พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา)

อำมาตย์เอก พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา) นามเดิมว่าท้าวเมฆหรือเมก อดีตเจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ 7 (ปกครอง พ.ศ. 2430-42) จากราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ในฐานะเจ้าประเทศราช อดีตราชบุตรผู้รักษาราชการเมืองมุกดาหาร อดีตจางวางที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร อดีตกรมการพิเศษจังหวัดนครพนม (พ.ศ. 2442-60) และอดีตจางวางอำเภอมุกดาหาร เป็นผู้รับพระราชทานนามสกุล จันทรสาขา ของจังหวัดมุกดาหาร และเป็นต้นสกุลพระราชทาน พิทักษ์พนม ของอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา)
เจ้าเมืองมุกดาหาร, จางวางที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร, กรมการพิเศษจังหวัดนครพนม
ก่อนหน้าพระจันทรสุริยวงษ์ (บุญเฮ้า จันทรสาขา)
ถัดไปพระจันทรเทพสุริยวงษา (แสง จันทรสาขา)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด2388
เมืองมุกดาหาร
เสียชีวิต2460
เมืองมุกดาหาร
ศาสนาศาสนาพุทธ

ราชตระกูล แก้

พระยาศศิวงษ์ประวัติเป็นบุตรเจ้าอุปฮาด (แถงหรือแท่ง) เมืองมุกดาหาร เป็นนัดดาพระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม) เจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ 3 เป็นปนัดดาเจ้าพระยาหลวงจันทรสุริยวงษาดำรงมหาราชการ (กิ่ง) เจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ 2 โอรสในเจ้าพระยาจันทสีโสราชอุปราชามันธาตุราช (จันทกินรีหรือกินนรี) ผู้สร้างเมืองมุกดาหาร (บังมุก) เจ้าพระยาจันทสีโสราชอุปราชามันธาตุราชเป็นโอรสเจ้าจันทสุริยวงษ์ (จารย์จันทสุริยวงษ์) เจ้าเมืองหลวงโพนสิม เมืองพิน เมืองนอง (ละนอง) และเมืองตะโปน (ซะโปน) ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต เจ้าจันทสุริยวงษ์มีพี่น้องชื่อเจ้าแก้วมงคล (แก้วบูฮมหรือเจ้าจารย์แก้ว) ผู้สร้างเมืองท่งสีพูม (เมืองท่ง) ทั้งสองเป็นพระโอรสเจ้าศรีวิชัยหรือเจ้าศรีวรมงคลพระราชโอรสในพระเจ้าศรีวรวงษาธิราชหรือเจ้ามหาอุปราชศรีวรวังโสกษัตริย์นครเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2118-23) พระราชปนัดดาในพระยาโพธิสาลราชแห่งล้านช้าง[1] และเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระเจ้าไชยเชฏฐาธิราชมหาราช บรรพบุรุษของพระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) ปกครองหัวเมืองลาวทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงหลายหัวเมือง อาทิ เป็นเจ้าเมืองมุกดาหารสายตรง 3 องค์ จาก 7 องค์ที่เป็นเครือญาติ ทั้งเคยปกครองนครเวียงจันทน์ นครหลวงพระบาง เมืองหลวงโพนสิม (โพนสิม) เมืองเซโปน (ตะโปน) เมืองพิน เมืองนอง (ละนอง) เมืองพาลุกากรภูมิ (ตาลุกา) เมืองคันธบุรี (นครไกสอนพมวิหานเมืองหลวงของแขวงสะหวันนะเขด) เมืองดอนตาล (อำเภอดอนตาลในจังหวัดมุกดาหาร) เป็นต้น

พระประวัติ แก้

พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) เกิดวันอาทิตย์ เดือน 12 ปีมะเส็ง จ.ศ. 1207 (พ.ศ. 2388) ตรงกับรัชกาลที่ 3 เริ่มรับราชการเป็นกรมการเมืองมุกดาหารที่ท้าวสุวรรณสาร พ.ศ. 2422 โปรดเกล้าฯ เป็นที่ราชบุตรเมืองมุกดาหาร ครั้งเป็นราชบุตรได้เป็นว่าที่เจ้าเมืองมุกดาหารและคุมกำลังเมืองไปราชการรักษาด่านทางป้องกันทัพญวน ซึ่งพ่ายแพ้ฝรั่งเศสและหลบหนีเข้ามาซ่อนตัวในเขตเมืองวังเมืองเซโปนที่ชายแดนเมืองมุกดาหารต่อชายแดนเวียดนาม พ.ศ. 2425 เป็นนายกองคุมกำลังเมืองมุกดาหารไปปราบฮ่อที่ทุ่งเซียงคำ (ทุ่งไหหิน) จนได้รับพระราชทานเหรียญปราบฮ่อ พ.ศ. 2430 โปรดเกล้าฯ ให้รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหาร พ.ศ. 2434 ขณะอายุ 46 ปีได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อรับพระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าเมืองที่พระจันทรเทพสุริยวงษาเจ้าเมืองมุกดาหาร พร้อมนำส่วยและเครื่องราชบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองขึ้นทูลเกล้าฯ ในฐานะประเทศราชชายพระราชอาณาเขต นับเป็นการทูลเกล้าฯ ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองครั้งสุดท้ายของมุกดาหาร จากนั้นสยามจึงยกเลิกประเพณีนี้ พ.ศ. 2436 เป็นผู้คุมกำลังเมืองมุกดาหารไปรบกองกำลังฝรั่งเศสที่ยกมายึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พ.ศ. 2441 เมื่อสยามยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมืองจึงโปรดเกล้าฯ เป็นจางวางที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีปีละ 500 บาท พ.ศ. 2450 โปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นที่ อำมาตย์เอก พระยาศศิวงษ์ประวัติ ถือศักดินา 3,000 ไร่ ในตำแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดนครพนม ต่อมา พ.ศ. 2457 จึงได้รับพระราชทานนามสกุลว่า จันทรสาขา[2]

ได้เป็นราชบุตรเมืองมุกดาหาร แก้

พ.ศ. 2422 รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) เป็นที่ราชบุตรเมืองมุกดาหารตามจารีตเจ้านายในราชอาณาจักรล้านช้างปรากฏความในเอกสารตราตั้งว่า ให้ท้าวสุวรรณสาร เปนราชบุตรเมืองมุกดาหาร จงช่วยพระจันทรสุริยวงษา เจ้าเมืองมุกดาหารคิดอ่านราชการบ้านเมือง แลฟังบังคับบัญชาผู้ใหญ่ในเมือง แต่ที่เปนยุติธรรมแลชอบด้วยราชการ จงเว้นการควรเว้น หมั่นประพฤติการควรประพฤติ แลรักษาความซื่อสัตยสุจริตต่อกรุงเทพมหานคร ตามอย่างธรรมเนียมผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเช่นนี้ จงเจริญศุขสวัสดิ ทำราชการตั้งแต่บัดนี้ไปเทอญ ตั้งแต่ณวัน 34ฯ9 ค่ำปีเถาะเอกศก เปนปีที่ 12 ของตราดวงที่ประทับมานี้ ประจำการแผ่นดินสยาม ศักราช 1041 เปนวันที่ 3906 ในรัชกาลปัตยุบันนี้ สมเดจพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บรมราช[3]

ขึ้นเป็นเจ้าเมืองมุกดาหาร แก้

เมื่อเจ้าราชบุตร (เมฆ) ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าเมืองและว่าที่เจ้าเมืองแล้ว ต่อมา 3 ปี พ.ศ. 2434 จึงเดินทางลงไปรับพระราชทานสัญญาบัตรในตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหารที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรประทับพระราชสัญจกรตั้งให้ราชบุตร (เมฆ) เป็นที่ พระจันทรเทพสุริยวงษ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหารตั้งแต่วันที่ 4 เดือนตุลาคม ร.ศ. 110 ปรากฏความในราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 110 การแต่งตั้งเจ้าเมืองครั้งนี้ประกอบด้วยกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ในคณะอาญาสี่และผู้ช่วยราชการเมืองอีก 7 ท่าน คือ ท้าวเสริมให้ดำรงตำแหน่งอุปฮาดเมืองมุกดาหาร ท้าวแสงให้ดำรงตำแหน่งราชวงศ์เมืองมุกดาหาร ท้าวแป้นให้ดำรงตำแหน่งราชบุตรเมืองมุกดาหาร พระวรบุตรภักดี (ท้าวอ่าง) พระศรีวรวงษ์ พระราชกิจภักดี และพระศรีวรราชให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองมุกดาหาร[4]

เครื่องยศ แก้

ครั้งเป็นเจ้ามเองมุกดาหารพระจันทรเทพสุริยวงษ์ (เมฆ) ได้รับพระราชทานเครื่องยศคือ หมวกตุ้มปี่ 1 ใบ กระบี่บั้งทอง 5 บั้ง เสื้อเข้มขาบดอกก้านแย่ง 1 ผืน พานหมากถมเครื่องในทองคำ 1 สำรับ ลูกประคำทองคำ 108 เม็ด 1 สาย คณโททองคำ 1 ลูก กระโถนทองคำ 1 ลูก และผ้าม่วงจีน 1 ผืน[5]

ปกิณกผลงาน แก้

สร้างเรือมณฑล แก้

พ.ศ. 2434 ครั้งเป็นพระจันทรเทพสุริยวงษ์เจ้าเมืองมุกดาหารได้ชักชวนชาวเมืองร่วมใจกันเสาะหาต้นตะเคียนในเขตเมืองมุกดาหาร จนพบต้นตะเคียนที่งดงามสูงใหญ่ที่สุดของเมือง ณ ดงบักอี่ (บั่งอี) ท้องที่อำเภอดอนตาลต่อเขตอำเภอนิคมคำสร้อย แล้วขุดถากสำเร็จเป็นเรือเมื่อราว พ.ศ. 2436 พระยาจันทรเทพสุริยวงษ์ได้ตั้งมงคลนามเรือนี้ว่า เรือมณฑล ต่อมากลายเป็นเรือประวัติศาสตร์คู่บ้านคู่เมืองมุกดาหารมาแต่อดีต มีอายุร้อยกว่าปี ปัจจุบันเก็บรักษา ณ วัดศรีสุมังค์ ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เรือมณฑลขุดจากตะเคียนทั้งต้น ยาว 20 เมตร กว้าง 1.20 เมตร บรรจุฝีพายได้ 45 คน ลือว่าเป็นเรือที่สวยงามที่สุดและชนะเลิศการแข่งเรือในบุญส่วงเฮือแถบลุ่มแม่น้ำโขงมาโดยตลอด ทั้งเคยเป็นเรือรับเสด็จเมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดรและมณฑลร้อยเอ็ด พระองค์ประทับบนเรือมณฑลเพื่อล่องแก่งในลำน้ำโขงจากบ้านธาตุพนมมายังเมืองมุกดาหารเมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2449 เรือมณฑลเคยลงน้ำครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2496 ถือเป็นเรือประวัติศาสตร์ชาติและเป็นโบราณวัตถุล้ำค่าชาวมุกดาหาร ต่อมาจึงบูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ. 2549[6]

ถึงแก่กรรม แก้

พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) ถึงแก่กรรมเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 หรือ 28 เมษายน พ.ศ. 2460 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุ 72 ปี

การพระราชทานนามสกุล แก้

นามสกุลจันทรสาขา แก้

รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่เจ้าเมืองมุกดาหารว่า จันทรสาฃา เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Chandrasakha เลขทะเบียนสกุลพระราชทานที่ 1370 พระราชทานแก่พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) ครั้งดำรงตำแหน่งจางวางอำเภอมุกดาหาร ทวดชื่อพระจันทรสุริยวงษา (กิ่ง) 25/4/14 ต่อมานิยมเขียนคำว่า จันทรสาฃา เป็น จันทรสาขา เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการใช้อักษร ฃ[7] ดังปรากฏในเอกสารพระราชทานนามสกุลว่า ขอให้นามสกุลของ พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) จางวางอำเภอมุกดาหาร เมืองนครพนม มณฑลอุดร ทวดชื่อพระยาจันทรสุริยวงษา (กิ่ง) ตามที่ขอมานั้นว่า จันทรสาขา (เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Chandrasakha) อันเปนมงคลนาม ขอให้สกุลจันทรสาขา มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน พระที่นั่งพิมานปฐม. วันที่ 21 เมษายน พระพุทธศักราช 2475. คำว่า จันทร มาจากนามเดิมของต้นตระกูลผู้สร้างเมืองมุกดาหารคือเจ้าจันทกินรีหรือเจ้าพระยาจันทรสีโสราชอุปราชามันธาตุราช และมาจากราชทินนามประจำของเจ้าเมืองมุกดาหารคือ จันทรสุริยวงษา ส่วนคำว่า สาขา เป็นภาษาบาลีตรงกับคำว่า กิ่ง ซึ่งเป็นนามเดิมของอัยกา (ปู่) ของพระยาศศิวงษ์ประวัติ

นามสกุลพิทักษ์พนม แก้

พ.ศ. 2478 รัชกาลที่ 8 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่บุตรของอำมาตย์เอก พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) ว่า พิทักษ์พนม โดยเป็นสกุลที่มาจากราชทินนามเดิมของทายาท ลำดับสกุลพระราชทานอักษร พ-ฟ ที่ 65 พระราชทานแก่หลวงพิทักษ์พนมเขต (สีห์ จันทรสาขา) นามเดิมว่าท้าวสีห์ (ทุมหรือศรีกระทุม) นายอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระราชทานเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2485[8] ต่อมาจึงกลับไปใช้สกุลพระราชทานของบิดา ส่วนสกุลพิทักษ์พนมไม่มีผู้ใช้สืบต่อ

เจดีย์บรรจุพระอัฐิ แก้

หลังถึงแก่กรรมทายาทบุตรหลานได้สร้างธาตุบรรจุพระอัฐิพระยาศศิวงษ์ประวัติ ณ วัดศรีสุมังค์วรารามหรือวัดสีสุมัง (วัดช้าง) คนทั่วไปเรียกว่าวัดเจ้าคุณพระยา เนื่องจากเป็นวัดที่พระยาศศิวงษ์ประวัติ เจ้าเมืองมุกดาหาร และทายาทบุตรหลานเป็นผู้อุปถัมภ์ ธาตุบรรจุพระอัฐิพระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) หรือธาตุเจ้าคุณพระยาตั้งอยู่ระหว่างวิหารและสิมด้านหน้าพระธาตุใหญ่อิทธิพลทางศิลปกรรมพระธาตุพนม ธาตุอัฐิมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีขนาดเล็กเตี้ย ถ้าน (ฐาน) รูปแอวขัน 2 ชั้น ไม่ปรากฏตีนธรณี เรือนธาตุหรือองค์ธาตุทรงดอกบัวจูมหรือหมากน้ำเต้าประดับลายปูนปั้นนูนต่ำรูปดอก 4 กลีบทั้งขนาดเล็กใหญ่ทาสีทอง มุมเรือนธาตุเป็นรูปดอกกาบทิศหรือดอกกระจังทาสีทองเช่นกัน ยอดธาตุประกอบด้วยตีนหีบและดวงปี ปลายสุดเป็นรูปน้ำค้างหรือดอกบัวจูมทาสีทอง ทั้งองค์ธาตุทาสีขาวเป็นพื้น ด้านหน้ามีแผ่นป้ายภาพและประวัติโดยย่อของพระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ)[9]วัดศรีสุมังค์วรารามตั้งอยู่ ณ ริมแม่น้ำโขง ถนนดำรงค์มุกดา ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมือง อายุมากกว่า 200 ปี ภายในวัดมีวิหารเก่าอิทธิพลศิลปกรรมอาณานิคมฝรั่งเศสซึ่งส่งผ่านมาทางช่างลาว-ญวน วิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีซุ้มประตูหน้าต่าง (บังเกิ้น) รูปอาร์คโค้ง พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกพุทธลักษณะแบบลาวล้านช้าง นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระธาตุขนาดใหญ่รูปแบบอิทธิพลพระธาตุพนมด้วย[10]

อนุสรณ์ แก้

ชาวมุกดาหารและราชการนำราชทินนาของพระยาศศิวงษ์ประวัติมาตั้งชื่อซอยบริเวณถนนศรีบุญเรืองและถนนสมุทรศักดารักษ์ ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร ว่า ซอยศศิวงษ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์คุณงามความดีในราชการบ้านเมืองของพระยาศศิวงษ์ประวัติ

อ้างอิง แก้

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-15. สืบค้นเมื่อ 2016-06-24.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-01. สืบค้นเมื่อ 2016-06-24.
  3. สุรจิตต์ จันทรสาขา. เมืองมุกดาหาร. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.. 2543. น. 152
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-15. สืบค้นเมื่อ 2016-06-24.
  5. สุรจิตต์ จันทรสาขา. เมืองมุกดาหาร. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.. 2543. น. 52
  6. https://www.facebook.com/MukdahanBanChan/posts/828894997128189
  7. https://sites.google.com/site/thailandsurname/home/-c
  8. กรมศิลปากร. นามสกุลพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชกาลปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : เดือนตุลา. 2554. น. 88
  9. http://board.palungjit.org/7774791-post85.html[ลิงก์เสีย]
  10. http://zeekway.com/wat-srisumank-wanaram/[ลิงก์เสีย]