พรรคประชาชาติ (พ.ศ. 2531)

(เปลี่ยนทางจาก พรรคประชาชาติ (พ.ศ. 2534))

พรรคประชาชาติ (พ.ศ. 2531) เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองครั้งแรกตามความในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ภายใต้ชื่อ พรรคประชาชาติ หรือ NATIONAL PARTY ในทะเบียนเลขที่ 22/2531 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2531 โดยสำนักงานใหญ่ของพรรคมีที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 44 ถนนพหลโยธิน ซอย 11 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร[1]

พรรคประชาชาติ
หัวหน้าเผดิม สิริเวชชะพันธ์
รองหัวหน้าพันตรี ทองทวี อินทรทัต
กฤตกร เรืองวิเศษ
อุสุม นิมมานเหมินทร์
เลขาธิการมกรินทร์ เนื้อนวล
รองเลขาธิการสุนาท เทพหัสดิน ณ อยุธยา
สยมพล ณ นคร
ก่อตั้ง16 มิถุนายน พ.ศ. 2531 (ครั้งที่ 1)
12 มิถุนายน พ.ศ. 2534 (ครั้งที่ 2)
ถูกยุบ17 เมษายน พ.ศ. 2532 (ครั้งที่ 1)
(0 ปี 306 วัน)
17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 (ครั้งที่ 2)
(1 ปี 158 วัน)
ที่ทำการเลขที่ 44 ถนนพหลโยธิน ซอย 11 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

เครื่องหมายพรรค แก้

เครื่องหมายประจำพรรคประชาชาติ มีลักษณะเป็นรูปวงกลม มีเครื่องหมายตราชูประดับอยู่ด้านบน มีแถบสีธงชาติไทยบรรจุอยู่ภายในวงกลม และมีตัวอักษร “พรรคประชาชาติ” และ “NATIONAL PARTY” ปรากฏอยู่ด้วย[1]

นโยบายพรรค แก้

พรรคประชาชาติได้กำหนดแผนนโยบาย แนวความคิดในการที่จะร่วมพัฒนาประเทศ “แนวสร้างสรรค์” ในอีกรูปแบบหนึ่งที่ยังประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง เพื่อให้การปฏิบัติในภารกิจที่จะดำเนินไปด้วยดี ต้องเกิดจาก “การรวมพลังความรักชาติบ้านเมืองของชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า” พรรคประชาชาติจึงได้ประกาศนโยบายของพรรคดังนี้[1]

นโยบายด้านการเมือง แก้

พรรคประชาชาติมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะขอปกป้องรักษาชาติไทยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ ให้คงอยู่ด้วยความเป็นไทยอย่างมั่นคง ช่วยให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้มีความเป็นอยู่ และดำรงชีวิตอย่างอิสรเสรี มีความสามัคคีปรองดองกัน รวมทั้งมีความรัก ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้ช่วยกันเสริมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งพรรคประชาชาติมีเจตนาแน่วแน่พร้อมที่จะพัฒนา สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว พรรคประชาชาติจึงได้กำหนดนโยบายและโครงสร้างด้านการเมืองไว้ ดังนี้

1.พรรคประชาชาติ จะรักษาเอกราช และอธิปไตยของชาติไว้อย่างมั่นคง

2.พรรคประชาชาติจะสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นฐานที่สำคัญของการที่จะพัฒนาสังคมไทยให้เจริญรุ่งเรือง เป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบต่อไป

3.พรรคประชาชาติจะส่งเสริมความสามัคคีในชาติให้เป็นผลสำเร็จ

4.พรรคประชาชาติ จะปราบปรามขบวนการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นศัตรูบ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศให้ได้ผลอย่างจริงจัง

5.พรรคประชาชาติ จะประสานกลไกพรรคให้เข้ากับกลไกรัฐเพื่อให้การปฏิบัติงานสอดคล้องและดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

6.พรรคประชาชาติ จะส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นพื้นฐานการปกครองระบบประชาธิปไตย

7.พรรคประชาชาติจะรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

8.พรรคประชาชาติ จะส่งเสริมให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่

9.พรรคประชาชาติ จะส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจและปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของตนให้ดียิ่งขึ้น

10.พรรคประชาชาติ จะส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง

นโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม แก้

พรรคประชาชาติมีนโยบายที่จะดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยตามระบบเสรีนิยม โดยมีแผนและโครงการที่แน่นอน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พัฒนาและประชาชนไทยได้มีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น รวมทั้งมีจุดมุ่งหมายที่จะวางรากฐานเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญต่อการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป “พรรคประชาชาติ” จะได้สรรหาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถและประสบการณ์ เพื่อที่จะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายให้สำเร็จ ดังนั้นพรรคประชาชาติจึงได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมไว้ ดังนี้

1.พรรคประชาชาติจะพัฒนาเศรษฐกิจตามระบบเสรีนิยม โดยเน้นการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เป็นสำคัญ รวมทั้งการพาณิชย์กรรมและการขนส่งให้ได้สัดส่วนและสอดคล้องกัน

2.พรรคประชาชาติ จะเพิ่มผลผลิตของประเทศและรายได้ประชาชาติ เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพและรายได้ของประชาชนกับส่งเสริมให้ประชาชนได้รับผลจากการพัฒนาโดยเสมอภาคและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยเร่งรัดกำลังการผลิตและผลผลิตของประเทศตลอดจนปรับปรุงระบบเศรษฐกิจให้มีสมรรถภาพทุกวิถีทาง และจะดำเนินการป้องกันมิให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นเกินความจำเป็น

3.พรรคประชาชาติ จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเอกชนทุกประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาการเกษตร โดยจะสนับสนุนการลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ส่วนในการพาณิชย์จะส่งเสริมให้มีการขยายตลาดและบริการทุกประเภทให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

4.พรรคประชาชาติ จะสนับสนุนความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาการด้านประยุกต์โดยจะส่งเสริมและนำผลของประดิษฐ์ การวิจัย รวมทั้งการปรับปรุงต่าง ๆ มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับภาวะและความต้องการภายในประเทศ ตลอดจนขยายบริการของรัฐให้เอกชนในด้านการประยุกต์วิทยาการสมัยใหม่ที่เห็นว่าเหมาะสมมาดำเนินการสำหรับโครงการของรัฐเอง

5. พรรคประชาชาติ จะรักษาเสถียรภาพการเงิน การคลัง เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อ ส่งเสริมการออมทรัพย์และการลงทุนของเอกชน กับหาทางเพิ่มรายได้ของรัฐให้สูงขึ้นโดยยึดถือหลักความเป็นธรรมแก่สังคม โดยป้องกันมิให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนกำลังในการพัฒนา และเป็นการกระทบกระเทือนต่อการครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ จะหาทางเพิ่มรายได้ของรัฐให้มากขึ้น โดยจะยึดหลักความเป็นธรรมของสังคมให้เป็นแนวทางในการปรับปรุงรายได้

6.พรรคประชาชาติ จะช่วยเหลือเกษตรกรในด้านวิชาการทันสมัย เพิ่มผลผลิต ช่วยให้มีตลาดกลางช่วยประกันราคาข้าว ตลอดทั้งผลิตผลเกษตรกรรมทุกชนิด ช่วยประนอมหนี้และช่วยให้มีที่ดินเป็นของตนเอง

7.พรรคประชาชาติ จะพัฒนาการศึกษาอย่างมีแผนและให้ประสานกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งจะให้การศึกษาอบรมแก่ชาวไทยอย่างทั่วถึง โดยกำหนดเป้าหมายไว้ในแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ

นโยบายด้านการต่างประเทศ แก้

พรรคประชาชาติ ยึดหลักนโยบายการต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนรวมของชาติ ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศนั้น หลักสำคัญมีอยู่ว่าจะต้องปฏิบัติตนโดยสร้างความเชื่อถือและความเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประเทศซึ่งประกอบเป็นสหประชาชาติและนานาประเทศอื่น ๆ เพราะการปฏิบัติเช่นนั้นได้นำมาซึ่งผลดียิ่งแก่ประเทศชาติ ฉะนั้นพรรคประชาชาติจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมพันธไมตรี ตลอดทั้งความเข้าใจอันดี ซึ่งมีอยู่อย่างแน่นแฟ้นกับสหประชาชาติและนานาประเทศอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไป และร่วมมืออย่างเต็มที่กับสหประชาชาติตลอดทั้งปฏิบัติการให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีอยู่อย่างเคร่งครัด และโดยสุจริตใจในการนี้ พรรคประชาชาติหวังว่าจะได้ความร่วมมืออย่างเต็มที่จากประชาชนพลเมืองของชาติไทย ด้วยเหตุนี้พรรคประชาชาติจึงได้กำหนดนโยบายต่างประเทศไว้ดังต่อไปนี้

1.พรรคประชาชาติ จะรักษาศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิประเทศไทยในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศอื่นให้สูงยิ่งขึ้น

2.พรรคประชาชาติ จะสนับสนุนให้ประเทศไทยร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติอย่างเต็มที่ เพื่อให้องค์การนี้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศได้อย่างแท้จริง

3.พรรคประชาชาติ สนับสนุนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างองค์การภูมิภาคขึ้นทำหน้าที่ช่วยองค์การสหประชาชาติในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างความเจริญมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจสังคม และการเมืองเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น

4.พรรคประชาชาติ สนับสนุนนโยบายผูกมิตรกับทุกประเทศในโลกที่ไม่มีเจตนามุ่งร้ายต่อประเทศไทย

5.พรรคประชาชาติ สนับสนุนวิธีการระงับความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยสันติวิธี

6.พรรคประชาชาติ เน้นปัญหาการเสริมสร้างเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

นโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดินในประเทศ แก้

พรรคประชาชาติมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะปรับปรุงระบบการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยให้สามารถตอบสนองความต้องการรีบด่วนของประเทศชาติและของประชาชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งโดยยึดถือหลักเอกภาพในระดับนโยบายอันจะเป็นผลทำให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจกันภายในชาติ และเป็นหลักผลักดันให้สังคมไทยได้พัฒนาเป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น เพื่อที่จะบรรลุจุดหมายดังกล่าว พรรคประชาชาติ จึงกำหนดนโยบายและโครงการด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ไว้ดังนี้

1.พรรคประชาชาติ จะจัดระบบการบริหารให้มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นจักรกลในการรวบรวม และระดมทรัพยากรทั้งมวลภายในชาติ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ให้พุ่งไปในการดำเนินบริการสาธารณะอย่างสมบูรณ์

2.พรรคประชาชาติ จะจัดระบบวิธีการประสานงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยยึดหลักเอกภาพในระดับนโยบายเป็นหลัก

3.พรรคประชาชาติ จะจัดระบบการบริหารระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และส่วนกลางให้สอดคล้องและประสานกันยิ่งขึ้น เพื่อขจัดความล่าช้า ซ้ำซ้อนและสูญเปล่าในการดำเนินบริการสาธารณะ

4.พรรคประชาชาติ จะจัดการบริหารให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนชาวไทยทุกหมู่ทุกเหล่าและทุกท้องถิ่น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมแก่สภาพความเป็นอยู่ ประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละหมู่เหล่าและท้องถิ่นนั้น ๆ

5.พรรคประชาชาติ จะยึดหลักจิตวิทยา และมนุษยสัมพันธ์ในการดำเนินบริการสาธารณะเพื่อให้เกิดความสามัคคีสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวในหมู่ข้าราชการด้วยกัน และข้าราชการกับประชาชนยิ่งขึ้น

คณะกรรมการบริหารพรรค แก้

พรรคประชาชาติมีคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อแรกจดทะเบียนจัดตั้ง ทั้งสิ้น 14 คน โดยตำแหน่งสำคัญ ๆ มีรายชื่อดังต่อไปนี้[1]

ลำดับ ชื่อ ตำแหน่ง
1 นายเผดิม สิริเวชชะพันธ์ หัวหน้าพรรค
2 พันตรีทองทวี อินทรทัต รองหัวหน้าพรรค
3 นายกฤตกร เรืองวิเศษ รองหัวหน้าพรรค
4 นายอุสุม นิมมานเหมินทร์ รองหัวหน้าพรรค
5 นายมกรินทร์ เนื้อนวล เลขาธิการพรรค
6 นายสุนาท เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองเลขาธิการพรรค
7 นายสยมพล ณ นคร รองเลขาธิการพรรค

ยุบพรรค แก้

ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่ออาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พรรคประชาชาติได้ส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามของพรรคจำนวน 3 คน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนขั้นต่ำตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 เป็นเหตุให้พรรคประชาชาติถูกศาลฎีกาสั่งให้ยุบเลิกพรรค ตามคำสั่งที่ 1774/2532 เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2532[2]

จัดตั้งพรรคเป็นครั้งที่ 2 แก้

ต่อมาได้มีการจดทะเบียนก่อตั้งพรรคประชาชาติอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยมีกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมมาบริหารพรรค[3]

ต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคประชาชาติได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 91 คนซึ่งไม่ถึงขั้นต่ำของจำนวนผู้สมัครลงรับเลือกตั้งคือ 120 คนทำให้ศาลฎีกาได้มีคำสั่ง ที่ 3671/2535 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 ยุบเลิกพรรคประชาชาติพร้อมกับพรรคการเมืองอีก 5 พรรค[4]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง "พรรคประชาชาติ"
  2. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยุบเลิกพรรคการเมืองตามนัยมาตรา ๔๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔
  3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง
  4. "ประกาศสำนักงานนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบเลิกพรรคการเมือง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-03-18. สืบค้นเมื่อ 2020-03-16.