พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์

พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2427 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2493) เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ประสูติแต่หม่อมหลวงผาด จักรพันธุ์[1] (ราชสกุลเดิม ปาลกะวงศ์; ธิดาของหม่อมราชวงศ์สุหร่าย ปาลกะวงศ์)[2]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นตรี
ประสูติ23 ตุลาคม พ.ศ. 2427
สิ้นพระชนม์20 มีนาคม พ.ศ. 2493 (65 ปี)
หม่อมหม่อมหลวงเลื่อน จักรพันธุ์
พระบุตรหม่อมราชวงศ์พงศ์พรหม จักรพันธุ์
หม่อมราชวงศ์หญิงสมพันธ์ จักรพันธุ์
หม่อมราชวงศ์หญิงวรรณแวว จักรพันธุ์
หม่อมราชวงศ์แก้วมณี จักรพันธุ์
ราชสกุลจักรพันธุ์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์
พระมารดาหม่อมหลวงผาด จักรพันธุ์
รับใช้กองทัพบกสยาม
ชั้นยศ พลโท

พระประวัติ

แก้

พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ เป็นพระโอรส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และหม่อมหลวงผาด (เสนีย์วงศ์) ประสูติที่พระราชวังเดิม (ฝั่งธนบุรี) ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2427

เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาหนังสือไทยกับหม่อมมารดา ต่อมาในปี 2440 เข้าทรงศึกษาในโรงเรียนนายร้อย จนจบหลักสูตรในปี 2444 แต่ปรากฏว่ายังมีพระชนม์น้อยอยู่ไม่ครบกำหนดที่ทางราชการจะบรรจุเพื่อรับพระราชทานยศเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้ สมเด็จพระบิดาจึงทรงขอร้องให้ทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนนายร้อยต่อไปอีก ภายหลังที่สมเด็จพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว ทางราชการจึงได้ส่งให้ไปทรงศึกษาวิชาทหารต่อที่ประเทศเยอรมนี ได้เข้าทรงศึกษาในโรงเรียนนายร้อย ณ เมืองโกร๊สลิชเตอร์เฟลเด้ (Gross Lichterfelde) ได้ทรงศึกษาจบหลักสูตรออกรับราชการเป็น แฟนริช (Fähnrich)[3] ในกรมทหารราบที่ 36 ของกองทัพบกเยอรมัน แล้วเข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนรบที่เมืองเอนอส ติดแม่น้ำไรน์ (Kriegsschule in Engers am Rhein) พอทรงศึกษาสอบไล่ได้จนจบหลักสูตรของโรงเรียนรบก็ทรงประชวรเป็นโรคปอดอักเสบต้องเข้ารักษาพระองค์อยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน เมื่อหายประชวรแล้วจึงเสร็จกลับประเทศไทย ทางราชการได้บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งว่าที่ร้อยตรีประจำกองร้อยที่ 4 กรมทหารบกราบกรมที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 และรับราชการทหารมาในตำแหน่งสำคัญๆ อาทิเช่น ราชองครักษ์เวร ผู้บัญชาการกองพลที่ 5 นครราชสีมา จนได้รับพระราชทานยศเป็นพลโท ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 ในช่วงปี 2471 - 2475 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ทรงย้ายไปรับราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพายัพ[4] และเป็นนายทหารกองหนุนสังกัดกรมจเรทหารบก

นอกจากตำแหน่งราชการประจำ ยังได้ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่พิเศษอื่นอีก อาทิ

  • พ.ศ. 2458 รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นองคมนตรี รัชกาลที่ 6
  • พ.ศ. 2469 รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นองคมนตรี รัชกาลที่ 7
  • พ.ศ. 2470 เป็นกรรมการองคมนตรี
  • พ.ศ. 2471 เป็นนายกกองอนุสภากาชาด มณฑลพายัพ และเป็นสภานายกกรรมการจัดการลูกกเสือมณฑลพายัพ

สถาปนาพระอิสสริยยศ

แก้

จากคำประกาศโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในพระสุพรรณบัฎ พ.ศ. 2466 [5]พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริห์ดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำรุงเลี้ยง…[หม่อมเจ้าทศศิริวงศ์]…มาตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จพระบิดาสิ้นพระชนม์เมื่อยังเยาว์ แลัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ศึกษาวิชาทหารบกได้เป็นนักเรียนนายร้อยเล่าเรียนวิชาความรู้ในโรงเรียนนายร้อยจนตลอดแล้ว โปรดฯ ให้ส่งไปเล่าเรียนวิชาทหารในประเทศเยอรมัน…จนสอบวิชาชั้นนายร้อยทหารบกของเยอรมันได้ แล้วกลับมารับราชการทหารบกได้รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ปรากฏความสามารถตั้งแต่เป็นนายร้อยในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และเป็นนายทหารในกรมสนาธิการ แล้วได้เป็นนายพันผู้บังคับกองพันกรมทหารมหาดเล็กและเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมโดยลำดับ...[ต่อมาพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น]...ผู้บังคับบัญชาการกองพลทหารบกที่ 3 ณ มณฑลอยุธยา แล้วเป็นผู้บังคับบัญชาการกองพลที่ 5 ณ มณฑลนครราชสีมา มีบำเหน็จความชอบได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลตรีและเป็นราชองครักษ์พิเศษ ต่อมาได้เลื่อนเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 4 ณ มณฑลราชบุรี...เพราะทรงคุณวุฒิปรีชาและมีความพากเพียรสม่ำเสมอ ได้รับตำแหน่งหน้าที่ใดก็สามารถจะทำงานการในหน้าที่นั้น ๆ ให้เรียบร้อยเจริญขึ้นทุกหน้าที่ จึงเป็นเหตุได้รับเลือกสรรในเวลาเมื่อต้องการผู้มีความสามารถไปรับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ ทุกคราวมา ข้อนี้เป็นเกียรติคุณอันสำคัญของหม่อมเจ้าทศศิริวงศ์ ในส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงคุ้นเคยทราบคุณวุฒิของหม่อมเจ้าทศศิริวงศ์มาตั้งแต่เมื่อเสด็จดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในรัชชกาลที่ 5 หม่อมเจ้าทศศิริวงศ์เคยอยู่ในบังคับบัญชาใกล้ชิด และมีความจงรักต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงนับว่าเป็นผู้สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยตั้งแต่ครั้งนั้นตลอดมา...บัดนี้...[หม่อมเจ้าทศศิริวงศ์]...ทรงเจริญไวยวุฒิปรีชาสามารถในราชกิจและรับราชการในตำแหน่งสำคัญอันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย กอปด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมั่นคง สมควรจะยกย่องเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระปิตุลาธิบดีพระองค์ใหญ่ได้อีกพระองค์หนึ่ง....”

พระองค์ทรงรับราชการเป็นทหารบก ทรงได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบก ที่ 4 จังหวัดราชบุรี และเป็นแม่ทัพกองทัพน้อยทหารบกที่ 1[6] และสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ[7] รวมถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการองคมนตรี ตั้งแต่ 2 กันยายน พ.ศ. 2470 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2474[8]

พระยศและตำแหน่ง

แก้
  • - ร้อยตรี
  • 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 - ร้อยเอก[9]
  • 26 เมษายน พ.ศ. 2452 - พันตรี[10]
  • - ผู้รั้งผู้บัญชาการกองพลที่ 3 มณฑลกรุงเก่า
  • 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 - พันเอก[11]
  • มิถุนายน พ.ศ. 2456 - ผู้บัญชาการกองพลที่ 5 มณฑลนครราชสีมา[12]
  • 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 - พลตรี[13]
  • 5 มิถุนายน พ.ศ. 2459 - ราชองครักษ์เวร[14]
  • 12 กุมภาพันธ์ 2461 – ราชองครักษ์พิเศษ[15]
  • กรกฎาคม 2462 – ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 4 มณฑลราชบุรี[16]
  • 23 ธันวาคม 2462 – นายหมวดเอก[17]
  • 30 มีนาคม 2462 – รั้งตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองเสนาน้อยรักษาดินแดนราชบุรี[18]
  • 26 เมษายน พ.ศ. 2469 - แม่ทัพกองทัพน้อยทหารบกที่ 1[19]
  • 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 - พลโท[20]

ครอบครัว

แก้

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ได้ทรงสมรสกับหม่อมหลวงเลื่อน สุทัศน์ บุตรีเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์คลี่ สุทัศน์และท่านผู้หญิงเผื่อน)[21] โอรสและธิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ มีดังนี้

บั้นปลายพระชนม์ชีพ

แก้

เมื่อได้ทรงออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญแล้ว ได้ทรงประชวรเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ถึงกับต้องเสด็จออกไปผ่าตัดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นับจากนั้นมาสุขภาพได้ทรุดโทรมลงกว่าก่อนเป็นอันมาก และในฤดูหนาวปี 2491 ได้ทรงประชวรพระโรคปอดบวมอย่างหนักอีกครั้งหนึ่ง เมื่อหายจากการประชวรครั้งนี้แล้ว สุขภาพของพระองค์ทรุดโทรมลงยิ่งขึ้น ได้มีโรคพระหทัยและพระวักกะพิการเพิ่มขึ้น ได้ทรงรับการรักษาพยาบาลตลอดมา พระอาการทรุดลงโดยลำดับ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สิ้นพระชนม์ในวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2493 เวลา 15.40 นาฬิกา สิริพระชันษา 65 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. จากหนังสือที่จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๙๓ (www.car.chula.ac.th)
  2. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  3. เป็นตำแหน่งนายทหารสัญญาบัตรของกองทัพออสเตรียและเยอรมัน
  4. สมุหเทศาภิบาลเป็นผู้บังคับบัญชาราชการฝ่ายปกครองในหัวเมืองมณฑล และเขตปกครองของมณฑลพายัพประกอบด้วยเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ ลำปาง และน่าน
  5. https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2466/D/2600.PDF
  6. กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร, ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ วังหลวง, ดอกหญ้า, 2549, ISBN 974-941-205-2
  7. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 45 หน้า 209 วันที่ 22 เมษายน 2471http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2471/D/209.PDF
  8. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2470/A/205.PDF
  9. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  10. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  11. ตั้งตำแหน่งยศนายทหารบก
  12. แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่องถอนแลตั้งตำแหน่งหน้าที่ราชการ
  13. พระราชทานยศนายทหารบก
  14. แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่องตั้งราชองครักษ์เวร (หน้า ๖๐๔)
  15. แจ้งความกรมราชองครักษ์ เรื่อง ตั้งราชองครักษ์พิเศษ
  16. แจ้งความของกระทรวงกลาโหม เรื่อง เลื่อนย้ายนายทหารรับราชการ
  17. "พระราชทานยศนายเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 3123. 11 มกราคม 1919.
  18. ประกาศกรมบัญชาการคณะเสือป่า
  19. แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่องเลื่อนย้ายนายทหารรับราชการกับออกจากประจำการ
  20. https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/D/744.PDF
  21. หนังสือพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๙๓ (www.car.chula.ac.th)
  22. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า เก็บถาวร 2022-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๒๗, ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๖
  23. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๑๐, ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓
  24. ราชกิจจานุเบกษา, รายพระนามและนามผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ เก็บถาวร 2022-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๖๕, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๕๙
  25. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรมาลา เก็บถาวร 2022-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๗๓๗, ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓
  26. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๙๑, ๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙
  27. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๑๘, ๑๑ มกราคม ๑๒๙
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๒๑, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๙
  29. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์
  30. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน้า 2420)
  31. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์