สมเด็จพระยอดฟ้า

พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
(เปลี่ยนทางจาก พระยอดฟ้า)

สมเด็จพระยอดฟ้า[1][2] หรือ สมเด็จพระแก้วฟ้า[1] (ประมาณ พ.ศ. 2078[1] – 10 มิถุนายน พ.ศ. 2091[3]) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 14 แห่งกรุงศรีอยุธยาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ[1]

สมเด็จพระยอดฟ้า
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 2089–2091 (2 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระไชยราชาธิราช
ถัดไปขุนวรวงศาธิราช
พระราชสมภพประมาณ พ.ศ. 2078
สวรรคต10 มิถุนายน พ.ศ. 2091 (ประมาณ 13 พรรษา)
วัดโคกพระยา กรุงศรีอยุธยา
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระราชบิดาสมเด็จพระไชยราชาธิราช
พระราชมารดาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์

สมเด็จพระยอดฟ้าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราชกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์[1][2] เสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2089 จนถูกสำเร็จโทษ

พระราชประวัติ

แก้

สมเด็จพระยอดฟ้าเสด็จพระราชสมภพประมาณปี พ.ศ. 2078[1] เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอกฝ่ายซ้าย[1] มีพระอนุชาหนึ่งพระองค์คือพระศรีศิลป์ พระชันษาอ่อนกว่า 6 ปี[2]

สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตใน พ.ศ. 2089 พระยอดฟ้าจึงสืบราชสมบัติต่อ เวลานั้น มีพระชนมายุ 11 พรรษา พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกว่า "นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นสมเด็จพระชนนีช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน"[2] การเมืองยามนั้นยังวุ่นวาย พระเฑียรราชา เชื้อพระวงศ์ฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราช น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการประคับประคองราชการแผ่นดินได้ แต่กลับเกรงราชภัย หนีไปผนวชที่วัดราชประดิษฐาน ตำบลท่าทาง ในกรุงศรีอยุธยา ตลอดรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้า[1][4]

เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremais van Vliet) ว่า สมเด็จพระยอดฟ้าโปรด "ทรงม้าไปตามป่าตามทุ่งและไร่นา ชนช้าง ทรงพระแสง ฝึกหัดขัตติยวิชา" และ "ในรัชกาลของพระองค์บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ทุกแห่งหน มิได้อดอยากแห้งแล้ง"[1] ขณะที่พงศาวดารหลายฉบับของไทยบันทึกเกี่ยวกับนิมิตร้ายหลายประการซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่สมเด็จพระยอดฟ้าเสด็จสู่ราชสมบัติได้ไม่นาน เช่น คราวที่เสด็จออกสนามชนช้าง งาช้างที่ชื่อ "พระยาไฟ" ก็หักออกเป็น 3 ท่อน พอเวลาค่ำ ช้างต้นชื่อ "พระฉัททันต์" ร้องเหมือนเสียงคนร้องไห้ ทั้งได้ยินเสียงร้องออกมาจากประตูไพชยนต์[2]

ในเวลานั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์ พระราชมารดาซึ่งสำเร็จราชการ ลักลอบเป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพ พนักงานรักษาหอพระข้างหน้า ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงมีพระเสาวนีย์ให้พระยาราชภักดีเลื่อนพันบุตรศรีเทพขึ้นเป็นขุนชินราช พนักงานรักษาหอพระข้างใน[5] ครั้นท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงครรภ์กับขุนชินราชเห็นว่าจะปิดความไว้ไม่ได้อีกต่อไป จึงคิดอ่านยกขุนชินราชขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เริ่มด้วยการเลื่อนขุนชินราชเป็นขุนวรวงศาธิราช ให้สิทธิ์ขาดในการเกณฑ์และคุมกำลังคน ปลูกจวนให้อยู่ที่ริมศาลาสารบัญชีใกล้กำแพงวัง ปลูกศาลาขึ้นในวังตรงประตูดินริมต้นหมัน แล้วให้เอาเตียงอันเป็นราชอาสน์ไปตั้งไว้ในศาลานั้นสำหรับให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งว่าราชการ ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชการทั้งหลายยำเกรง[5] พระยามหาเสนา ข้าราชการผู้ใหญ่ เห็นสถานการณ์น่าเป็นห่วง ก็ปรารภกับข้าราชการคนอื่น ๆ พระยามหาเสนาจึงถูกท้าวศรีสุดาจันทร์กำจัด[5]

ครั้นสถานการณ์สุกงอมใน พ.ศ. 2091 ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ทรงเรียกประชุมข้าราชการ ตรัสว่าสมเด็จพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์นัก เหตุการณ์ทางเหนือก็ยังไม่สงบ มีพระดำริว่า "เราคิดว่า จะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินกว่าราชบุตรเราจะจำเริญวัยขึ้น" ข้าราชการทั้งหลายขัดไม่ได้ก็ยินยอม ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงให้เอาราชรถและเครื่องสูงต่าง ๆ ตั้งกระบวนไปรับขุนวรวงศาธิราชเข้ามาราชาภิเษก[5] เมื่อขุนวรวงศาธิราชได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ให้เอาสมเด็จพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา ส่วนพระศรีศิลป์ พระอนุชานั้น มีพระชนมายุเพียง 7 พรรษา จึงไว้ชีวิต[1]

จดหมายเหตุโหรว่า สมเด็จพระยอดฟ้าทรงถูกสำเร็จโทษเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ จ.ศ. 910 ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2091 ทรงอยู่ในราชสมบัติ 2 ปีเศษ สิริพระชนมพรรษา 13 พรรษาเศษ[3]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระยอดฟ้า ได้แก่

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 97
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) , หน้า 63-7
  3. 3.0 3.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 98
  4. กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2494). ชุมนุมพระนิพนธ์ ภาค 2 (PDF). พระนคร: กรมศิลาปกร. p. 234.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 100-101
บรรณานุกรม

ดูเพิ่ม

แก้
ก่อนหน้า สมเด็จพระยอดฟ้า ถัดไป
สมเด็จพระไชยราชาธิราช
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2076–2089)
   
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 2089–2091))
  ขุนวรวงศาธิราช
(พ.ศ. 2091)
(ประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิมถอดจากลำดับกษัตริย์)