พรหมชาติ เป็นตำราอันประกอบด้วยองค์ความรู้ที่มาจากดาราโหราศาสตร์โบราณที่แพร่หลายอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับ คำทำนายเกี่ยวกับชีวิต คำทำนายเกี่ยวกับคู่ครอง การปลูกเรือนและการทำนา การดูฤกษ์ยาม คำทำนายเกี่ยวกับสงกรานต์ รวมถึงคำทำนายในเรื่องศิริมงคล

ตำราพรหมชาติเป็นตำราที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสมุดไทยดำเขียนด้วยตัวอักษรไทย สมัยต้นรัตนโกสินทร์เขียนด้วยลายเส้นสีขาว มีการตีพิมพ์ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเอกชน ซึ่งแตกต่างจากตำราอื่น ๆ ในยุคเดียวกันที่องค์กรของรัฐเป็นฝ่ายจัดพิมพ์[1] ฉบับพิมพ์เก่าสุดเป็นฉบับพิมพ์ของโรงพิมพ์พานิชศุภผล พิมพ์ก่อน พ.ศ. 2455 ไม่ปรากฏชื่อผู้รวบรวม ต่อมาได้มีการพิมพ์ขึ้นอีกหลายครั้งจากหลายโรงพิมพ์และแพร่หลาย โดยในการพิมพ์แต่ละครั้งจะเพิ่มเติมเนื้อหาอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ

รูปแบบการดูพรหมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ คือใช้รหัสภาพที่เกี่ยวเนื่องกับปีนักษัตรแบบจีน แต่ใช้สัตว์แทนลักษณะนิสัยของบุคคลที่เกิดในปีนั้น ๆ แบบไทย ผสมเข้ากับความรู้ทางโหราศาสตร์ของพราหมณ์ที่มีความสัมพันธ์กับตำราโหราศาสตร์ที่อาศัยเกณฑ์คำนวณ คือ มหาทักษา (ดูฤกษ์ยามโดยการนับตำแหน่งของดาวอัฏฐเคราห์เวียนทางขวา)[2]

ตำราพรหมชาติล้านนาเป็นตำราที่กล่าวถึงการพยากรณ์ชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่อดีตชาติ ปัจจุบันชาติ และอนาคตชาติ ว่าด้วยโชคชะตาราศีตามปีเกิด เดือนเกิด และวันเกิด ตำรามักเขียนด้วยอักษรและภาษาล้านนาลงในเอกสารโบราณประเภทพับสา

อ้างอิง แก้

  1. ณัฐพล บ้านไร่. "การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องพระเคราะห์ ทศา และนรลักษณ์ในคัมภีร์พฤหัตปาราศรโหราศาสตร์และตำราพรหมชาติฉบับราษฎร์ของไทย" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 16.[ลิงก์เสีย]
  2. "ตำราพรหมชาติ". มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-06. สืบค้นเมื่อ 2022-07-06.