พระรามราชนิเวศน์

พระรามราชนิเวศน์ หรือ วังบ้านปืน เป็นประทับแปรพระราชฐานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อเสด็จประพาสจังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านปืน ริมแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยมีคาร์ล ดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมนีเป็นผู้ออกแบบ ดร.ไบเยอร์ เป็นนายช่างก่อสร้าง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) ทรงควบคุมการก่อสร้าง และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (พระยศขณะนั้น) ทรงควบคุมด้านการไฟฟ้า

พระรามราชนิเวศน์
ลานด้านหน้าพระรามราชนิเวศน์
แผนที่
ชื่ออื่นวังบ้านปืน
ที่มาพระราม
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปลี่ยนสภาพ
ประเภทพระราชนิเวศน์
สถาปัตยกรรมบาโรก, นวศิลป์
ที่ตั้งตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี
เมือง เพชรบุรี
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้าง19 สิงหาคม พ.ศ. 2453
(114 ปี 52 วัน)
พิธีเปิด13 มิถุนายน พ.ศ. 2461
(106 ปี 119 วัน)
(7 ปี 298 วัน)
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกคาร์ล เดอริง
ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของค่ายรามราชนิเวศน์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2453 แต่การก่อสร้างดำเนินได้ไม่นานก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ช่างสร้างต่อจนเสร็จใน พ.ศ. 2459 รวมเวลาสร้างเกือบ 7 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองพระตำหนักวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2461[1]

ประวัติ

แก้

ด้วยเหตุที่ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะมีพระราชวังนอกพระนครเพื่อประทับค้างแรมได้โดยสะดวก จังหวัดเพชรบุรีที่พระองค์มีพระประสงค์จะให้เป็นพระราชวังที่ใช้ประทับยามหน้าฝน พระองค์จึงมีพระราชโครงการให้ซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่เขตบ้านปืน ริมแม่น้ำเพชรบุรี โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นแม่งานควบคุมการก่อสร้าง และมีพระบัญชาให้ คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ริง (Karl Siegfried Dohring) ผู้เคยออกแบบ วังบางขุนพรหม วังวรดิศ และวังพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐมาแล้ว เป็นสถาปนิกออกแบบ

นายดอห์ริงได้เลือกผู้ร่วมงานทั้งสถาปนิก วิศวกร และมัณฑนากรเป็นชาวเยอรมันทั้งสิ้น เพื่อการทำงานให้มีศิลปะเป็นแบบเดียวกันพระที่นั่งองค์นี้จึงมีรูปแบบศิลปะตะวันตกอย่างเต็มตัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่ต้องการพระตำหนักแบบโมเดิร์นสไตล์ สถาปนิกจึงได้ออกแบบมาในลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเยอรมัน โดยได้แบบแผนมาจากตำหนักในพระราชวังของพระเจ้าไกเซอร์แห่งเยอรมันที่ทรงเคยประทับ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

แก้

พระที่นั่งได้ใช้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมบาโรก (Baroque) และแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) หรือที่เยอรมันเรียกว่า "จุงเกนสติล" (Jugendstil) โดยจะเน้นความทันสมัยโดยจะไม่มีลายปูนปั้นวิจิตรพิสดารเหมือนอาคารในสมัยเดียวกัน พระที่นั่งหลังนี้จะเน้นในเรื่องของความสูงของหน้าต่าง ความสูงของเพดานซึ่งกว้างเป็นพิเศษ ทำให้พระที่นั่งดูใหญ่โต โอ่อ่า สง่างาม และตระการตา

แผนผังของตัวอาคารสร้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมสวนหย่อม มีสระน้ำพุตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนที่ประทับเป็นตึกสองชั้นขนาดใหญ่ หลังคาทรงสูงรูปโดม ภายในเป็นโถงสูงมีบันไดโค้งขึ้นสู่ชั้นสองซึ่งจัดเป็นจุดเด่นของอาคาร เพราะรวมสิ่งน่าชมไว้หลายหลาก ตัวอย่างเช่น เสาที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบและตกแต่งด้วยโลหะ ขัดเงา เสาเหล่านี้แล่นตลอดจากพื้นจดเพดานชั้นสองและประดับด้วยกระเบื้องเขียวเข้ากันกับบริเวณโดยรอบโถงบันได ที่หัวเสาตาม ราวบันไดโค้งมีตุ๊กตากระเบื้องรูปเด็กในอิริยาบถต่าง ๆ ประดับไว้ รอบบริเวณโถงบันไดชั้นบนยังมีกรอบลูกไม้กระเบื้องเคลือบประดับตามช่องโดยรอบอีกด้วย

พระที่นั่งหลังนี้ยังมีสิ่งที่น่าชมอีกมาก กล่าวคือ การตกแต่งภายในแต่ละห้องให้มีรูปลักษณ์แตกต่าง กันไปทั้งสีสันและวัสดุที่ใช้ เช่น บริเวณโถงบันไดใช้โทนสีเขียว ห้อง เสวยใช้โทนสีเหลือง ตกแต่งช่องประตูด้วยเหล็กดัดแบบอาร์ต นูโว และประดับผนังด้วยแผ่นกระเบื้องเคลือบสีเหลืองสด ตัดกรอบด้วยกระเบื้องเขียวเป็นช่อง ๆ ตามแนวยืน โดยกระเบื้องประดับผนังมีลวด ลายนูนเป็นรูปสัตว์และพรรณพืชต่าง ๆ แทรกอยู่เป็นระยะ ๆ ห้องพระบรรทมใช้โทนสีทอง โดยตกแต่งเสาในห้องด้วยแผ่นโลหะสีทองขัดเงาดุนลาย หัวเสาเป็นภาพเขียนแจกันดอกไม้หลากสี บนพื้นครึ่งวงกลมสีทอง ดูสง่างามและมลังเมลือง

การก่อสร้างพระที่นั่งแห่งนี้ มาสำเร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2461 และพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามที่ประทับแห่งใหม่ว่า “พระรามราชนิเวศน์”[2] นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำเนินการหล่อรูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืนเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ยังหน้าพระที่นั่ง (ปัจจุบัน รูปปั้นนี้ย้ายมาไว้ยังหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) แต่คนทั่วไปจะเรียกติดปากว่า "วังบ้านปืน" ตาม ชื่อเดิมของถิ่นที่อยู่นั่นเอง แม้ว่าพระรามราชนิเวศน์จะสร้างเสร็จในรัชกาลที่ 6 แต่พระองค์ก็มิได้เสด็จประพาสมายังพระราชนิเวศน์แห่งนี้บ่อยนัก จะเสด็จมาประทับเพื่อทอดพระเนตรการซ้อมเสือป่าบ้าง แต่ก็น้อยครั้งมาก วังนี้จึงเริ่มทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ

ครั้นมาถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดฯ ให้ปรับพระราชนิเวศน์แห่งนี้เป็นสถานศึกษาของเหล่าครูในแขนงวิชาชีพต่าง ๆ มาจนกระทั่งวิชาชีพเหล่านี้แข็งแกรงขึ้นจนย้ายออกไปตั้งอยู่ที่อื่นได้ พระราชนิเวศน์แห่งนี้จึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรมลงอีกครั้ง หลังจากนั้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชนิเวศน์ฯ เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม โรงเรียนฝึกหัดครูผู้กำกับลูกเสือในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนประถมวิสามัญหญิง จนกระทั่ง โรงเรียนเหล่านี้ย้ายออกไป พระราชวังบ้านปืนจึงถูกทิ้งให้รกร้างอีกครั้ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ฝ่ายทหารได้ใช้พระราชวังนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร ปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของจังหวัดทหารบกเพชรบุรีและต่อมาได้เป็นมณฑลทหารบกที่ 15 และได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และศิลปะของจังหวัดเพชรบุรี โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โปรดฯ ให้ใช้พระรามราชนิเวศน์นี้เป็นหน่วยบัญชาการของทหารบก และเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะของจังหวัดเพชรบุรีด้วย

ระเบียงภาพ

แก้


ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°05′34″N 99°56′54″E / 13.0928441°N 99.9484205°E / 13.0928441; 99.9484205