พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เป็นพระที่นั่งสองชั้น สถาปัตยกรรมแบบจีน ตั้งอยู่ภายในพระราชวังบางปะอิน สร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2432 พระที่นั่งองค์นี้มีนามในภาษาจีนว่า เทียน เม่ง เต้ย (天明殿 อ่านแบบจีนกลางว่า เทียน หมิง เตี้ยน) แปลเป็นไทยว่า พระที่นั่งฟ้าสว่าง (เทียน แปลว่า เวหา , เม่ง แปลว่า จำรูญ , เตี้ยน แปลว่า พระที่นั่ง) ใช้เวลาในการสร้างประมาณ 10 ปี และเป็นพระที่นั่งองค์สุดท้ายที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ
天明殿
พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ (ด้านหน้า)
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทพระที่นั่ง
ที่ตั้งพระราชวังบางปะอิน
เมืองตำบลบ้านเลน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2422
พิธีเปิด27 ธันวาคม พ.ศ. 2432
พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ (ด้านหลัง)

ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้ายเป็นประจำทุกปี[1][2][3]

ประวัติ แก้

พระที่นั่งเวหาศจำรูญ เป็นของถวายของข้าราชการกรมท่าซ้าย คือ พ่อค้าใหญ่ชาวจีน โดยมีพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) เป็นนายงาน หลวงสาทรราชายุตก์ (ยม พิศลยบุตร) และหลวงโภคานุกุล (จื๋ว) เป็นผู้ควบคุมในการก่อสร้าง และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถม กรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจ เป็นผู้ควบคุมดูแล

เมื่อพระที่นั่งสร้างเสร็จ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ จัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมขึ้นพระที่นั่งตามแบบจีน เมื่อวันที่ 27 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2432

ห้องภายในพระที่นั่ง แก้

ชั้นล่าง แก้

ชั้นล่างของพระที่นั่งเวหาศจำรูญนั้น ใช้เป็นห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่ง และใช้เป็นท้องพระโรง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ท้องพระโรงล่าง และท้องพระโรงบน โดยบริเวณทางขึ้นท้องพระโรงบนนั้นมีแผ่นหินอ่อนเป็นตราสัญลักษณ์ลัทธิเต๋าของจีน รูปหยินหยางประดับไว้ มีพระราชอาสน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้คัดลอกแผ่นป้ายคำโคลงสรรเสริญข้าราชการที่ทำคุณความดี 9 บท 17 แผ่นป้าย มาประดับไว้ด้วย ส่วนท้องพระโรงบนนั้น เป็นห้องประชุมเสนาบดี และใช้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 โดยมีการตั้งป้าย 8 เหลี่ยมซึ่งเขียนเป็นภาษาจีนว่า "เทียน เหมง เต้ย" และ "ว่าน ว่าน ซุย" ซึ่งแปลว่า ทรงพระเจริญหมื่น ๆ ปี และที่เพดานท้องพระโรงมีอักษรไทยที่เขียนเลียนแบบอักษรจีนเป็นคำว่า "กิม หลวน เต้ย" ซึ่งแปลว่า โอรสจากสวรรค์

ชั้นบน แก้

ห้องชั้นบนของพระที่นั่งเวหาศจำรูญ ประกอบด้วย 4 ห้องใหญ่ ได้แก่ ห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องทรงพระอักษร และห้องพระป้าย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ห้องทรงพระอักษร แก้

ห้องทรงพระอักษรตั้งอยู่ในทางทิศใต้ของพระที่นั่ง ภายในห้องมีโต๊ะทรงพระอักษรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ ปัจจุบัน ใช้เป็นที่เก็บหนังสือภาษาจีนในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

ห้องพระป้าย แก้

ห้องพระป้ายติดกับห้องทรงพระอักษรเป็นที่ประดิษฐานพระวิมาน 3 องค์ติดต่อกัน เรียงจากทิศตะวันตก ไปตะวันออก ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายต่าง ๆ ลงรักปิดสีทองอร่าม

นอกจากนี้ เสาด้านหน้าพระวิมานได้แขวนป้ายสุภาษิตจีนได้ โดยด้ายซ้ายแปลว่า "ในหมู่ชนจะหาความสามัคคีธรรมเสมอพี่น้องได้ยาก" และด้านขวา แปลได้ว่า "ในใต้หล้าจะหาความผิดในพ่อแม่ไม่มี"

นอกจากนี้ ยังมีห้องอีก 2 ห้อง ได้แก่ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถนั้น ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่ง ภายในมีพระแท่นบรรทม 2 องค์ สำหรับทรงใช้ในฤดูร้อนและฤดูหนาว เพดานเหนือพระแท่นมีการแกะสลักลายมังกรดั้นเมฆ ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่คอยปกป้องคุ้มครองพระมเหสี

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548

14°14′03″N 100°34′50″E / 14.234133°N 100.580483°E / 14.234133; 100.580483