พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

เป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงผู้พระราชทานกำเนิดและสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ พระบาทสมเด

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หรือพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล เป็นอนุสรณ์สถานที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร [1]

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
แผนที่
พิกัด13°44′18.4″N 100°31′54.3″E / 13.738444°N 100.531750°E / 13.738444; 100.531750
ที่ตั้งด้านหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ผู้ออกแบบอาจารย์ไข่มุกต์ ชูโต
รศ. ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี รองประธาน
อ.เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี กรรมการ
อ.กี ขนิษฐานันท์ กรรมการและเลขานุการ
ประเภทพระบรมราชานุสาวรีย์
วัสดุโลหะผสม
ความสูง330 เซนติเมตร
สร้างเสร็จพ.ศ. 2530
การเปิด23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
อุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เคยถูกใช้พิมพ์บนธนบัตรไทยแบบที่ 14 สกุลเงินบาท ชนิดราคา 100 บาท ผลิตออกใช้วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2537[2]และธนบัตรไทยแบบที่ 15 รุ่นแรก ชนิดราคา 100 บาท ผลิตออกใช้วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสื่อถึงพัฒนาการด้านการศึกษาครั้งใหญ่ในสยาม เมื่อครั้งประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[3]

ที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ตรงกับทางเข้าด้านหน้าและหน้าบันของหอประชุมจุฬาฯ เป็นการออกแบบตำแหน่งตามหลักการทางภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) โดยทำให้พื้นที่เปิดโล่งด้านหน้าเสาธงและหอประชุมจุฬาฯ มีจุดสนใจ (Focal Point) เป็นการส่งเสริมภูมิทัศน์ให้หอประชุมจุฬาฯ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาวชิราวุธ พื้นที่เปิดโล่งบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์จึงมองเห็นได้ง่ายจากถนนพญาไทและกลายเป็นจุดสนใจของเขตปทุมวันและกรุงเทพมหานครไปพร้อมกัน[4]

พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล เป็นอนุสรณ์สถานที่ใช้ประกอบพิธีสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น พิธีปฐมนิเทศและถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ พิธีถวายบังคมหลังรับพระราชทานปริญญาบัตรหรือถวายบังคมลา และเป็นสถานที่เคารพสักการะของนิสิต บุคคลากรและผู้มาเยือน เป็นที่ถวายสักการะของพระบรมวงศานุวงศ์เมื่อเสร็จพระราชดำเนินเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโอกาสต่าง ๆ พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายที่เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบ่อยครั้ง ถือเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่มหาวิทยาลัย[5]

ประวัติ แก้

ในวาระครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประชาคมจุฬาฯ และผู้มีจิตศรัทธาจึงจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองรัชกาล เพื่อรำลึกถึงพระผู้พระราชทานกำเนิดและพระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร่วมรำลึกเหตุการณ์ที่เป็นรากฐานของการอุดมศึกษาในประเทศไทย ทุนสนับสนุนการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์มาจากประชาคมจุฬาฯ[6] นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบันขณะนั้นและประชาชนทั่วประเทศและได้รับความร่วมมือจากศิลปินหลายท่าน โดยมีประติมากรหลักคือไข่มุกด์ ชูโต เป็นผู้ปั้นหล่อพระบรมรูป สุเทพ นวลนุช ประติมากรผู้ช่วยปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มานพ สุวรรณปิณฑะ ประติมากรผู้ช่วยปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จินตรัตน์ พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ดำเนินการหล่อพระบรมรูป มีบุคลากรจุฬาฯ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ร่วมออกแบบ โดยมีภิญโญ สุวรรณคีรีและเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรีเป็นสถาปนิกออกแบบฐานพระบรมราชานุสาวรีย์[7] กี ขนิษฐานันท์เป็นภูมิสถาปนิก และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 [8]

สถาปัตยกรรมและกายภาพ แก้

แบบพระบรมรูป แก้

 
พระบรมสาทิสลักษณ์หมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ลักษณะของพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปหล่อประทับนั่งบนพระอาสน์ คือ เก้าอี้องค์ใหญ่ (Throne) ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมทัพกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือกระบี่ พระบรมรูปมีต้นเค้าจากพระบรมสาทิสลักษณ์ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งเป็นภาพเขียนหมู่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ช่างเขียนภาพชาวต่างชาติเขียน แต่ประติมากรได้นำมาปรับองค์ประกอบใหม่ โดยมิได้ปั้นแบบให้มีพระมาลาภู่ขนนกวางบนพระหัตถ์แต่เปลี่ยนพระหัตถ์ขวาให้ทรงถือคฑาแทน ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 เป็นรูปหล่อของพระองค์ในช่วงเวลาขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประทับยืนอยู่ด้านซ้ายของสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์[9]

สถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ แก้

 
ภาพกว้างของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ

พระบรมรูปสองรัชกาลตั้งอยู่บนฐานที่สูงจากพื้นสนามหญ้ารวมสี่ชั้น มีน้ำพุและสวนอยู่ด้านข้างทั้งสองด้าน ฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งอยู่ด้านหน้าวงเวียนเสาธงชาติ และตรงพอดีกับมุขด้านหน้าของหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบกับพื้นที่มหาวิทยาลัยส่วนนี้เป็นพื้นที่เปิดโล่งหน้ากว้าง สังเกตได้ตั้งแต่ถนนพญาไท บริเวณนี้จึงทำหน้าที่เส้นนำสายตาที่ชัดเจน รวมถึงยังมีจุดสนใจอยู่ใจกลางพื้นที่ด้วย อาจารย์กี ขนิษฐานันท์เป็นผู้ออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรม ท่านเคยกล่าวถึงการออกแบบภูมิทัศน์ของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าเอาไว้ว่า [10]

 
พระบรมราชานุสาวรีย์และเสาธงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

...การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาลทำให้พื้นที่โล่งตรงกลางมีจุดสนใจ (Focal Point) ส่วนคณะอักษรศาสตร์เก่าสองหลังปัจจุบันนี้เรียกว่าเทวาลัย ทางส่วนกลางก็กำลังจะปรับ แล้วเอามาใช้ประโยชน์ส่วนกลาง...

— กี ขนิษฐานันท์

นอกจากจะเป็นจุดสนใจทางภูมิสถาปัตยกรรม (Focal Point) บริเวณโดยรอบลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชยังเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เป็นแกนสีเขียว (Green Axis) บนที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามผังแม่บทจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 100 ปี เป็นพื้นที่ซับน้ำที่มีพืชปกคลุมดินเป็นบริเวณกว้างจึงลดการสะท้อนความร้อนจากแสงแดด และเป็นที่เปิดโล่งไม่กี่แห่งในย่านธุรกิจของเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร[11] โดยอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นส่วนหนึ่งของแกนสีเขียวในแผนแม่บทดังกล่าวด้วย ทำให้พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ตั้งตรงกับจุดกึ่งกลางทางเข้าด้านหน้าของอุทยาน 100 ปีฯ พอดี และมีระยะการกระจัดระหว่างทั้ง 2 สถานที่ราว 740 เมตร

อ้างอิง แก้

  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (23 พฤศจิกายน 2530). สูจิบัตรเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2530. สูจิบัตร , หน้า 1-39.
  2. ธนาคารแห่งประเทศไทย BOT. (2558). ธนบัตรแบบ ๑๔. Retrieved เมษายน 9, 2559, from เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย:https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryAndSeriesOfBanknotes/Pages/Banknote_Series14.aspx เก็บถาวร 2015-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. ธนาคารแห่งประเทศไทย BOT. (2558). ธนบัตรแบบ 15. Retrieved เมษายน 20, 2559, from เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย:https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryAndSeriesOfBanknotes/Pages/Banknote_Series15.aspx เก็บถาวร 2015-08-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. ขนิษฐานันท์, ก. (2549, มิถุนายน 22). ภูมิทัศน์อนุสาวรีย์ พระราชานุสาวรีย์ และพระบรมราชานุสาวรีย์. (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Interviewer) คณะกรรมการจัดทำหนังสือ 9 ทศวรรษ พัฒนาการทางกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  5. ผู้จัดการออนไลน์ MGR. (2556, พฤษภาคม 30). เรื่องริม ม. Retrieved เมษายน 9, 2559, from ปฐมนิเทศจุฬา’56 นิสิตใหม่พร้อมเพรียง “ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬา” : http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9560000064948 เก็บถาวร 2017-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (23 พฤศจิกายน 2530). สูจิบัตรเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2530. สูจิบัตร , หน้า 1-39.
  7. สุวรรณคีรี, ภ. (2549). thai-architecture . Retrieved เมษายน 9, 2559, from http://www.thai-architecture.com/: http://www.thai-architecture.com/download/pinyo_cv.pdf
  8. ศูนย์บริหารกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (23 พฤศจิกายน 2530). ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ . เรียกใช้เมื่อ 9 เมษายน 2559 จาก ศูนย์บริหารกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: http://www.cca.chula.ac.th/protocol/yensira/385-monument.html
  9. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (23 พฤศจิกายน 2530). สูจิบัตรเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2530. สูจิบัตร , หน้า 14-21.
  10. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2550). 9 ทศวรรษ พัฒนาการทางกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพ: คณะกรรมการจัดทำหนังสือ 9 ทศวรรษ พัฒนาการทางกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  11. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2558). โครงการผังแม่บทภูมิสถาปัตยกรรม. Retrieved เมษายน 9, 2559, from เว็บไซต์ โครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: http://www.green.chula.ac.th/campus01.html

ดูเพิ่ม แก้