พระองค์เจ้าทับทิม

พระอัครมเหสีกรุงศรีอยุธยา

พระองค์เจ้าทับทิม, เจ้าติ่ง[1] หรือออกพระนามว่า เจ้าครอกจันทบูร เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี และเป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา พระองค์เจ้าทับทิมมีพระชนม์ชีพยาวนานจนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์เสด็จลี้ภัยไปเมืองจันทบุรี และได้รับการอนุเคราะห์จากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและประทับอยู่ในราชสำนักธนบุรี[2]

พระองค์เจ้าทับทิม
พระอัครมเหสี
พระสวามีสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
พระมารดาพระสนมไม่ปรากฏนาม
ศาสนาพุทธ

พระประวัติ แก้

พระองค์เจ้าทับทิม เป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กจากทั้งหมดห้าพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ประสูติแต่พระสนมไม่ปรากฏพระนาม[1][3][4] ทั้งนี้พระมารดาของพระองค์เป็นเครือญาติของพระยาจันทบุรี[5]

ต่อมาพระองค์เจ้าทับทิมได้ถวายตัวแก่สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในตำแหน่งพระอัครมเหสี[6] แต่ไม่ปรากฏพระนามพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน[7]

ในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์เจ้าทับทิมพาพวกข้าไทอพยพลี้ภัยสงครามไปเมืองจันทบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปตีเมืองจันทบุรีก็ทรงพบพระองค์เจ้าทับทิม แล้วทรงรับมาไว้ในพระอุปการะ ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า[8]

"...ในเขตแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้ เหมือนดุจสัตถันดรกัล์ปและทุพภิกขันดรกัล์ป และพระราชวงศานุวงศ์ ซึ่งเหลืออยู่พม่ามิได้เอาไปนั้น ตกอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นก็มีบ้าง ที่หนีไปเมืองอื่นนั้นก็มีบ้าง และเจ้าฟ้าสุริยา 1 เจ้าฟ้าพินทวดี 1 เจ้าฟ้าจันทวดี 1 พระองค์เจ้าฟักทอง 1 ทั้ง 4 พระองค์นี้ เป็นราชบุตรีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง 1 หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร 1 หม่อมเจ้ามณีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดี 1 หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจีด 1 เจ้าทั้งนี้ตกอยู่กับพระนายกอง ณ ค่ายโพธิ์สามต้น อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิมบุตรีสมเด็จพระอัยกานั้น พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้..."

ภายหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพตีค่ายโพธิ์สามต้นแตก อันเป็นที่สิ้นสุดสงครามกู้กรุงศรีอยุธยา พระองค์ก็ทรงอุปการะเจ้าหญิงอยุธยามาไว้ในราชสำนักธนบุรี และมีรับสั่งให้จัดที่ประทับแก่เจ้านายตามสมควร[9] ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า[8]

"...อนึ่ง ซึ่งพระขัตติยวงศ์ครั้งกรุงเก่านั้น บรรดาเจ้าหญิงทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงไว้ในพระราชวัง และเจ้าฟ้าสุริยา เจ้าฟ้าจันทวดี สองพระองค์นั้นดับสูญสิ้นพระชนม์ ยังอยู่แต่เจ้าฟ้าพินทวดี พระองค์เจ้าฟักทอง พระองค์เจ้าทับทิม ซึ่งเรียกว่าเจ้าครอกจันทบูรนั้น และเจ้ามิตร บุตรีกรมพระราชวัง โปรดให้ชื่อ เจ้าประทุม หม่อมเจ้ากระจาด บุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร โปรดให้ชื่อ เจ้าบุปผา กับหม่อมเจ้าอุบล บุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมเจ้าฉิม บุตรีเจ้าฟ้าจีด ทั้งสี่องค์นี้ทรงพระกรุณาเลี้ยงเป็นห้าม..."

พระองค์เจ้าทับทิมสิ้นพระชนม์ลงเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐาน

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 361
  2. "พระราชวงศ์และตระกูลอันเป็นเชื้อพระวงศ์". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 622
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, หน้า 420
  5. "สงครามกู้อิสรภาพจากพม่า". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, หน้า 421
  7. คำให้การขุนหลวง วัดประดู่ทรงธรรม, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 280
  8. 8.0 8.1 ปรามินทร์ เครือทอง (7 มกราคม 2563). ""ท้องกับเจ๊ก" การเมืองราชสำนักฝ่ายใน เรื่องซุบซิบเจ้าหญิงอยุธยาในพระเจ้าตากสินฯ". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. กรุงเทพฯ มาจากไหน ?, หน้า 70
บรรณานุกรม
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548. 216 หน้า. ISBN 974-323-436-5
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 488 หน้า. ISBN 978-616-514-650-0