การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2566 แก้

การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2566 กำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เพื่อเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละเจ็ดคนเป็นคณะกรรมการประกันสังคม เป็นการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมครั้งแรกในรอบแปดปี นับตั้งแต่การออกพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายประกันตนมาจากการเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งใหญ่สุดเป็นอันดับสอง รองจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องเป็นนายจ้างที่ขึ้นกับประกันสังคม หรือเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งมีจำนวนกว่า 20 ล้านคน[1]

เบื้องหลัง แก้

ปฏิทินการเลือกตั้ง[2]
13 – 31 ต.ค.วันลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง
25 – 31 ต.ค.วันรับสมัครเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายประกันตน
10 พ.ย.วันประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
21 พ.ย.วันประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายประกันตน
24 ธ.ค.วันเลือกตั้ง

การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมเกิดขึ้นหลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 8 ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายประกันตนมาจากการเลือกตั้ง[3]

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2558 ให้คณะกรรมการประกันสังคมยุติการปฏิบัติหน้าที่ และงดการบังคับใช้บางมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในพระราชบัญญัติดังกล่าว พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ โดยมีกำหนดวาระการทำงานสองปี[4]

เมื่อครบกำหนดวาระสองปีแล้ว ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ได้หารือร่วมกับตัวแทนของกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมประกันสังคมที่จะเกิดขึ้น ที่ประชุมเห็นว่า ควรให้คณะกรรมการประกันสังคมชุดปัจจุบันยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เนื่องจากการเลือกตั้งอาจขัดคำสั่ง คสช. ที่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง[5]

วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ซึ่งคำสั่งฉบับนี้เป็นมีการระบุให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2558 ซึ่งใช้แต่งตั้งคณะกรรมการและที่ปรึกษารวม 4 ชุด ยกเว้นคณะกรรมการประกันสังคมยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก่อน และกำหนดให้จัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้เสร็จภายในสองปี[6]

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 กระทรวงแรงงาน ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ภายหลังจากการออกระเบียบ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าถึงกำหนดการเลือกตั้งที่แน่ชัด และมีการส่งหนังสือเรียกร้องจากเครือข่ายแรงงานอย่างต่อเนื่อง[7][8] จนกระทั่งวันที่ 29 กันยายน 2566 พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศพร้อมจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 24 ธันวาคม 2566[1] วันที่ 6 ตุลาคม สำนักงานประกันสังคมออกประกาศหลักเกณฑ์ และคุณสมบัติ การเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน[9]

  1. 1.0 1.1 "รมว.แรงงาน พร้อมจัดเลือกตั้ง "บอร์ดประกันสังคม" ครั้งแรก 24 ธ.ค.นี้". ไทยรัฐ. 29 กันยายน 2566.
  2. "ชวนลงทะเบียนเลือกตั้ง ฝ่ายผู้ประกันตน บอร์ดประกันสังคม ปี'66 ร่วมรักษาผลประโยชน์ของแรงงาน". ประชาไท. 20 ตุลาคม 2566.
  3. "พระราชบัญญัติ ประกันสังคม (ฉบับท่ี ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘". สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 22 มิถุนายน 2558.
  4. "คสช.ปลดบอร์ด สปส. เครือข่ายผู้ประกันตนฯชี้ช่วยปฏิรูปให้โปร่งใส". องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. 8 พฤศจิกายน 2558.
  5. ""วิษณุ" "อ้าง"คำสั่ง คสช.ห้ามกิจกรรมทางการเมือง เหตุไม่เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม". มติชน. 16 กุมภาพันธ์ 2561.
  6. "คสช. ใช้ ม.44 ยกเลิกคำสั่งทิ้งท้าย 78 ฉบับ แต่มีเงื่อนไขเพียบ!". ไอลอว์. 20 กรกฎาคม 2562.
  7. "เครือข่ายแรงงานฯ บุกสภา ยื่น จี้ กำหนดวันเลือกตั้ง "บอร์ด สปส." มิ.ย.นี้". ไทยรัฐ. 23 กุมภาพันธ์ 2565.
  8. "เครือข่ายแรงงาน บุกประกันสังคม จี้ เลือกตั้งบอร์ดใหม่แทนชุด คสช. ชี้ เตะถ่วง 2 ปี ไม่คืบหน้า". มติชน. 7 กุมภาพันธ์ 2566.
  9. "เปิดรับสมัครผู้แทนนายจ้าง-ลูกจ้าง สู่การเลือกตั้งเข้าบอร์ดประกันสังคม". ประชาชาติ. 6 ตุลาคม 2566.