สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(เปลี่ยนทางจาก พระนางเรือล่ม)

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกพระนามว่า สมเด็จพระนางเรือล่ม (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423) มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์” เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 เป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
พระบรมราชเทวี
พระอัครมเหสี
สถาปนาพ.ศ. 2423[1]
ก่อนหน้าสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์
ถัดไปสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา
พระราชสมภพ10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรสยาม
ทิวงคต31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 (19 ปี)
บางพูด เมืองนนทบุรี อาณาจักรสยาม
พระราชสวามีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชบุตรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี
ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชมารดาสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
ศาสนาพุทธ

พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทิวงคตด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาอีกด้วย ระหว่างการตามเสด็จฯพระบรมราชสวามีแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางปะอิน ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] พระองค์ทรงเป็นพระมาตุจฉาฝ่ายพระชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ

พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4

 
(จากซ้าย) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ 3 ในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีวอก เวลา 5 โมงเช้า 40 นาที ซึ่งตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 โดยได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชหัตเลขามีดังนี้[3]

"ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้บิดา ขอตั้งนามบุตรีหญิงซึ่งประสูติแต่เปี่ยมเป็นมารดา ในวันเสาร์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีวอก โทศก นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า สุนันทากุมารีรัตน์"

ซึ่งคำว่า “สุนันทา” นั้น เป็นนามของพระมเหสี 1 ใน 4 พระองค์ของพระอินทร์ นอกจากนี้ ยังได้รับพระราชทานพรเป็นภาษาบาลีซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า

พระองค์เจ้าองค์นี้ ทรงนามว่า “สุนันทากุมารีรัตน์” อย่างนี้ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากความทุกข์และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก มีโภคมาก มียศและบริวารไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับทั้งอารักขเทวดา จงช่วยอภิบาลรักษา พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์นั้นให้พ้นภัยจากอันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแก่พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ[4]

พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5
  สุนันทากุมารีรัตน์
  สว่างวัฒนา
  เสาวภาผ่องศรี

พระองค์มีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

ในพระราชหัตถเลขา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีไปถึงพระองค์เจ้าปัทมราชนั้นมีตอนหนึ่งว่า

"ปีนี้กระหม่อมฉันมีบุตรชายอีก 2 คน บุตรหญิง 1 บุตรชาย 2 คนนั้น คนหนึ่งชื่อเจริญรุ่งราษี เป็นน้องมารดาเดียวกับชายทองกองทองแถม ออกเมื่อเดือน 4 อีกคนหนึ่งชื่อสวัสดิประวัติ ออกเมื่อเดือน 10 มารดาชื่อหุ่น มิใช่เมขลา เสด็จไม่ทรงรู้จักดอก ด้วยเป็นคนใหม่ หญิงคนหนึ่งนั้นชื่อ สุนันทากุมารีรัตน์ เป็นน้องมารดาเดียวกับชายอุณากรรณ และชายเทวัญอุทัยวงศ์ ออกเมื่อเดือน 12"

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานทรัพย์สิน และพระบรมราโชวาทให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ดังต่อไปนี้[5]

…ผู้พระบิดาของพระองค์ เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์บุตรี จะขอสั่งสอนผู้บุตรไว้ว่า พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์เอ๋ย พ่อขอสั่งแก่ตัวเจ้าไว้ ทรัพย์ที่มีหางว่าวผูกติดกับหนังสือนี้ "มีตราของพ่อผูกปิดไว้เป็นสำคัญเท่านี้ พ่อให้แก่เจ้าคนเดียว ตัวเจ้าเมื่อโตใหญ่ อายุได้ 16 ปีแล้ว จงคิดอ่านเอาเป็นทุนทำมาหากินแลเลี้ยงตัวต่อไป แลใช้สอยตามสมควรเถิด แต่พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำพ่อสั่งให้มากนักหนา"

"อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้นัก จงรักษาทุนของพ่อให้ไว้นี้ เป็นเกียรติยศชั่วลูกชั่วหลาน เอาแต่กำไรใช้สอย เจ้าจงอย่าเล่นเบี้ย เล่นโด เล่นหวยเลยเป็นอันขาด แลอย่าทำสุรุ่ยสุร่ายใช้เงินทองง่ายไม่คิดหน้าคิดหลัง จงคิดอ่านทำมาหากิน ตริตรองให้ดี อย่าให้นักเลงคนโกงมักหลอกลวงได้จะเสียทรัพย์ด้วย อายเขาด้วย"

"เมื่อสืบไปภายหน้า นานกว่าจะสิ้นอายุตัวเจ้า ตัวเจ้าจะตกเป็นข้าแผ่นดินใดใดเท่าใด ก็จงอุตสาหตั้งใจทำราชการแผ่นดินให้ดี อย่ามีความเกียจคร้านแชเชือนแลเป็นอย่างอื่นๆ บรรดาที่ไม่ควรเจ้าอย่าทำ อย่าประพฤติให้ต้องตำหนิติเตียนตลอดถึงพ่อด้วย ว่าสั่งสอนลูกไม่ดี จงเอาทรัพย์ที่พ่อให้ไว้นี้เป็นกำลังตั้งเป็นทุน เอากำไรใช้การบุญ แลอุดหนุนตัวทำราชการแผ่นดินเทอญ"

"ถ้าทรัพย์เท่านี้พ่อให้ไว้ ไปขัดขวางฤๅร่อยหรอไปด้วยเหตุมีผู้ข่มเหงผิดๆ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เจ้าจงเอาหนังสือคำสั่งของพ่อนี้ กับคำประกาศที่ให้ไว้ด้วยนั้น ให้เจ้านายแลท่านผู้ใหญ่ข้างในข้างหน้าดูด้วยกันให้หลายแห่งปฤกษาหารือ อ้อนวอนขอความกรุณาเมตตา แลสติปัญญาท่านทั้งปวงให้อนุเคราะห์โดยสมควรเถิด เล่าความเล่าเหตุที่เป็นอย่างไรนั้น ให้ท่านทั้งปวงฟังโดยจริงๆ พูดจาให้เรียบร้อยเบาๆ อย่าทำให้ท่านที่เป็นใหญ่ในแผ่นดินขัดเคืองกริ้วกราดชิงชังได้ จงระวังความผิดให้มาก"

"อย่างตามใจมารดาแลคนรักมาก ทรัพย์นี้ของพ่อให้เจ้าดอก ไม่ใช่มารดาเจ้าแลคนอื่นเข้าทุนด้วย จงคิดถึงพ่อคนเดียวให้มาก เจ้าเกิดเมื่อพ่อสูงอายุแล้ว พ่อไม่ประมาทจึงจัดแจงให้ไว้แต่เดิม ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ อันตรายมีแก่เจ้าก่อน ถ้าอายุถึง 16 ปีแล้วสั่งให้ใคร พ่อจะให้ผู้นั้นถ้ายังไม่ถึงกำหนดฤๅไม่ได้สั่ง พ่อขอเอาคืน จะทำบุญให้ทาน ถ้าพ่อมีชีวิตและอำนาจไปนาน ทำมาหาได้ ก็จะเพิ่มเติมให้อีก แล้วจะแก้หางว่าง"

พระบรมราโชวาทนี้ พิมพ์ด้วยแผ่นหิน พระราชทานพร้อมกับเงิน 100 ชั่ง[6]

พระนางเธอในรัชกาลที่ 5

 
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์

ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 8 ปี[7] จึงเปลี่ยนพระฐานันดรศักดิ์จาก “พระเจ้าลูกเธอ” เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และได้ถวายตัวรับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าเมื่อพระชนมายุประมาณ 15 – 16 พรรษา ในเวลาไล่เลี่ยกับพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี[8] ทั้งสี่พระองค์ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระนางเธอ[9]

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์มีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "พระอัครมเหสี" และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่นๆ พระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทรงรับราชการรับใช้สนองพระเดชพระคุณชิดใกล้เป็นที่สนิทเสน่หาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จและรับใช้ใกล้ชิดดั่งเป็นปิยมหาราชินีเสมอ นอกจากทรงมีพระรูปโฉมงดงามแล้ว ก็ยังทรงมีพระสติปัญญาฉลาดล้ำ ทรงมีพระอัธยาศัยจริงจังเด็ดขาด ปฏิบัติข้อราชการและรับสั่งด้วยความเฉียบคมชัดเจนเสมอเป็นที่ประจักษ์แก่หมู่ข้าหลวงชาววังทั่วไปซึ่งเล่าขานกันว่าพระอุปนิสัยรับสั่งเฉียบคมนี้ทรงมีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์แล้ว ทำให้พระองค์เป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก[10]

ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421 พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกของพระองค์ โดยเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้มีพระตำหนิเด่นชัด คือ มีติ่งที่พระกรรณข้างขวามาแต่แรกประสูติ จึงพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี[1] ในการประสูติพระราชธิดาครั้งนี้ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ดังต่อไปนี้[11]

"…เวลา 5 ทุ่ม 11 นาที กับ 25 วินาที พระองค์เจ้าสุนันทาประสูติพระราชบุตรี รกติดอยู่ประมาณ 15 นาทีจึงออก เราอยู่ที่วังสมเด็จกรมพระ สมเด็จกรมพระกับเราเข้าไป รับสั่งให้เราแขวนกระโจมอย่างคราวก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงนั้น มีติ่งที่ริมพระกรรณข้างขวาหน้าออกมาตรงพระปราง ติ่งนั้นยาวประมาณ 3 กระเบียดน้อย เมื่อเรากลับออกมากับสมเด็จกระนั้น ฝนตกเวลา 7 ทุ่ม 45 มินิต ถึงบ้าน"

และเนื่องในการประสูติคราวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันว่า[11]

"เราถวายสายนาฬิกาเพชรทรงซื้อราคา 15 ชั่ง พระราชทานพระองค์เจ้าสุนันทาประสูติ กับรับสั่งให้เติมแหวนที่ทรงซื้อเงินพระคลังข้างที่อีก 2 วง ที่ราคาวงละ 19 ชั่ง รวม 38 ชั่ง ขายเงินงวดตามธรรมเนียม"

ทิวงคต

 
คุ้งน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตำบลบางพูด ใกล้กับหน้าวัดเกาะพญาเจ่ง สถานที่เกิดเหตุเรือพระประเทียบล่ม
 
เรือพระประเทียบที่ล่ม ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดกู้

เมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้แต่งเรือพระที่นั่งเพื่อเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินพร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพาร โดยก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงพระสุบิน (ฝัน) ความว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพระดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไป พระองค์สามารถคว้าพระหัตถ์เอาไว้ได้ แต่พระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ก็ลื่นหลุดจากพระหัตถ์พระองค์ไป พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ จนทรงตกลงไปในน้ำด้วยกันทั้งสองพระองค์ พระองค์ได้เล่าความในพระสุบินให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี และเจ้านายที่ใกล้ชิดฟัง แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางปะอินตามพระราชประสงค์[10]

ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่าง ๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า โดยพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ประทับบนเรือเก๋งกุดันโดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จพระราชกิจแล้วจึงได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควดีตามไป เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า “เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ แลพระชนนีสิ้นพระชนม์[10]

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงได้ทรงไล่เลียงกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระยามหามนตรี และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยพระยามหามนตรีทูลว่า “เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีนั้นนำหน้าไปทางฝั่งตะวันออก โดยมีเรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีตามไปเป็นที่สองในแนวเดียวกัน ส่วนเรือยอร์ชของกรมหลวงวรศักดาพิศาล ซึ่งจูงเรือกรมพระสุดารัตนราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกแล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ หลังจากนั้น เรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวารประมาณ 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้ เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือไปโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง[4]

อย่างไรก็ตาม กรมหมื่นอดิศรอุดมเดชกล่าวว่า “เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุให้เรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก[4] ซึ่งกรมหมื่นอดิศรอุดมเดชและพระยามหามนตรีต่างซัดทอดกันไปมา หลังจากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงคนอื่น ๆ ดู แล้วจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ก็ทิวงคตพร้อมด้วยพระราชบุตรในพระครรภ์พระชนม์ 5 เดือนเต็ม ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก และเนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้มหาชนถวายพระนามพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ว่า “สมเด็จพระนางเรือล่ม”

เหตุเรือพระประเทียบล่มนี้ ในกาลต่อมากลายเป็นที่เล่าขานกันทั่วไปว่าพระยามหามนตรีได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือ ด้วยเป็นการขัดต่อกฎมนเทียรบาลที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ในความเป็นจริงแม้กฎมนเทียรบาลกรุงศรีอยุธยาจะมีบทบัญญัติกล่าวไว้เช่นนั้น แต่ในสมัยนั้นก็มิได้ยึดถือเป็นข้อปฏิบัติกันแล้ว และพระยามหามนตรีก็ได้ดำน้ำลงไปพาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ออกจากเก๋งเรือที่จม แต่มิทันการจะช่วยรักษาพระชนม์ชีพ[12][13]

 
งานออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอธรรมสังเวชภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันทิวงคต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระโกศทองใหญ่ซึ่งเป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ให้ทรงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ซึ่งถือเป็นการพระราชทานพระเกียรติยศแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เป็นอย่างยิ่ง[14] หลังจากนั้น ได้มีการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง 2 พระองค์ขึ้น ณ กลางทุ่งพระเมรุ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์รวมพระสูตร และพระปริตต่าง ๆ สำหรับพระราชทานแด่อารามต่าง ๆ เพื่อเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระศพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ และยังคงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน[15]

การเฉลิมพระนามาภิไธย

 
พระสัญลักษณ์ประจำพระองค์ : พระนามาภิไธยย่อ "ส" ภายใต้มงกุฎขัตติยนารี ที่ด้านใต้ของพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชวังบางปะอิน

การสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์นั้นทำให้เกิดปัญหาในการออกพระนามในประกาศทางราชการ เนื่องจากยังไม่มีการสถาปนาฐานันดรศักดิ์แห่งพระมเหสีอย่างเป็นทางการแต่ประการใด ดังนั้น จึงมีการออกพระนามเป็นลำดับ ดังนี้[1]

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2423 นั้น กรมหมื่นนเรศรเข้าไปเฝ้ากราบบังคมทูลด้วยพระนามพระองค์เจ้าสุนันทา ว่า สมเด็จกรมพระฯ (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระบำราบปรปักษ์) จะทรงออกตราเกณฑ์ไม้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ “สมเด็จพระนางเจ้า อย่างสมเด็จพระนางโสมนัส” ดังนั้น จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2423 มีรับสั่งให้กรมหมื่นนเรศรไปทูลสมเด็จกรมพระว่า พระนามนั้นให้ใช้แต่ “สมเด็จพระนางเธอ” เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้านั้นไว้ใช้สำหรับการแปลเป็นคำอังกฤษว่า ควีน ดังนั้น จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเธอสุนันทากุมารีรัตน์ และใช้ภาษาอังกฤษว่า Princess ส่วนสมเด็จพระนางเจ้านั้นให้ใช้กับคำว่า Queen ในภาษาอังกฤษ โดยให้ใช้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าตามด้วยชื่อ และต่อท้ายด้วยพระราชเทวี

ต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2423 ให้เปลี่ยนพระนามเป็นจาก “สมเด็จพระนางเธอ” เป็น "สมเด็จพระนางเจ้า" (Queen) สุนันทากุมารีรัตน์ หลังจากนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

พระราชกรณียกิจ

จากเอกสารต่างประเทศได้บันทึกไว้ว่าพระองค์ตรัสภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วฉะฉาน และทรงกล้าเข้าสังคมซึ่งแตกต่างจากบุคลิกลักษณะของฝ่ายในโดยมาก ในสมัยก่อน ทำให้ทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการต้อนรับขับสู้ชาวต่างประเทศเมื่อทรงออกมหาสมาคม ขณะดำรงตำแหน่ง พระนางเธอ หรือ Queen อย่างสมพระเกียรติ[16] ดังจะเห็นได้จากบันทึกของนายพลยูลิสซีส เอส. แกรนต์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่ได้เดินทางเข้ามาในปี พ.ศ. 2422 มีความว่า "เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวนั้น ภรรยาของข้าพเจ้าก็ได้รับการต้อนรับและสนทนาวิสาสะอย่างอบอุ่นเป็นกันเองจากพระราชินี"[17]

พระราชมรดก

หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการแบ่งพระราชทรัพย์มรดกของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในพระบรมโกศ ให้แก่บรรดาพระญาติ (ของพระนางเอง) โดยพระองค์พระราชทานเครื่องยศสำหรับผู้หญิงให้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย พระราชธิดาในพระองค์และพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี (พระยศขณะนั้น) ซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ดังนั้นทูลกระหม่อมหญิงพาหุรัดฯ จึงเป็นพระนัดดาอันสนิทในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในพระบรมโกศที่ได้ทรงเลี้ยงดูกันมา ซึ่งมีรายการดังต่อไปนี้

  • เครื่องยศพานหมากทองคำลงยาราชาวดี
  • ผอบทองคำลงยาราชาวดีปริกประดับเพชร
  • จอกหมากทองคำลงยาราชาวดี
  • ซองพลูทองคำลงยาราชาวดี
  • ตลับขี้ผึ้งรูปผลลิ้นจี่ประดับทับทิมมีสายสร้อยห้อยแขวน-ไม้ควักหูจิ้มฟันประดับเพชรบ้างเล็กน้อย
  • หีบหมากทองคำลงยาราชาวดี หลังเป็นลายสระบัว มีมงกุฎกษัตรียประดับเพชรพลอยบ้าง
  • ตลับเครื่องในทองคำลงยาราชาวดี หลังประดับมรกต เพชรสามใบเถา
  • พานทองคำลงยาราชาวดี สำหรับรองหีบหมาก
  • ขันครอบทองคำลงยาราชาวดี จอกลอย และพานรอง
  • ขันล้างหน้าทองคำลงยาราชาวดีพานรอง
  • กาน้ำร้อยหูหิ้วมีถาดรองทองคำลงยาราชาวดี
  • กระโถนเล็กทองคำลงยาราชาวดี
  • โต๊ะเงินสำหรับเครื่องคาวและหวาน

แต่หีบหลังประดับเพชรมีตลับสามใบเถานั้น ทรงมอบให้แก่พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ส่วนสิ่งของอื่น ๆ นั้น พระองค์ทรงแบ่งออกพระราชทานให้แก่พระเชษฐา พระขนิษฐา พระอนุชา และพระนัดดาของพระนาง ได้แก่ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี, พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ, พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ส่วนของที่พระองค์ทรงให้คืนพระคลัง ได้แก่ กล่องจุลจอมเกล้า 1 ใบ และหีบกะไหล่โปร่ง 1 ใบ[1]

พระราชานุสรณ์

พระราชานุสาวรีย์

 
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ณ พระราชวังบางปะอิน

หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเสด็จทิวงคตแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้สร้างพระราชานุสรณ์ขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ โดยแต่ละแห่งนั้น เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯเคยตามเสด็จฯ และทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ[10][18] ได้แก่

  1. พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ภายในบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไว้ด้วย มีลักษณะเป็นรูปทรงพีระมิดพร้อมคำจารึก โดยเหตุที่สร้างสถูปเป็นรูปทรงนี้ก็มาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า "ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว "
  2. พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯสวนสราญรมย์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2426 ตัวอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อนสีขาวมียอดเป็นปรางค์ ภายในบรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ไว้ด้วย และมีคำจารึกแสดงความทุกข์โทมนัสของรัชกาลที่ 5 บนแผ่นหินอ่อน
  3. พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสรณ์แห่งความรักแห่งนี้ขึ้น มีลักษณะเป็นฐานรูปทรงสี่เหลี่ยมและยอดหกเหลี่ยมทรงสูง สร้างด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 ซึ่งตรงกับวันที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จทิวงคตครบรอบ 3 ปี

โรงเรียนสุนันทาลัย

นอกจากพระราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระนางแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกใหญ่ 2 ตึกบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลปากคลองตลาด ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ได้แก่ "LOYAL SEMINARY" สุนันทาลัยที่แม่น้ำ และสุนันทาลัยฝั่งใต้ (ปัจจุบัน ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นห้องประชุมอาคารสว่างวัฒนา) เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาสำหรับสตรีและเป็นการอุทิศพระราชกุศลพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งพระนางสนพระทัยในด้านการศึกษาเป็นพิเศษ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อันเป็นพระมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ในการก่อสร้าง[19] ในปี พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาก่อฤกษ์อาคารพร้อมทั้งพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนสุนันทาลัย" และเปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2435[20] ปัจจุบัน บริเวณโรงเรียนสุนันทาลัยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชินี

วังสวนสุนันทา

วังสวนสุนันทา เป็นเขตพระราชฐานภายในบริเวณของพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนพระอิริยาบถแทนการเสด็จประพาสหัวเมือง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้สวนนี้มีลักษณะเป็นสวนป่า[21] จึงโปรดเกล้าฯ ให้หาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลที่ดีและหาได้ยากนานาชนิดมาปลูกไว้ในสวนแห่งนี้ด้วย ที่มาของชื่อสวนแห่งนี้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีชื่อว่า "สุนันทาอุทยาน"[22] และพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระมเหสีซึ่งเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักขึ้นเพื่อเตรียมไว้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน แต่เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน การสร้างจึงยังไม่แล้วเสร็จตามพระราชประสงค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์จึงโปรดให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ[23] ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

อนุสรณ์สถานสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ

 
พระสถูปอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดเกาะพญาเจ่ง ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

อนุสรณ์สถานสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวัดเกาะพญาเจ่ง ซึ่งเป็นสถานที่เรือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ล่มบริเวณหน้าวัด เป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานทรงกลมสูงมีซุ้มโค้งตามทิศทั้งสี่ ภายในฐานเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปพระศรีอาริย์สี่องค์ หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้งสี่ และด้านหน้าพระเจดีย์มีคำจารึกพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[24][25]

ศาลพระนางเรือล่ม

ศาลสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ศาลพระนางเรือล่ม" ตั้งอยู่ที่วัดกู้ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สร้างขึ้นในบริเวณที่เชื่อกันว่ากู้เรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ตัวศาลนั้นจำลองแบบจากศาลาจตุรมุขของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ที่พระราชวังบางปะอิน[26]

เหรียญที่ระลึก

เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ วัดกู่

เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี วัดกู่ เป็นเหรียญที่ระลึกที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคล สร้างขึ้นที่วัดกู้ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญทองแดง แบบยาว ขอบเหลี่ยม ด้านหน้ามีพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีแบบเต็มพระองค์ ตรงด้านล่างมีข้อความจารึกว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" ด้านหลังเป็นรูปยันต์สามยอด มีข้อความจารึกว่า "วัดกู่"[27]

เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ วัดนิเวศธรรมประวัติ

เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี วัดนิเวศธรรมประวัติ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก 118 ปีการทิวงคตของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สร้างขึ้นที่วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร[28] ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญทองแดง แบบเหรียญกลม ขอบมน ด้านหน้าเป็นพระรูปพระพักตร์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ด้านหลังเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีจารึกปีพ.ศ. 2423 - 2437 บริเวณขอบมีข้อความจารึกว่า "วัดนิเวศธรรมประวัติ ที่รฤกเสด็จทิวงคตครบ ๑๑๘ ปี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม)"[29]

เหรียญที่ระลึกรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ

เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สร้างขึ้นที่ วัดพระพุทธฉาย[30] อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี

ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญกลม ขอบมน ด้านหน้าเป็นพระรูปพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ข้อความด้านบนจารึกว่า "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ข้อความด้านล่างจารึกว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี" ด้านหลังเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยืนบนนาค บริเวณด้านล่างเหรียญมีข้อความว่า "วัดพระฉาย จ.สระบุรี"[30]

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
 
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ

พระอิสริยยศ

  • พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 - พ.ศ. 2411)
  • พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พ.ศ. 2411 - พ.ศ. 2419)
  • พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พ.ศ. 2419 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2423)

ภายหลังทิวงคต

  • สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (3 มิถุนายน พ.ศ. 2423 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2423)
  • สมเด็จพระนางเธอสุนันทากุมารีรัตน์ (4 มิถุนายน พ.ศ. 2423 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2423)
  • สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (24 กรกฎาคม พ.ศ. 2423)
    • สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พ.ศ. 2423)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, สมเด็จพระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๕, สำนักพิมพ์มติชน, 2546 ISBN 974-322-964-7
  2. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5, สกุลไทย, ฉบับที่ 2443, ปีที่ 47, วันที่ 14 สิงหาคม 2544
  3. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, หอมติดกระดาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ:มติชน, 2553, หน้า 120
  4. 4.0 4.1 4.2 แสงเทียน ศรัทธาไทย, สามราชินีคู่บัลลังก์ ร.๕, สำนักพิมพ์ร่มฟ้าสยาม, 2539 ISBN 978-974-7441-33-8
  5. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ วันอังคาร เดือนอ้าย แรม ๑๓ ค่ำ ปีวอก โทศก จ.ศ. ๑๒๒๒
  6. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สำนักพิมพ์มติชน, 2549 ISBN 974-323-641-4
  7. มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ
  8. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 66
  9. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๗, หน้า 203
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
  11. 11.0 11.1 จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล จุลศักราช ๑๒๔๐
  12. Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2016). The Palace Law of Ayutthaya and the Thammasat: Law and Kingship in Siam. Cornel University Press. p. 63. ISBN 9780877277699.
  13. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค 9 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนไชยนาทนเรนทร โปรดให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ณ พระเมรุวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม), หน้า 123
  14. ม.ร.ว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์, สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระปิยมเหสีในรัชกาลที่ ๕, บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด, 2546 ISBN 978-974-989-897-0
  15. ตามรอย132ปี พระนางเรือล่ม ล้วงลึกตำนานเรื่องเล่า อัครมเหสี สุดรักแห่งรัชกาลที่ 5. เว็บไซต์ matichon. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [1]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 03-09-2556
  16. ไกรฤกษ์ นานา, ปิยมหาราชานุสรณ์ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกบันทึก, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับปีที่ 29 ฉบับที่ 6 เมษายน 2551 หน้า1 06-125
  17. Remlap, L.T. Gen. Grant's Tour Around The World. Chicago : Fairbank, 1879.
  18. "สวนสุนันทาในอดีต" หนังสือในงานเฉลิมฉลองวันสถาปนาวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ครบรอบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙
  19. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, โรงสกูลสุนันทาลัย, ฉบับที่ 2654, ปีที่ 51, ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2548
  20. การบูรณะอาคารสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี พุทธศักราช ๒๕๔๘ เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ โรงเรียนราชินี
  21. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุพระราชกรณีกิจรายวัน ภาคที่ 22 (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเพิ่ม โชฎึกราชเศรษฐี)
  22. กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร, สวนสุนันทา, สำนักพิมพ์สวนสุนันทา มรภ, ISBN 974-421-655-7 หน้า 167
  23. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้ากรุงสยาม (บางตอน) และพระราชนิพนธ์อันเป็นสุดที่รัก เรื่อง พระนล คำหลวง, หน้า 40
  24. "พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หน้าวัดเกาะพญาเจ่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-22. สืบค้นเมื่อ 2020-06-21.
  25. ย้อนรอยโศกนาฏกรรม ตำนานเรื่องเล่าของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5
  26. วัดกู้ นนทบุรี ท่องเที่ยว สถานท่องเที่ยว
  27. มัณฑนา ชอุ่มผล, วัดกู่และศาลพระนางเรือล่ม พิมพ์เนื่องในโอกาสการสร้างเหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์, 2546 หน้า 12
  28. กรมศิลปากร, เหรียญที่ระลึกไทย, 2521, สำนักพิมพ์แสงดาว, ISBN 978-616-508-477-2 หน้า 76
  29. สมชาย พิศิษฐ์กุนสุนทร, วัดนิเวศธรรมประวัติ, 2528,สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์, หน้า 50
  30. 30.0 30.1 กรมธนารักษ์, เหรียญที่ระลึกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๕๒๕, 2525

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

  1. กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูน, ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ วังหลวง, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2549 ISBN 974-941-205-2
  2. พิมาน แจ่มจรัส, รักในราชสำนัก, โอเดียนการพิมพ์, 2510 ISBN 974-341-064-3