พญากง พญาพาน เป็นวรรณกรรมพื้นบ้าน ฉบับที่เก่าสุดพบในพงศาวดารเหนือ ซึ่งได้กล่าวยุคสมัยในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา

พระปฐมเจดีย์
พระประโทณเจดีย์

ที่มาและการบันทึก

แก้

ตำนานแห่งนี้ มีโครงเรื่องลูกฆ่าพ่อ คาดว่าได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์ปุราณะ[1] บ้างระบุว่า ดัดแปลงมาจากนิทานภาษาสันสกฤต ซึ่งรับมาจากกรีกอีกทอดคือ อีดิปัส[2] มีข้อสันนิษฐานว่า ไม่ใช่นิทานท้องถิ่นดั้งเดิมของพระปฐมเจดีย์และพระประโทณเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม เชื่อว่า มหาเถรศรีศรัทธาฯ (หลานพ่อขุนผาเมือง) เป็นผู้นำนิทานเรื่องนี้มาเล่า[3]

ตำนานนี้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์ 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับในพงศาวดารเหนือ มีความเก่าแก่ในสมัยอยุธยา และอีก 2 ฉบับ อยู่ในหนังสือเรื่องพระปฐมเจดีย์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ซึ่งมาจากตาปะขาวรอต ส่วนฉบับสุดท้าย พระยาราชสัมภารากร สองฉบับหลังเป็นเรื่องเดียวกัน โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ได้คัดรวมเป็นเรื่องเดียวกัน[4]

โครงเรื่อง

แก้

พญากงได้ครองเมืองกาญจนบุรี (บางสำนวนว่าเป็นเมืองนครชัยศรี) โหรทำนายว่าพระมเหสีของพระองค์จะให้ประสูติพระราชโอรสผู้มีบุญ ได้เป็นใหญ่ในภายหน้า แต่จะเป็นผู้ฆ่าพระราชบิดา เมื่อพระมเหสีให้ประสูติพระกุมาร ขณะที่ข้าราชบริพารได้เอาพานไปรองรับ ทำให้หน้าผากมีรอยแผล พญากงได้สั่งให้นำพระกุมารไปทิ้งตามยถากรรม ยายหอมได้นำไปเลี้ยงโดยตั้งชื่อว่า "พาน" เมื่อเติบใหญ่ได้ฝากไปเรียนที่วัด สมภารวัดผู้เป็นอาจารย์มีความเอ็นดู สอนวิชาจนหมด และได้นำพานไปเข้ารับราชการกับเจ้าเมืองราชบุรี จนเป็นที่โปรดปรานของเจ้าเมืองถึงกับรับเป็นโอรสบุญธรรม ตอนนั้นเมืองราชบุรีซึ่งขึ้นกับเมืองกาญจนบุรี (บางสำนวนว่าเมืองนครชัยศรี) พญาพานเป็นผู้มีฝีมือในการรบชักชวนให้เจ้าเมืองราชบุรีแข็งเมืองยกกองทัพไปรบกับพญากง จนทำยุทธหัตถี พญากงก็ถูกฟันด้วยของ้าวคอขาดตายในที่รบ

พญาพานเข้ายึดเมืองกาญจนบุรี (บางสำนวนว่าเมืองนครชัยศรี) และเอามเหสีพญากงมาเป็นมเหสีตน ในขณะที่เข้าไปหาพระมเหสีของพญากง เทวดาได้แปลงกายเป็นแมวแม่ลูกอ่อนให้ลูกกินนมขวางประตูไว้ แล้วร้องทักเสียก่อน พญาพานจึงได้อธิษฐานว่า ถ้าพระมเหสีเป็นแม่ของตนจริงก็ขอให้มีน้ำนมไหลซึมออกมา ก็มีน้ำนมไหลออกมา จึงได้รู้ความจริงว่าเป็นแม่ลูกกัน พญาพานสำนึกได้ว่าได้ฆ่าพระราชบิดา และโกรธที่ยายหอมปิดบังความจริง จึงได้สั่งให้ฆ่ายายหอม แต่ต่อมาได้สำนึกผิดที่ได้ ฆ่าพระราชบิดาและยายหอมผู้มีพระคุณ จึงได้สร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่ สูงชั่วนกเขาเหินตามคำแนะนำของพระอรหันต์ คือ พระปฐมเจดีย์ เพื่อเป็นการล้างบาปที่ฆ่าพระราชบิดา และได้สร้างพระประโทณเจดีย์ เพื่อล้างบาปที่ฆ่ายายหอม

สถานที่และงานอันเนื่องจากตำนาน

แก้

ตำนานแพร่หลายในภาคกลาง อย่างจังหวัดนครปฐมและพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ จังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นตำนานประจำถิ่นที่ใช้อธิบายประวัติความเป็นมาของพระปฐมเจดีย์ พระประโทณเจดีย์ ตลอดจนชื่อหมู่บ้าน ตำบล ตลอดจนแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เช่น บ้านถนนขาด (ถนนที่พญากงกับพญาพานใช้สู้รบกัน) บ้านสามพราน (บริเวณที่นายพรานสามคนช่วยกันหาช้างให้พญาพานไปรบกับพญากง) บ้านดอนยายหอม (บริเวณที่ตั้งบ้านเรือนยายหอม) คลองพญากง และคลองพญาพาน ที่เป็นคูเมืองโบราณ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อ 1,500 ปีก่อน[5]

ตำนานส่งผลถึงงานรูปแบบอื่น อย่าง เพลงขอทานเรื่องพญากง พญาพาน เพลงฉ่อยเรื่องพญากง พญาพาน เพลงอีแซวเรื่องพญากง พญาพาน ลิเกเรื่องพญากง พญาพาน เพลงรำโทนเรื่องพญากง พญาพาน แหล่นอกเรื่องพญากง พญาพาน เพลงทรงเครื่องเรื่องพญากง พญาพาน เป็นต้น[1]

นอกจากนี้ยังมีศาลพญากง ตั้งอยู่บริเวณตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ใกล้กับพระปฐมเจดีย์ และศาลยายหอม ซึ่งมี 3 แห่ง ได้แก่ พระปฐมเจดีย์ วัดพระประโทณเจดีย์ และวัดดอนยายหอม

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "พญากง พญาพาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-02. สืบค้นเมื่อ 2020-07-02.
  2. สุจิตต์ วงษ์เทศ (24 มีนาคม 2562). "พญากง พญาพาน (จ.นครปฐม) อีดิปัส ตำนานกรีกโบราณ". มติชนสุดสัปดาห์.
  3. สุจิตต์ วงษ์เทศ (23 มิถุนายน 2559). "พญากง พญาพาน ในกลอนสุนทรภู่".
  4. พชรพงษ์ พุฒซ้อน. "ศาลเจ้ายายหอมเลี้ยงเป็ดกับตำนานพื้นบ้านที่สร้างโบราณสถาน จังหวัดนครปฐม". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-03. สืบค้นเมื่อ 2020-07-03.
  5. "'สุจิตต์' ทอดน่องนครปฐม ชี้ใหญ่สุดนับพันปี 'ขรรค์ชัย' แนะดูแลแหล่งน้ำ เล่าตำนานพญากง". ศิลปวัฒนธรรม. 24 กรกฎาคม 2561.