พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เป็นพงศาวดารสยามสมัยอาณาจักรอยุธยา เนื้อหาเริ่มตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาจนถึงปลายรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ ต้นฉบับเป็นใบลานรวม 17 ผูก เนื้อหาส่วนใหญ่คล้ายกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่น ๆ ที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น[1] แต่เนื้อหาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นไปแตกต่างจากพงศาวดารฉบับอื่น ๆ มาก สันนิษฐานว่าส่วนนี้เขียนขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง[2]
ประวัติ
แก้ปี พ.ศ. 2451 นายจิตรได้มอบพระราชพงศาวดารฉบับนี้ให้หอพระสมุดวชิรญาณ โดยอุทิศในนามของพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เจ้ากรมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ผู้เป็นบิดา ระยะแรกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณในขณะนั้น ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นฉบับเดียวกับพระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล เพราะเนื้อหาตอนต้นตรงกัน ภายหลังทรงตรวจสอบอีกครั้งจึงพบว่าเนื้อความตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชต่างกับฉบับอื่น ๆ มาก ความแตกต่างนี้ทรงสันนิษฐานว่าไม่ใช่โดยแทรกเพิ่มเติมหรือแก้ไขในภายหลัง แต่ต่างมาตั้งแต่เมื่อแต่งเนื้อเรื่อง[3] จึงโปรดให้พิมพ์เฉพาะส่วนที่ไม่ตรงกันนั้นออกเผยแพรในชื่อ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 8 พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) เป็นเจ้าภาพพิมพ์ครั้งแรกเพื่อแจกในงานศพคุณหญิงศรีภูริปรีชา (พึ่ง) ในปี พ.ศ. 2460[4]
ต่อมากรมศิลปากรจึงได้จัดพิมพ์พระราชพงศาวดารฉบับนี้อีกครั้ง เป็นฉบับสมบูรณ์ครั้งแรกในชื่อ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) โดยสอบเทียบพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา และทำเชิงอรรถกำกับส่วนที่ต่างกัน[5] พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร) ในปี พ.ศ. 2502 ถึงปี พ.ศ. 2507 กรมศิลปากรจึงนำมาพิมพ์อีกครั้ง โดยนำพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เฉพาะตอนที่เกี่ยวกับสมัยกรุงศรีอยุธยามาพิมพ์รวมด้วย มีชื่อว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)
ต่อมาองค์การค้าของคุรุสภาได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรให้พิมพ์พระราชพงศาวดารฉบับนี้จำหน่ายในปี พ.ศ. 2533 โดยแยกเป็น 2 เล่มจบ โดยเล่ม 1 จบความที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต[6] ส่วนเล่ม 2 ดำเนินความที่เหลือต่อจนจบพระราชพงศาวดาร
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ภาษาไทย-เขมร, หน้า 24
- ↑ ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, หน้า 9
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘, คำนำ หน้า (๔)-(๕)
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘, คำนำ หน้า (๑๑)
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม ๑ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด), คำนำ
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม ๑ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด), หน้า 200
- บรรณานุกรม
- ศานติ ภักดีคำ "บทนำ ว่าด้วยการชำระพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา." ใน อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ศานติ ภักดีคำ, (บรรณาธิการ). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ภาษาไทย-เขมร. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการสมาคมวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา, 2552.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2523. 89 หน้า.
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย, 2460. 120 หน้า. หน้า (๑)-(๑๑). [พิมพ์แจกในงานศพคุณหญิงศรีภูริปรีชา]
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม ๑ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2541. 200 หน้า. หน้า คำนำ. ISBN 974-419-130-9
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด)