พระสุนทรราชเดช (แข้ ปะทุมชาติ)

ขุนนางชาวสยาม

อำมาตย์ตรี พระสุนทรราชเดช นามเดิม แข้ ปะทุมชาติ[หมายเหตุ 1] เป็นขุนนางชาวสยาม ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร คนที่ 3 เป็นบุตรของท้าวจันทร์ชมภู (ทุน) กรมการเมืองยะโสธร อันสืบเชื้อสายเจ้านายราชวงศ์เเสนทิพย์นาบัวจากเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภู)

อำมาตย์ตรี พระสุนทรราชเดช
(แข้ ปะทุมชาติ)
ผู้ว่าราชการเมืองยโสธร
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2440 - พ.ศ. 2456
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้านายร้อยโท ขุนราญอริพล (สอน)
ถัดไปยุบเมืองยะโสธรลงเป็นอำเภอปจิมยะโสธร และอำเภออุทัยยะโสธร จังหวัดอุบลราชธานี มณฑลอีสาน
ผู้ช่วยราชการเมืองยโสธร
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2438 - พ.ศ. 2440
ก่อนหน้าหลวงศรีวรราช
ถัดไปไม่มี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดเมืองยะโสธร
เสียชีวิตเมืองอุบลราชธานี
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสไม่ทราบข้อมูล
บุตรไม่ทราบข้อมูล
บุพการี
สกุลปะทุมชาติ

รับราชการเมืองยะโสธร แก้

พ.ศ. 2437 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จขึ้นมาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ประทับที่เมืองอุบลราชธานี ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายร้อยโทสอน เป็นที่ข้าหลวงจัดราชการเมืองยะโสธร และตั้งให้อุปราช (แก่) ขึ้นเป็นที่พระสุนทรราชเดช ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร คนที่ 1 ตั้งให้ราชบุตร (หนู / หุน) ขึ้นเป็นที่ราชวงศ์เมืองยะโสธร และตั้งให้ท้าวขัติยะ (แข้) ผู้ช่วยพิเศษ ขึ้นเป็นที่ราชบุตรเมืองยะโสธร

พ.ศ. 2438 พระสุนทรราชเดช (แก) ถึงแก่อนิจกรรมลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้นายร้อยโทสอน ขึ้นเป็นที่ขุนราญอริพล (สอน) ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร คนที่ 2 และตั้งให้ท้าวขัติยะ (แข้) ขึ้นเป็นที่หลวงศรีวรราช ผู้ช่วยราชการเมืองยะโสธร

พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จขึ้นมาประทับที่เมืองยะโสธร ทรงโปรดเกล้าฯ

  • ราชวงศ์เมืองยะโสธร (ทองดี โพธิ์ศรี) เป็นที่ หลวงยศไกรเกรียงเดช ตำแหน่งยกบัตรเมืองยะโสธร
  • ท้าวโพธิสาร (ตา ไนยกุล) เป็นที่ หลวงยศเยศร์รามฤทธิ์ ตำแหน่งนายอำเภออุทัยยะโสธร
  • ท้าวสิทธิสาร (สมเพศ) เป็นที่ หลวงยศวิทยธำรง ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองยะโสธร
  • เมืองจันทร์ (ฉิม) เป็นที่ หลวงยศเขตรวิมลคุณ ตำแหน่งนายอำเภอปจิมยะโสธร

พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองยโสธรจึงถูกจัดอยู่ในมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งกองบัญชาการมณฑลที่เมืองอุบลราชธานี และ พ.ศ. 2445 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้

  • ซานนท์ (ชาย) เป็นที่ หลวงยศอดุลผลิตเดช ตำแหน่งพลเมืองยะโสธร

กบฏผีบุญผีบาป แก้

พ.ศ. 2443 เกิดกบฎผีบุญผีบาปขึ้นจนเป็นที่เล่าลือกันทั่วทั้งมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือว่า ผู้มีบุญจะมาเกิดเพื่อปราบยุคเข็ญ โดยให้ชาวบ้านทำบุญ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม เพราะโค กระบือ สุกร จะกลายเป็นยักษ์มากินคนบาป ฟักทอง ฟักเขียว จะกลายเป็นสัตว์ร้ายมาทำอันตรายมนุษย์ หินแร่จะกลายเป็นทองคำ ทองคำจะกลายเป็นหิน จนมีผู้คนหลงเชื่อมากมายนำโค กระบือ สุกรไปฆ่าทิ้ง ทำลายต้นฟักทองฟักเขียวจนหมดสิ้น และทองคำก็นำไปทิ้งลงแม่น้ำชีบริเวณพระธาตุเก่า (ปัจจุบันคือ วัดพระธาตุเก่า ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร) แล้วเก็บเอาหินแร่ที่เมืองเสลภูมิมาบูชาหวังจะให้กลายเป็นทองคำ

ในเหตุการณ์นี้ได้มีผู้ตั้งตนเป็นผีบุญอยู่หลายคน แสดงตนเป็นพระยาธรรมิกราช เคร่งครัดในพระพุทธศาสนา มีฤทธิ์ดำดินบินบนล่องหนหายตัว อาทิ พระครูอินทร์บ้านหนองอีตุ้ม พระครูอนันตนิคมเขตวัดสิงห์ท่า องค์ผ้าขาวบ้านหนองแซง องค์มั่นบ้านสะพือ องค์พรหมมาบ้านแวง และองค์ลิ้นก่าน เป็นต้น มีผู้นิยมเข้าพวกผีบุญเป็นจำนวนมาก และรวมตัวกันเป็นกองทัพพร้อมอาวุธเข้าโจมตีเมืองอุบลราชธานี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงขอกองทัพจากกรุงเทพฯ ปราบปรามกบฏผีบุญผีบาป จับตัวผีบุญทั้งหลายไปจองจำ และประหารชีวิตที่ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลราชธานี กบฏผีบุญผีบาปจึงสงบลง

เสด็จตรวจราชการเมืองยะโสธร แก้

วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่ง 20 นาที พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ทรงเสด็จจากที่ประทับแรมพลับพลาบ้านนากอก แขวงเมืองมุกดาหาร ข้ามป่าดงบังอี่มายังเมืองยโสธร เวลาเช้า 5 โมงถึงตำบลกุดเชียงหมี ระยะทาง 180 เส้น มีที่พักแรม รวมระยะทางวันนี้ 480 เส้น มีข้าราชการมณฑลอีสานมารับคือ หลวงสถานบริรักษ์ กรมวัง และพระอุบลเดชประชารักษ์ ปลัดรักษาราชการเมือง พระอุบลศักดิ์ประชาบาล ยกกระบัตรเมืองอุบลราชธานี และกรมการอำเภอต่าง ๆ หลายนาย

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักแรมตำบลกุดเชียงหมี ข้ามลำน้ำเซแดนเมืองเสนางคนิคมกับแดนเมืองยโสธรต่อกัน แล้วเข้าทางเขตบ้านฮ่องแซง (ตำบลห้องแซง) ถึงปากดงภูสะมากัง หรือบ้านคำบอน เวลาเช้าโมงครึ่งกับ 25 นาที ระยะทาง 258 เส้นมีที่พักร้อน ชาวบ้านมาหา ซึ่งชาวบ้านนี้เป็นผู้ไทยเดินมาจากเมืองตะโปน เวลาเช้า 3 โมงครึ่ง เดินทางต่อมาเข้าดงสะมากัง เป็นดงมีไม้งาม ๆ และมีไม้ยมผาอย่างไม้ทำหีบบุหรี่ฝรั่ง เป็นดงเล็กกว่าดงบังอี่ และหนทางเรียบร้อยดี เวลาเช้า 5 โมงพ้นดงสะมากัง ถึงที่พักแรมตำบลบ้านส้มพ้อ (ตำบลส้มผ่อ) ระยะทาง 260 เส้น รวมระยะทางวันนี้ 516 เส้น นายร้อยเอกหลวงสมรรถสรรพยุทธ ข้าหลวงโยธามณฑลอีสานมาคอยรับ

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักแรมบ้านส้มพ้อมาตามเขตบ้านนาฮีแล้วเข้าเขตบ้านคำไหล ระยะทาง 306 เส้น ถึงที่พักร้อนเวลาเช้าโมงหนึ่งกับ 45 นาที เวลาเช้า 3 โมงออกจากที่พักร้อนออกจากเขตบ้านคำไหลเข้าเขตบ้านตาสืม แล้วถึงบ้านนาซึมที่พักแรมเวลาเช้า 3 โมง 50 นาที ระยะทาง 211 เส้น รวมระยะทางวันนี้ 515 เส้น

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่งออกจากที่พักแรมบ้านนาซึมทางมาเป็นโคกไม้เล็ก ๆ หนทางที่ตัดแลดูแต่ไกลเห็นทิวไม้สองข้างทางข้างหน้าซึ่งงามดี และที่ริมหนทางที่มามีที่นาดี ๆ เป็นอันมาก เมื่อเวลาออกจากบ้านนาซึมเข้าเขตบ้านนาโป่ง และบ้านเผือฮี มีสระน้ำริมทางแล้วเข้าเขตบ้านนาซวยใหญ่ บ้านนาซวยน้อย ถึงบ้านนาสีนวลที่พักร้อนเวลาเช้า 2 โมง ระยะทาง 377 เส้น เวลาเช้า 3 โมง ออกจากบ้านนาสีนวล พ้นเขตบ้านนาสีนวลมาเข้าเขตบ้านหนองสรวง บ้านหนองแวง และบ้านคำหม้อ ถึงเมืองยโสธร เวลาเช้า 4 โมงครึ่ง ระยะทาง 266 เส้น รวมระยะทางวันนี้ 643 เส้น มีหลวงศรีวรราช (แข้) ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร และหลวงยศไกรเกรียงเดช (ทองดี) ยกกระบัตรเมืองยะโสธร พร้อมกรมการเมืองยะโสธรคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่

ในการที่มามณฑลอีสานคราวนี้ อยากจะไปเฝ้ากรมขุนสรรพสิทธิที่เมืองอุบล แต่เป็นการขัดข้องด้วยข้าหลวงปักปันแดนกับฝรั่งเศสจะประชุมกันที่เมืองอุบล กรมขุนสรรพสิทธิท่านทรงติดพระธุระกับแขกเมือง จะไปเพิ่มความลำบากถวายหาควรไม่ จึงกะทางหลีกมาเสียเมืองยโสธรห่างเมืองอุบลอยู่ 2 วัน ฝ่ายกรมขุนสรรพสิทธิเดิมก็จะเสด็จมาพบที่เมืองยะโสธร แต่เผอิญเวลานี้ข้าหลวงปักปันเขตแดนอยู่ที่เมืองอุบลราชธานีจึงเสด็จมาไม่ได้ ได้แต่สนทนากันโดยทางโทรศัพท์ เวลาบ่าย 4 โมงไปที่วัดพระธาตุ มีพระเจดีย์เก่าเป็นรูปปรางค์องค์หนึ่ง พระครูยโสธราจารย์เป็นเจ้าอาวาส และไปวัดสิงทาและวัดธรรมหายโศก ที่วัดธาตุและวัดธรรมหายโศกมีนักเรียนร้องคำชัยมงคล ทำนองสรภัญญะ ซึ่งพระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลได้เรียบเรียงส่งมา แลวัดธรรมหายโศกเป็นวัดธรรมยุติกา เวลาค่ำ มีหลวงเถกิงรณกาจ ผู้บังคับการตำรวจภูธร ได้จัดแคนวงกรมตำรวจภูธรมณฑลอีสานมาเล่นเวลากินด้วย

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาเช้าโมงหนึ่ง ไปดูตลาดและหมู่บ้านในเมืองยโสธร ๆ นี้ตั้งอยู่บนเนินใกล้ลำน้ำพาชีที่ว่าใกล้นี้มิใช่ริมน้ำอย่างเมืองที่ตั้งตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลำน้ำทางมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดร อีสาน เช่น ลำน้ำพาชีนี้เป็นต้นน้ำไหลลงแม่น้ำโขง เวลาฤดูฝนน้ำในแม่น้ำโขงมาก น้ำในลำน้ำเหล่านี้ไหลลงแม่น้ำโขงไม่ได้ก็ท่วมตลิ่งที่ลุ่มเข้าไปลึก ๆ บ้านเรือนต้องตั้งพ้นที่น้ำท่วมจึงมักอยู่ห่างตลิ่ง แต่เมื่อฤดูแล้งน้ำลดแห้งขอดก็กลายเป็นอยู่ดอน หาน้ำยากเป็นอย่างนี้แทบทั้งนั้น เว้นแต่บางแห่งเช่นเมืองอุบลเพราะที่ริมแม่น้ำมูลตรงนั้นเป็นที่ดอน เมืองจึงอยู่ชิดลำน้ำ ที่เมืองยโสธรนี้มีถนนใหญ่เป็นทางสี่แยก ริมถนนใหญ่เป็นทางสี่แยก ริมถนนใหญ่มีร้านเป็นตึกดินอย่างโคราช มีพ่อค้าจีนและพ่อค้าไทยมาจากโคราชตั้งขายของต่าง ๆ ซึ่งนำมาจากเมืองนครราชสีมามากร้านด้วยกัน และมีผ้าม่วงหางกระรอกและโสร่งไหมซึ่งทำในพื้นเมืองมาขายบ้างบางร้านหมู่บ้านราษฎรก็แน่นหนา มีจำนวนพลเมืองทั้งสิ้นประมาณ 30,000 คน มีถนนเล็ก ๆ เดินถึงกันในหมู่บ้าน แต่เป็นที่มีฝุ่นมาก สินค้าพื้นเมืองยโสธรส่งไปขายเมืองนครราชสีมา มีหนัง เขา เร่ว ครั่ง และไหม ได้ความว่าใน ๕ ปีมานี้สินค้าไหมทวีมากขึ้น สินค้าฝั่งซ้ายมาทางเมืองมุกดาหารมาขายถึงเมืองยโสธร มียางกะตังกะติ้วบ้าง และยางกะตังกะติ้วนี้ได้มาจากเมืองหนองสูงข้างฝั่งขวาก็มี และมีพ่อค้าซื้อโคกระบือไปขายคราวหนึ่ง ตั้งแต่ 400 ถึง 500 บ้าง ลงทางดงพระยาไฟไปขายที่ปากเพรียวทางหนึ่ง ลงทางดงพระยากลางไปขายที่อำเภอสนามแจงแขวงเมืองลพบุรีทางหนึ่ง ลงทางช่องตะโกไปขายที่เมืองพนัสนิคม พนมสารคามและเมืองนครนายกทางหนึ่ง แต่เดิมลงทางช่องเสม็ด แต่เดี๋ยวนี้ใช้ลงทางช่องตะโก เพราะเป็นทางสะดวกกว่า พ่อค้าที่ไปปากเพรียวนำกระบือลงไปขายเป็นพื้น พ่อค้าที่ไปสนามแจงนำโคลงไปขาย พ่อค้าที่ไปมณฑลปราจีนบุรีมีกระบือ และโคคละไปด้วยบ้าง ฟังดูตามเสียงพ่อค้าว่าการนำโคลงไปขาย ได้กำไรมากกว่ากระบือเพราะโคเลี้ยงง่าย กระบือเมื่ออดน้ำมักจะเป็นอันตรายตามทาง เวลาเช้า 4 โมงครึ่งมีการประชุมบายศรี ผู้เฒ่าคนหนึ่งกล่าวคำชัยมงคลเป็นทำนองไพเราะ และวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2449 เวลาย่ำรุ่ง เสด็จออกจากที่พักแรมเมืองยะโสธรไปยังเมืองเสลภูมิ

ปฏิรูปการปกครอง แก้

พ.ศ. 2452 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเมืองเขมราฐ ลงเป็นอำเภออุทัยเขมราฐ ยุบอำเภอคำเขื่อนแก้วลงเป็นตำบลคำเขื่อนแก้ว และยุบอำเภอปจิมเขมราฐรวมกับอำเภออุทัยเขมราฐ ส่วนอำเภอที่อยู่ในเขตการปกครองเมืองเขมราฐเดิมนั้น ให้มารวมอยู่ในเขตการปกครองของเมืองยะโสธร รวม 6 อำเภอ ได้แก่

พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบอำเภอวารินทร์ชำราบ เมืองยะโสธร บริเวณอุบลราชธานี โดยให้ท้องที่ตำบลต่าง ๆ ของอำเภอวารินทร์ชำราบนั้น ไปรวมกับอำเภอพิมูลมังษาหาร และตำบลอีกส่วนหนึ่งไปรวมกับอำเภอบูรพูปลนิคม (อำเภอเมืองอุบลราชธานี)

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ผู้บัญชาการกองพลที่ 10 เสด็จขึ้นมาตรวจราชการที่เมืองยะโสธร และปีนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกมณฑลอีสาน เป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด โดยกำหนดให้มณฑลอุบลราชธานี มี 3 จังหวัด คือ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขุขันธ์ และจังหวัดสุรินทร์ จึงทำให้เมืองยะโสธรก็ถูกยุบลงเป็น 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปจิมยโสธร และอำเภออุทัยยะโสธร ส่งผลให้อำเภอต่าง ๆ ที่เคยขึ้นกับเมืองยะโสธร ถูกโอนย้ายให้อยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2456 กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่ออำเภอในจังหวัดอุบลราชธานีให้เหมาะสม การนี้จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภออุไทยยะโสธร เป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว และอำเภอปจิมยะโสธร เป็นอำเภอยะโสธร

ตำแหน่งและหน้าที่ แก้

  • ไม่ปรากฏ - พ.ศ. 2437 ท้าวขัติยะ
  • พ.ศ. 2437 - 2438 ราชบุตรเมืองยะโสธร
  • พ.ศ. 2438 - 2440 หลวงศรีวรราช ผู้ช่วยราชการเมืองยะโสธร
  • พ.ศ. 2440 - 2455 พระสุนทรราชเดช ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร
  • พ.ศ. 2455 - 2456 อำมาตย์ตรี กรมการพิเศษ อำเภอยะโสธร จังหวัดอุบลราชธานี

พระราชทานนามสกุล แก้

๏ ลำดับที่ 3289 ขอให้นามสกุลของอำมาตย์ตรี พระสุนทรราชเดช (แข้) กรมการพิเศษอำเภอยะโสธร จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อท้าวจันทร์ชมภู (ทุน) ตามที่ขอมานั้นว่า ปะทุมชาติ (เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า Padumajati) อันเป็นมงคลนาม

ขอให้สกุล ปะทุมชาติ มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน ๏๚ะ๛

ผลงาน แก้

  • พงศาวดารภาคอีสาน พ.ศ. 2472 ฉบับพระสุนทรราชเดช (แข้ ปะทุมชาติ)

หมายเหตุ แก้

  1. สำหรับชื่อตัวนั้น บ้างสะกดว่า "แข่" และบ้างเรียกด้วยคำนำหน้าว่า "ท้าว" เป็น "ท้าวแข้" หรือ "ท้าวแข่"

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า พระสุนทรราชเดช (แข้ ปะทุมชาติ) ถัดไป
นายร้อยโท ขุนราญอริพล (สอน)    
ผู้ว่าราชการเมืองยะโสธร คนที่ 3
(พ.ศ. 2440 - พ.ศ. 2456)
  ไม่มี