พระตำหนักดาราภิรมย์

ตำหนักดาราภิรมย์ เป็นตำหนักของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมีโปรดให้ก่อสร้างขึ้นประมาณช่วงปี พ.ศ. 2470-2472 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงย้ายกลับมาประทับที่เชียงใหม่เป็นการถาวร หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​เสด็จสวรรคต

พระตำหนักดาราภิรมย์
พระตำหนักดาราภิรมย์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระตำหนัก
เมืองอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2457
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างเรือนไม้
การออกแบบและการก่อสร้าง
รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น พ.ศ. 2543[1]
เว็บไซต์
พระตำหนักดาราภิรมย์ มุมมองจากทางเข้าในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ตัวตำหนักเป็นเรือนไม้สองชั้น ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือ เครื่องใช้ส่วนพระองค์ ของที่ทรงได้รับพระราชทาน รวมทั้งพระราชหัตถเลขาระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรักระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ฝ่ายเหนือ ที่ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศพระราชชายา อันเป็นพระฐานันดรศักดิ์พระมเหสีเทวีพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ไทย[2]

ตำหนักดาราภิรมย์ ยังเป็นสถานที่จัดงานวันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ตรงกับวันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันสิ้นพระชนม์ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา โดยจะมีการประกอบพิธีบวงสรวงถวายสักการะ พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย และพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะบริเวณหน้าพระอนุสาวรีย์เจ้าดารารัศมี พระราชชายา[3]

รูปแบบอาคาร แก้

ตำหนักดาราภิรมย์เป็นอาคารสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ ใต้ถุนโล่ง หลังคาทรงปั้นหยาซ้อนกัน ทรงสูง ซึ่งได้รับ อิทธิพลจากต่างประเทศในยุคนั้น ชั้นบนกั้นเป็น ห้องต่าง ๆ มีช่องเปิดลายฉลุบริเวณคอสอง เพื่อใช้ระบายอากาศ มีระเบียงร้านไม้ด้านหลัง และซุ้มเทียบ รถยนต์ด้านหน้า

สวนเจ้าสบาย แก้

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ทรงสนพระทัยในการเกษตรและทรงหวังจะช่วยการกสิกรรมของภาคเหนือ ทรงสร้างสวนทดลองการเกษตรชื่อ "สวนเจ้าสบาย" ทรงทดลองปลูกดอกกุหลาบพันธุ์ใหม่ๆ ที่ได้มาจากสมาคมกุหลาบแห่งอังกฤษ และทรงโปรดกุหลาบดอกใหญ่สีชมพู จึงทรงตั้งชื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบรมราชสวามีว่า "จุฬาลงกรณ์"[4]

การดูแล แก้

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ทรงทำพินัยกรรมประทานที่ดินและตำหนักดาราภิรมย์ ให้เป็นมรดกแก่เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่ ราชบุตรในเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่) เจ้าราชวงศ์แห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมรดก 1 ใน 4 ส่วนของเจ้าดารารัศมีฯ ต่อมาในปี พ.ศ. 2492[5] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอซื้อที่ดินและตำหนักดาราภิรมย์ เพื่อเตรียมการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค แต่ต่อมาก็ไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด กระทั่งได้บูรณะและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์อันเป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดินแทน ปัจจุบันพระตำหนักอยู่ในความดูแลของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้พัฒนาพื้นที่[6]

อ้างอิง แก้

  1. "อาคารอนุรักษ์ดีเด่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-10. สืบค้นเมื่อ 2007-10-28.
  2. "พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์." Www.thairath.co.th. October 29, 2016. Accessed March 27, 2017. http://www.thairath.co.th/content/767782.
  3. ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ (23 พฤศจิกายน 2553). "จุฬาฯ-เชียงใหม่เตรียมจัดงาน "วันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี"". ASTVผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-25. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. แผ่นพับบรรยายสรุป พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. อนุ เนินหาด, สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่ม 9, นพบุรีการพิมพ์, 2547
  6. Property.chula.ac.th. (2017). โครงการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. [online] Available at: http://www.property.chula.ac.th/web/about/โครงการพัฒนาที่ดินของจุฬาฯ [Accessed 12 Dec. 2017].

แหล่งข้อมูลอื่น แก้