พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ตรงข้ามกับสระทางด้านตะวันออก ของพระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งองค์นี้สร้างด้วยไม้ สไตล์ยุโรป แบบสวิสชาเล่ต์ 2 ชั้น มีกำแพงแก้ว จดหมายเหตุได้กล่าวไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงิน 90 ชั่งเพื่อสร้างพระที่นั่งองค์นี้ และรั้วพระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2420[1]

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร องค์ปัจจุบัน
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทพระที่นั่ง
ที่ตั้งพระราชวังบางปะอิน
เมืองตำบลบ้านเลน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2420
ปรับปรุงพ.ศ. 2537
บริเวณด้านข้างของพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร องค์ปัจจุบัน
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร องค์ที่สอง
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรองค์แรก


ต่อมา พ.ศ. 2481 ได้มีการซ่อมแซมใหญ่พระราชวังบางปะอิน แต่ผู้รับเหมาประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดไฟไหม้พระที่นั่งทั้งองค์ คงเหลือแต่หอยุโรปข้าง ๆ เท่านั้น หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นใหม่ ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้ไม่เปิดให้เข้าชม

ประวัติ

แก้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2420 โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์เป็นผู้ออกแบบ[2] โดยพระราชทานเงิน 70 ชั่ง หรือประมาณ 5,600 บาท ทุกปีในฤดูฝน พระองค์จะเสด็จมาประทับที่พระที่นั่งองค์นี้ปีละ 3 ครั้ง[3]

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรเป็นพระที่นั่งเรือนไม้ 2 ชั้น มีสถาปัตยกรรมแบบชาเล่ย์ของสวิตเซอร์แลนด์ โดยทาสีเขียวอ่อนและสีเขียวแก่สลับกันทั้งองค์ ประดับประดาไปด้วยลวดลายฉลุไม้แบบยุโรปที่แสนงดงาม มีระเบียงแล่นโดยรอบพระที่นั่ง ภายในมีการตกแต่งแบบยุโรปด้วยเครื่องเรือนฝรั่งเศสสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่เข้าชุดกันทั้งหมด พระที่นั่งองค์นี้ถือได้ว่าเป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานมากที่สุด[4]

เมื่อปี พ.ศ. 2433 แกรนด์ดุ๊กซาร์วิตส์แห่งรัสเซีย (พระยศขณะนั้น) ได้เสด็จเยือนประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับของแกรนด์ดุ๊กซาร์วิตส์ และในปี พ.ศ. 2452 ยังใช้เป็นที่ประทับของดยุคโยฮัน อัลเบรตแห่งเยอรมันด้วย[1]

ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมพระที่นั่งต่าง ๆ ในพระราชวังบางปะอิน ขณะดำเนินการทาสีพระที่นั่งนั้นได้เกิดเหตุเพลิงไหม้พระที่นั่งทั้งองค์ ซึ่งเหลือเพียงหอน้ำข้างพระที่นั่งเท่านั้นที่ไม่ถูกเพลิงไหม้ เมื่อปี พ.ศ. 2531 สำนักพระราชวังจึงสร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นมาใหม่เลียนแบบพระที่นั่งองค์เดิม เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพเขียนและวัตถุโบราณ[2]

จนกระทั่ง เมื่อปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้จัดสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ ขึ้นโดยใช้คอนกรีต แทนไม้ โดยทาสีขาวสลับเขียวตามแบบเดิมทั้งองค์พระที่นั่ง ต่อมาได้มีการรื้อดัดแปลงสร้างใหม่อีกครั้งหนึ่งตามลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรในคราวเสด็จเยือนประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2539 การดัดแปลงใหม่ครั้งนี้ได้ใช้ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียน ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นกรุกระจกโดยรอบองค์พระที่นั่ง องค์พระที่นั่งทาสีม่วงชมพูอย่างงดงาม[1][4]

ภายในพระที่นั่ง

แก้

ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังบางปะอิน และเป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะ เป็นสถานที่เดียวในพระราชวังบางปะอินที่ไม่เปิดให้เข้าชม

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
  2. 2.0 2.1 พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร อาลัยชาเลต์สวิส
  3. "พระราชวังบางปะอิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-14. สืบค้นเมื่อ 2007-06-02.
  4. 4.0 4.1 พระราชวังบางปะอิน ตอน พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

14°13′59″N 100°34′47″E / 14.232922°N 100.579587°E / 14.232922; 100.579587