ผู้ใช้:Bntofficial/กระบะทราย

พิพิธภัณฑ์เหรียญ แก้

พิพิธภัณท์เหรียญ
Coin Museum Treasury Department Thailand
 
ก่อตั้ง2557
ที่ตั้งถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
พิกัดภูมิศาสตร์https://goo.gl/maps/nX4e3HEQPaK2
ภัณฑารักษ์สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์
เว็บไซต์http://coinmuseum.treasury.go.th/

พิพิธภัณฑ์เหรียญ (Coin Museum Treasury Department Thailand) ตั้งอยู่บน ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม ขนบประเพณี และวัฒนธรรมอันแสดง
ให้เห็นถึงวิถีแห่งเงินตราในแต่ละยุคสมัยนับจากจุดเริ่มต้นเชื่อมโยงจนถึงปัจจุบัน ผ่านเรื่องราวที่ปรากฏบนเงินตราและเหรียญกษาปณ์ทั้งของไทยและนานาประเทศทั่วโลก แต่เดิมคือ อาคารสำนักบริหารเงินตรา โดยกรมธนารักษ์ได้ทำการปรับปรุงอาคารซึ่งตั้งอยู่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์อันเป็นพื้นที่เขตท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขึ้นเป็น “พิพิธภัณฑ์เหรียญ” เมื่อปี พ.ศ. 2556 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ประวัติ
แก้

พิพิธภัณฑ์เหรียญ เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งที่ 2 ที่กรมธนารักษ์จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งความรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
มีเนื้อที่ 6-0-52 ไร่ ลักษณะเป็นอาคารเดี่ยว 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 3,600 ตารางเมตร โดยจัดแสดงวิวัฒนาการเหรียญกษาปณ์ไทย
ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเหรียญนานาประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับนักสะสมเหรียญ และผู้สนใจทั่วไปในการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้
ตลอดจนจัดนิทรรศการและกิจกรรมที่เกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งค้นคว้าศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม
และวัฒนธรรมของประเทศไทยในแต่ละยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งในด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยกรมธนารักษ์ได้ใช้พื้นที่ของสำนักบริหารเงินตรา (เดิม) ปรับปรุงอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์เหรียญ ซึ่งปัจจุบันสำนักบริหารเงินตราได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ ณ รังสิต จังหวัดปทุมธานี
อาคารพิพิธภัณฑ์เหรียญมีการออกแบบภายใต้แนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal Design: UD) ซึ่งถือเป็นแนวคิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบสิ่งของหรือสภาพแวดล้อมให้ทุกคนสามารถใช้งานและเข้าถึงได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และเป็นแนวคิดที่นำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ
เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้เจ็บป่วย หรือผู้ที่มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันแตกต่างจากบุคคลทั่วไปด้วยมีข้อจำกัดทางร่างกาย โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ให้สามารถรองรับสำหรับทุกคน
ในสังคม ซึ่งพิพิธภัณฑ์เหรียญได้นำแนวคิดอารยสถาปัตย์ด้านต่าง ๆ มาใช้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์

วิธีการบริหารจัดการ แก้

ด้านการบริหารพิพิธภัณฑ์ แก้


นโยบาย พิพิธภัณฑ์เหรียญมีการนำแนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มาใช้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ และการดำเนินการต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์
จะมีการคำนึงถึงหลักการ Universal Design เสมอ ทำให้ภาพรวมของพิพิธภัณฑ์เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์และกฎหมายกำหนด
ผู้ประสานงาน พิพิธภัณฑ์เหรียญมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการด้านอารยสถาปัตย์โดยทำหน้าที่ตรวจสอบและพัฒนาการจัดนิทรรศการ สิ่งอำนวยความสะดวก
และบริการต่าง ๆ ให้คงสภาพที่พร้อมใช้งานและเพียงพอต่อผู้เข้าชม
ที่ปรึกษา พิพิธภัณฑ์เหรียญมีผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกกรมธนารักษ์ให้คำแนะนำในด้านการจัดพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งมีการประสานกับหน่วยงานคนพิการ
เพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้สอดคล้องกับหลักอารยสถาปัตย์ อาทิ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด
การอบรมเจ้าหน้าที่ พิพิธภัณฑ์เหรียญมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์อยู่เสมอ ทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงและทางอ้อม การอบรมที่มีผลโดยตรง
เช่น การอบรมภาษามือที่ช่วยอำนวยความสะดวกกับคนพิการทางการได้ยิน การให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ การปฐมพยาบาลการป้องกันอัคคีภัย
และการอบรมที่มีผลทางอ้อม เช่น เทคนิคการจัดแสดงให้ตรงกับความต้องการของผู้เข้าชมกลุ่มต่าง ๆ และแนวทางการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้เข้าชมมากขึ้น
การตรวจสอบการใช้งาน พิพิธภัณฑ์เหรียญมีการตรวจสอบการใช้งานของนิทรรศการ สิ่งอำนวยความสะดวก และเจ้าหน้าที่ในการให้บริการเสมอ
ทำให้พิพิธภัณฑ์มีความพร้อมในการให้บริการซึ่งสอดคล้องกับหลักอารยสถาปัตย์
การวางแผนการเข้าถึง พิพิธภัณฑ์เหรียญจะนำผลภายหลังการตรวจสอบการใช้งาน สิ่งอำนวยความสะดวก และกิจกรรมต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์
มาวางแผนปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักอารยสถาปัตย์อยู่เสมอ
การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ พิพิธภัณฑ์เหรียญมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ Facebook Page, Instagram Website แผ่นพับ
หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร และการทำหนังสือเชิญหน่วยงานเข้าชมพิพิธภัณฑ์
ความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ พิพิธภัณฑ์เหรียญมีการรับฟังความเห็นของผู้เข้าชม โดยการทำแบบประเมินความพึงพอใจ สมุดลงความเห็น การสอบถามและรับฟัง
ความเห็นของผู้เข้าชมขณะเข้าชมนิทรรศการ และนำความคิดเห็นไปวางแผนปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑ์
การปรับปรุงและพัฒนา พิพิธภัณฑ์เหรียญได้นำความคิดเห็นของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ไปปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอทั้งในการซ่อมบำรุง การจัดแสดง สิ่งอำนวยความสะดวก และการอบรมเจ้าหน้าที่

ด้านรูปแบบและเทคนิคการจัดแสดง แก้

การจัดนิทรรศการถือเป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยพิพิธภัณฑ์เหรียญได้จัดนิทรรศการให้เข้ากับผู้ชมกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้


การออกแบบลักษณะทางกายภาพของนิทรรศการ การออกแบบวัสดุ พื้นที่ ที่ว่าง ระยะห่าง ระดับความสูงชัน และลักษณะทางกายภาพต่าง ๆ

ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก เพียงพอ ใช้งานง่าย และเหมาะสมกับผู้เข้าชมกลุ่มต่าง ๆ



เทคนิคการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์เหรียญได้นำเทคนิคการจัดแสดงรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมนิทรรศการให้เกิดความน่าสนใจ น่าติดตาม
และเกิดความเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น โดยมีการใช้เทคนิคการจัดแสดงที่เหมาะสมกับผู้เข้าชมกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

– คำบรรยายอักษรเบรลล์ เป็นเทคนิคการจัดแสดงที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น โดยจัดทำคำบรรยายอักษรเบรลล์สรุปเนื้อหาของนิทรรศการและวัตถุที่จัดแสดงในจุดต่าง ๆ

– แบบจำลองที่สามารถสัมผัสได้ เป็นเทคนิคการจัดแสดงที่เหมาะกับผู้ที่รับรู้ทางการเห็นและการสัมผัส ซึ่งบุคคลทั่วไป คนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ สามารถเรียนรู้ได้

– เกมส์แบบหน้าจอสัมผัส เป็นเทคนิคการจัดแสดงที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่รับรู้ด้วยการเห็น เช่น คนทั่วไป เด็ก ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวโดยมีการออกแบบ

ระดับความสูงที่เหมาะสมกับผู้ที่ใช้รถเข็นและเด็ก มีรูปแบบสี ขนาด และรูปแบบอักษรที่เหมาะสมกับคนที่ตาบอดสี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีสายตาเรือนราง

– วิดีโอภาพเคลื่อนไหว เป็นเทคนิคการจัดแสดงสำหรับผู้ที่รับรู้ด้วยการเห็น เช่น คนทั่วไป เด็ก ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว โดยมีการออกแบบ

ให้มีการเคลื่อนไหวที่เหมาะสม ไม่เร็วหรือช้าเกินไป สีและภาพมีความชัดเจนเหมาะกับคนที่ตาบอดสี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีสายตาเรือนราง และติดตั้งอยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสมกับผู้ใช้รถเข็นและเด็ก

– การจัดแสดงแบบ 3 มิติ เป็นเทคนิคการจัดแสดงที่เหมาะกับผู้เข้าชมหลากหลายกลุ่ม สามารถรับรู้ได้จากการสัมผัส การได้ยิน การมองเห็น ทั้งคนทั่วไป เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ

โดยมีการออกแบบที่ใช้พื้นที่ว่างอย่างเพียงพอและเหมาะสม



ด้านการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวก การให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกถือเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เกิดความพึงพอใจในการเข้าชมและเรียนรู้
โดยพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดให้บริการสาธารณะจำเป็นต้องจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ
และคนชรา พ.ศ. 2548 และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึง
และใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2555 โดยพิพิธภัณฑ์เหรียญได้มีการดำเนินการที่สอดคล้องตามกฎเกณฑ์และกฎหมาย ดังนี้

  • สิงอำนวยความสะดวก

– ห้องน้ำสำหรับคนพิการ มีการจัดทำห้องน้ำสำหรับคนพิการ ซึ่งมีช่องทางลาดที่ความชันและความกว้างมีความเหมาะสม ขนาดของห้องน้ำและประตูมีความกว้างเพียงพอ เหมาะสมสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็น

– ทางลาด มีการจัดทำทางลาดบริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ทางเข้า-ออก ห้องนิทรรศการ ซึ่งมีระดับความกว้างและความชันที่เหมาะสม ทำให้ผู้ที่ใช้รถเข็นสามารถเข้าถึงจุดต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์ได้อย่างสะดวก

– จุดประชาสัมพันธ์ มีการออกแบบจุดประชาสัมพันธ์สำหรับคนพิการบริเวณเดียวกับผู้เข้าชมทั่วไป ซึ่งมีระดับความสูง ความกว้าง ความลึกที่เหมาะสมและสะดวกสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็น

– จอดรถสำหรับคนพิการ มีการจัดทำที่จอดรถสำหรับคนพิการบริเวณด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ ใกล้กับบริเวณประตูและทางลาดเข้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีความกว้าง ความยาว และปริมาณที่เพียงพอ

มีสัญลักษณ์ระบุชัดเจน มีความเหมาะสม และสามารถอำนวยความสะดวกคนพิการกลุ่มต่าง ๆ ได้

– บริการรถเข็นและห้องพยาบาล พิพิธภัณฑ์เหรียญมีการให้บริการรถเข็นและห้องพยาบาล ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชมในกลุ่มต่าง ๆ บรรเทาอันตรายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์


* การให้บริการของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ได้รับการฝึกอบรมในการให้บริการผู้เข้าชมกลุ่มต่าง ๆ ทั้งบุคคลทั่วไป เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยได้รับการอบรมภาษามือเบื้องต้น

มีความสามารถในการให้ความรู้ การบริการ และเจ้าหน้าที่มีปริมาณเพียงพอในการให้บริการผู้เข้าชม

การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์เหรียญ แก้

พิพิธภัณฑ์เหรียญแบ่งระยะการดำเนินการสร้างออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1 เปิดให้เข้าชมแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 และระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการดำเนินการ
และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ แบ่งการจัดแสดงในระยะที่ 1 ดังนี้

ส่วนนิทรรศการถาวร แก้

– ห้องที่ 1 “ปฐมบทแห่งเงินตรา” จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของเงินตราตั้งแต่จุดเริ่มต้น ที่มีการนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกัน จนกระทั่งมีการทำสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
โดยถ่ายทอดออกมาในรูปแบบเทคโนโลยีแอนิเมชัน 4D ภาพยนตร์สั้นฉายบนผนังถ้ำ 360 องศา

– ห้องที่ 2 “เส้นทางวิวัฒนาการเงินตราไทย” จัดแสดงรูปแบบของสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีรูปแบบแตกต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรม
เช่น ชาวเกาะแย็บใช้เงินเฟที่ทำขึ้นจากหินขนาดใหญ่ที่สุด มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 4 เมตร หรือบางพื้นที่ใช้เมล็ดพืช หอยเบี้ย เกลือ หรือหนังสัตว์ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

– ห้องที่ 3 “ห้องจัดแสดงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” จัดแสดงการปฏิรูปเงินตราในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
โดยพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความรอบรู้วิชาการแขนงต่าง ๆ และวิทยาการใหม่ ๆ ที่นำประเทศก้าวสู่การเป็นสยามสมัยใหม่ และทรงเป็นผู้ริเริ่มปฏิรูปเงินตราระบบใหม่
โดยการเปลี่ยนแปลงการใช้เงินพดด้วงสู่เหรียญกษาปณ์ไทยที่ใช้สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน



ส่วนนิทรรศการชั่วคราว แก้

พิพิธภัณฑ์เหรียญมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาท พระราชดำริ และเงินตราที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ โดยแบ่งนิทรรศการเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้

– ส่วนที่ 1 นิทรรศการ “ด้วยรักและภักดี” จัดแสดงภาพถ่ายในความทรงจำ ภาพความประทับใจ วีดีทัศน์บอกเล่าความรู้สึกและการรวมพลังทำกิจกรรมที่แสดงถึงความรักและความจงรักภักดี
ของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร


– ส่วนที่ 2 นิทรรศการ “กลางใจไทยนิรันดร์” จัดแสดงเหรียญแทนความระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงราษฎร์
โดยจัดแสดง 9 เรื่องราวแห่งความประทับใจ ผ่าน 9 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึก เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงวิริยะ อุตสาหะ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ประกอบด้วย

  • กษัตราบรมราชาภิเษก “เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ บรมราชาภิเษก พ.ศ. 2493”
  • องค์อัครศาสนูปถัมภก “เหรียญที่ระลึกเนื่องในโอกาสเสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. 2508”
  • พระเกียรติแผ่ไพศาลไปในนานาประเทศ “เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสเสด็จนิวัตพระนคร พ.ศ. 2504”
  • คู่พระบารมีเคียงพระภูมินทร์ “เหรียญที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 50 ปี ราชาภิเษกสมรส”
  • พระอัจฉริยภาพศาสตร์และศิลป์ “เหรียญที่ระลึกการแข่งกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13”
  • พื้นดินคืนความสุข “เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ
    ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” ปี พ.ศ. 2558”
  • เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา “เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” พ.ศ.2549”
  • นวัตกรรมนำไทยพัฒนา “เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา” พ.ศ. 2551”
  • ปราชญ์แห่งสายชล “เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 50 ปี ฝนหลวงพระราชทาน”

– ส่วนที่ 3 นิทรรศการ “โครงการตามแนวพระราชดำริ” จัดแสดง 9 โครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ประกอบด้วย

  • โครงการฝนหลวงพระราชทาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498
  • โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริ เมื่อ พ.ศ. 2504
  • โครงการแกล้งดิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริ เมื่อ พ.ศ. 2527
  • กังหันน้ำชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531
  • โครงการหญ้าแฝก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริ เมื่อ พ.ศ. 2534
  • มูลนิธิโครงการหลวง จดทะเบียนขึ้นเป็นนิติบุคคล เมื่อ พ.ศ. 2535
  • โครงการทฤษฎีใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริ เมื่อ พ.ศ. 2537
  • โครงการแก้มลิง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน แนวพระราชดำริ เมื่อ พ.ศ. 2538
  • โครงการชั่งหัวมัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2552

– ส่วนที่ 4 นิทรรศการ “คำสอนของพ่อ” จัดแสดงพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

– ส่วนที่ 5 นิทรรศการ “ก้าวตามรอยความดี” จัดแสดงพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับการทรงงานและบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ
เพื่อพสกนิกรชาวไทยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

วันและเวลาทำการ แก้

พิพิธภัณฑ์เหรียญเปิดทำการวันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์) ระหว่างเวลา 10.00 - 18.00 น. เปิดรอบให้เข้าชมรอบแรกเริ่มเวลา 10.00 น. และรอบสุดท้ายเวลา 17.00 น.
มีรอบเข้าชมทุก ๆ 20 นาที ในแต่ละรอบสามารถรองรับผู้ชมได้จำนวน 20 ท่าน

ข้อมูลการเดินทาง แก้

รถประจำทางที่ผ่านบริเวณใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์เหรียญ ได้แก่ สาย 3 , 6 , 9 , 15 , 32 , 33, 54, 64 และ 65 สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลผู้เข้าชมสามารถใช้บริการที่จอดรถของพิพิธภัณฑ์เหรียญได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
พิกัด : https://goo.gl/maps/sgHDuQwVduS2

ข้อมูลการติดต่อ แก้


ที่ตั้ง : ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 ประเทศไทย
หมายเลขโทรศัพท์ : 0 2282 0818
หมายเลขโทรสาร : 0 2282 0819
เว็บไซต์ : http://coinmuseum.treasury.go.th/

อ้างอิง แก้

  • American Association of Museums. Everyone’s Welcome. Washington, DC: American Association of Museums, 1998.
  • Braden, Caroline. (2017). Welcoming All Visitors: Museums, Accessibility, and Visitors with Disabilities.
    Accessed February 24. Available from http://ummsp.rackham.umich.edu/wp-content/uploads/2016/10/Braden-working-paper-FINAL-pdf.pdf
  • Google Thailand. ตำแหน่งพิพิธภัณฑ์เหรียญ. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561, จาก https://goo.gl/maps/sgHDuQwVduS2
  • Museum Thailand. พิพิธภัณฑ์เหรียญ. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561, จาก http://www.museumthailand.com/Coin_Museum_Thailand
  • พิพิธภัณฑ์เหรียญ. ข้อมูลการเดินทาง. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561, จาก http://coinmuseum.treasury.go.th/
  • พิพิธภัณฑ์เหรียญ. ข้อมูลการติดต่อ. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561, จาก http://coinmuseum.treasury.go.th/
  • พิพิธภัณฑ์เหรียญ. วันและเวลาทำการ. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561, จาก http://coinmuseum.treasury.go.th/
  • ลลิตา อัศวสกุลฤชา.“ยูนิเวอร์ซัลดีไซน์ในพิพิธภัณฑ์เหรียญ กรมธนารักษ์.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2559.