พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา)
พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา) 22 มิถุนายน พ.ศ. 2422 – 4 เมษายน พ.ศ. 2510 ปลัด กรมป่าไม้ นักพฤกษศาสตร์ นักวิชาการป่าไม้ ผู้ริเริ่มปลูกสวนป่าไม้สักของประเทศไทย ผู้จัดตั้งกองป่าไม้ภาคใต้
มหาอำมาตย์ตรี พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา) | |
---|---|
เกิด | 22 มิถุนายน พ.ศ. 2422 กรุงเทพมหานคร |
ถึงแก่กรรม | 4 เมษายน พ.ศ. 2510 (87 ปี 286 วัน) |
ภรรยาเอก | คุณหญิงขลิบ วันพฤกษ์พิจารณ์ |
บุตร | พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา |
ตระกูล | เศวตศิลา |
ชีวิตในเยาว์วัยและการศึกษา
แก้พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ เกิดที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรชายคนโตของนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ชาวอังกฤษ ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และคุณเพิ่ม อาลาบาสเตอร์ มีน้องชายร่วมมารดา 1 คนคือ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ทองย้อย เศวตศิลา)
นายเฮนรี บิดาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2427 เมื่อพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์มีอายุได้เพียง 5 ขวบ ทั้งสองพี่น้องไม่ได้รับมรดกใด ๆ จากบิดาจึงมีชีวิตในวัยเด็กที่ยากลำบาก ในขณะเรียนหนังสืออยู่ในกรุงเทพฯ มารดาได้ย้ายไปอยู่ต่างจ้งหวัด จึงอาศัยอยู่กับญาติบ้าง ผู้อื่นบ้าง ในบางครั้ง เวลาขึ้นชั้นเรียนใหม่ก็ต้องหยุดเรียนเพื่อเพื่อไปเร่ขายดินสอหินสำหรับเขียนกระดานชนวนเพื่อนำเงินมาซื้อเสื้อผ้าและหนังสือสำหรับขึ้นเรียนชั้นใหม่ เมื่อมีเงินพอแล้วจึงกลับเข้าไปเรียนใหม่
อย่างไรก็ดี พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์สามารถจบหลักสูตรในขณะนั้นโดยสอบไล่ได้ประโยค 2 ได้เป็นที่ 1 ได้รับการจารึกชื่อในแผ่นหินที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นก็ได้เข้าเรียนวิชาทำแผนที่ และสอบไล่ได้เป็นที่ 1 อีก ได้เป็นครูแผนที่ ต่อมาสอบชิงทุนไปเรียนวิชาการป่าไม้ที่ประเทศอินเดียและเป็นคนไทยคนแรกที่สอบวิชาการป่าไม้ได้สำเร็จ กระทั่งได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น หลวงวันพฤกษ์พิจารณ์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2448 หลังจากรับราชการในกรมป่าไม้ได้ 10 ปี พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ก็ได้ขอลาราชการไปศึกษาต่อด้านพฤกษศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษด้วยทุนส่วนตัวและก็เป็นนักเรียนไทยที่สำเร็จวิชาพฤกษศาสตร์เป็นคนแรกเช่นกัน
การทำงานและผลงาน
แก้พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ได้กลับเข้ารับราชการในกรมป่าไม้ อีกครั้งหนึ่งและได้ย้ายไปเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ภาคภูเก็ต และเจ้าพนักงานป่าไม้ภาคนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2460
การรวบรวมพรรณไม้ไทยและการจัดตั้งหอพรรณไม้
แก้ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2455 – พ.ศ. 2463 พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ของกรมป่าไม้ด้วย ก็ได้รวบรวมพันธุ์ไม้ของไทยจากภาคต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคใต้เพื่อทำเป็น ”หอพรรณไม้” โดยเก็บตัวอย่างได้ประมาณ 1,200 หมายเลข ปัจจุบันยังเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (BKF) และตัวอย่างซ้ำถูกส่งไปเก็บที่ หอพรรณไม้คิว (K) ในประเทศอังกฤษ
การเรียบเรียงตำราพรรณไม้
แก้นอกจากได้ชื่อว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนบุกเบิกด้านพฤกศาสตร์ที่เป็นคนไทยในการรวบรวมพรรณไม้และการจัดตั้งหอพรรณไม้ (Herbarium) ของกรมป่าไม้ขึ้นดังกล่าวมาแล้ว พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ก็ยังได้เป็นผู้เรียบเรียงหนังสือ “พรรณไม้ไทย” (List of Common Trees and Shrubs in Siam, 1923 ) ซึ่งจัดเป็นตำราพันธุ์ไม้เล่มแรกของไทยในปี พ.ศ. 2466
การริเริ่มปลูกสวนป่าต้นสัก
แก้ในด้านการป่าไม้ พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ ได้ทำการทดลองปลูกสวนสักเมื่อปี พ.ศ. 2449 ตามแบบที่พม่าใช้ได้ผลมาแล้วโดยวิธีหยอดเมล็ดลงหลุมและอาศัยความร่วมมือจากชาวไร่ เมื่อการทดลองครั้งแรกได้ผลดี จึงได้มีการขยายการปลูกสร้างสวนป่าไม้สักเพิ่มขึ้นในระยะต่อมา
เกียรติประวัติ
แก้พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ได้รับเกียรติจากนักพฤกษศาสตร์ต่างประเทศในการใช้ชื่อท่านตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้ถึง 6 ชนิดด้วยกัน
การดำเนินชีวิตและบั้นปลายชีวิต
แก้มหาอำมาตย์ตรีพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์สมรสกับคุณหญิงขลิบ วันพฤกษ์พิจารณ์ (ขลิบ บุนนาค ธิดา เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค)[1] มีบุตรธิดา 3 คน คือ
- พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา (ถึงแก่อสัญกรรม)
- นางสมจิตต์ สกลคณารักษ์ (ถึงแก่กรรม)
- ร้อยตรีสนั่น เศวตศิลา (ถึงแก่กรรม)
นอกจากนี้พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ยังมีบุตรธิดากับภริยาอื่นอีก 12 คน รวมเป็น 15 คน
พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและซื่อตรงต่อหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง ไม่เป็นผู้มักใหญ๋ไฝ่สูง แม้จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา มหาอำมาตย์โต๊ะทอง กาทองเป็นคนแรกในกรมป่าไม้ ก็มิได้มีฐานะร่ำรวยและไม่ได้รับตำแหน่งสูงสุดตามควร แต่ท่านก็มีความพอใจและสั่งสอนลูก ๆ ให้มีความซื่อสัตย์สุจริตและให้ทำความดีไว้เสมอ
พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2510 สิริอายุรวมได้ 87 ปี 10 เดือน
ยศและบรรดาศักดิ์
แก้- 21 มิถุนายน พ.ศ. 2448 หลวงวันพฤกษ์พิจารณ์ ถือศักดินา ๖๐๐[2]
- 20 สิงหาคม พ.ศ. 2454 รองอำมาตย์เอก
- 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 พระวันพฤกษ์พิจารณ์ ถือศักดินา ๘๐๐[3]
- 22 ธันวาคม 2459 – อำมาตย์โท[4]
- 6 สิงหาคม 2460 – อำมาตย์เอก[5]
- 19 ธันวาคม พ.ศ. 2460 พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ ถือศักดินา ๑๐๐๐[6]
- 5 พฤษภาคม 2462 – เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม[7]
- 11 ธันวาคม 2463 – มหาอำมาตย์ตรี[8]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2465 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)[9]
- พ.ศ. 2454 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-14. สืบค้นเมื่อ 2008-06-23.
- ↑ ส่งสัญญาบัตรขุนนางไปพระราชทาน
- ↑ เลื่อนและตั้งบรรดาศักดิ์
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ พระราชทานบรรดาศักดิ์
- ↑ รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า (หน้า ๒๓๕๐)
- ↑ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ประวัติและงานพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย เก็บถาวร 2007-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หอพรรณไม้: ประวัติการศึกษาพันธุ์ไม้ในประเทศไทย เก็บถาวร 2007-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ สำนักงานป่าไม้เขตนครศรีธรรมราช เก็บถาวร 2005-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เสาวนีย์ เตชะไพบูลย์ ประวัติชีวิตการเมืองของพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา สมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ 2549