พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ (19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2419 – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495) เป็นพระธิดาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ประสูติแต่หม่อมชุ่ม ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา เมื่อประสูติมีพระยศที่ “หม่อมเจ้า”

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นตรี
ประสูติ19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2419
สิ้นพระชนม์9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 (75 ปี)
ราชสกุลศุขสวัสดิ์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช
พระมารดาหม่อมชุ่ม ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา

พระประวัติ

แก้

เมื่อพระชันษาได้ 3 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนาม ว่า “มนัศสวาสดิ์” ต่อมาในปี พ.ศ. 2430 เมื่อพระชันษาครบเกณฑ์เกศากันต์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จเข้าในพระราชพิธีโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าภัทรายุวดี มีขบวนแห่รอบใน และได้สวมพระชฎาพระราชทานเป็นเกียรติยศในวันสมโภช เมื่อเกศากันต์แล้ว ได้เข้ารับราชการในพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

เมื่อปี พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงดำรงตำแหน่งมหาสวามินีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้ามนัศสวาสดิ์เข้าเป็นพนักงานสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ด้วยพระองค์หนึ่ง

เมื่อปี พ.ศ. 2443 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นพระอภิบาล ใน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ โดยได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงเจริญวัย สำเร็จการศึกษากลับจากต่างประเทศ ดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เสด็จออกวังประทับนอกพระบรมมหาราชวัง หม่อมเจ้ามนัศสวาสดิ์ก็ตามเสด็จไปประทับอยู่ด้วย เพื่อถวายงานดูแลกิจการในวัง แม้เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรเป็น “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว“ แล้ว หม่อมเจ้ามนัศสวาสดิ์ก็ยังทรงอยู่ถวายงานมิได้ขาด โดยเฉพาะการควบคุมห้องเครื่องต้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ทรงทำตลอดรัชกาล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะทรงทดแทนคุณูปการซึ่งได้มีมาแต่พระองค์ในหนหลัง กับทั้งให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศแด่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชโองการฯ ดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมเจ้ามนัศสวาสดิ์ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้า มีคำนำพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎ ว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ ทรงศักดินา 3,000 ตามพระราชกำหนดอย่างพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า นั้น

โดยที่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ มีพระหทัยมั่นคงที่จะปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณโดยมิได้คลาดคลาย มุ่งหมายเพื่อให้ทรงพระเกษมสุขสถาพรเป็นที่ตั้ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระเมตตารับอุปการะโดยประการต่าง ๆ อาทิ ให้สร้างวังพระราชทานบนที่ดินของกรมพระคลังข้างที่ ที่ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันคือ ที่ทำการของ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงให้จ่ายเงินพระคลังข้างที่สมทบบัญชีเงินพระราชานุเคราะห์ เพื่อจ่ายผลประโยชน์พระราชทานเป็นรายเดือนให้จนตลอดพระชนมายุ และอื่น ๆ เป็นต้น

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ ประชวรด้วยพระโรคชรา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 สิริพระชันษา 75 ปี ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานในสัตตมวารแรก และมีพิธีออกเมรุพระศพเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2496 ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม

พระเกียรติยศ

แก้
  • หม่อมเจ้ามนัศสวาสดิ์ ศุขสวัสดิ (19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2419 – พ.ศ. 2472)
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์[1] (พ.ศ. 2472 – ปัจจุบัน)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้
  • พ.ศ. 2463 – เข็มข้าหลวงเดิม[4]

อ้างอิง

แก้
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2021-06-01.
  2. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายใน เล่ม 38 หน้า 2476 ราชกิจจานุเบกษาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2464
  3. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัตยุบัน ฝ่ายใน เล่ม 27 หน้า 3100 ราชกิจจานุเบกษาวันที่ 19 มีนาคม 2453
  4. ราชกิจจานุเบกษา 2 มกราคม 2463 เล่ม 37 หน้า 3238 เรื่อง ส่งเข็มข้าหลวงเดิมสำหรับสตรีไปพระราชทานhttp://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2463/D/3238.PDF
  • กรมศิลปากร. รายการละเอียด พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร และเสด็จเลียบพระนคร ใน พระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2468. พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2496. (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 โปรดให้พิมพ์ในงานพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์).