พนักงานมหาวิทยาลัยไทย

(เปลี่ยนทางจาก พนักงานมหาวิทยาลัย)

พนักงานมหาวิทยาลัย หรือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา คือ บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน หรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา

ประวัติ แก้

ในอดีตมีการกำหนดให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถาบันอุดมศึกษา มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2507[1] ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มที่มากกว่าข้าราชการ โดยมีอัตราในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับข้าราชการ สาย ก. และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับข้าราชการ สาย ข. และ สาย ค. ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งมีนายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน[2] จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดอัตราพนักงานมหาวิทยาลัย ทดแทนอัตราข้าราชการ ซึ่งเงิน 1.7 เท่า และ 1.5 เท่า ไม่ใช่เงินเดือนทั้งหมด แต่เป็นเงินที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อจ้างพนักงาน 1 อัตรา เมื่อหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสวัสดิการ และอื่นๆ ที่เหลือจึงเป็นเงินเดือน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 ขึ้น จึงมีการกำหนดเกี่ยวกับพนักงานมหาวิทยาลัย อย่างเป็นทางการ

ปัจจุบันในสถาบันอุดมศึกษาไม่มีการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว โดยสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ จะใช้การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการเดิม ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัย มีสิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ และตำแหน่งผู้บริหารเช่นเดียวกันกับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา[3]

คุณสมบัติของบุคคลที่จะบรรจุเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แก้

ผู้ที่จะบรรจุเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังนี้

  • มีสัญชาติไทย
  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
  • เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และไม่มีลักษณะต้องห้ามลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

ประเภท แก้

พนักงานมหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท เช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่

  • (ก) ตำแหน่งวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัย ได้แก่
  • (ข) ตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ได้แก่
    • อธิการบดี
    • รองอธิการบดี
    • คณบดี
    • หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
    • ผู้ช่วยอธิการบดี
    • รองคณบดีหรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
    • ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต ผู้อำนวยการกอง หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง
  • (ค) ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ได้แก่
    • ระดับเชี่ยวชาญพิเศษ
    • ระดับเชี่ยวชาญ
    • ระดับชำนาญการพิเศษ
    • ระดับชำนาญการ
    • ระดับปฏิบัติการ
  • (ง) ตำแหน่งประเภททั่วไป ได้แก่
    • ระดับชำนาญงานพิเศษ
    • ระดับชำนาญงาน
    • ระดับปฏิบัติงาน

การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย นั้น เนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีการปรับปรุงบัญชี 18 [4] ของระเบียบสำนักนายก รัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราช อิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2536 [5] ซึ่งเป็นเกณฑ์การขอพระราชทานครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีลักษณะพิเศษ โดยให้รวมถึงบุคลากรประเภทพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย ตามบัญชี 18

ดังตัวอย่างของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

1. พนักงานมหาวิทยาลัยที่จะเสนอขอพระราชทานได้ คือ พนักงานมหาวิทยาลัยหมวดเงินอุดหนุน ซึ่งจ้างจากงบประมานแผ่นดิน ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการจ้างในระบบพนักงานมหาวิทยาลัย เท่านั้น

2. ตามร่างบัญชี 18 ลำดับที่ 1 ตำแหน่ง “ประจำแผนก” หมายความถึง ตำแหน่งที่บรรจุโดยใช้วุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนตำแหน่งที่ใช้วุฒิ ปวช. และ ปวส. บรรจุก็สามารถขอพระราชทานได้หากมีเวลาราชการครบตามเกณฑ์ และได้รับเงินเดือนถึงขึ้นต่ำของวุฒิปริญญาตรีที่ใช้ในการบรรจุพนักงานมหาวิทยาลัย

3. ในการขอพระราชทานเครื่องราชฯ นั้น ต้องคำนึงถึงผลของการปฏิบัติงานด้วย เนื่องจากข้อ 10 (2) ของระเบียบฯ ดังกล่าวได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมควรได้รับการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชฯ ไว้ดังนี้

“เป็นผู้ประพฤติดีและปฏิบัติงานราชการหรือปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วยความอุตสาหะ ซื่อสัตย์ และเอาใจใส่ ต่อหน้าที่อย่างดียิ่ง”

เครื่องแบบพนักงานมหาวิทยาลัย แก้

เครื่องแต่งกายของพนักงานมหาวิทยาลัยในงานพิธีต่างๆ มีการกำหนดขึ้นในแต่ละสถาบันอุดมศึกษาตามแต่ความเหมาะสมแตกต่างกันไป อ้างอิงจากเครื่องแบบปกติขาว เครื่องแบบเต็มยศหรือครึ่งยศของข้าราชการพลเรือนทั่วไป โดยปกติจะมีข้อแตกต่างที่ดวงตรา สัญลักษณ์ และอินทรธนู ที่จะเปลี่ยนไปตามแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดลใช้ตรามหาวิทยาลัยและดอกกันภัยมหิดลบนอินทรธนู [6] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเครื่องแบบของสตรีไปใช้เสื้อคล้ายแบบบุรุษ [7] มหาวิทยาลัยพะเยา[8] เป็นต้น

ข้อมูลบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบัน[9] แก้

สถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการพลเรือน ในสถาบัน อุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว อื่นๆ รวม[10]
1. มหาวิทยาลัยของรัฐ (16 แห่ง) 17,366 24,338 1,077 4,816 11,950 3,868 63,415
2. มหาวิทยาลัยในกำกับ (14 แห่ง) 6,244 25,559 47 7,652 10,804 9,542 59,848
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏ (40 แห่ง) 5,427 13,077 873 950 8,081 184 28,592
4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี

ราชมงคล (9 แห่ง)

4,612 3,018 407 822 4,560 67 13,486
รวม 33,649 65,992 2,404 14,240 35,395 13,661 165,341
จำนวนเปอร์เซ็นต์ 20.35% 39.91% 1.45% 8.16% 21.41% 8.26% 100.00%

อ้างอิง แก้

  1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-14. สืบค้นเมื่อ 2010-05-21.
  3. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551
  4. บัญชี 18 การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีลักษณะพิเศษ[ลิงก์เสีย]
  5. "ระเบียบสำนักนายก รัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราช อิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2536". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-04. สืบค้นเมื่อ 2012-05-07.
  6. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551
  7. "ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยเครื่องแบบปกติขาว ครึ่งยศ และเต็มยศของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2552" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-06-07. สืบค้นเมื่อ 2012-05-07.
  8. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยพะเยา ว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานมหาวิทยาลัย
  9. ข้อมูลจำนวนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
  10. "พนักงานมหา'ลัย ร้อง สปสช.ตั้งกองทุนรักษาพยาบาล โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 31 กรกฎาคม 2556". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-06. สืบค้นเมื่อ 2013-08-11. {{cite web}}: horizontal tab character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 72 (help)

ดูเพิ่ม แก้