ผาแดงนางไอ่
ผาแดงนางไอ่ เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่รู้จักกันแพร่หลายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะทางตอนบนของภาคในบริเวณจังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น รวมถึงในประเทศลาวด้วย
ปรากฏหลักฐานการจารลงในใบลานทั้งตัวอักษรธรรมและอักษรไทยน้อยหลายสำนวน และมักไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้แต่งและแต่งไว้ตั้งแต่เมื่อใด สำนวนที่รู้จักกันแพร่หลายคือสำนวนที่ปรีชา พิณทอง ได้เลือกมาชำระใหม่เมื่อ พ.ศ. 2524 นอกจากสำนวนเก่ายังมีสำนวนที่แต่งขึ้นใหม่ เช่น สำนวนในหนังสือ รวมนิทานพื้นบ้านอีสาน ชุดที่ 5 ของเตชวโรภิกขุ (อินตา กวีวงศ์) (พ.ศ. 2544) ยังมีวรรณกรรมอีสานสำหรับเยาวชน เช่น ผาแดงนางไอ่ เขียนโดย พิพัฒน์ ประเสริฐสังข์ (พ.ศ. 2555) ด้านเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผาแดงนางไอ่ เช่น "ไอ่คำรำพัน" (ขับร้องโดย นกน้อย อุไรพร) และ "วาสนาภังคี" (ขับร้องโดย วิเศษ เวณิกา) เป็นต้น[1]
เนื้อหา
แก้ณ นครเอกชะทีตา (หรือเมืองสุวรรณโคมคำ) มีพระยาขอมเป็นกษัตริย์ พระยาขอมมีพระธิดานามว่า "นางไอ่คำ" หรือ "นางไอ่" ผู้มีความงดงามยิ่งนักซึ่งเป็นที่รักและหวงแหนมาก จึงสร้างปราสาท 7 ชั้นให้อยู่พร้อมเหล่าสนม นางกำนัลคอยดูแลอย่างดี จนเรื่องไปถึงหูของ "ท้าวผาแดง" ท้าวผาแดงจึงแอบมาหานางไอ่ที่วัง โดยผ่านทางคนใช้เป็นแม่สื่อ จนทั้งสองได้รักกันและสัญญาว่าจะมาสู่ขอตามประเพณี
ขณะที่เมืองบาดาล มีพญานาคชื่อ "สุทโธนาค" ครองเมือง มีลูกชายชื่อ "ท้าวภังคี" ชาติที่แล้วท้าวภังคีเกิดเป็นคู่กับนางไอ่ซึ่งเป็นใบ้ นางไอ่ในชาติก่อนได้อธิษฐานว่า ชาติต่อไปไอ้ใบ้ต้องตายด้วยมือของนางเอง
ตอนนั้นพญาขอมรู้แล้วว่าท้าวผาแดงจะมาสู่ขอนางไอ่ จึงตรัสว่า หากบั้งไฟของพญาขอมสูงกว่าจะไม่ยกนางไอ่ให้ แต่ถ้าของท้าวผาแดงสูงกว่าก็จะยกนางไอ่ให้ การประลองครั้งนี้ท้าวผาแดงพ่ายแพ้ไป
ด้านท้าวภังคี แปลงเป็นกระรอกขึ้นมาเที่ยวงาน แต่นายพรานจับได้จึงนำไปให้นางไอ่เอาไปแกง ท้าวภังคีจึงอธิษฐานว่า ขอให้เนื้อของตนอร่อยที่สุดและเลี้ยงคนได้ทั้งเมือง ชาวบ้านจึงพากันแย่งกินแกงกระรอก บริวารของท้าวภังคีเห็นจึงนำเรื่องไปบอกท้าวสุทโธนา เหล่าพญานาคผุดขึ้นมานับหมื่นนับแสนตัว ถล่มเมืองชะทีตาจมลงใต้บาดาลทันที คงเหลือไว้เป็นดอน 3–4 แห่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกแม่ม่ายที่ไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือกจึงรอดตาย
ท้าวผาแดงเป็นห่วงนางไอ่จึงพานางควบม้าหนีอันตรายไป แต่ก็หนีไม่พ้นทัพพญานาคที่ทำให้แผ่นดินถล่มตามมาติด ๆ ในที่สุดก็กลืนพระธิดาไอ่คำได้จมหายไปใต้พื้นดิน ส่วนท้าวผาแดงปลอดภัยและกลับเมืองจึงอธิษฐานว่า จะขอตายเพื่อไปเอานางไอ่กลับมาแล้วก็กลั้นใจตายไปต่อสู้กับพญานาค สู้จนน้ำบาดาลขุ่น พระอินทร์จึงได้ลงมาระงับศึก ให้ผีกลับเมืองผีให้นาคากลับเมืองนาคา ส่วนนางไอ่ก็รอเนื้อคู่ของตนในเมืองบาดาลต่อไป จนกว่าจะมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่
ผลสืบเนื่อง
แก้มีความเชื่อว่าการเกิดของหนองหาน จังหวัดสกลนคร และแอ่งน้ำทั่วไปในภาคอีสานมาจากตำนานเรื่องนี้[2]
สถานที่ที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับตำนาน เช่น บ้านน้ำฆ้อง บ้านกงพาน บ้านเซียบ บ้านเซียงแหว ห้วยสามพาด ห้วยกลองศรี หนองแหวน ดอนแม่หม้าย ในจังหวัดอุดรธานี หรือ บ้านกระนวน บ้านหลุมเลา ในจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
ประเพณีงานบุญบั้งไฟในเดือนหก ในการแห่ขบวนบั้งไฟมักปรากฏเรื่องราวของท้าวผาแดงกับนางไอ่ร่วมอยู่ในขบวนแห่ด้วยเสมอ[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ อิศเรศ ดลเพ็ญ. ""โลก-ธรรม" - "ทุกข์-สุข" และภูมิปัญญา ด้านภาษาในกาพย์เซิ้งบั้งไฟผาแดงนางไอ่". JOURNAL OF LANGUAGE, RELIGION AND CULTURE.
- ↑ ปกรณ์ สุวานิช. "ตำนานผาแดง-นางไอ่กับการอธิบายการเกิดหนองหานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในทางธรณีวิทยา" (PDF).
- ↑ "ตำนานผาแดงนางไอ่!!! ปฐมเหตุแห่งประเพณีอันยิ่งใหญ่ "บุญบั้งไฟ" ที่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอีสานมาแต่บรรพกาล". winnews.tv.