พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์)

นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ร.น. (23 ตุลาคม 2433 – 27 มิถุนายน 2501) มีนามเดิมว่า ทองดี สุวรรณพฤกษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ อดีตรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตราชองครักษ์เวร และนายทหารพิเศษประจำกองทัพเรือ

พระยาวิชิตชลธี
(ทองดี สุวรรณพฤกษ์)
ผู้บัญชาการทหารเรือ
ดำรงตำแหน่ง
5 สิงหาคม 2476 – 1 ธันวาคม 2476
ก่อนหน้าพระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา)
ถัดไปพลเรือตรี พระยาวิจารณจักรกิจ (บุญรอด สวาทะสุข)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 ตุลาคม พ.ศ. 2433
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต27 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (67 ปี)
คู่สมรสคุณหญิงเจิม วิชิตชลธี
บุตรนาวาอากาศเอก ชิดชัย สุวรรณพฤกษ์ (บุตรบุญธรรม)
บุพการี
  • กร่าง สุวรรณพฤกษ์ (บิดา)
  • ผึ้ง สุวรรณพฤกษ์ (มารดา)
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
ยศ นาวาเอก

ประวัติ แก้

เกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2433 ที่ตำบลบ้านลาดขมิ้น อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรคนที่ 11 จากทั้งหมด 12 คนของ นายกร่าง และ นางผึ้ง สุวรรณพฤกษ์

ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับคุณหญิงเจิม วิชิตชลธี แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกันจึงรับบุตรบุญธรรมมาอุปการะดูแลคือ นาวาอากาศเอก ชิดชัย สุวรรณพฤกษ์ อดีตรองเจ้ากรมสารบรรณทหารอากาศ และอดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2

การศึกษา แก้

นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดทรงประมูล (ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว) โรงเรียนวัดราชบพิธ และโรงเรียนโฆษิตสโมสร

จากนั้นจึงได้เข้าเป็นนักเรียนนายเรือเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2448 จบการศึกษาและเข้าประจำการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2451 รุ่นเดียวกับพระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน)

การรับราชการ แก้

นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ประดับยศ ว่าที่เรือตรีผู้ช่วย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2451 และได้รับพระราชทานยศ เรือตรีผู้ช่วย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 [1] ได้รับพระราชทานยศ เรือโท เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2454 [2] ต่อมาขณะที่ท่านเป็น ผู้บังคับการเรือตอร์ปิโด ๓ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ราชองครักษ์เวร เมื่อวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2454[3]

ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ เรือเอก[4] พร้อมกับรับพระราชทานนามสกุล สุวรรณพฤกษ์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2457 เป็นลำดับที่ ๑๖๖๗ [5] และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงเริงกลางสมร ศักดินา ๘๐๐ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2457 ในขณะที่ท่านเป็น ผู้บังคับการกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๓ [6]

ต่อมาท่านได้รับพระราชทานยศ นาวาตรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2460[7] ยศ นาวาโท เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2462[8] จากนั้นท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระเริงกลางสมร ศักดินา ๑๐๐๐ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2464[9] และได้รับพระราชทานยศ นาวาเอก เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2466[10] ต่อมาท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์เวรอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับ พลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เมื่อวันที่ 28 เมษายน ศกเดียวกัน[11]

ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2467 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิชิตชลธี ศักดินา ๑๕๐๐[12] ต่อมาท่านซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมชุมพลทหารเรือ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้รั้งตำแหน่งหรือรักษาราชการในปัจจุบันในตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเรือแทนนาวาเอก พระยาหาญกลางสมุทร์ (บุญมี พันธุมนาวิน) ที่ไปรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการกรมชุมพลทหารเรือเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467[13]

ต่อมาในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นราชองครักษ์เวรอีกวาระหนึ่ง[14] จากนั้นท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2470[15] กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2472[16] จากนั้นท่านจึงได้ย้ายไปรั้งตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองทัพเรือ แทน พลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ ที่ไปดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2474[17] และในวันที่ 11 ธันวาคม ศกเดียวกัน ท่านก็ได้กลับมารับตำแหน่งเจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือแทน พลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ ที่ไปรั้งตำแหน่งแม่ทัพเรือ[18] นอกจากนี้ยังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งราชองครักษ์เวรอีกวาระหนึ่งเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2474[19]

หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้ 12 วันคือในวันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ท่านก็ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ[20] จากนั้นในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2476 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ สืบต่อจากพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ ที่ได้โอนย้ายไปรับราชการที่กระทรวงมหาดไทย โดยมีนาวาโท หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) เป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ และนาวาโท หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นเสนาธิการทหารเรือ[21] แต่หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 4 เดือน นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เนื่องจากป่วยทุพพลภาพ[22]

ต่อมาในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกองทัพเรือ[23]

งานการเมือง แก้

นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรี พร้อมกับ เรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในสมัยรัฐบาล พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งนับเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีสมัยแรกของท่าน[24] แต่หลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้เพียง 4 เดือนท่านก็ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เนื่องจากป่วยทุพพลภาพ[25]

กระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือ 3 วันหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในสมัยรัฐบาล พันตรี ควง อภัยวงศ์[26] แต่ได้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 เนื่องจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเรียบร้อยแล้ว

ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาล พันตรี ควง อภัยวงศ์ อีกเช่นกัน[27] แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียงเดือนเศษก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจาก พันตรีควง และคณะรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อในวันเดียวกัน[28] และหลังจากนั้นท่านก็มิได้ยุ่งเกี่ยวกับวงการเมืองอีกเลย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. พระราชทานสัญญาบัตรทหารเรือ
  2. ตั้งตำแหน่งยศนายทหารเรือ (หน้า ๔๘๓)
  3. แจ้งความกระทรวงทหารเรือ
  4. ตั้งตำแหน่งยศนายทหารเรือ (หน้า ๕๐๔)
  5. ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๒๒ (หน้า ๑๖๔๘)
  6. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๔๘)
  7. พระราชทานยศทหารเรือ (หน้า ๖๙๘)
  8. พระราชทานเลื่อนยศทหารเรือและยศข้าราชการในกระทรวงทหารเรือ (หน้า ๔๖๓)
  9. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๑๒)
  10. พระราชทานยศ
  11. แจ้งความกรมราชองครักษ์ เรื่อง ตั้งราชองครักษ์เวร
  12. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๒๔๓)
  13. แจ้งความกระทรวงทหารเรือ
  14. แจ้งความกรมราชองครักษ์ เรื่อง ตั้งราชองครักษ์เวร
  15. แจ้งความกระทรวงทหารเรือ (หน้า ๘๘๒)
  16. แจ้งความกระทรวงทหารเรือ
  17. ประกาศกระทรวงทหารเรือ
  18. ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง เลื่อนย้ายนายทหารรับราชการ
  19. แจ้งความกรมราชองครักษ์ เรื่อง ตั้งราชองครักษ์เวร
  20. แจ้งความประธานคณะกรรมการราษฎร (หน้า ๑๒๘๔)
  21. ประกาศ
  22. ประกาศ ผู้บัญชาการทหารเรือลาออก
  23. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งนายทหารพิเศษ
  24. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี
  25. พระบรมราชโองการ ประกาศ รัฐมนตรีลาออก
  26. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี
  27. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี
  28. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งนายกรัฐมนตรี
  29. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ, เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๓๐, ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๓
  30. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๗๙, ๑ มกราคม ๒๔๖๗
  31. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๔๒, ๗ มกราคม ๒๔๖๖
  32. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน, เล่ม ๓๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๓๙๗, ๑๐ มกราคม ๒๔๕๗
  33. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเหรียญรัตนาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๗๘๑, ๑๘ มิถุนายน ๒๔๗๖
  34. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2021-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๔๙ ง หน้า ๑๗๒๖, ๓ สิงหาคม ๒๔๙๗
  35. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๑๐, ๒๙ ธันวาคม ๑๓๑
บรรณานุกรม