ผาด ตุงคะสมิต (16 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 – 3 ตุลาคม พ.ศ. 2527) เป็นอดีตนายทหารม้าและอดีตนายตำรวจรถถัง ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490[1]

ผาด ตุงคะสมิต
กรรมการบริหารกลางพรรคเสรีมนังคศิลา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด16 กรกฎาคม พ.ศ. 2452
ประเทศไทย ประเทศไทย
เสียชีวิต3 ตุลาคม พ.ศ. 2527 (75 ปี)[1]
ศาสนาพุทธ[1]
ศิษย์เก่าโรงเรียนนายทหารฝึกหัดราชการทหารม้า[1]
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[1]
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
สังกัดกรมตำรวจ
ยศ พลตำรวจจัตวา (ก่อนถูกถอดยศ)[1]
หน่วยตำรวจรถถัง[1]
บังคับบัญชารถรบ[1]
พลร่ม[1]
ผ่านศึกการบุกครองไทยของญี่ปุ่น[1]
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490[1]
กบฏเสนาธิการ[1]
กบฏวังหลวง[1]
กบฏแมนฮัตตัน[1]

ประวัติ

แก้

ผาด ตุงคะสมิต เกิดในครอบครัวชาวนา และเคยเป็นศิษย์วัด ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เขารับราชการเป็นนายทหารม้าในปี พ.ศ. 2480 ต่อมา ผาดได้ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองพันที่ 2 รถรบ บางซื่อ พระนคร และเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายทหารฝึกหัดราชการทหารม้า เป็นเวลา 1 ปี[1]

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ได้เกิดเหตุการณ์การบุกครองไทยของญี่ปุ่น ผาด ตุงคะสมิต ได้รับคำสั่งให้นำกำลังไปอยู่ที่จังหวัดลพบุรี และปี พ.ศ. 2485 เขาได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บัญชาการกองร้อยรถรบประจำกองทัพที่ 2 เพื่อคุมกำลังไปประจำจังหวัดสระบุรี ครั้นปี พ.ศ. 2488 เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ผาดได้นำกำลังรถรบกลับสู่กรุงเทพมหานคร[1]

วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ผาดถูกสั่งการให้เข้าร่วมรัฐประหารในประเทศไทย กระทั่งวันที่ 9 พฤศจิกายน ของปีเดียวกัน เขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการสูงสุดให้ทำหน้าที่ผู้บังคับการรถรบ ก่อนคืนหน้าที่นี้ให้แก่ผู้บังคับการรถรบคนเดิมเมื่อเหตุการณ์รัฐประหารสงบลง ซึ่งเขาได้รับการชมเชยถึงการปฏิบัติงาน[1]

ในปี พ.ศ. 2491 เขาได้เปลี่ยนอาชีพจากทหารมาเป็นตำรวจ ในตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจสันติบาลกอง 4 โดยวันที่ 1 ตุลาคม ของปีดังกล่าว ได้เกิดเหตุการณ์กบฏเสนาธิการ ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่ในการจับกุม[1]

ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ได้เกิดเหตุการณ์กบฏวังหลวง แม้ผาดจะเป็นตำรวจแล้ว แต่เขาก็ได้รับคำสั่งจากสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้นำรถถัง 2 คันไปยึดกรมโฆษณาการ ซึ่งประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ ได้เกิดคดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี โดยที่ผาดได้ระบุในอัตชีวประวัติของเขาว่าไม่ทราบใครเป็นคนยิง[1]

และในปีเดียวกันนี้ เขาได้รับคำสั่งให้ไปดูงานที่ประเทศอังกฤษ และซื้อรถเกราะที17อี1 สแตกฮาวด์ จำนวน 50 คัน[1]

กระทั่งวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ได้เกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ซึ่งผาด ตุงคะสมิต ได้สั่งรถเกราะออกปฏิบัติการทันทีหลังจากที่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ถูกจับ จากการกระทำดังกล่าว ส่งผลให้ผาดได้บำเหน็จ 3 ขั้น[1]

รวมถึงในปีเดียวกัน เขาได้รับคำสั่งให้ไปตรวจรับรถลาดตระเวนเบามอร์ริส ซึ่งเป็นรถเกราะที่ประเทศอังกฤษ ตลอดจนดูงานที่ประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี[1] นอกจากนี้ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494[2] และปีดังกล่าว เขายังได้เป็นนายตำรวจราชสำนักเวร เพื่อถวายอารักขาพระเจ้าอยู่หัว[1]

รับราชการ

แก้

พ.ศ. 2497 เขาได้รับยศพันตำรวจเอก และได้รับคำสั่งให้เดินทางไปสหรัฐ รวมถึงฮาวาย, ญี่ปุ่น และฮ่องกง รวมถึงในปีเดียวกัน เขาได้ปรับปรุงสถานที่ทำงานใหม่ในวังปารุสกวันและโรงช้างดุสิต ตลอดจนได้รับคำสั่งให้บังคับบัญชาหน่วยพลร่ม ซึ่งเขาได้รับการติดปีกพลร่ม และแหวนพลร่ม[1]

พ.ศ. 2499 ผาด ตุงคะสมิต ได้รับยศพลตำรวจจัตวา และทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ ณ บริเวณหลังสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ นอกจากนี้ เขายังได้เป็นกรรมการบริหารกลางของพรรคเสรีมนังคศิลาถึง 2 ครั้ง[1]

ในภายหลัง เขาตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492 และศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต[3][4] อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนที่คิดว่าเขาเป็นแพะรับบาป[5] ผู้คนบางส่วนมีความเชื่อว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ต้องหาตัวจริง และจากบันทึกบางส่วนของหนังสือ 13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย ที่เขียนโดยพันตำรวจเอก พุฒ บูรณสมภพ มีการบันทึกว่าเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด[6]

ชีวิตส่วนตัว

แก้

ผาด ตุงคะสมิต กับภรรยามีลูกเป็นชาย 2 คน และหญิง 5 คน รวมถึงผาดยังมีผลงานอัตชีวประวัติ ที่เผยมุมมองของเขาว่าไม่ต้องการเห็นการคอร์รัปชัน และความเหลวแหลกของบ้านเมือง[1]

ผาดเคยมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ แต่ไม่สามารถเป็นได้ โดยเขาให้เหตุผลว่าไม่มีพวกหนุน นอกจากนี้ เขาไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 เนื่องด้วยสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน[1]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 1.24 1.25 1.26 ตร.รถถัง “ผาด ตุงคะสมิต” เมาช่วงรัฐประหาร 2490 และเหตุถูกถอด “รถเกราะถูกทหารยึดไปหมด”
  2. Untitled - ราชกิจจานุเบกษา
  3. ยิงทิ้ง 4 อดีตรัฐมนตรี นิยายของนักเขียนชั้นสวะ! อ้างเหตุผลไม่เข้าท่า! ตร.อาชีพฉีกหน้า ตร.สมุนการเมือง!
  4. ฟื้นคดีฆ่า 4 รัฐมนตรี - ไทยรัฐออนไลน์
  5. "การสังหาร 4 รัฐมนตรี: คดีการเมืองสะเทือนขวัญของไทย - Victory Tale". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-05. สืบค้นเมื่อ 2021-03-02.
  6. 4 มี.ค 2492 "4 ผู้แพ้ถูกสังหารหมู่กลางกรุง" - คมชัดลึก