ฝนเหลือง (อังกฤษ: Agent Orange หรือ Herbicide Orange, ย่อ: HO) เป็นสารฆ่าวัชพืชและสารทำให้ใบไม้ร่วง (defoliant) ที่กองทัพสหรัฐใช้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการสงครามสารฆ่าวัชพืช ปฏิบัติการแรนช์แฮนด์ (Operation Ranch Hand)[1] ระหว่างสงครามเวียดนามตั้งแต่ปี 2504 ถึง 2514[2] เกิดจากการผสมสารฆ่าวัชพืชสองชนิด คือ 2,4,5-ที และ 2,4-ดี อย่างละเท่า ๆ กัน

ระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 และ 1950 สหรัฐและบริเตนร่วมกันพัฒนาสารฆ่าวัชพืชซึ่งสามารถใช้ในการสงครามได้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้บางชนิดถูกนำสู่ตลาดเป็นสารฆ่าวัชพืช บริเตนเป็นชาติแรกที่ใช้สารฆ่าวัชพืชและสารทำให้ใบไม้ร่วงเพื่อทำลายพืชผล พุ่มไม้และไม้ต้นของผู้ก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในมาลายาระหว่างภาวะฉุกเฉินมาลายา ปฏิบัติการเหล่านี้ปูรากฐานสำหรับการใช้ฝนเหลืองและสูตรสารทำให้ใบไม้ร่วงอื่น ๆ โดยสหรัฐ[3]

กลายปี 2504 ประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยมแห่งเวียดนามใต้ขอให้สหรัฐดำเนินการฉีดพ่นสารฆ่าวัชพืชทางอากาศในประเทศของเขา ในเดือนสิงหาคมปีนั้น กองทัพอากาศเวียดนามใต้เริ่มปฏิบัติการสารฆ่าวัชพืชด้วยความช่วยเหลือของอเมริกา แต่คำขอของเสี่ยมทำให้มีการอภิปรายนโยบายในทำเนียบขาวและกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม[1] ทว่า ข้าราชการสหรัฐพิจารณาใช้ฝนเหลือง โดยชี้ว่าบริเตนใช้สารฆ่าวัชพืชและสารทำให้ใบไม้ร่วงแล้วระหว่างภาวะฉุกเฉินมาลายาในคริสต์ทศวรรษ 1950 ในเดือนพฤศจิกายน 2504 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี อนุญาตให้เริ่มปฏิบัติการแรนช์แฮนด์ ซึ่งเป็นชื่อรหัสของโครงการสารฆ่าวัชพืชในเวียดนามของกองทัพอากาศสหรัฐ

บริษัทมอนซานโต้และดอว์เคมิคัล (Dow Chemical) เป็นผู้ผลิตหลักของฝนเหลืองให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐ[4]:6 ซึ่งได้ชื่อ "Agent Orange" เนื่องจากสีของถังลายส้มที่ใช้ขนส่ง และเป็นสารที่เรียก "สารฆ่าวัชพืชรุ้ง"[5] ที่ใช้กันกว้างขวางที่สุด 2,4,5-ทีที่ใช้ผลิตฝนเหลืองถูกปนเปื้อนด้วย 2,3,7,8-เตตระคลอโรไดเบนโซไดออกซิน (TCDD) ซึ่งเป็นสารประกอบไดออกซินซึ่งเป็นพิษร้ายแรง ในบางพ้นที่ ความเข้มข้นของ TCDD ในดินและน้ำสูงกว่าระดับที่สำนักป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐถือว่าปลอดภัยเป็นหลายร้อยเท่า[6][7]

เนื่องจากขาดกฎหมายจารีตประเพณีเฉพาะหรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ตราเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการสงครามสารฆ่าวัชะช มีการเสนอร่างอนุสัญญาที่เตรียมโดยคณะทำงานที่ตั้งขึ้นในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการลดกำลังรบ (CCD) ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2519 ในปีเดียวกัน คณะกรรมการชุดแรกของสมัชชาใหญ่ตัดสินใจส่งข้อความร่างอนุสัญญาให้สมัชชาใหญ่ซึ่งลงมติรับข้อมติที่ 31/72 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 251 โดยข้อความของอนุสัญญาที่แนบเป็นภาคผนวก อนุสัญญาดังกล่าว ที่เรียก อนุสัญญาการดัดแปรสิ่งแวดล้อม เปิดให้ลงนามและให้สัตยาบันในวันที่ 18 พฤษภาคม 2520 แลมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2521 อนุสัญญาฯ ห้ามการใช้ทางทหารหรือเป็นปรปักษ์อื่นซึ่งเทคนิคการดัดแปรสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผลลัพธ์กว้างขวาง ยาวนานหรือรุนแรง หลายรัฐไม่ถือว่าอนุสัญญาห้ามการใช้สารฆ่าวัชะชและสารทำให้ใบไม้ร่วงโดยสิ้นเชิงแต่ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป[8][9]

แม้อนุสัญญาการลดกำลังรบเจนีวา ค.ศ. 1978 ข้อ 2(4) พิธีสารที่ 3 ต่ออนุสัญญาอาวุธมี "ข้อยกเว้นป่า" (The Jungle Exception) ซึ่งห้ามมิให้รัฐโจมตีป่า "ยกเว้นหากสิ่งแวดล้อมธรรมชาตินั้นถูกพลรบหรือวัตถุประสงค์ทางทหารใช้กำบัง ปกปิดหรืออำพราง หรือป่านั้นเป็นวัตถุประสงค์ทางทหาร" ซึ่งทำให้การคุ้มครองทหารและพลเรือนใด ๆ จากการโจมตีด้วยนาปาล์มหรือสารอย่างฝนเหลืองเป็นโมฆะ และชัดเจนว่าออกแบบมาให้จัดเตรียมสำหรับสถานการณ์ดังเช่นยุทธวิธีของสหรัฐในเวียดนาม วรรคนี้ยังไม่มีการทบทวน[10]

อ้างอิงแก้ไข

  1. 1.0 1.1 Buckingham. "The Air Force and Herbicides" (PDF). AFHSO. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-11-23. สืบค้นเมื่อ 2016-01-17.
  2. Agent Orange Linked To Skin Cancer Risk
  3. Bruce Cumings (1998). The Global Politics of Pesticides: Forging Consensus from Conflicting Interests. Earthscan. p. 61.
  4. "Agent Orange" entry in Encyclopedia of United States National Security, edited by Richard J. Samuel. SAGE Publications, 2005. ISBN 9781452265353
  5. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ hay-1982-p151
  6. Fawthrop, Tom; "Vietnam's war against Agent Orange", BBC News, June 14, 2004
  7. Fawthrop, Tom; "Agent of Suffering", Guardian, February 10, 2008
  8. Convention on the Prohibition of the Military or Any Other Hostile Use of Environmental Modification Techniques
  9. "Practice Relating to Rule 76. Herbicides". International Committee of the Red Cross. 2013. สืบค้นเมื่อ 24 August 2013.
  10. Detter, Ingrid. [The Law of War], [Ashgate pub. 2013] pg. 255.

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข