ฝุ่น เป็นอนุภาคขนาดเล็กของของแข็งในอากาศที่มีแหล่งที่มาจากหลาย ๆ ที่ เช่น ฝุ่นจากดินที่ถูกลมพัดขึ้นมา ฝุ่นจากการระเบิดของภูเขาไฟ หรือจากมลภาวะต่าง ๆ ฝุ่นในที่พักอาศัยสำนักงาน หรือแม้แต่ ละอองเกสรของพืช, เส้นผมหรือขนของคนและสัตว์, สิ่งทอ, เส้นใย, เศษผิวหนังของมนุษย์ซึ่งพบเป็นจำนวน 20–50 % ของฝุ่นในที่พักอาศัย,[1] สิ่งหลงเหลือจากอุกกาบาต และจากวัตถุอีกหลายอย่างในสภาพแวดล้อมทั่วไป[2]

พายุฝุ่นที่พัดถล่มในรัฐเท็กซัส สหรัฐ ใน ค.ศ. 1935

แหล่งที่มา แก้

แหล่งที่มาของฝุ่นละอองในบรรยากาศ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แก้

เกิดจากกระแสลมที่พัดผ่านตามธรรมชาติ ทำให้เกิดฝุ่น เช่น ดิน ทราย ละอองน้ำ เขม่าควันจากไฟป่า ฝุ่นเกลือจากทะเล

ฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์ แก้

การคมนาคมขนส่ง

รถบรรทุกหิน ดิน ทราย ซีเมนต์หรือวัตถุที่ทำให้เกิดฝุ่น หรือดินโคลนที่ติดอยู่ที่ล้อรถ ขณะแล่นจะมีฝุ่นตกอยู่บนถนน แล้วกระจายตัวอยู่ในอากาศ ไอเสียจากรถยนต์ เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยเขม่า ฝุ่น ควันดำ ออกมา ถนนที่สกปรก มีดินทรายตกค้างอยู่มาก หรือมีกองวัสดุข้างถนนเมื่อรถแล่นจะทำให้เกิดฝุ่นปลิวอยู่ในอากาศ การก่อสร้างถนนใหม่ หรือการปรับปรุงผิวจราจร ทำให้เกิดฝุ่นมาก ฝุ่นที่เกิดจากยางรถยนต์ และผ้าเบรก

การก่อสร้าง

การก่อสร้างหลายชนิด มักมีการเปิดหน้าดินก่อนการก่อสร้าง ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นได้ง่าย เช่น อาคาร สิ่งก่อสร้าง การปรับปรุงสาธารณูปโภค การก่อสร้างอาคารสูง ทำให้ฝุ่นปูนซีเมนต์ถูกลมพัดออกมาจากอาคารการรื้อถอน ทำลาย อาคารหรือสิ่งก่อสร้าง

โรงงานอุตสาหกรรม

การเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเตา ถ่านหิน ฟืน แกลบ เพื่อนำพลังงานไปใช้ในการผลิต กระบวนการผลิตที่มีฝุ่นออกมา เช่น การปั่นฝ้าย การเจียโลหะ การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ[3]

ผลกระทบ แก้

ต่อมนุษย์

ฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดใหญ่มักจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์มากนัก เนื่องจากจมูกของคนเราสามารถกรองฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 10 ไมครอนขึ้นไป ส่วนฝุ่นที่มีขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่ปอดได้ มีผลงานวิจัยในสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้ที่อาศัยในบริเวณที่มีฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน อยู่ในปริมาณมากจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด นอกจากนี้ฝุ่นที่มีขนาดเล็กในทุกปริมาณ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 อาการกำเริบของโรคหอบหืดก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เช่นกัน นอกจากฝุ่นละอองจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาแล้ว ยังทำอันตรายต่อระบบหายใจเมื่อเราสูดเอาอากาศที่มีฝุ่นละอองเข้าไป โดยอาการระคายเคืองนั้นจะเกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินหายใจขึ้นอยู่กับขนาดของฝุ่นละออง โดยฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ร่างกายจะดักไว้ได้ที่ขนจมูก ส่วนฝุ่นที่มีขนาดเล็กนั้นสามารถเล็ดลอดเข้าไปในระบบหายใจ ทำให้ระคายเคืองแสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะ หรือมีการสะสมของฝุ่นในถุงลมปอด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมลง[4]

ต่อสิ่งแวดล้อม

ฝุ่นละอองจะลดความสามารถในการมองเห็น ทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี เนื่องจากฝุ่นละอองในบรรยากาศเป็นอนุภาคของแข็งที่ดูดซับและทำให้เกิดหักเหแสงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความหนาแน่น และองค์ประกอบของฝุ่นละออง ฝุ่นละอองที่ตกลงมา นอกจากจะทำให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะแก่บ้านเรือน อาคาร สิ่งก่อสร้างแล้ว ยังทำให้เกิดการทำลายและกัดกร่อนผิวหน้าของโลหะ หินอ่อน หรือวัตถุอื่น ๆ เช่น รั้วเหล็ก หลังคาสังกะสี รูปปั้น

ในกรุงเทพมหานครของไทยมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2531 มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในการสำรวจ 1,692 ครั้ง มีปริมาณเกินกว่าค่ามาตรฐาน 108 ครั้ง[5]

อ้างอิง แก้

  1. van Bronswijk, J. E. M. H. (1981). House Dust Biology for Allergists, Acarologists and Mycologists. p. 37. ISBN 9789027535016. OCLC 9757081.
  2. Hess-Kosa, Kathleen (2002). Indoor air quality: sampling methodologies. Boca Raton, Florida: CRC Press. p. 216. ISBN 9781566705394. OCLC 634141112.
  3. "ความรู้เกี่ยวกับฝุ่นละออง". กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-13. สืบค้นเมื่อ 2012-01-09.
  4. "ฝุ่น". ศูนย์สารสนเทศสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-26. สืบค้นเมื่อ 2012-01-02.
  5. ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ (ตุลาคม 1999). "ฝุ่นกับการเกิดภูมิแพ้ โรคหืดหอบ". นิตยสารใกล้หมอ. Vol. 23 no. 10. ISSN 0125-1511. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กันยายน 2012. สืบค้นเมื่อ 1 มกราคม 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

 
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Dust