกำลังของชาวเดนส์ถูกโจมตีโดยกองทัพของพระเจ้าเอ็ดมันด์ ระหว่างที่ฝ่ายเดนส์กำลังล่าถอยไปที่เรือ อันนำไปสู่ยุทธการแอชชิงดัน (Battle of Assandun) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นที่แอชชิงดอน (Ashingdon) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่แอชดอน (Ashdon) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเอสเซกซ์ ระหว่างการชุลมุนนั้นเอง เอ็ดริก สโตรนา ซึ่งอาจจะแกล้งทำอุบายแปรพักตร์เพื่อลวงฝ่ายอังกฤษ ได้ทำการถอยทัพออกจากสนามรบ ทำให้ฝ่ายอังกฤษพ่ายแพ้อย่างราบคาบ[31] พระเจ้าเอ็ดมันด์เสด็จหนีไปทางตะวันตก พระเจ้าคนุตทรงไล่ตามพระองค์ไปจนถึงกลอสเตอร์เชอร์ ซึ่งอาจจะมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกที่บริเวณป่าดีน (Forest of Dean) เนื่องจากพระเจ้าเอ็ดมันด์ได้ทำการผูกมิตรกับผู้นำบางส่วนของชาวเวลส์[28]

บนเกาะใกล้หมู่บ้านเดียร์เฮสต์ (Deerhurst) พระเจ้าคนุตและพระเจ้าเอ็ดมันด์ผู้บาดเจ็บ ทรงเสด็จมาพบกันเพื่อเจรจาเงื่อนไขสงบศึก ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันว่าจะใช้แม่น้ำเทมส์เป็นตัวแบ่งเขตแดน โดยฟากเหนือแม่นํ้าขึ้นไปจะตกเป็นของชาวเดนส์ ในขณะที่ฟากทางใต้ รวมไปถึงกรุงลอนดอน จะยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายอังกฤษ ดินแดนทั้งสองจะถูกรวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้พระเจ้าคนุตเมื่อพระเจ้าเอ็ดมันด์เสด็จสวรรคต ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ไม่กี่สัปดาห์หลังจากสนธิสัญญาได้รับการลงนาม แหล่งข้อมูลบางชิ้นกล่าวว่าพระเจ้าเอ็ดมันด์ถูกลอบปลงพระชนม์ กระนั้นสาเหตุการสวรรคตของพระองค์ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด[32] ชาวเวสต์แซกซอนยอมรับเจ้าชายคนุตเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่โดยดี[33] พระองค์ได้รับการราชาภิเษกโดยไลฟิง อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี (Lyfing, Archbishop of Canterbury) ที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 1017 [34]

กษัตริย์แห่งอังกฤษ แก้

พระเจ้าคนุตทรงปกครองอังกฤษเป็นเวลากว่าเกือบสองทศวรรษ พระองค์ทรงช่วยคุ้มครองอังกฤษให้ปลอดภัยจากการปลันสะดมของชาวไวกิง—ซึ่งบางกลุ่มก็อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพระองค์—ทำให้อังกฤษกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง หลังจากที่อยู่ในภาวะชะงักงันมาตั้งแต่การโจมตีระลอกใหม่ของชาวไวกิงตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 980 ในอีกด้านหนึ่ง ชาวอังกฤษก็ได้ช่วยพระองค์ในการยึดครองดินแดนโดยส่วนมากในภูมิภาคสแกนดิเนเวียเช่นกัน[35]

การเสริมสร้างความมั่นคงและเดนเกล แก้

ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นต้นราชวงศ์ใหม่ สิ่งแรกที่พระเจ้าคนุตทรงกระทำคือการกำจัดเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์เวสเซกซ์เดิมที่อาจทำให้บัลลังก์ของพระองค์สั่นคลอน ปีแรกในรัชกาลของพระองค์เป็นที่จดจำจากการที่มีรับสั่งให้ประหารเหล่าขุนนางอังกฤษที่ไม่ทรงวางพระทัย เอ็ดวิก เอเธลลิงพระราชโอรสในพระเจ้าแอเธลเรดผู้ไม่พร้อม เสด็จหนีออกจากอังกฤษ แต่ก็ถูกปลงพระชนม์ในภายหลังโดยรับสั่งจากพระเจ้าคนุต[36] เหล่าพระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดมันด์ผู้ทนทาน เองก็ทรงเสด็จลี้ภัยเช่นกัน ในขณะที่บรรดาพระราชโอรสของพระเจ้าแอเธลเรดที่ประสูติแก่พระนางเอ็มมาแห่งนอร์ม็องดี ทรงลี้ภัยไปอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของพระญาติทางฝั่งพระมารดาที่ดัชชีนอร์ม็องดี

ในเดือนกรกฎาคมของปี ค.ศ. 1017 พระเจ้าคนุตทรงอภิเษกสมรสกับราชินีเอ็มมา พระมเหสีม่ายของพระเจ้าแอเธลเรด และธิดาของรีชาร์ที่ 1 ดยุกแห่งนอร์ม็องดี ในภายหลังพระองค์จะทรงสถาปนาเจ้าชายฮาร์ธาคนุต พระราชโอรสของพระองค์ที่ประสูติแก่พระนางเอ็มมาเป็นพระรัชทายาท ในขณะที่เจ้าชายสเวน คนุตสันและเจ้าชายฮาโรลด์ แฮร์ฟุต พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระนางเอลฟ์จิฟูแห่งนอร์แธมตัน พระมเหสีพระองค์แรก แต่มิได้ทรงประกอบพิธีอภิเษกสมรสทางศาสนา เรียกกันว่าการแต่งงานแบบแฮนด์ฟาสต์ (Handfast) ดำรงตำแหน่งรัชทายาทลำดับรองลงมา

เมื่อถึง ค.ศ. 1018 พระเจ้าคนุตสามารถรวบรวมเดนเกล (Danegeld) ได้เป็นจำนวนมากถึง 72,000 ปอนด์จากการจัดเก็บภาษีทั่วประเทศ บวกกับเงินอีกจำนวน 10,500 ปอนด์ที่ทรงเรียกเก็บจากนครลอนดอน พระองค์ใช้เงินส่วนนี้ในการจ่ายค่าจ้างทหารแล้วจึงส่งไพร่พลส่วนมากกลับบ้าน เหลือเพียงกองเรือ 40 ลำ และลูกเรือซึ่งทำหน้าที่เป็นกองทัพประจำการในอังกฤษ โดยพวกเขาจะได้รับการจ่ายค่าจ้างจากภาษีรายปีที่เรียกว่าแฮร์เกล (heregeld) ซึ่งมีระบบการจัดเก็บเหมือนกับภาษีที่พระเจ้าแอเธลเรดเป็นผู้ริเริ่มในปี ค.ศ. 1012 เพื่อจ่ายค่าจ้างให้กับชาวสแกนดิเนเวียที่ต่อสู้เพื่อพระองค์[37]

พระเจ้าคนุตทรงแบ่งเขตการปกครองของอังกฤษตามวิธีที่นิยมในเวลานั้น กล่าวคือไชร์หลายไชร์จะอยู่ภายใต้การปกครองของเอลโดแมน (Ealdorman) หนึ่งคน โดยเป็นการแบ่งเทศมณฑลต่างๆ ออกเป็นหน่วยการปกครองสี่หน่วยใหญ่ ซึ่งอิงเขตแดนทางภูมิศาสตร์มาจากราชอาณาจักรโบราณต่างๆ ก่อนจะมีการรวมแผ่นดินอังกฤษ ตำแหน่งที่ทำหน้าที่ดูแลมณฑลเหล่านั้น คือตำแหน่งเอิร์ล เป็นตำแหน่งที่นำเข้ามาจากสแกนดิเนเวีย และมีการใช้บ้างแล้วในอังกฤษ ซึ่งในภายหลังจะมาแทนที่ตำแหน่งเอลโดแมน ดินแดนเวสเซ็กซ์ตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงจากพระเจ้าคนุต ในขณะที่นอร์ทธัมเบรียตกเป็นของอีริค โฮกุนนาร์สัน ธอร์เคลได้ครองอีสต์แองเกลีย ส่วนเมอร์เซียยังคงอยู่ในความปกครองของเอ็ดริก สโตรนา[38]

กระนั้น การแบ่งสรรอำนาจนี้ก็ดำรงอยู่เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เอ็ดริก สโตรนา ผู้แปรพักตร์ถูกประหารไม่นานหลังจากที่พระเจ้าคนุตขึ้นครองราชย์[36] เมอร์เซียจึงตกไปอยู่ในการปกครองของตระกูลผู้นำท้องถิ่น ซึ่งอาจจะเป็นเลโอไฟน์ (Leofwine) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเอลโดแมนแห่งฮวิกก์ (Hwicce) ภายใต้การปกครองของพระเจ้าพระเจ้าแอเธลเรด ต่อมาเลโอฟริก (Leofric) ผู้เป็นบุตรชายจึงดำรงตำแหน่งต่อจากเขา[39] เมื่อถึงปี ค.ศ. 1021 ธอร์เคลก็หลุดออกจากความเป็นคนโปรด และได้รับการประกาศว่าเป็นคนนอกกฎหมาย หลังจากการเสียชีวิตของอีริคในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1020 ตำแหน่งเอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบรียจึงตกไปเป็นของซิวาร์ด (Siward) เบอร์นิเซีย (Bernicia) ดินแดนทางเหนือของนอร์ทัมเบรีย ในทางทฤษฎีแล้วอยู่ภายใต้การปกครองของอีริคและซิวาร์ด แต่ในความเป็นจริงแล้วดินแดนดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลขุนนางท้องถิ่นในบริเวณแบมเบิรก์ (Bamburgh) ตระกูลขุนนางดังกล่าวมีอิทธิพลในพื้นที่นั้นมาตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นอย่างน้อย โดยดำรงตำแหน่งเป็นเอิร์ลแห่งเบอร์นิเซียภายใต้การปกครองของเอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบรีย ครั้นถึงช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1030 การปกครองเวสเซกซ์โดยตรงของพระเจ้าคนุตก็สิ้นสุดลง โดยทรงตั้งอาณาจักรเอิร์ล (Earldom) ขึ้นมาแทนที่ และทรงมอบให้กอดวิน ขุนนางชาวอังกฤษจากตระกูลผู้ทรงอำนาจแถบซัสเซกซ์ เป็นผู้ปกครอง กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในช่วงแรกของการครองราชย์ พระเจ้าคนุตทรงพึ่งพาเหล่าผู้ติดตามชาวสแกนดิเนเวียในการปกครองอังกฤษ และเมื่อเวลาผ่านไป พระองค์ก็ทรงมอบเขตปกครองต่าง ๆ ให้แก่เหล่าขุนนางอังกฤษที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปปกครอง

พระราชกรณียกิจทางตะวันออก แก้

 
เหรียญกษาปณ์ของพระเจ้าคนุต ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติช

หลังจากยุทธการเนสจา (Battle of Nesjar) ในปี ค.ศ. 1016 นอร์เวย์ได้ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของ โอลาฟ ฮารัลด์สัน และกลายเป็นราชอาณาจักรอิสระไม่ขึ้นกับเดนมาร์กอีกต่อไป เป็นเหตุให้โฮกุน (Hakon) บุตรชายของอีริค ตัดสินใจเดินทางไปหาบิดาในอังกฤษ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นระหว่างที่อีริคเดินทางไปอังกฤษได้แล้วสักพักหนึ่ง และเป็นช่วงหลังจากที่สเวน ผู้เป็นลุง เสียชีวิตลงขณะล่าถอยไปยังสวีเดน สันนิษฐานว่าเพื่อรวบรวมกำลังเสริมในการชิงนอร์เวย์กลับคืนมา

ฮารัลด์ พระเชษฐาของพระเจ้าคนุต อาจจะเคยเสด็จมาร่วมพิธีราชาภิเษกของพระราชอนุชาใน ค.ศ. 1016 ก่อนที่จะเสด็จกลับเดนมาร์กไปพร้อมกองเรือส่วนหนึ่ง เป็นที่ทราบว่ามีการบันทึกพระนามของพระเจ้าฮารัลด์กับพระเจ้าคนุต ในรายชื่อสหสมาคมภราดา (Confraternity) ของไครสต์เชิร์ช แคนเทอร์เบอรี เมื่อปี ค.ศ. 1018 [40] กระนั้นบันทึกดังกล่าวก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าพระเจ้าฮารัลด์เคยเสด็จมาอังกฤษจริง เนื่องจากบันทึกดังกล่าวอาจจะถูกจัดทำขึ้นโดยที่พระเจ้าฮารัลด์ไม่ได้มีส่วนรับทราบด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นรับสั่งจากพระเจ้าคนุตเอง โดยทั่วไปแล้วเชื่อกันว่าพระเจ้าฮารัลด์สวรรคตในปีเดียวกัน จึงทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าบันทึกฉบับนั้นจัดทำขึ้นในระหว่างที่พระเจ้าฮารัลด์ยังคงทรงพระชนม์อยู่ หรือสวรรคตไปแล้วกันแน่ [40] การบันทึกพระนามของพระเชษฐาในโคเด็กซ์ (Codex) ที่แคนเทอร์เบอรี อาจจะเป็นความพยายามโน้มน้าวศาสนจักรของพระเจ้าคนุต เพื่อให้พวกเขาเห็นว่าการล้างแค้นผู้ปลงพระชนม์พระเจ้าฮารัลด์ของพระองค์เป็นการกระทำที่ชอบธรรม หรือการบันทึกดังกล่าวอาจจะเป็นไปเพื่อขอให้ดวงพระวิญญาณของผู้ล่วงลับได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของพระผู้เป็นเจ้า มีหลักฐานบ่งชี้ว่าพระเจ้าคนุตกำลังทรงปราบปรามโจรสลัด ในปี ค.ศ. 1018 โดยทรงทำลายเรือของพวกโจรไปกว่าสามสิบลำ[41] แต่ก็ไม่เป็นที่ทราบกันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่นอกชายฝั่งของอังกฤษหรือเดนมาร์ก พระเจ้าคนุตเองก็ทรงกล่าวถึงปัญหาความวุ่นวายในพระราชสาสน์ของพระองค์เองเมื่อปี ค.ศ. 1019 (เป็นพระราชสาสน์ซึ่งส่งจากเดนมาร์กไปยังอังกฤษ) ซึ่งพระองค์ทรงเขียนขึ้นในฐานะกษัตริย์แห่งอังกฤษและเดนมาร์ก สันนิษฐานได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระเจ้าฮารัลด์ ใจความของสาสน์ดังกล่าวสื่อความโดยนับว่าพระเจ้าคนุตทรงพยายามสะสางความวุ่นวายต่าง ๆ เพื่อให้เดนมาร์กสามารถช่วยเหลืออังกฤษได้[42]

พระเจ้าคนุตขอส่งคำทักทายฉันท์มิตรมายังเหล่าอาร์ชบิชอป บิชอปประจำสังฆมณฑล เอิร์ลธอร์เคลและบรรดาเอิร์ลของพระองค์ทั้งปวง...ทั้งฝ่ายศาสนจักรและฆราวาสในอังกฤษ...ข้าพเจ้าขอเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบว่า ข้าพเจ้าจักธำรงค์ตนเป็นเจ้าเหนือหัวผู้กรุณา และจักเป็นผู้ทำนุบำรุงรักษากฎหมายและ (พระองค์ทรงชี้แนะให้เหล่าเอลโดแมนของพระองค์ช่วยเหลือเหล่าบิชอปในการรักษา) ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า...และผลประโยชน์ของอาณาราษฎร

หากผู้ใดก็ตาม จะเป็นสมณเพศหรือฆราวาสก็ดี ชาวเดนส์หรือชาวอังกฤษก็ดี จักกล้าผยองตัวถึงขั้นละเมิดซึ่งกฎแห่งพระเป็นเจ้าและราชสิทธิ์ของข้าพเจ้า รวมถึงกฎหมายที่ตราขึ้นแล้วไซร้ และหากผู้นั้นมิยอมปรับความประพฤติและเลิกการกระทำดั่งกล่าวของตนตามคำแนะนำของเหล่าบิชอปของข้าพเจ้า เช่นนั้น ข้าพเจ้าจักขอภาวนา แลบัญชาให้เอิร์ลธอร์เคล หากเป็นไปได้ ให้โน้มน้าวผู้กระทำผิดกลับมาในหนทางที่ชอบธรรม หากผู้นั้นมิยินยอมกลับตัว เช่นนั้นแล้วด้วยเจตจำนงของข้าพเจ้า และอำนาจของเราทั้งสอง จักทำลายหรือขับไล่ผู้นั้นให้สิ้นไป ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้กำเนิดในชาติตระกูลสูงหรือต่ำต้อยก็ดี และข้าพเจ้าหวังว่า ท่านทั้งหลาย ทั้งฝ่ายสงฆ์แลฆราวาส จักปฏิบัติตามกฎหมายของพระเจ้าเอ็ดการ์ ซึ่งหมู่ชนทั้งหลายได้เลือกสรรและให้สัตยาบันไว้ ณ นครออกซฟอร์ด

อันว่าข้าพเจ้ามิได้สำรองเงินเอาไว้ ตราบใดที่ภัยอันตรายทั้งหลายยังคุกคามพวกท่านอยู่ ข้าพเจ้า ด้วยความเกื้อหนุนจากพระเป็นเจ้า ได้ขจัดภัยนั้นให้สิ้นไป มาบัดนี้ ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่ากำลังมีภยันตรายอันใหญ่หลวงยิ่งกำลังคืบคลานมาหาเราทั้งปวง และด้วยเหตุดังนั้น ข้าพเจ้าและผู้ติดตามจำนวนหนึ่งจึงได้ออกเดินทางไปยังเดนมาร์ก อันเป็นสถานที่ที่ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงเกิดขึ้นแก่เรา และด้วยความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้กระทำให้แน่ใจว่าจักไม่มีเภทภัยใดจาก ณ สถานนั้น มาคุกคามท่านได้อีก ตราบใด้ที่ท่านทั้งหลายยังคงภักดีต่อข้าพเจ้า และอายุขัยของข้าพเจ้ายังคงยั่งยืนอยู่ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณพระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ สำหรับความช่วยเหลือ และพระเมตตาของพระองค์ ซึ่งช่วยให้ข้าสามรถกำราบภัยอันตรายใหญ่หลวงนั้นที่กำลังคืบคลานมาหาเราลงได้ ทำให้เรามิต้องกลัวการคุกคามจากที่นั้นอีกต่อไป แต่ข้าพเจ้าคาดหวังว่าฝ่ายนั้นจักยอมเกื้อหนุนและช่วยเหลือเราในยามยาก หากจำเป็น

— พระราชสาสน์ของพระเจ้าคนุต ค.ศ. 1019, Trow 2005, pp. 168–169

การบริหารราชการแผ่นดิน แก้

 
เหรียญกษาปณ์อีกแบบหนึ่งของพระเจ้าคนุต ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติช

พระเจ้าคนุตทรงเป็นที่จดจำในฐานะของหนึ่งในกษัตริย์ผู้ทรงปัญญาและประสบความสำเร็จที่สุดพระองค์หนึ่งของอังกฤษ แม้ว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นผลมาจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระองค์และศาสนจักรบ้างก็ตาม ซึ่งเป็นผู้จัดทำบันทึกประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น ในขณะเดียวกัน เราก็มักจะจดจำพระบุคลิกยภาพของพระองค์ในรูปแบบของบรุษผู้เคร่งศาสนา แม้ว่าพระองค์จะมีความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ที่น่ากังขากับพระมเหสีทั้งสอง และทรงจัดการปราบปรามศัตรูของพระองค์อย่างทารุณก็ตาม

ภายใต้การปกครองของพระองค์ ราชอาณาจักรอังกฤษและเดนมาร์กได้รวมกันเป็นหนึ่ง และทั้งชาวสแกนดิเนเวียและชาวแซกซอนต่างแผ่อิทธิพลไปทั่วภูมิภาคสแกนดิเนเวีย และหมู่เกาะบริติช[35] การทัพของพระองค์ในต่างแดน ทำให้ภาวะครอบงำของชาวไวกิง (Viking supremacy) ลดลง และเป็นการเพิ่มอิทธิพลของชาวอังกฤษ ทำให้กองเรือทั้งหลายมุ่งเป้าไปยังสแกนดิเนเวียแทน พระเจ้าคนุตยังทรงเป็นผู้นำกฎหมายของพระเจ้าเอ็ดการ์กลับมาบังคับใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมนูญของเขตเดนลอว์[43] และวิถีชีวิตของชาวสแกนดิเนเวียส่วนใหญ่

พระเจ้าคนุตทรงบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมด้วยการออกชุดของคำประกาศ (Proclamations) เพื่อบรรเทาความคับข้องใจ (Grievances) ที่ถูกร้องเรียนมายังพระองค์ สิ่งเหล่านี้รวมไปถึง: กฎหมายเกี่ยวกับมรดก ในกรณีอพินัยกรรม และ กฎหมายว่าด้วยกรณีแฮร์ริโอต์ (Heriot, การมอบของกำนัลหลังมรณกรรม) และการจ่ายค่าชดเชย[44] พระองค์ยังช่วยพยุงค่าเงิน ด้วยการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่มีนํ้าหนักเท่ากันกับเหรียญที่ใช้กันในเดนมาร์กและส่วนอื่น ๆ ของสแกนดิเนเวีย[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ยังทรงเป็นผู้ออกประมวลกฎหมายพระเจ้าคนุต (Law codes of Cnut) ซึ่งในปัจจุบันรู้จักกันในนามมาตราคนุต 1 และ มาตราคนุต 2 ตามลำดับ (I Cnut และ II Cnut) แม้ดูเหมือนว่าข้อกฎหมายส่วนใหญ่จะเป็นผลงานของวูลฟ์สตานแห่งยอร์ก (Wulfstan of York) ก็ตามที[45]

กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก แก้

หลังจากที่พระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1018 และพระเจ้าคนุตเสด็จไปยังเดนมาร์กเพื่อขึ้นครองราชบัลลังก์เดนมาร์กในพระนามว่าพระเจ้าคนุตที่ 2 โดยทรงชี้แจ้งสาเหตุในพระราชสาสน์ของปี ค.ศ. 1019 ว่าเป็นไปเพื่อป้องกันอังกฤษจากการรุกราน (ดูด้านบน) เป็นไปได้ว่ามีชาวเดนส์บางส่วนไม่พอใจพระองค์ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ทรงมีพระราชบัญชาให้โจมตีชาวเวนส์บริเวณพอเมอเรเนีย ในการทัพครั้งนี้ หนึ่งในผู้ติดตามชาวอังกฤษของพระเจ้าคนุต กอดวิน ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระเจ้าคนุต หลังจากที่เขาได้นำกองทหารเข้าโจมตีค่ายของชาวเวนส์ในยามคํ่าคืน[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อทรงเห็นว่าการปกครองในเดนมาร์กมีความมั่นคงแล้ว พระเจ้าคนุตก็เสด็จกลับอังกฤษในปี ค.ศ. 1020 โดยทรงแต่งตั้งยาร์ลอุลฟ์ (Ulf Jarl) พระเทวัน (น้องเขย) ของพระองค์ เป็นผู้สำเร็จราชการในเดนมาร์ก และทรงฝากฝังพระราชโอรส เจ้าชายฮาร์ธาคนุต ที่พระสูติแด่พระนางเอ็มมา ซึ่งพระองค์ได้สถาปนาขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร แห่งอังกฤษและเดนมาร์ก ไว้ในความดูแลของอุลฟ์ด้วย การขับไล่ธอร์เคลในปี ค.ศ. 1021 อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการโจมตีชาวเวนส์ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุง ในปี ค.ศ. 1022 และการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอนุนด์ จาค็อบ พระราชโอรส ผู้ทรงนำสวีเดนเข้าเป็นพันธมิตรกับนอร์เวย์ ทำให้เดนมาร์กมีข้ออ้างสำหรับการแสดงแสนยานุภาพของตนในแถบบอลติก จอมสบอร์ก ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของชาวจอมสไวกิง (เชื่อกันว่าเป็นเกาะนอกชายฝั่งพอเมอเรเนีย) อาจจะเป็นเป้าหมายของพระเจ้าคนุตในการศึกครั้งนี้[46]หลังจากที่พระองค์ทรงแสดงเจตนารมณ์ที่จะแผ่อิทธิพลเข้าควบคุมกิจการภายในสแกนดิเนเวียแล้ว ก็ดูเหมือนว่าพระองค์จะหันมาปรองดองกับธอร์เคลในปี ค.ศ. 1023

ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระเจ้าโอลาฟที่ 2 กษัตริย์แห่งนอร์เวย์ และพระเจ้าอนุนด์ จาค็อบ จึงตัดสินพระทัยเข้าโจมตีเดนมาร์กระหว่างที่พระเจ้าคนุตทรงยุ่งอยู่กับราชกิจในดินแดนอังกฤษ อุลฟ์ได้โน้มนาวให้เสรีชน (Freemen) เดนมาร์กยอมรับองค์ชายฮาร์ธาคนุต ผู้ทรงพระเยาว์ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ การที่อุลฟ์ทำหน้าที่เป็นผู้อภิบาลของเจ้าชายทำให้เขามีอำนาจครอบงำทั้งราชอาณาจักร เมื่อพระเจ้าคนุตทราบเรื่องดังกล่าว พระองค์จึงรีบเสด็จไปทวงราชบัลลังก์เดนมาร์กโดยทันทีและเพื่อสะสางเรื่องของอุลฟ์ด้วย หลังจากนั้นก็ทรงต่อสู้กับกองทัพนอร์เวย์และสวีเดนในยุทธการปากแม่นํ้าเฮลกา (Battle of the Helgeå) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1026 ชัยชนะในยุทธการดังกล่าวทำให้พระเจ้าคนุตกลายผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสแกนดิเนเวีย อุลฟ์ยอมเลิกล้มแผนการของตนแต่โดยดี และยังเข้าร่วมในการศึกข้างต้นด้วย แต่พระเจ้าคนุตก็มิได้ทรงไว้วางพระทัยเขาดังเดิม[ต้องการอ้างอิง] แหล่งข้อมูลบางชิ้นกล่าวว่าทั้งสองกำลังเล่นหมากรุกด้วยกันในงานเลี้ยงที่รอสกิลด์ ก่อนจะมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง และในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันคริสต์มาส ฮัสคาร์ลนายหนึ่งได้สังหารอุลฟ์ในโบสถ์พระตรีเอกานุภาพ (Trinity Church, ตั้งอยู่ตำแหน่งเดียวกันกับอาสนวิหารรอสกิลด์ในปัจจุบัน) ตามพระราชบัญชาของพระเจ้าคนุต[47]

การเสด็จสู่กรุงโรม แก้

 
เหรียญกษาปณ์ของพระเจ้าคนุตแบบที่สาม จัดแสดงอยู่ทีพิพิธภัณฑ์บริติช

หลังจากทรงกำราบศัตรูในสแกนดิเนเวียแล้ว พระเจ้าคนุตก็ทรงต้อนรับคำเชิญเข้าร่วมงานพระราชพิธีราชาภิเษกของ จักรพรรดิค็อนราทที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในโรม พระองค์ทรงทิ้งราชกิจในแดนเหนือและเสด็จออกจากเดนมาร์กไปยังสถานที่จัดพิธีราชาภิเษกในวันอีสเตอร์ของปี ค.ศ. 1027—นอกจากนี้ การเสด็จสู่โรม อันเป็นศูนย์กลางของโลกคริสเตียน (Christendom) ยังนับว่าเป็นการแสวงบุญที่เป็นเกียรติที่สุดสำหรับกษัตริย์ยุโรปในสมัยกลาง ขณะเสด็จกลับพระเจ้าคนุตก็ทรงเขียนพระราชสาสน์ขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า "พระราชสาสน์ฉบับ ค.ศ. 1027" (Cnut's letter of 1027) เนื้อหาข้างในมีจุดประสงค์เหมือนกับฉบับปี ค.ศ. 1019 คือการแจ้งเหล่าข้าราชบริพารในอังกฤษถึงเป้าหมายของพระองค์จากต่างแดน[48] และทรงลงท้ายพระราชสาสน์ว่า "คนุต กษัตริย์แห่งอังกฤษ เดนมาร์ก และชาวนอร์เวย์ทั้งปวง แลบางพื้นที่ของชาวสวีด" ("King of all England and Denmark and the Norwegians and of some of the Swedes")[49]

กอปรกับบทบาทของพระองค์ในฐานะกษัตริย์คริสตชน พระเจ้าคนุตจึงทรงให้เหตุผลการเสด็จไปโรม ว่าทรงเป็นการเดินทางเพื่อตระหนักถึงปาปที่ทรงก่อ เพื่อภาวนาขอการอภัยปาป (Redemption) และความปลอดภัยให้แก่ราษฎร์ของพระองค์ รวมไปถึงการเจรจากับพระสันตะปาปาให้ลดราคาแพลเลียม (Pallium, ผ้าคลุมไหล่สำหรับนักบวช) ให้กับเหล่าอาร์ชบิชอปอังกฤษ [50] การหารือเพื่อยุติความบาดหมางระหว่างมุขมณฑลแคนเทอร์เบอรี และ ฮัมบวร์ค-เบรเมิน ในเรื่องอำนาจเหนือเขตมุขมณฑลเดนมาร์ก การคุ้มกันผู้แสวงบุญและเหล่าขบวนสินค้าบนเส้นทางสู่กรุงโรม ตามที่ทรงเขียนไว้ในพระราชสาสน์ ดังนี้:

... ข้าพเจ้าได้ปราศัยกับพระจักรพรรดิ องค์สันตะปาปา และบรรดาเจ้านายทั้งหลาย เกี่ยวกับความต้องการของราษฎร์ทั้งมวลทั่วทั้งอาณาจักรของข้าพเจ้า ทั้งชาวอังกฤษแลชาวเดนส์ ถึงกฎหมายและการรักษาความปลอดที่ดีกว่าเดิมตามท้องถนนสู่กรุงโรม พวกเขาทั้งหลายมิสมควรที่จะถูกทำให้ชักช้าลงด้วยเหล่าเครื่องกีดขวางตามเส้นทาง หรือถูกเรียกเก็บค่าผ่านทางในราคาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ พระจักรพรรดิรวมถึงพระเจ้าโรเบิร์ต ผู้คุมด่านค่าผ่านทางทั้งหลาย รวมไปถึงบรรดาผู้มีอิทธิพลทั้งมวลต่างก็เห็นด้วย แลออกประกาศให้อาณาราษฎร์ของข้าพเจ้า ทั้งพวกพ่อค้าวาณิช และจำพวกอื่น ๆ ซึ่งเดินทางเพื่อการแสวงบุญ จักเดินทางไปและกลับจากกรุงโรมโดยมิต้องถูกขัดขวางโดยเครื่องกีดขวางหรือนายด่านผ่านทางใด ๆ โดยสะดวกและปลอดภัยภายใต้กฎหมาย

— พระราชสาสน์ของพระเจ้าคนุต ฉบับ ค.ศ. 1027, Trow 2005, p. 193

พระนาม "โรเบิร์ต" ในพระราชสาสน์ของพระเจ้าคนุต แท้จริงแล้วหมายถึงพระเจ้าโรดอล์ฟที่ 3 พระมหากษัตริย์รัชกาลสุดท้ายของราชอาณาจักรบูร์กอญ ก่อนถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ การบันทึกพระนามผิดเพี้ยนไปเช่นนี้อาจจะเกิดจากความผิดพลาดของนายอาลักษณ์เอง คำประกาศของพระสันตะปาปา พระจักรพรรดิ และพระเจ้าโรดอล์ฟ มีขึ้นโดยมีอาร์ชบิชอปสี่องค์ บิชอปยี่สิบองค์ พร้อมกับ "ดยุกและขุนนางนับไม่ถ้วน" เป็นพยาน[51] ทำให้เชื่อได้ว่าประกาศดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่พระราชพิธีจะเสร็จสิ้น[51] พระเจ้าคนุตทรงเชื่อมั่นในบทบาทของพระองค์อย่างเคร่งครัด[52] ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ของพระองค์ในฐานะกษัตริย์คริสตชนผู้ยุติธรรม รัฐบุรุษ นักการทูต และผู้นำในการต่อสู้กับความอยุติธรรมจะมีเค้าความจริงอยู่บ้าง และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระองค์เช่นกัน

พระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดิค็อนราทที่ 2 ยังสะท้อนให้เห็นถึงสถานะของพระองค์ในสายตาของชาวยุโรปบนภาคพื้นทวีป เมื่อพระเจ้าคนุตและกษัตริย์แห่งบูร์กอญ ได้โดยเสด็จเคียงข้างพระจักรพรรรดิระหว่างขบวนพระราชพิธี[35] และทรงยืนบนแท่นในระดับเท่ากัน[53] แหล่งข้อมูลหลายชิ้นกล่าวว่าพระเจ้าคนุตและจักรพรรดิค็อนราท[53] ทรงนับถือกันเฉกเช่นพี่น้อง เนื่องจากมีพระชนมายุไล่เลี่ยกัน จักรพรรดิค็อนราททรงยกดินแดนบริเวณชายแดนของดัชชีชเลสวิชให้กับพระเจ้าคนุต—ซึ่งเป็นดินแดนที่เชื่อมระหว่างเหล่าราชอาณาจักรในสแกนดิเนเวียกับภาคพื้นทวีป—เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองพระองค์[54] บริเวณดังกล่าวยังเป็นสถานที่ที่ซึ่งความขัดแย้งระหว่างชาวเดนส์และชาวเยอรมันเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาตั้งแต่หลายศตวรรษก่อน ซึ่งนำไปสู่การสร้างแนวป้องกันเดนเนวิกค์ (Danevirke) ซึ่งทอดยาวตั้งแต่แคว้นชเลสวิช บริเวณปากนํ้าชไลน์ (Schlei) อันแตกแขนงมาจากทะเลบอลติก ไปจนจรดทะเลเหนือ

การเสด็จเยือนกรุงโรมประสบความสำเร็จอย่างมาก ในบาทหนึ่งของบทกวี คนุตดราพา นายอาลักษณ์หลวงซิกวาทร์ ธอร์ดาร์สัน (Sigvatr Þórðarson) สรรเสริญพระเจ้าคนุตว่า "เป็นที่รักใคร่ขององค์จักรพรรดิ แลสนิทชิดเชื้อกับนักบุญเปโตร"[55] ในยุคสมัยนั้นมีความเชื่อกันว่า กษัตริย์ที่ทำพระองค์ให้เป็นที่พึงพอพระทัยของพระเป็นเจ้าจะได้ปกครองราชอาณาจักรที่สงบสุข[55] พระราชอำนาจของพระองค์มั่นคงขึ้นด้วยการสนับสนุนจากศาสนจักรและประชาชน และการเชี่อมสัมพันธ์กับอริของพระองค์ในแดนใต้ ทำให้พระองค์สามารถยุติความขัดแย้งกับศัตรูของพระองค์ในแดนเหนือ พระราชสาสน์ของพระองค์ไม่เพียงแต่บอกเหล่าข้าราชบริพารถึงความสำเร็จของพระองค์ในกรุงโรม แต่ยังรวมไปถึงเป้าหมายของพระองค์ในสแกนดิเนเวียด้วย:

...ข้าพเจ้า ขอแจ้งให้ท่านทั้งหลายทราบว่า ข้าพเจ้าได้เดินทางกลับโดยใช้เส้นทางเดิม ข้าพเจ้ากำลังเดินทางไปยังเดนมาร์กเพื่อเจรจาสันติภาพและจัดการสนธิสัญญาให้มั่นคง ภายใต้การแนะนำของชาวเดนส์ทั้งปวง อันเป็นชนชาติที่จะพรากชีวิตและกฎระเบียบทั้งหลายไปจากเราหากมีโอกาส แต่ก็หามีไม่ ด้วยเหตุว่าพระเป็นเจ้าได้ทลายพละกำลังของพวกเขาไปเสียสิ้น ขอพระองค์จงทรงปกปักษ์เราภายใต้การปกครองอันการุญและมีเกียรติยิ่งของพระองค์ ขอพระองค์โปรดบันดาลให้ศัตรูของเราจงแตกกระจายไป แลอย่าประทานแรงพละกำลังให้แก่ศัตรูทั้งหลายของเรา! และข้อสุดท้าย เมื่อสันติภาพได้บังเกิดมีกับชนชาติโดยรอบเรา แลได้จัดแจ้งความเรียบร้อยในอาณาจักรทั้งมวลทางทิศตะวันออก ซึ่งจะทำให้เรามิต้องกังวลเรื่องสงครามรบพุ่ง หรือความบาดหมางส่วนตัวประการใด ข้าพเจ้าจะกลับไปยังอังกฤษอย่างเร็วที่สุดในหน้าร้อนนี้ หากกองเรือของข้าพเจ้าพร้อม

— พระราชสาสน์ของพระเจ้าคนุต ฉบับ ค.ศ. 1027[51]

พระเจ้าคนุตเสด็จออกจากกรุงโรมกลับสู่เดนมาร์ก เพื่อจัดแจ้งความเรียบร้อยภายใน[49] และหลังจากนั้นก็ทรงเสด็จกลับอังกฤษ

กษัตริย์แห่งนอร์เวย์และบางส่วนของสวีเดน แก้

 
จักรวรรดิทะเลเหนือของพระเจ้าคนุตมหาราช ราว ค.ศ. 1030 (โปรดสังเกตว่าดินแดน แยมต์ลันด์ เฮลเยดาลันด์ (Herjedalen) อิเดร (Idre) และ ซาร์นา (Särna, Særna) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของนอร์เวย์ในขณะนั้นไม่ได้ถูกนับรวมไปในแผนที่ฉบับนี้)

ในพระราชสาสน์ฉบับ ค.ศ. 1027 ของพระองค์ พระเจ้าคนุตทรงกล่าวถึงตัวพระองค์เองว่าเป็นกษัตริย์แห่ง "ชาวนอร์เวย์ทั้งปวง แลบางพื้นที่ของชาวสวีด" ในขณะที่กษัตริย์สวีเดนถูกกล่าวถึงในแง่ลบ[56] — สันนิฐานกันว่าแม่น้ำเฮลกาที่พระเจ้าคนุตทรงรบชนะสวีเดนตั้งอยู่ในจังหวัดอุปลันด์ (Uppland) และไม่ใช่แม่น้ำชื่อเดียวกัน ในทางตะวันออกของจังหวัดสโกเนอ (Skåne) พระเจ้าคนุตยังทรงกล่าวถึงความตั้งใจของพระองค์ในการเสด็จไปยังเดนมาร์กเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างเหล่าราชอาณาจักรในสแกนดิเนเวีย ซึ่งตรงกับสิ่งที่จอหน์แห่งวุร์สเตอร์บันทึกไว้ว่า ในปี ค.ศ. 1027 พระเจ้าคนุตทรงทราบว่ามีชาวนอร์เวย์บางส่วนไม่พอใจการปกครองของพระองค์ พระเจ้าคนุตจึงทรงพระราชทานทองและเงินไปให้พวกเขาจำนวนหนึ่ง เพื่อให้พวกเขาหันมาสนับสนุนพระองค์[49]

ในปี ค.ศ. 1028 พระเจ้าคนุตทรงเสด็จออกจากอังกฤษไปยังนอร์เวย์และเมืองทร็อนไฮม์ พร้อมกองเรือห้าสิบลำ พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งนอร์เวย์ ทรงไม่สามารถต่อต้านการรุกรานได้ เนื่องจากขุนนางภายใต้การปกครองพระองค์ถูกพระเจ้าคนุตติดสินบน ซึ่งสาเหตุการแปรพักตร์เป็นเพราะ (ตามคำบันทึกของอดัมแห่งเบรเมิน) พระองค์มักจะมีรับสั่งให้เข้าจับกุมภรรยาของขุนนางเหล่านั้น โทษฐานกระทำการเกี่ยวกับคาถาอาคม[57] พระเจ้าคนุตได้รับการราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ปกครองเหนืออังกฤษ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ รวมไปถึงส่วนหนึ่งของสวีเดน[58] พระองค์ทรงพระราชทานเขตปกครองของเอิร์ลแห่งเลด ให้กับเชื้อสายผู้ปกครองเดิม โฮกุน อีริคสัน (Håkon Eiriksson) บุตรชายของอีริค โฮกุนนาร์สัน สันนิฐานกันว่าอีริคน่าจะเสียชีวิตไปแล้วในช่วงเวลานี้[59] โฮกุนอาจจะได้สืบตำแหน่งเอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบรียต่อจากบิดาด้วยเช่นกัน [60]

โฮกุน ผู้เป็นสมาชิกของตระกูลขุนนางที่มีความบาดหม้างกับกษัตริย์นอร์เวย์มาอย่างยาวนาน และเป็นพระญาติของพระเจ้าคนุต มีดินแดนในปกครองตนอยู่ก่อนแล้วที่หมู่เกาะบริเตน คืออาณาจักรเอิร์ลแห่งวุร์สเตอร์ โดยอาจจะปกครองตั้งแต่ ค.ศ. 1016 จนถึง ค.ศ. 1017 เส้นทางเดินเรือผ่านทะเลไอริช และ หมู่เกาะเฮอร์บริดี (Hebrides) นำไปสู่หมูเกาะออร์กนีย์ และนอร์เวย์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในความทะเยอทะยานของพระเจ้าคนุตที่จะเข้าครอบงำสแกนดิเนเวียและหมู่เกาะบริติช โดยโฮกุนทำหน้าที่เป็นรองผู้บังคับบัญชาของพระเจ้าคนุตในแนวยุทธศาสตร์นี้ และขั้นตอนสุดท้ายในแผนการนี้ก็คือการตั้งโฮกุนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าคนุตในนอร์เวย์ หลังจากที่ปลดพระเจ้าโอลาฟที่ 2 ลงจากบัลลังก์ได้ใน ค.ศ. 1028 แต่โฮกุนกลับเสียชีวิตลงเสียก่อนด้วยอุบัติเหตุเรือล่มที่เพนท์แลนด์ฟิฟฟ์ (ตั้งอยู่ระหว่างหมูเกาะออร์กนีย์ และแนวชายฝั่งสกอตแลนด์) ในช่วงปลาย ค.ศ. 1029 หรือต้น ค.ศ. 1030[61]

หลังจากการเสียชีวิตของโฮกุน พระเจ้าโอลาฟที่ 2 ทรงเสด็จกลับมายังนอร์เวย์พร้อมกองทัพของผู้ภักดีและชาวสวีดจำนวนหนึ่ง พระองค์ทรงถูกกองกำลังชาวนอร์เวย์ปลงพระชนม์ในยุทธการที่สติกเคิลสตาด (Battle of Stiklestad) ความพยายามหลังจากนั้นของพระเจ้าคนุตในการปกครองนอร์เวย์โดยไม่มีการสนับสนุนจากเอิร์ลแห่งเลด ผ่านทางเอลฟ์จิฟูแห่งนอร์แธมตัน พระมเหสี และพระราชโอรสองค์โตที่ประสูติแต่พระนาง เจ้าชายสเวน คนุตสัน ไม่ประสบความสำเร็จ ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นที่รู้จักในนอร์เวย์ว่า รัชสมัยของเอลฟ์จิฟู (Aelfgifu's Time) ซึ่งมีการเก็บภาษีอย่างหนัก การก่อกบฎ และนำไปสู่การฟื้นฟูราชวงศ์นอร์เวย์เดิมภายใต้การนำของพระเจ้ามักนุสผู้ทรงธรรม พระราชโอรสนอกสมรสของพระเจ้าโอลาฟที่ 2

การสวรรคตและการล่มสลายของจักรวรรดิ แก้

พระเจ้าคานุตสวรรคตในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1035 ที่ชาฟท์สบรีในดอร์เซ็ต พระชนมพรรษาราว 40 พรรษา และถูกฝังที่มหาวิหารวินเชสเตอร์ ในวินเชสเตอร์ อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรเวสเซ็กซ์ของชาวแซ็กซันและเป็นเมืองที่พระองค์เคยอาศัยอยู่

โชคร้ายที่โอรสของคานุตไม่สามารถทำได้เช่นพระบิดา หลังการสวรรคตของพระองค์ อาณาจักรแองโกลสแกนดิเนเวียก็เริ่มสลาย โอรสของเอลฟ์จิฟู แฮโรลด์ ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษแต่สวรรคตในปี ค.ศ.1040 ต่อมาฮาร์ธาคนุตปกครองได้เพียงสองปีก่อนสวรรคตเช่นกัน

ไม่มีพระราชบุตรของคานุตพระองค์ใดที่มีทายาท โอรสของเอ็มม่ากับเอเธลเร็ด เอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ จึงเสด็จกลับจากนอร์ม็องดีเพื่อสืบทอดบัลลังแห่งอังกฤษในปี ค.ศ.1042

การอภิเษกสมรสและพระราชบุตร แก้

  1. เอลฟ์จิฟูแห่งนอร์แธมตัน
  2. เอ็มม่าแห่งนอร์ม็องดี

หมายเหตุ แก้

  1. พระราชมารดาของพระเจ้าคนุตยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงในวงการประวัติศาสตร์ บางทฤษฎีบอกว่าคือพระนางกันฮิลด์แห่งเว็นเด็น อีกทฤษฎีบอกพระนางไม่มีตัวตนหรือขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ นักพงศวดารยุคกลาง เทตมาร์แห่งมาเซิลเบิร์ก (Thietmar of Merseburg) และ อดัมแห่งเบรเมิน (Adam of Bremen) บันทึกไว้ว่าพระเจ้าคนุตทรงเป็นพระราชโอรสในเจ้าหญิงโปแลนด์ ผู้เป็นพระราชธิดาในดยุกมิเอสโกที่ 1 แห่งโปแลนด์ และพระขนิฐาในพระเจ้าโบเลสวัฟที่ 1 ผู้กล้าหาญ พระองค์อาจจะมีพระนามว่า "สเวโตสลาวา" (Świętosława) (ดูเพิ่มที่: ซิกริด สตอราดา): ซึ่งถูกเชื่อมโยงเข้ากับการที่มีทหารโปแลนด์ร่วมกองทัพของพระองค์เมื่อครั้งการพิชิตอังกฤษ และพระนามของพระขนิฐาของพระองค์ซึ่งเป็นภาษาสลาฟ สามารถเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Santslaue Encomiast, Encomium Emmae, ii. 2, p. 18; Thietmar, Chronicon, vii. 39, pp. 446–47; Trow, Cnut, p. 40. Lawson 2010 เขียนไว้ว่าไม่มีผู้ใดทราบพระนามของพระนาง

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Somerville & McDonald 2014, p. 435.
  2. Adam of Bremen, Gesta Daenorum, scholium 37, p. 112.
  3. Lawson, Cnut, p. 121
  4. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 149
  5. Trow, Cnut, pp. 30–31.
  6. Snorri, Heimskringla, The History of Olav Trygvason, ch. 34, p. 141
  7. Adam of Bremen, History of the Archbishops of Hamburg-Bremen, Book II, ch. 37; see also Book II, ch. 33, Scholion 25
  8. Snorri, Heimskringla, The History of Olav Trygvason, ch. 91, p. 184
  9. Trow, Cnut, p. 44.
  10. Douglas, English Historical Documents, pp. 335–36
  11. Lawson, Cnut, p. 160.
  12. Trow, Cnut, p. 92.
  13. John, H., The Penguin Historical Atlas of the Vikings, Penguin (1995), p. 122.
  14. Ellis, Celt & Saxon, p. 182.
  15. William of Malms., Gesta Regnum Anglorum, pp. 308–10
  16. 16.0 16.1 16.2 Sawyer, History of the Vikings, p. 171
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 17.6 Lawson, Cnut, p. 27
  18. 18.0 18.1 Lawson, Cnut, p. 49.
  19. Trow, Cnut
  20. Garmonsway, G.N. (ed. & trans.), The Anglo-Saxon Chronicle, Dent Dutton, 1972 & 1975, Peterborough (E) text, s.a. 1015, p. 146.
  21. Campbell, A. (ed. & trans.), Encomium Emmae Reginae, Camden 3rd Series vol. LXXII, 1949, pp. 19–21.
  22. G. Jones, Vikings, p. 370
  23. 23.0 23.1 Trow, Cnut, p. 57.
  24. Lawson, Cnut, p. 161
  25. Lawson, Cnut, p. 28.
  26. Anglo-Saxon Chronicles, pp. 146–49.
  27. Trow, Cnut, p. 59.
  28. 28.0 28.1 28.2 28.3 Lawson 2004, p. 28.
  29. Anglo-Saxon Chronicles, pp. 148–50
  30. Anglo-Saxon Chronicles, pp. 150–51
  31. Anglo-Saxon Chronicles, pp. 151–53
  32. Anglo-Saxon Chronicles, pp. 152–53; Williams, A., Æthelred the Unready the Ill-Counselled King, Hambledon & London, 2003, pp. 146–47.
  33. Stenton 1971, p. 393.
  34. Lawson 2004, pp. 82, 121, 138.
  35. 35.0 35.1 35.2 Forte, Oram & Pedersen 2005, p. 198.
  36. 36.0 36.1 Anglo-Saxon Chronicles, p. 154
  37. Lawson 2004, pp. 51–52, 163.
  38. Lawson 2004, p. 83.
  39. Lawson 2004, p. 162.
  40. 40.0 40.1 Lawson 2004, p. 89.
  41. Thietmar, Chronicon, vii. 7, pp. 502–03
  42. Lawson 2004, p. 90.
  43. Graham-Campbell et al. 2016, p. 3.
  44. Coke & Hargrave 1853, p. 20.
  45. Richards 2010, pp. 137–156.
  46. Jones, Vikings, p.373
  47. Bartlett 2016, p. 44.
  48. Lawson 2004, pp. 65–66.
  49. 49.0 49.1 49.2 Lawson 2004, p. 97.
  50. Lawson 2004, pp. 124–125.
  51. 51.0 51.1 51.2 Trow, Cnut, p. 193.
  52. Lawson 2004, p. 125.
  53. 53.0 53.1 Trow, Cnut, p. 189.
  54. Lawson 2004, p. 104.
  55. 55.0 55.1 Trow, Cnut, p. 191.
  56. Lawson 2004, pp. 95–98.
  57. Lawson 2004, pp. 97–98.
  58. Lawson 2004, p. 49.
  59. Lawson 2004.
  60. Trow, Cnut, p. 197.
  61. Forte, Oram & Pedersen 2005, pp. 196–197.

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าคนุตมหาราช

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า พระเจ้าคนุตมหาราช ถัดไป
พระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2    
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
(ราชวงศ์นีทลินกา)

(ค.ศ. 1016 – 1035)
  พระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุต
พระเจ้าฮารัลด์ที่ 2    
พระมหากษัตริย์เดนมาร์ก
(ราชวงศ์นีทลินกา)

(ค.ศ. 1018 – 1035)
  พระเจ้าฮาร์ธาคนุต
พระเจ้าโอลาฟที่ 2    
พระมหากษัตริย์นอร์เวย์
(ค.ศ. 1028 – 1035)
  พระเจ้ามักนุสผู้ทรงธรรม