พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
มหาอำมาตย์ตรี[1] พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (12 มีนาคม พ.ศ. 2423 – 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491) นักการศึกษา ผู้บัญชาการ (อธิการบดี) คนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (6 เมษายน พ.ศ. 2460 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2468) [2]และผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ผู้แต่งหนังสือเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งหนังสือชุดธรรมจริยาเล่ม 1 และ 2
พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) | |
---|---|
พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) | |
ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | |
ดำรงตำแหน่ง 6 เมษายน พ.ศ. 2460 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2468 | |
ก่อนหน้า | สถาปนามหาวิทยาลัย |
ถัดไป | พระยาภะรตราชา |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | สันทัด 12 มีนาคม พ.ศ. 2423 ตำบลสะพานหัน อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 (67 ปี) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
ศาสนา | เถรวาท |
คู่สมรส | คุณหญิงแฉล้ม เทพหัสดิน ณ อยุธยา |
บุพการี |
|
ญาติ | เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (พี่ชาย) และมีพี่น้องต่างมารดาอีก 30 ท่าน |
ศิษย์เก่า | โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์และสอบประกาศนียบัตรครูฝ่ายภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
อาชีพ | ข้าราชการ |
ประวัติ
แก้พระยาอนุกิจวิธูรเกิดที่บ้านตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 2 ของพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) และคุณหญิงอยู่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่ออายุได้ 2 ขวบท่านบิดาได้ถึงแก่อนิจกรรมในขณะที่พี่ชายมีอายุเพียง 6 ขวบ ภาระหนักจึงอยู่กับท่านมารดาในการเลี้ยงดูและให้การศึกษาด้วยการรับจ้างเย็บปักถักร้อยและค้าขายที่มีรายได้เพียงเล็กน้อย
การศึกษา
แก้เด็กชายสนั่นผู้พี่มีนิสัยรักการเรียนมาแต่เด็กได้ถ่ายความรู้ให้กับเด็กชายสันทัดผู้น้องเป็นการเริ่มต้นไปด้วยจนถึงขั้นอ่านออกเขียนได้ก่อนที่จะไปเรียนกับมหาหนอ (ขุนอนุกิจวิธูร) ที่วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) ใกล้บ้าน เมื่ออายุ 11 ปี ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่เวรฤทธิ์ รับใช้ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเป็นว่า 2 ปี ก่อนเป็นมหาดเล็กปกติ ในปีเดียวกันก็สอบได้ภาษาไทยประโยค 1 เพื่อเข้าเรียนต่อในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์และสอบประกาศนียบัตรครูฝ่ายภาษาไทยได้เมื่อ พ.ศ. 2438 ในวันที่ 10 กันยายน 2463 พระยาอนุกิจวิธูร สอบไล่ (จบการศึกษา) จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในขณะนั้นเรียก แผนกคุรุศึกษา) พร้อมกับ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ขณะดำรงตำแหน่ง ปลัดกรมตำรา และ พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ขณะดำรงตำแหน่ง ครูโรงเรียนนายร้อยทหารบก พร้อมกับได้รับเข็มหมายอักษร ค[3]
การรับราชการ
แก้เมื่อสอบได้แล้วจึงเข้ารับราชการเป็นครูโรงเรียนสายสวลีสัณฐาคารในตำแหน่งครูใหญ่[4]ทั้งที่มีอายุเพียง 16 ปี ทั้งนี้โดยการคัดเลือกของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) อธิบดีกรมศึกษาธิการในขณะนั้น และในปีเดียวกัน นายสนั่นพี่ชายซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ก็ได้รับเลือกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
ใน พ.ศ. 2443 เมื่อกรมศึกษาธิการวางระเบียบการแบ่งแขวงการศึกษาในกรุงเทพฯ ขุนอนุกิจวิธูรก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายตรวจแขวงกลางพระนครและได้เลื่อนเป็นนายตรวจใหญ่ของกรมศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. 2445 ขณะดำรงตำแหน่งได้ไปดูงานการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 เดือนโดยร่วมไปกับคณะของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีครั้งยังเป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ทูตพิเศษที่ไปรับเสด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร (ร. 6) ที่ทรงเสด็จกลับจากการสำเร็จการศึกษาในประเทศอังกฤษผ่านญี่ปุ่นโดยไปกับเรือพระที่นั่งมหาจักรี ข้าหลวงชุดนี้ประกอบด้วยหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ขุนอนุกิจวิธูร (พระยาอนุกิจวิธูร)[5]และนายอ่อน สาริกบุตร (พระยาชำนิบรรณาคม) การดูงานครั้งนี้ได้เห็นวิธีการจัดการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นอย่างกว้างขวางมาก เนื่องจากกระทรวงศึกษาญี่ปุ่นได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำคอยให้การช่วยเหลือแนะนำตลอดเวลา
ระหว่าง พ.ศ. 2446 – พ.ศ. 2455 พระยาอนุกิจวิธูรได้เลื่อนตำแหน่งจากนายตรวจใหญ่กรมศึกษาธิการเป็นข้าหลวงธรรมการมณฑลกรุงเก่าคนแรก[6]เป็นผู้ช่วยเจ้ากรมกรมตรวจกระทรวงธรรมการ อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนราชวิทยาลัย ปลัดกรมตรวจการกระทรวงธรรมการและหัวหน้าข้าหลวงตรวจการ กระทรวงธรรมการมาเป็นลำดับ พ.ศ. 2456 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุกิจวิธูรและได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหัตถกรรม กรมศึกษาธิการ คู่กับพระโอวาทวรกิจที่ได้ตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการพณิชการตามนโยบายส่งเสริมการศึกษาด้านวิสามัญที่เริ่มขึ้นในปีนั้น โรงเรียนฝึกการหัตถกรรมที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเตรียมครูด้านนี้ได้กลายเป็นต้นกำเนิดโรงเรียนเพาะช่างในเวลาต่อมา หลวงวิศาลศิลปกรรมได้เล่าว่า "พระยาอนุกิจวิธูร ได้พยายามรวบรวมช่างต่าง ๆ มารวมกัน โดยเฉพาะช่างถม เมื่อได้รับตำราถมนครมาจากพระยาเพชรปราณี (ดั่น รักตประจิต) ซึ่งมีความรู้วิชาถมบ้านพานมาร่วมด้วย เราช่วยกันคิดหาวิธีปรับปรุงการช่างถมให้ดีขึ้น ในที่สุดผมจึงคิดวิธีลงยาถมโดยใช้กรดกัดได้สำเร็จ ดังที่เรียกว่า ถมจุฑาธุธ ทุกวันนี้ งดงามกว่าถมบ้านพาน"[7]
ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แก้ระหว่าง พ.ศ. 2457 – พ.ศ. 2459 พระยาอนุกิจวิธูรได้ดำรงตำแหน่งปลัดกรมวิสามัญศึกษาและเจ้ากรมวิสามัญศึกษา[8]และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้แต่งตั้งพระยาอนุกิจวิธูรเป็นผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยคนแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460[9]ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกจากผู้บัญชาการมาเป็นอธิการบดี ในระยะเริ่มต้นงาน พระยาอนุกิจวิธูรได้จัดการและประสานงานได้อย่างราบรื่น ทั้งด้านการศึกษาและด้านสถานที่ โดยได้ขยายบริเวณมหาวิทยาลัยออกไปจากเดิมอย่างกว้างขวางดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี รับสั่งว่า "เมื่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นแล้ว พระยาอนุกิจวิธูรเป็นผู้บัญชาการ ฉันเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พระยาวิทยาปรีชามาตย์เป็นคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เราทำงานอย่างเป็นกันเองและสบายใจมาก"[10] ต่อมาใน พ.ศ. 2470 เมื่อพ้นตำแหน่งผู้บัญชาการแล้ว พระยาอนุกิจวิธูรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ
ชีวิตการทำงาน
แก้พระยาอนุกิจวิธูรกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแม้จะมีอายุห่างกันเพียง 6 ปีเป็นพี่น้องกันแต่ก็เสมือนเป็นศิษย์กับครูกัน และยังเป็นเพื่อนร่วมงานกันได้เป็นอย่างดีด้วย ทั้งสองท่านให้ความเคารพแก่กันและกันช่วยเหลือกันในการงานมาตลอดชีวิตราชการ ความสำเร็จด้านการศึกษาตามโครงการที่เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีได้เริ่มไว้เดิมก็ดี หรือโครงการใหม่ก็ดี จะมีพระยาอนุกิจวิธูรเป็นผู้มีส่วนร่วมด้วย เปรียบเป็นแขนข้างหนึ่งของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีก็ว่าได้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2441 เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิมนตรี กลับจากอังกฤษมาเป็นพนักงานแต่งแบบเรียนประจำกรมศึกษาธิการจัดทำหนังสือชุดธรรมจริยา พระยาอนุกิจวิธูรครั้งยังเป็นขุนอนุกิจวิธูรก็ได้ช่วยแต่งหนังสือธรรมจริยาเล่ม 1 และ 2 ซึ่งเป็นหนังสือที่เป็นคติสอนใจนักเรียนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในตอนแรก พระยาอนุกิจวิธูรรู้สึกหนักใจอยู่มากเนื่องจากเป็นงานใหม่ที่ต้องรวบรวมแผนกต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายในสังกัดกระทรวงอื่น ๆ เข้าด้วยกัน ต้องติดต่ออาจารย์ชาวต่างประเทศ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ได้พูดปลอบว่า “การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเธอให้ดำรงตำแหน่งนี้ ก็เพราะทรงตระหนักว่าพี่ต้องเป็นผู้ช่วยเหลืออยู่เสมอ” [11] พระยาอนุกิจวิธูรเคยเล่าว่าเมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ มอบหมายงานให้แล้วท่านจะไว้วางใจและให้อำนาจสิทธิ์ขาด เช่นเมื่อคราวที่นักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัยสไตรค์ไม่ยอมรับประทานอาหาร เมื่อทราบเรื่อง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ บอกกับพระยาอนุกิจวิธูรว่า “พี่มอบให้เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของเธอในการจัดการเรื่องนี้" [11] พระยาอนุกิจวิธูรจึงหาวิธีไกล่เกลี่ยประนีประนอมได้สำเร็จเป็นการแสดงว่าสองพี่น้องนี้มีความเข้าใจกันเป็นอย่างดี
ชีวิตครอบครัวและบั้นปลายชีวิต
แก้พระยาอนุกิจวิธูรแต่งงานกับคุณหญิงแฉล้ม เทพหัสดิน ณ อยุธยา แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน แต่เนื่องจากมีนิสัยรักเด็กจึงเอาใจใส่หลานๆ ทั่วกันทุกคน เด็กในอุปการะต่างรักและเคารพท่านทุกคนเนื่องท่านเป็นคนชอบพูดเล่นหัวและเป็นกันเอง ทุกคนได้รับการถ่ายทอดอุปนิสัยความละเอียดถี่ถ้วน เยือกเย็น มัธยัสถ์รวมทั้งวิชาความรู้ต่างๆ อย่างมาก พระยาอนุกิจวิธูรมีนิสัยชอบงานอดิเรกและการสมาคม ชอบปลูกไม้ดอกและไม้ผลพันธุ์ดี ๆ ชอบเล่นตะโกดัด หน้าวัว บอน แต่งบริเวณบ้านทำลำธารเล็ก ๆ เมื่อออกจากราชการแล้วก็มีเพื่อนฝูงที่เลี้ยงไก่เป็นงานอดิเรกมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ พระยาอนุกิจวิธูรจึงทดลองเลี้ยงดูบ้างและเป็นผู้สั่งใข่ไก่มาฟักร่วมกับพระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ (หม่อมหลวงเล็ก สนิทวงศ์) จนกระทั่งได้ตั้งเล้าไก่ขึ้นในบริเวณบ้าน ซึ่งปัจจุบันเป็นชื่อซอยสันทัด อยู่ที่ถนนเศรษฐศิริ เขตดุสิตเมื่อกรมเกษตรจัดให้มีการประกวดไก่เพื่อสนับสนุนประชาชนให้เลี้ยงไก่ พระยาอนุกิจวิธูรก็ได้ส่งไก่เข้าประกวดในนามของ “เล้าไก่สันทัด” จนชนะการประกวดหลายคราวเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยนั้น มีคนทั้งต่างจังหวัดและในพระนครมาชมและมาซื้อไก่ไปเลี้ยงหรือซื้อไข่ไปฟักบ้าง นอกจากนี้ยังมีชาวชวาและชาวสิงคโปร์พากันติดต่อสั่งซื้อไข่ไก่พันธุ์ไปฟักก็มาก
พระยาอนุกิจวิธูร ได้สร้างวัดคูบางหลวงอนุกิจวิธูร ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ทายาทของท่านคือ นางสุนทรี จินตกวีวัฒน์ สมรสกับ ดร.จารึก จินตกวีวัฒน์ มีบุตร 1 คน และ ธิดา 1 คน
พระยาอนุกิจวิธูร รับราชการอยู่ 33 ปีเต็ม ได้รับพระราชทานยศ มหาอำมาตย์ตรี มียศตำแหน่งพิเศษเป็น นายหมวดโทเสือป่า และเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 6 เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดที่ได้รับพระราชทานคือ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
พระยาอนุกิจวิธูร ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 รวมอายุได้ 68 ปี ก่อนถึงแก่อนิจกรรมได้สั่งหลาน ๆ ให้จัดการฌาปนกิจศพอย่างเรียบง่ายภายใน 1 สัปดาห์ ไม่ให้ทำบุญแบบทุ่มเทที่เรียกว่าคนตายขายคนเป็นและให้นำเงินจำนวนหนึ่งไปมอบให้โรงพยาบาลศิริราชตั้งเป็นทุนสำหรับนักเรียนแพทย์ทำการค้นคว้าเรียกว่า ทุนพระยาอนุกิจวิธูร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2465 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[12]
- พ.ศ. 2463 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[13]
- พ.ศ. 2460 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[14]
- พ.ศ. 2465 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[15]
ลำดับสาแหรก
แก้ลำดับสาแหรกของพระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานยศ, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๗๔๐, ๗ มกราคม ๒๔๕๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34 หน้า 23 วันที่ 15 เมษายน 2460 ประกาศตั้งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยและตั้งผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ
- ↑ ทะเบียนประวัติพระยาอนุกิจวิธูร
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งหน้าที่ราชการ
- ↑ เสนาะจิตร สุวรรณโพธิศรี พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หนังสือประวัติครู ครุสภาจัดพิมพ์ในวันครู 16 มกราคม 2503 หน้า 117
- ↑ ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมศึกษาธิการ ตั้งเข้ากรมสามัญศึกษาและวิสามัญศึกษา
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยและตั้งผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ เสนาะจิตร สุวรรณโพธิศรี พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หนังสือประวัติครู ครุสภาจัดพิมพ์ในวันครู 16 มกราคม 2503 หน้า 118
- ↑ 11.0 11.1 บันทึกจดหมายรายวันของพระยาอนุกิจวิธูร เอกสารที่นางเสนาะจิตร สุวรรณโพธิ์ศรี (เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รับมรดกจากพระยาอนุกิจวิธูร พ.ศ. 2491 ไม่ได้ตีพิมพ์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันอังคารที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๕[ลิงก์เสีย], เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๑๒, ๑๔ มกราคม ๒๔๖๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ เก็บถาวร 2022-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๖๘, ๘ มกราคม ๒๔๖๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันอังคารที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๐ เก็บถาวร 2022-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๕๔, ๑๓ มกราคม ๒๔๖๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๓๔, ๒๘ มกราคม ๒๔๖๕
บรรณานุกรม
แก้- เสนาะจิตร สุวรรณโพธิศรี พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หนังสือประวัติครู ครุสภาจัดพิมพ์ในวันครู 16 มกราคม 2503
- ธรรมศักดิ์มนตรี, เจ้าพระยา. บทประพันธ์บางเรื่องของครูเทพ. พระนคร: ไทยเขษม, 2486
- ไพศาลศิลปศาสตร์, พระ. รายงานการศึกษาประเทศญี่ปุ่น พระนคร: บำรุงกิจนุกูล. 2446
- ทะเบียนประวัติพระยาอนุกิจวิธูร
- ราชกิจจานุเบกษา
ก่อนหน้า | พระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
- | ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (6 เมษายน พ.ศ. 2460 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2468) |
มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) |