พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ)

พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ) เป็นพระภิกษุในคณะธรรมยุติกนิกาย ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เจ้าคณะกรุงเก่า และกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย

พระธรรมราชานุวัตร

(ต่าย วารโณ)
ส่วนบุคคล
เกิด15 สิงหาคม พ.ศ. 2370 (71 ปี 190 วัน ปี)
มรณภาพ21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 8 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อุปสมบทพ.ศ. 2380
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเสนาสนาราม
เจ้าคณะกรุงเก่า

ประวัติ แก้

พระธรรมราชานุวัตร มีนามเดิมว่าต่าย เกิดเมื่อวันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2370 ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน จ.ศ. 1189 แต่บางแห่งว่าเกิดวันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2370 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9[1] ชาตภูมิอยู่ที่ตำบลบางเพลิง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อายุได้ 10 ปี ได้เข้าศึกษาในสำนักของพระอาจารย์ปิ่น ซึ่งเป็นลุงบวชอยู่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ต่อมาได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ทรงให้ท่านหัดเล่นโขน เมื่อสิ้นพระชนม์จึงกลับไปอยู่บ้าน ต่อมาโยมได้นำท่านไปฝากกับพระมหาทับ พุทฺธสิริ[2]

ถึงปีระกา พ.ศ. 2380 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชาธิวาส โดยมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะยังเป็นพระภิกษุเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์[3] (แต่บางแห่งว่าพระอโนมสิริเป็นพระกรรมวาจาจารย์)[1] ได้นามฉายาว่า วารโณ

ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมกับอาจารย์หลายท่าน เช่น พระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) อาจารย์นุชพี่ชายของพระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร) และอาจารย์ทอง เข้าสอบได้เป็นเปรียญธรรม 3 ประโยค หลังจากย้ายตามพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) มาอยู่วัดโสมนัสราชวรวิหารแล้วได้เข้าสอบอีก ได้เปรียญธรรม 4 ประโยคขณะเป็นพระสมุห์ และได้เปรียญธรรม 7 ประโยคขณะเป็นพระครูวินัยธร ถึงปีชวด พ.ศ. 2419 ได้เข้าสอบอีกเป็นครั้งสุดท้าย ได้เปรียญธรรม 8 ประโยค ปีต่อมาทรงตั้งเป็นพระราชาคณะและเจ้าอาวาสวัดเสนาสนาราม และอยู่ครองวัดนี้ตราบจนมรณภาพ[2]

ศาสนกิจ แก้

พระธรรมราชานุวัตร มีบทบาทหลายอย่างในการพระศาสนา ได้แก่ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะกรุงเก่า เป็นแม่กองตรวจชำระพระสุตตันตปิฎกในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112[4] และกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ชุดแรก (พ.ศ. 2436)

สมณศักดิ์ แก้

  • ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระสมุห์ ฐานานุกรมในพระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ)
  • เป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมในพระพรหมมุนี (ทับ พุทฺธสิริ)
  • พ..ศ 2420 เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณรักขิต
  • พ.ศ. 2428 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระธรรมราชานุวัตร ประสิทธิธรรมปฏิบัติ สรรพอัตถโกศล พหลสมณเดช คณเชฐมหานายก คณวาจกปิฎกวรานุรักษ สงฆกิจพิทักษอรรคมหาประธานาธิบดี บุราณราชธานีนครเขตร คตสมณสงฆมเหศวรเนตา ทวาราวดีศรีอยุทยา นิสิตารามคามวาสี[5]
  • พ.ศ. 2441 เลื่อยยศเสมอเจ้าคณะอรัญวาสี (เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ) ที่ พระธรรมราชานุวัตร ประสิทธิธรรมปฏิบัติ สรรพอัตถโกศล พหลสมณเดช คณะเชฐมหานายก คณวาจกปิฎกวรานุรักษ์ สงฆกิจพิทักษ์อรรคมหาประธานาธิบดี บุราณราชธานีนครเขตร คตสมณสงฆ์มเหศวรเนตา ทวาราวดีศรีอยุทยา นิสิตารามคามวาสี[6]

มรณภาพ แก้

พระธรรมราชานุวัตร อาพาธด้วยไข้ทรพิษ[1] แพทย์จัดยาถวายจนอาการทุเลาลง วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแพทย์หลวงมารักษา ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ อาการกลับทรุดลง ฉันยาแล้วก็ไม่ทุเลา จนถึงแก่มรณภาพในตอนเช้าเวลา 4 โมง 40 นาที ในวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์[3] (บางแห่งว่าวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์[7]) ปีจอ พ.ศ. 2441[2] (นับแบบปัจจุบันตรงกับปี พ.ศ. 2442)

ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ร.ศ. 119 เวลาบ่าย ณ วัดเสนาสนาราม[8]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "อดีตเจ้าอาวาส วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร". วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร. 2 มกราคม 2558. สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 2.2 สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 167-8. ISBN 974-417-530-3
  3. 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี ,แผนกพิพิธภัณฑสถาน และแผนกศึกษาธิการ, เล่ม 16, ตอน 17, 23 กรกฎาคม ร.ศ. 118, หน้า 214-5
  4. ราชกิจจานุเบกษา, การสาศนูปถัมภก คือ การพิมพ์พระไตรปิฎก, เล่ม 5, หน้า 410
  5. ราชกิจจานุเบกษา, สำเนาสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม 3, ตอน 43, 28 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117, หน้า 352
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 15, ตอน 34, 20 พฤศจิกายน ร.ศ. 117, หน้า 352
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตายในกรุง, เล่ม 15, ตอน 48, 26 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 117, หน้า 521
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเพลิงศพ พระธรรมราชานุวัตร์ (ต่าย), เล่ม 17, ตอน 39, 23 ธันวาคม ร.ศ. 119, หน้า 558